ข่าวการเงิน

วัยทำงาน…แบกหนี้


คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : อำนาจ ประชาชาติ


สถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังน่าเป็นห่วง (อย่างมาก) สำหรับประเทศไทย โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 91.3% ของ GDP ยังอยู่ระดับที่สูงเกินกว่าระดับ “ไม่เกิน 80%” อย่างที่หน่วยงานกำกับดูแลอยากเห็นค่อนข้างมาก


ดังนั้น หน่วยงานกำกับดูแลนโยบายการเงินอย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เลยบอกว่า ถ้าลดดอกเบี้ย จะยิ่งทำให้คนก่อหนี้เพิ่มขึ้น


ซึ่งเป็นมุมมองที่ “สวนทาง” กับขุนคลังคนใหม่ “คุณพิชัย ชุณหวชิร” ที่บอกว่า ถึงจะลดดอกเบี้ยลง คนก็ไม่มีปัญญาจะก่อหนี้เพิ่มแล้ว แต่การลดดอกเบี้ยจะช่วยผ่อนภาระ ทำให้คนมีเงินไปใช้หนี้ (เดิม) ได้มากขึ้นต่างหาก


ความคิดเห็นที่ยังแตกต่างดังกล่าว หวังว่าคงได้เคลียร์ใจกันไปบ้างแล้ว จากการนัดคุยกันเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา


จากนี้ จะได้ช่วยกันแก้ปัญหาสำคัญของประเทศให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน


เพราะเรื่องหนี้ นี่เป็นปัญหาใหญ่


ล่าสุด บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร ให้ข้อมูลว่า ไตรมาส 1 ปีนี้ หนี้บ้านยังคงเติบโตเพิ่มขึ้น 3.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนหนี้รถยนต์ลดลง 1.5%


แต่ที่ “คุณสุรพล โอภาสเสถียร” กรรมการผู้จัดการเครดิตบูโร บอกว่า น่ากังวลก็คือ หนี้ที่เอาไปใช้ทำธุรกิจกับหนี้ O/D ติดลบ 5.7% และ 5% ตามลำดับ


หนี้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ เป็น “หนี้เพื่อการบริโภค” เป็นหลัก


โดยหนี้รถยนต์แม้การเติบโตจะลดลง แต่พบว่า หนี้เสีย (NPL) กลับเพิ่มขึ้นมากถึง 32% ขณะที่ NPL สินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้น 18% ส่วน NPL สินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 12% และ NPL บัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 14.6%


เมื่อดูไส้ในแล้ว สินเชื่อบ้านมีหนี้ค้างชำระ แต่ยังไม่เป็น NPL (หรือเรียกว่า SM) เพิ่มขึ้น 15% ขณะที่ SM ของสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้น 7% ส่วน SM บัตรเครดิตเพิ่มถึง 32.4%


ข้อมูลจากเครดิตบูโรยังสะท้อนด้วยว่า “คน Gen Y” เป็นหนี้เสียสินเชื่อบ้าน มากกว่า 50%


แปลว่า คน Gen Y หรือคนที่กำลังอยู่ในวัยทำงานของประเทศ กำลังอ่อนล้า บ้านที่เป็น “ปัจจัย 4” กำลังหลุดมือไป


ต้องบอกว่า น่าเป็นห่วงจริง ๆ


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/columns/news-1567050
X