ประกันชีวิต

4 เรื่องน่ารู้ของประกันชีวิต


จากบทความก่อนๆ เราได้ทราบถึงว่าประกันชีวิตเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สามารถนำมาวางแผนการเงินในด้านต่างๆ ได้หลากหลาย ทราบถึงประกันชีวิตว่ามีกี่แบบ แต่ละแบบมีข้อจำกัดอย่างไรเหมาะกับใครบ้าง  และในบทความนี้เราจะพาไปเจาะลึกเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับประกันชีวิตว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่น่าสนใจ ซึ่งหลายๆ คนอาจไม่เคยรู้มาก่อน

1.ประกันชีวิตสามารถลดหย่อนภาษีได้หรือไม่มีเงื่อนไขอย่างไร

เบี้ยประกันชีวิตที่เราจ่ายไปแต่ละปีนั้นสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้โดยมีรายละเอียดดังนี้

  •  ประกันชีวิตแบบทั่วไปนอกเหนือจากแบบบำนาญซึ่งได้แก่ แบบตลอดชีพ, แบบสะสมทรัพย์, แบบชั่วระยะเวลา, ประกันชีวิตควบการลงทุน (เบี้ยเฉพาะในส่วนคุ้มครองชีวิตไม่รวมเบี้ยส่วนการลงทุน)

สามารถนำเบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษีรวมกันได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ในกรณีที่กรมธรรม์มีความคุ้มครองชีวิตตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

  •  ประกันชีวิตแบบบำนาญ

เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้หรือ 200,000 บาทแล้วแต่ว่าจำนวนใดจะน้อยกว่าให้เลือกจำนวนนั้น โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติมดังนี้

1. ในกรณีที่ใช้สิทธิประกันชีวิตแบบทั่วไปยังไม่ถึง 100,000 บาท สามารถใช้สิทธิประกันแบบบำนาญให้ครอบคลุมทั้งประกันชีวิตแบบทั่วไปและประกันชีวิตแบบบำนาญรวมกันได้สูงสุดถึง 300,000 บาท

2. ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันแบบบำนาญ เมื่อนำไปรวมกับกองทุน SSF, กองทุน RMF, กบข./กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

  •  ประกันสุขภาพ

เบี้ยประกันสุขภาพตนเองสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 25,000 บาท แต่เมื่อนำมารวมกับประกันชีวิตแบบทั่วไปนอกเหนือจากแบบบำนาญแล้วลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

2. มีปัญหาด้านสุขภาพสามารถทำประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพได้ไหม

หลายๆท่านมีข้อสงสัยว่าถ้ามีปัญหาด้านสุขภาพ, มีโรคประจำตัว หรือเคยผ่าตัดมาก่อน จะสามารถทำประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพได้ไหม ถ้าได้จะมีเงื่อนไขอะไรบ้าง โดยแบ่งเป็นประกันชีวิตและประกันสุขภาพตามรายละเอียดดังนี้

ประกันชีวิต

ถ้ามีปัญหาด้านสุขภาพ, มีโรคประจำตัว หรือเคยผ่าตัดมาก่อน บริษัทประกันจะมีหลักการพิจารณา 3 ข้อพิจารณาโดยฝ่ายพิจารณาการรับประกันของแต่ละบริษัท ดังนี้

– รับทำประกันชีวิตโดยชำระเบี้ยตามอัตราปกติ

ในกรณีที่บริษัทประกันพิจารณาแล้วว่าโรคที่เราเป็นหรือเคยเป็น ไม่มีผลกับความเสี่ยงในการเสียชีวิตของเราที่เพิ่มขึ้น เช่นเคยผ่าตัดมาหลายปีและหายเป็นปกติแล้วบริษัทจะพิจารณาว่าเราเป็นบุคคลที่ไม่มีความเสี่ยงว่าจะเสียชีวิตจากปัญหาสุขภาพ ก็จะคิดเบี้ยเท่ากับอัตราปกติ

– รับทำประกันชีวิตโดยชำระเบี้ยเพิ่มจากอัตราปกติ

ในกรณีที่บริษัทประกันพิจารณาแล้วว่าปัญหาด้านสุขภาพของเรา, โรคที่เราเป็นหรือเคยเป็น มีผลกับความเสี่ยงในการเสียชีวิตของเราที่เพิ่มขึ้น เช่น มีน้ำหนักมากหรือน้อยกว่ามาตรฐานที่กำหนด บริษัทจะพิจารณาว่าเราเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงว่าจะเสียชีวิตจากปัญหาสุขภาพ ก็อาจจะรับทำประกันแต่พิจารณาเพิ่มเบี้ยจากอัตราปกติ

-ไม่รับทำประกันชีวิต

ในกรณีที่บริษัทประกันพิจารณาแล้วว่าปัญหาด้านสุขภาพของเรา, โรคที่เราเป็นหรือเคยเป็น มีผลกับความเสี่ยงในการเสียชีวิตของเราแบบมีความเสี่ยงสูงเช่น ทำประกันชีวิตเมื่อทราบว่าเป็นโรคมะเร็ง บริษัทจะพิจารณาไม่รับทำประกันชีวิตเลย

ประกันสุขภาพ

– รับทำประกันสุขภาพโดยชำระเบี้ยตามอัตราปกติ

ในกรณีที่บริษัทประกันพิจารณาแล้วว่าสุขภาพของเราปัจจุบันไม่มีความเสี่ยงเป็นโรคแล้ว บริษัทจะพิจารณาว่าเราเป็นบุคคลที่สุขภาพแข็งแรง ก็จะคิดเบี้ยเท่ากับอัตราปกติ

– รับทำประกันสุขภาพโดยชำระเบี้ยเพิ่มจากอัตราปกติ

ในกรณีที่บริษัทประกันพิจารณาแล้วว่าสุขภาพของเราปัจจุบันมีความเสี่ยงเป็นโรค เช่น มีนำหนักมากกว่าหรือน้อยกว่ามาตรฐาน บริษัทจะพิจารณาว่าเราเป็นบุคคลที่อาจจะมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาด้านสุขภาพมากกว่าคนปกติ ก็อาจจะรับทำประกันสุขภาพแต่จะพิจารณาเพิ่มเบี้ยจากอัตราปกติ

– รับทำประกันสุขภาพโดยยกเว้นโรคที่เป็นอยู่หรือเคยเป็น

ในกรณีที่บริษัทประกันพิจารณาหรือมีการตรวจสุขภาพแล้วพบว่าสุขภาพของเราปัจจุบันมีโรคประจำตัวหรือเคยมีประวัติการรักษา ทางบริษัทประกันอาจพิจารณารับประกันสุขภาพแต่ยกเว้นไม่คุ้มครองโรคที่เป็นอยู่หรือเคยมีประวัติการรักษาและในบางกรณีอาจมีเพิ่มเบี้ยประกันจากปกติด้วย

– ไม่รับทำประกันสุขภาพ

ในกรณีที่บริษัทประกันพิจารณาหรือมีการตรวจสุขภาพแล้วพบว่าว่าสุขภาพของเราปัจจุบันมีโรคประจำตัวหรือเคยมีประวัติการรักษาที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคสูง ทางบริษัทประกันอาจพิจารณาไม่รับทำประกันสุขภาพเลยก็ได้

3. ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ต่างจากการฝากเงินในธนาคารไหม อะไรดีกว่ากัน

หลายๆท่านเวลาไปธนาคารหรือเวลาคุยกับตัวแทนอาจจะเคยโดนชักชวนให้ทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ โดยมีคำโฆษณาว่าออมเงินไว้กับเราได้ผลตอบแทนมากกว่าธนาคารนะ ลดหย่อนภาษีได้ด้วย จึงเกิดคำถามว่าประกันแบบสะสมทรัพย์ดีกว่าฝากเงินในธนาคารจริงหรือ คำตอบคือ ไม่มีอะไรดีกว่ากัน เพียงแต่เราจะใช้วางแผนการเงินในเรื่องใดเท่านั้นเอง แต่ละอย่างมีข้อดีข้อเสียต่างๆกันไป ดังนี้

  •  ฝากเงินในธนาคาร

ข้อดี

สภาพคล่องสูง ในกรณีถ้าเราต้องการใช้เงินด่วนเราสามารถถอนออกมาได้เลย

ข้อเสีย

ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนน้อย, ลดหย่อนภาษีไม่ได้, ผลตอบแทนที่เป็นดอกเบี้ยต้องเสียภาษี, ไม่มีความคุ้มครองชีวิต

  •  ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์

ข้อดี

ผลตอบแทนเมื่อครบระยะสัญญาสูงกว่าฝากเงิน, ลดหย่อนภาษีได้, ผลตอบแทนไม่ต้องเสียภาษี, มีความคุ้มครองชีวิต

ข้อเสีย

สภาพคล่องต่ำ ถ้าเรามีความจำเป็นต้องใช้เงินก่อนครบสัญญาต้องรอเวลาเวนคืนกรมธรรม์ 1-2 สัปดาห์กว่าจะได้เงินและอาจขาดทุนเงินต้นได้

โดยสรุปคือ เงินฝากเหมาะสำหรับใช้วางแผนการเงินระยะสั้น (ไม่ถึง 1 ปี) เช่นเก็บเงินไปเที่ยวต่างประเทศปีหน้า หรือใช้เป็นเงินสำรองฉุกเฉินโดยทั่วไปควรมีสำรองไว้ใช้จ่ายในการดำรงชีวิต 3-6 เดือน เผื่อไว้ในกรณีที่เราขาดรายได้เช่นโดนออกจากงานกะทันหัน เวลา 3-6 เดือนจะเป็นเวลาที่เราสามารถหางานใหม่หรือหาช่องทางรายได้ใหม่ๆได้ ในขณะที่ประกันแบบสะสมทรัพย์เป็นการฝึกการออมของเราโดยต้องส่งเบี้ยทุกปีจนครบสัญญาแถมมีความคุ้มครอง เหมาะสำหรับการวางแผนการเงินระยะยาว (อย่างน้อยเท่ากับระยะเวลาคุ้มครอง)

ดังนั้นเราควรแบ่งเงินสดไว้ใช้ในยามฉุกเฉินและวางแผนการเงินระยะสั้นก่อน จากนั้นถ้ามีเงินเหลือและเราประเมินตัวเองแล้วว่าเราสามารถจ่ายเบี้ยประกันได้ทุกปีก็สามารถแบ่งเงินมาทำประกันสะสมทรัพย์ได้

4. ยกเลิกประกันชีวิตก่อนครบสัญญาได้ไหม

การยกเลิกสัญญาประกันชีวิตก่อนครบสัญญาสามารถทำได้ 3 วิธีดังนี้คือ

  •  เวนคืนกรมธรรม์

โดยจะได้รับเงินก้อนตามตารางมูลค่ากรมธรรม์ ซึ่งอาจจะได้น้อยกว่าเบี้ยที่จ่ายไป แล้วสัญญาเป็นอันสิ้นสุด

  •  การใช้มูลค่าเงินสำเร็จ

เป็นการหยุดจ่ายเบี้ยโดยมีความคุ้มครองตามระยะเวลาเดิมแต่ทุนประกันหรือความคุ้มครองลดลง ตามตารางมูลค่ากรมธรรม์

  •  การใช้การขยายระยะเวลา

เป็นการหยุดจ่ายเบี้ยโดยมีทุนประกันหรือความคุ้มครองเท่าเดิมแต่ระยะเวลาความคุ้มครองลดลง ตามตารางมูลค่ากรมธรรม์

โดยสรุปคือไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกแบบไหนเราก็จะเสียผลประโยชน์ที่เราพึงได้จากกรมธรรม์รวมถึงอาจขาดทุนเบี้ยที่เราจ่ายไปด้วย ดังนั้นก่อนจะทำประกันทุกครั้งทุกกรมธรรม์ควรศึกษาข้อมูลและความพร้อมในการจ่ายเบี้ยให้ดีๆก่อนการตัดสินใจทำ

จากเรื่องน่ารู้ของประกันชีวิตทั้ง 4 ข้อดังที่กล่าวมาเป็นเรื่องที่ผู้ที่จะทำประกันทุกคนควรรู้เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจเป็นข้อมูลเพิ่มเติมในการเลือกซื้อประกันชีวิตได้ ก่อนการซื้อประกันทุกครั้งควรศึกษาข้อมูลให้ดีเพื่อที่จะให้ประกันชีวิตทุกกรมธรรม์ที่เราซื้อตอบโจทย์ความต้องการและแผนทางการเงินของเราได้


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับnoon
https://www.noon.in.th/blog/4-fact-about-life-insurance/
X