ข่าวการเงิน

สรุปประเด็นไฮไลต์ วอร์เรน บัฟเฟตต์ พูดกับผู้ถือหุ้น Berkshire Hathaway


สรุปประเด็นไฮไลต์ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ตอบคำถามผู้ถือหุ้น Berkshire Hathaway – ความทรงอิทธิพลของเงินดอลลาร์สหรัฐ, ความพิเศษของ Apple, โอกาสลงทุน VI, วิฤตธนาคาร, การกระจายความเสี่ยงดีจริงหรือ ? ปัญญาประดิษฐ์ไม่สู้ปัญญามนุษย์ และอื่น ๆ

Berkshire Hathaway (เบิร์กเชียร์ แฮทะเวย์) บริษัทโฮลดิงระดับโลกที่มี วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) นักลงทุนระดับตำนานของโลกเป็นประธานและซีอีโอ ประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2023 และประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2023 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ไตรมาสแรกของปี 2023 Berkshire Hathaway มีผลประกอบการดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีรายได้รวมในไตรมาสแรก 35,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท) หักต้นทุนการดำเนินงานแล้วมีรายได้จากการดำเนินงาน 8,065 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 273,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นประมาณ 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY)



วอร์เรน บัฟเฟตต์ และชาร์ลี มังเกอร์/ ภาพจากวิดีโอของ CNBC


หลังเปิดเผยรายงานผลประกอบการ วอร์เรน บัฟเฟตต์ วัย 92 ปี พร้อมด้วยมือขวา ชาร์ลี มังเกอร์ (Charlie Munger) รองประธาน Berkshire Hathaway วัย 99 ปี ใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมงในการตอบคำถามนักลงทุน ซึ่งนับว่าน่าทึ่งสำหรับคนวัยนี้

แถมคุณปู่บัฟเฟตต์ยังเริ่มต้นการพูดคุยกับนักลงทุนอย่างอารมณ์ดีโดยพูดล้อเล่นไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษด้วยว่า Berkshire Hathaway ก็มี “คิงชาร์ลส์” เป็นของตัวเอง ซึ่งหมายถึงคู่หู ชาร์ลี มังเกอร์ ของเขานั่นเอง 

ตามการรายงานของ CNBC บอกว่า แม้ว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้จะมีความผันผวนเกิดขึ้นในตลาดและมีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจ แต่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซีอีโอของ Berkshire Hathaway ได้สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนโดยการตอบคำถามน้ำเสียงที่สงบและนิ่ง 

แต่การที่บัฟเฟตต์นิ่งไม่มีอาการกังวล ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่เห็นความวุ่นวายที่กำลังจะมาถึง เขากล่าวถึงสภาวะปัจจุบันและแนวโน้มในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์อาจต้องต่อสู้กับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น ธนาคารอาจเผชิญแรงกดดันมากขึ้น ส่วนเศรษฐกิจภาพใหญ่นั้น บัฟเฟตต์ตั้งข้อสังเกตว่า เศรษฐกิจชะลอตัวลง และ Berkshire Hathaway อาจจะมีรายได้ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า 

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนระดับตำนานเจ้าของฉายา “นักพยากรณ์แห่งโอมาฮา” (The Oracle of Omaha) คนนี้ยังมองโอกาสของการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (value investing) ในแง่ดีมากขึ้น 

นี่คือสรุปไฮไลต์บางส่วนจากสิ่งที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ กับชาร์ลี มังเกอร์ กล่าวกับนักลงทุนในวันนั้น

“เงินสดไม่ใช่ขยะ” อย่างที่หลายคนคิด

บัฟเฟตต์เฝ้าดูการหมุนเวียนของสกุลเงิน ซึ่งเขาเรียกมันว่าเป็น “หนึ่งในตัวเลขที่น่าสนใจที่สุด” และเขาไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่า “เงินสดเป็นขยะ”

บัฟเฟตต์ชี้ให้มองว่า งบดุลของธนาคารกลางสหรัฐเพิ่มขึ้นจาก 800,000 ล้านดอลลาร์ เป็น 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ และส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบธนบัตร 100 ดอลลาร์ ซึ่งแพร่กระจายอยู่ในระบบเศรษฐกิจ นั่นเป็นเครื่องยืนยันว่าเงินสดไม่ใช่ขยะ 

“ใครก็ตามที่คิดว่าเงินสดเป็นขยะ ควรดูงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐ” 

“มันเป็นเรื่องน่าตะลึงที่ธนบัตรมูลค่า 100 ดอลลาร์แพร่กระจายออกไป … เชื่อผมเถอะว่าเงินสดไม่ใช่ขยะ”



REUTERS/ Rachel Mummey


ไม่มีสกุลเงินไหนจะโค่น “ดอลลาร์สหรัฐ” ลงจากการเป็นเป็นสกุลเงินสำรองของโลก

บัฟเฟตต์กล่าวว่า ไม่น่าเป็นไปได้ที่เงินดอลลาร์สหรัฐจะถูกปลดลงจากบัลลังก์การเป็นสกุลเงินสำรองของโลกในเวลาอันใกล้นี้ แม้ว่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับ “เพดานหนี้สาธารณะ” ที่อาจส่งผลต่อสถานะนี้ก็ตาม 

“เราเป็นสกุลเงินสำรอง (ของโลก) ผมไม่เห็นตัวเลือกอื่นว่าจะมีสกุลเงินอื่นใดมาเป็นสกุลเงินสำรองแทนที่ได้”

บัฟเฟตต์กล่าวว่า ไม่มีใครเข้าใจสถานการณ์หนี้สาธารณะดีเหมือนเจอโรม พาวเวลล์ (Jerome Powell) แต่เขาไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่รับผิดชอบนโยบายการคลัง 

บัฟเฟตต์กล่าวอีกว่า เป็นการยากที่จะเตรียมพร้อมสำหรับการขยายเพดานหนี้และผลกระทบที่จะเกิดต่อสกุลเงินดอลลาร์สหรฐ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นการตัดสินใจทางการเมือง 

ด้านคุณปู่ชาลี มังเกอร์ เปรียบเทียบการจัดการหนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่นว่าญี่ปุ่นจัดการหนี้สาธารณะได้ดี อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากสหรัฐ และสกุลเงินของญี่ปุ่นก็ไม่ใช่สกุลเงินที่ใช้เป็นเงินสำรองของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

“ผมชื่นชมญี่ปุ่นมาก … แต่ผมไม่คิดว่าเราควรพยายามเลียนแบบ” มังเกอร์ชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการชำระหนี้ภายในประเทศส่วนใหญ่ของญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันก็สังเกตเห็นถึงภาวะชะงักงันของเศรษฐกิจ

“ในญี่ปุ่น ทุกคนต้องอดทนและรับมือให้ได้ แต่ในอเมริกา พวกเราพร่ำบ่น [รัฐบาล]” มังเกอร์กล่าวเสริม



วอร์เรน บัฟเฟตต์ และชาร์ลี มังเกอร์/ ภาพจากวิดีโอ CNBC


Apple เป็นธุรกิจที่ดีที่สุดที่ Berkshire Hathaway ถือหุ้นอยู่

บัฟเฟตต์พูดถึง Apple ซึ่ง Berkshire Hathaway ถือหุ้นอยู่เกือบ ๆ 6% ว่า Apple เป็นธุรกิจที่แตกต่าง และเป็นธุรกิจที่ดีที่สุดในบรรดาธุรกิจที่ Berkshire Hathaway ถือหุ้นอยู่ 

“หลักเกณฑ์ของเราสำหรับ Apple นั้นแตกต่างจากธุรกิจอื่นที่เราเป็นเจ้าของ – บังเอิญว่ามันเป็นธุรกิจที่ดีกว่าทุกธุรกิจอื่น ๆ ที่เราเป็นเจ้าของ” บัฟเฟตต์กล่าว 

บัฟเฟตต์กล่าวว่า Apple อยู่ในโพสิชั่นที่ผู้บริโภคยอมจ่ายเงินประมาณ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐเพื่อซื้อโทรศัพท์มือถือ iPhone และคนกลุ่มเดียวกันนี้ยอมจ่ายเงิน 35,000 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับการซื้อรถคันที่สอง และถ้าพวกเขาต้องเลือกระหว่างเลิกใช้รถคันที่สองหรือเลิกใช้ iPhone พวกเขาก็จะทิ้งรถคันที่สอง ซึ่ง Berkshire Hathaway ไม่มีโปรดักต์อื่นที่มีคุณสมบัติแบบนี้ 

และเขากล่าวเพิ่มเติมว่า รู้สึกเสียใจที่ตัดสินใจผิดพลาดขายหุ้น Apple ออกไปบางส่วนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ธนาคารอาจจะยังมีปัญหาต่อไป แต่ผู้ฝากเงินไม่ต้องกังวล

บัฟเฟตต์คาดว่าปัญหาในภาคการธนาคารจะยังดำเนินต่อไป แต่เขากล่าวว่าผู้ฝากเงินไม่ควรกังวลเกี่ยวกับเงินฝากในธนาคาร 

บัฟเฟตต์ฟาดแรงต่อกรณี First Republic Bank ซึ่งถูกซื้อกิจการโดย First Republic Bank เมื่อเร็ว ๆ นี้ หลังจากที่ถูกหน่วยงานกำกับดูแลเข้าพิทักษ์ทรัพย์ นับเป็นการล้มของธนาคารครั้งใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่ปี 2008 และเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ หลังจากการล่มสลายของ Silicon Valley Bank และ Signature Bank



REUTERS/ Rachel Mummey


เขากล่าวว่า ควรมีการลงโทษกรรมการและผู้บริหารธนาคารที่ต้องรับผิดชอบต่อการบริหารจัดการที่ผิดพลาด อย่างไรก็ตาม เขาตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ฝากเงินสามารถมั่นใจได้ว่าเงินฝากในธนาคารนั้นปลอดภัยเพราะมีการรับประกันจากรัฐ 

และบัฟเฟตต์ยังกล่าวตำหนิหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐว่า การชี้แจงแถลงข้อเท็จจริงต่อสาธารณชนในเรื่องนี้ “แย่มาก” เขาบอกว่าไม่ควรมีคนจำนวนมากมายขนาดนี้ที่เข้าใจผิดว่า บรรษัทรับประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) และรัฐบาลสหรัฐไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่ธนาคารล้ม และการแห่ถอนเงินของผู้ฝากเงิน

บางทีการกระจายความเสี่ยงก็นำมาซึ่งความเสี่ยงเสียเอง

ชาร์ลี มังเกอร์ (Charlie Munger) กล่าวว่า การกระจายการลงทุนกลายเป็นกฎมาตรฐานในการลงทุนเพื่อช่วยลดความเสี่ยงและสร้างพอร์ตโฟลิโอที่ยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ก็มีบางอย่างที่ผู้ศึกษาด้านการลงทุนไม่ได้ให้ความสนใจมากพอ 

เขาบอกว่า บางทีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนก็เป็น “deworsification” คือ เป็นการกระจายความเสี่ยงที่ไม่ดีแล้วนำมาซึ่งความเสี่ยงเสียเอง

“สิ่งไร้สาระอย่างหนึ่งที่สอนกันในการศึกษาในมหาวิทยาลัยสมัยใหม่คือการลงทุนในหุ้นสามัญนั้นจำเป็นต้องมีการกระจายความเสี่ยงให้มากเข้าไว้”  

“นั่นเป็นความคิดที่บ้า” มังเกอร์บอกว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีโอกาสที่ดีมากมายที่สามารถระบุเจาะจงได้ง่าย ๆ



REUTERS/ Rachel Mummey


โอกาสในการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (VI) มาจากการที่คนอื่นทำเรื่องโง่ ๆ

บัฟเฟตต์กล่าวว่า นักลงทุนเน้นโดยนักลงทุนเน้นคุณค่า จะมีโอกาสทำเงินเมื่อคนอื่นตัดสินใจผิดพลาด 

“สิ่งที่เปิดโอกาสให้คุณคือการที่คนอื่นทำเรื่องโง่ ๆ” เขากล่าว

“ใน 58 ปีที่เราบริหาร Berkshire มา ผมบอกได้เลยว่า มีคนที่ทำเรื่องโง่ ๆ เพิ่มขึ้นมาก และพวกเขาก็ทำเรื่องโง่ ๆ ที่เป็นเรื่องใหญ่ด้วย” บัฟเฟตต์กล่าว 

ถึงอย่างนั้น มังเกอร์กล่าวว่า นักลงทุนเน้นคุณค่าควรสบายใจที่จะทำกำไรได้น้อยลง เพราะในยุคนี้มีการแข่งขันมากขึ้น แต่เขาก็กล่าวว่ายังมีโอกาสอีกมากอยู่ในมือของคนฉลาดที่พยายามชิงไหวชิงพริบกัน 

แต่บัฟเฟตต์เสริมว่า คนพวกนั้นพยายามชิงไหวชิงพริบกันในเวทีที่นักลงทุนไม่จำเป็นต้องกระโดดเข้าไป เขากล่าวอีกว่า โลกกำลังให้ความสนใจกับเรื่องระยะสั้นมากเกินไป

“ผมอยากเกิดในยุคนี้ และออกไปลงทุนด้วยเงินที่ไม่มากเกินไป และหวังว่าจะเปลี่ยนมันเป็นเงินจำนวนมากได้ และชาร์ลีก็เช่นกัน” บัฟเฟฟต์กล่าว ซึ่งตีความได้ว่าเขาอยากเริ่มลงทุนในยุคปัจจุบันที่การแข่งขันสูงกว่าในยุคที่เขาเริ่มต้น 

แต่มังเกอร์บอกว่า ไม่ชอบ “ความเป็นไปได้” ที่ความมั่งคั่งของตัวเองจะหดเล็กล

การลงทุนในญี่ปุ่นยังไม่สิ้นสุด

บัฟเฟตต์ลงทุนในบริษัทญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ในช่วงครบรอบวันเกิดอายุ 90 ปีของเขา ซึ่งทั้ง 5 บริษัทเป็นบริษัทเทรดดิ้ง (ธุรกิจซื้อมาขายไป) ชั้นนำของญี่ปุ่น ได้แก่ Mitsubishi Corp. (มิตซูบิชิ), Mitsui (มิตซุย), Itochu Corp. (อิโตชู), Marubeni (เมรุเบนิ) และ Sumitomo (ซูมิโตโม) 

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา บัฟเฟตต์บอกว่าเขาเพิ่มการลงทุนในบริษัทเหล่านี้ ทำให้มีสัดส่วนการถือหุ้นแต่ละบริษัท 7.4% และเขาได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อแสดงการสนับสนุนธุรกิจที่เขาถือหุ้นอยู่ด้วย 

“เราจะมองหาโอกาสต่อไป” บัฟเฟตต์กล่าวกับผู้ถือหุ้นในบริษัทของเขา 

นอกจากนั้น Berkshire Hathaway ยังมีการออกตราสารหนี้เสนอขายในญี่ปุ่นด้วย ซึ่งตอนนี้ Berkshire Hathaway เป็นผู้กู้จากต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น



REUTERS/ Rachel Mummey


“ปัญญาประดิษฐ์” ไม่สู้ “ปัญญามนุษย์”

ชาร์ลี มังเกอร์ แสดงความกังขาเกี่ยวกับอนาคตของปัญญาประดิษฐ์ แม้ขาจะยอมรับว่ามันจะเปลี่ยนโฉมหน้าของหลาย ๆ อุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว

“เราจะได้เห็นโลกนี้มีหุ่นยนต์มากขึ้น” มังเกอร์กล่าว

“โดยส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยเชื่อในโฆษณาที่เกินจริงบางอย่างในศักยภาพของ AI ผมคิดว่าปัญญาแบบเดิม ๆ ก็ทำงานได้ดีทีเดียว” 

ด้านวอร์เรน บัฟเฟตต์ แชร์มุมมองว่า แม้ว่าตัวเขาเองคาดหวังว่า AI จะ “เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งในโลก” แต่เขาไม่คิดว่ามันจะดีกว่าสติปัญญาของมนุษย์

ไม่จำเป็นต้องรู้เทคนิคของธุรกิจที่ลงทุน หากเข้าใจปัจจัยแวดล้อม และไม่หยุดเรียนรู้

บัฟเฟตต์กล่าววว่า ตัวเขาเองอาจจะไม่สามารถเรียนรู้เรื่องทางเทคนิคของธุรกิจได้ แต่มันก็ไม่จำเป็น ขอเพียงเข้าจัยปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเรียนรู้ต่อไป 

เขาตัวอย่างการลงทุนใน Apple ว่า “ผมไม่เข้าใจโทรศัพท์เลย แต่ผมเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค” 

บัฟเฟตต์กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าธุรกิจที่ดีสามารถกลายเป็นธุรกิจที่ไม่ดีได้อย่างไร หรือมีอะไรที่ดึงดูดความสนใจได้หรือไม่ 

เขากล่าวว่าทีมของเขาไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้ แต่สามารถกำหนดและตัดสินสิ่งต่าง ๆ ได้ เช่น ราคาควรเป็นอย่างไร และอะไรเป็นภัยคุกคามต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจ 

“เราไม่ได้ฉลาดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แต่เรา … ค่อย ๆ ฉลาดขึ้นทีละนิด ตามวันเวลาที่ล่วงเลยไป” บัฟเฟตต์กล่าว


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net /world-news/news-1285516

X