•
คนวัยทำงานในช่วงกอบโกยเงินทองอย่าชะล่าใจ ต้องนึกถึงตัวเองรู้จักเก็บออม
ไม่ว่าจะวิธีใดก็ตาม เพื่อการใช้ชีวิตในอนาคตเมื่อสู่วัยสูงอายุ
ไม่ให้เผชิญกับความยากลำบาก เพราะจากสถานการณ์การเตรียมพร้อมของคนรุ่นใหม่
เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ในการสำรวจปี 2564 ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม
มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า 72% ของผู้ตอบแบบสอบถามอายุ 18-59 ปี จำนวน 1,734
คน ทราบว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุแล้ว
• แสดงให้เห็นว่าประมาณ 1ใน 4 ของประชากรวัยทำงาน
อาจยังไม่ได้ตระหนักถึงสถานการณ์การสูงวัยของสังคมไทย และ 1 ใน 5
ยังไม่ได้เตรียมตัวด้านสุขภาพเลย โดยเฉพาะกลุ่มเจน Z อายุ 18-26 ปี
คิดว่าตัวเองสุขภาพดีเพียง 57.6% เท่านั้น ต่ำกว่าเจน X กลุ่มอายุ 42-59 ปี
และ เจน Y กลุ่มอายุ 27-41 ปี แม้พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพมีทุกรุ่นทุกอายุ
แต่กลุ่มเจน Y และ Z มีพฤติกรรมชอบกินอาหารรสจัด
พักผ่อนและออกกำลังกายไม่เพียงพอ หลายคนนอกดึก เพราะดูซีรีย์ หรือเล่นเกม
• มาดูเรื่องการเก็บออม กลุ่มเจน Z ออมแบบฝากธนาคารและเงินสด มากกว่าเจน
X และ Y ซึ่งออมในรูปแบบประกันชีวิต กองทุนรวม กองทุนชุมชน
หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มากกว่า
ขณะที่การสร้างครอบครัวไม่ใช่เป้าหมายของคนรุ่นใหม่ จึงไม่นิยมมีลูก โดยเจน
Y และ Z ต้องการพึ่งพารัฐ หรือสถานสงเคราะห์
เพื่อให้ดูแลในช่วงท้ายของชีวิต สูงกว่าเจน X

เมื่อช่วงท้ายของชีวิตในวัยสูงอายุไม่อาจหลีกเลี่ยงเรื่องสุขภาพที่เสื่อมถอย
อาจต้องนอนติดเตียง หรือไม่สามารถสื่อสารได้ เป็นชีวิตที่ไม่พึงปรารถนา
ทุกคนจึงมีสิทธิแสดงเจตนาไม่รับบริการสาธารณสุขที่เป็นเพียง
เพื่อการยืดการตายในวาระสุดท้าย หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย ตาม
พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 โดยพบว่าส่วนใหญ่ทุกรุ่นอายุ
ไม่ต้องการเป็นภาระให้ครอบครัว ไม่ต้องการยื้อชีวิตหากอยู่ในภาวะโคม่า
และต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับการทำเอกสารแสดงเจตนา หรือชีวเจตน์
เพื่อวางแผนวิธีการรักษาพยาบาลล่วงหน้า หรือยุติการรักษา
เป็นบทสรุปคร่าวๆ
ในการเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยสูงอายุของคนรุ่นใหม่ หรือคนวัยทำงาน
นำไปสู่คำถามว่าน่าห่วงหรือไม่? ก็ได้คำตอบจาก ”รศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์”
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
มีทั้งกลุ่มน่าห่วงและน่าจะเอาตัวรอดได้
โดยด้านการเงินในการดูแลตัวเองเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ แบ่งเป็น 3 แหล่ง 1.จากการพึ่งตัวเอง 2. ภาครัฐ ซึ่งมีระบบการคุ้มครองทางสังคม และ 3. คนในครอบครัว
ในการพึ่งครอบครัว ดูเหมือนค่อนข้างจะแน่นอนในยุคก่อนๆ แต่เมื่อคนยุคปัจจุบันแต่งงานน้อยลง มีลูกน้อยลง
ทำให้เห็นได้ชัดว่าการจะหวังพึ่งครอบครัว ให้ลูกหลานดูแลลดลงอย่างแน่นอน
และการพึ่งภาครัฐ ก็มีการส่งเสริมการออมกับกองทุนการออมแห่งชาติ
ซึ่งต้องยอมรับว่ามีค่อนข้างน้อย หรือแม้ประกันสังคม
จะขยายอายุผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจาก 55 ปี เป็น 60 ปี
แต่เรื่องความเสี่ยงก็มีมาก เพราะผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
จะทำให้การจ่ายเงินกรณีชราภาพ อาจไม่เพียงพอ

กลุ่มเจน X เจน Y หรือเจน Z น่าห่วงมากกว่ากัน
เมื่อประเมินการพึ่งตัวเองในเรื่องการออมเงินและการลงทุน
จากข้อมูลสถานการณ์เตรียมพร้อมของคนรุ่นใหม่ เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ
จะเห็นว่าคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญในการออม
แต่ยังค่อนข้างต่ำท่ามกลางเงินเฟ้อขยับขึ้นสูง ขณะเดียวกันการลงทุน
แม้มีความมั่นคงในการลงทุน แต่ก็ยังขาดทักษะ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นห่วง
แต่หากยังสามารถทำงานได้ในวัยสูงอายุก็ดี
“ในส่วนสวัสดิการภาครัฐ ต้องยอมรับว่าไม่เพียงพอ
แต่ก็ไม่อยากให้ขยับเบี้ยยังชีพแบบก้าวกระโดดไปถึง 3 พันบาท
เพราะจะกระทบภาระทางการคลัง
ดังนั้นแนวทางในการเตรียมพร้อมเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ
ควรให้ความสำคัญกับการพึ่งตัวเองด้วยการออม ทั้งกลุ่มเจน X เจน Y เจน Z
โดยเฉพาะเจน Z นอกจากออมเงินแล้ว ก็มีการลงทุน ด้วยการลงทุนบิตคอยน์
ซึ่งค่อนข้างเสี่ยง เพราะมีเป้าหมายอยากเกษียณอายุเมื่ออายุ 45-50 ปี”
การพึ่งตัวเองสำคัญมาก แต่ตลาดการลงทุนต้องมีความปลอดภัยมากขึ้น
และหน่วยงานของรัฐต้องมีการจัดการความเสี่ยง
ควบคู่กับการคุ้มครองทางสังคมและมีระบบบำนาญ
ต้องขยายให้ทั่วถึงมากที่สุดให้ครอบคลุมถึงแรงงานนอกระบบ
เพราะคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ทำอาชีพอิสระกันมากขึ้น เป็นโจทย์ใหญ่ต้องสานต่อ
ทั้งตัวบุคคลเองและภาครัฐ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จะมองอนาคตของตัวเอง
และให้ความสำคัญมากขึ้น ในการจัดการเรื่องการเงิน และจัดการความเสี่ยง
ซึ่งภาครัฐต้องโฟกัสไปตลาดการลงทุน ไม่ให้โตเองโดยธรรมชาติ
ควรมีการกำกับดูแลให้ชัดเจน
กลุ่มเจน Z ก็น่าห่วง แต่อายุยังไม่มากยังมีเวลาเตรียมตัว แต่กลุ่มเจน X
มีเวลาน้อยในการเตรียมตัวไม่ให้มีความเสี่ยงมากพอ
ถือเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบาง
เพราะยังมีสัดส่วนมากพอสมควรในการแต่งงานและมีลูก แม้ทำงานมีรายได้สูง
แต่ก็มีภาระทั้ง 2 ฝั่งในการเลี้ยงดูพ่อแม่ รวมถึงลูกของตัวเอง
ซึ่งกลุ่มนี้ต้องเตรียมตัวให้กับตัวเอง
และยังคิดว่าเมื่อแก่ตัวลงจะมีลูกคอยดูแล แต่อาจตรงกันข้ามกับลูกๆ
ที่คิดว่ามีพ่อแม่คอยดูแลให้การสนับสนุน

โควิดกระทบคนรายได้น้อย ยิ่งเพิ่มความเปราะบาง
“ทัศนคติการมีครอบครัวของเด็กรุ่นใหม่จะลดลงแน่ๆ
อาจทำให้ความคิดเปลี่ยนไป และเชื่อว่ากลุ่มเจน X ตอนปลาย แม้มีลูก
แต่อาจมีความคิดเปลี่ยนไปในการคิดถึงตัวเองมากขึ้น
และไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเจนใด หากมีงานทำมีรายได้
ก็ไม่น่าห่วงเท่ากับกลุ่มวัยทำงานมีรายได้น้อย มีความเปราะบางมาก
โดยเฉพาะช่วงโควิดระบาด ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มยากจนที่ได้รับผลกระทบ
ยังมีกลุ่มใกล้ยากจน มีโอกาสสูงที่จะอยู่ภายใต้ความยากจน
ซึ่งมีความเปราะบางค่อนข้างสูง รวมถึงคนทำกิจการเล็กๆ ต้องปิดกิจการไป”
ในช่วงโควิด มีแรงงานเป็นจำนวนมากอายุ 45 ปีขึ้นไป
ตกงานจากการเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน
ซึ่งกลุ่มนี้มีความยากลำบากจะกลับเข้ามาสู่ระบบการทำงาน
หรือการจะเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ก็ยากลำบาก
อาจกลายเป็นกลุ่มที่พึ่งภาครัฐมากขึ้น
และหลังวิกฤติโควิดยังมีประเด็นปัญหาตามมาอีกมากมาย
ยิ่งเพิ่มความเปราะบางมากขึ้น และการที่รัฐจะดูแลผู้สูงวัยและผู้สูงอายุ
ขึ้นอยู่กับภาระทางการคลังว่าสามารถทำได้ครอบคลุมหรือไม่

อีกทั้งกองทุนประกันสังคม
ก็มีความเปราะบางในการจ่ายให้กับผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้น ประเมินว่า
10-20 ปี อาจมีเงินไม่พอจ่ายในกรณีชราภาพ สุดท้ายต้องพึ่งตัวเอง
โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ แต่หากพ่อแม่เกิดในยุคเบบี้บูม
ส่วนใหญ่ทำงานเพื่อซื้อทรัพย์สินให้กับลูก
กลายเป็นสินทรัพย์สร้างแหล่งรายได้ในอนาคตให้กับลูก
และเมื่อลูกเข้าสู่วัยสูงอายุ อาจนำสินทรัพย์ที่ได้มา เช่น บ้าน
มาดูแลตัวเองเมื่อไม่มีลูกดูแล
หรืออาจใช้วิธีขายบ้านล่วงหน้าให้กับธนาคาร ซึ่งเรียกว่า Reverse Mortgage
หรือการจำนองแบบย้อนกลับ เหมือนในต่างประเทศ โดยสามารถอยู่อาศัยในบ้านได้
และทางธนาคารต้องจ่ายเงินค่างวดทุกๆ เดือน จนกว่าจะเสียชีวิต
และธนาคารก็ได้บ้านนำเอาไปขายทอดตลาด ซึ่งภาครัฐควรมีนโยบายนี้
เพื่อช่วยเหลือและเป็นทางเลือกให้กับผู้สูงอายุ.
ผู้เขียน : ปูรณิมา
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับไทยรัฐออนไลน์
https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2607421