ข่าวการเงิน
Gen Y จ่ายหนี้ไม่ไหว กลายเป็นเอ็นพีแอลมากขึ้น
เครดิตบูโรเผย กลุ่มเจนวาย (อายุ 25-42 ปี) มีปัญหาการจ่ายหนี้ไม่ไหว กลายเป็นเอ็นพีแอลมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะสินเชื่อบุคคล
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB)
หรือเครดิตบูโร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”
ประเด็นตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนไทยปัจจุบันอยู่ที่ 14.7 ล้านล้านบาท
หรือคิดเป็น 88% ของจีดีพี (16.7 ล้านล้านบาท)
ปัจจุบันพบว่าหนี้ครัวเรือนทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบุคคล (พีโลน)
สินเชื่อรถ สินเชื่อบ้าน รวมถึงบัตรเครดิต ผู้บริโภคกลุ่มเจนวาย (อายุ
25-42 ปี) คือกลุ่มที่เป็นฐานลูกค้าใหญ่ ขณะเดียวกัน
ก็เป็นกลุ่มที่มีปัญหาในการชำระหนี้มากที่สุด
และมีแนวโน้มหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
ทั้งในแง่ของจำนวนบัญชีและวงเงินหนี้
และจากข้อมูลพบว่า
ขณะนี้ปัญหาหนี้เสียของกลุ่มเจนวายเริ่มก่อตัวมากขึ้นในสินเชื่อบุคคล
ซึ่งเป็นการก่อหนี้เพื่อการบริโภค
และกำลังเห็นสัญญาณว่าปัญหาจะลามไปที่สินเชื่อรถ
และสินเชื่อบ้านเพิ่มสูงขึ้น
ซึ่งเป็นกลุ่มวัยทำงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้รายได้ลดลง
อย่างไรก็ตาม
กลุ่มเจนวายคือกลุ่มมนุษย์แรงงานที่จะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งนี้
ถ้ากลุ่มนี้กลายเป็นหนี้เสียก็จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น
“กลุ่มลูกหนี้เจนวายเป็นกลุ่มที่มีการก่อหนี้ตลอดเวลา
และมีการก่อหนี้สะสมมาโดยตลอด และภายหลังจากเกิดปัญหาโควิด-19 ทำให้เกิด
income shock ทำให้ปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ต่าง ๆ ที่ก่อไว้ได้
ส่งผลให้ตัวเลขหนี้เสียของกลุ่มเจนวายเพิ่มขึ้นชัดเจน”
นายสุรพลกล่าวอีกว่า ประเภทสินเชื่อที่น่าเป็นกังวลมากที่สุดก็คือ
“สินเชื่อส่วนบุคคล” ยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท ณ ไตรมาส
3/65 ตัวเลขเอ็นพีแอลอยู่ที่ราว 10.3% และตัวเลขที่กำลังจะเสีย (SM) อีก
2.9% รวม 2 ตัวนี้จะเพิ่มเป็น 13.2% ซึ่งถือเป็นระดับที่สูง
และผลิตภัณฑ์ที่กำลังจะสร้างปัญหาในอนาคตคือบริการ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง”
(Buy Now Pay Later)
ซึ่งขณะนี้มีผู้ให้บริการออกมาโปรโมตการทำตลาด
เพราะดอกเบี้ยจูงใจผู้ประกอบการ 25% ต่อปี สูงกว่าบัตรเครดิตที่อยู่ 16%
ต่อปี ทำให้หลายบริษัทให้ความสนใจทำธุรกิจนี้
ซึ่งยิ่งเป็นการกระตุ้นการก่อหนี้เพื่อการบริโภค
จับจ่ายซื้อสินค้าไม่จำเป็นมากยิ่งขึ้น
“หากดูในต่างประเทศมีรายงานออกมาว่า
ถ้าจะเปิดให้สินเชื่อในลักษณะนี้จะต้องควบคุมให้ดี เพราะขณะนี้บริการประเภท
Buy Now Pay Later กำลังเป็นปัญหาหนี้เสียสูงมาก แต่ประเทศไทยกำลังโปรโมต
ซึ่งปัญหาของโปรดักต์นี้คือดอกเบี้ย หากเพดานดอกเบี้ย 15% ต่อปี
ก็ถือว่าช่วยกลุ่มคนไม่มีสภาพคล่อง
แต่ตอนนี้ใช้อัตราดอกเบี้ยส่วนบุคคลสูงถึง 25% ต่อปี”
กลุ่มเจนวาย (อายุ 25-42 ปี)
มีปัญหาการจ่ายหนี้ไม่ไหวกลายเป็นเอ็นพีแอลมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ทำให้กลุ่มเจนวายกลายเป็นหนี้เสียสินเชื่อพีโลน 2.98 ล้านบัญชี (มูลหนี้
1.18 แสนล้านบาท) จากสิ้นปี 2563 มีจำนวน 1.81 บัญชี (มูลหนี้ 7.99
แสนล้านบาท)
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/finance/news-1139269
X