คนในวงการภาพถ่ายอาจคุ้นกับข่าวปีก่อน (2566) ภาพที่ชนะเลิศการประกวด Sony World Photography Awards งานประกวดภาพถ่ายระดับโลก ถูกเฉลยโดยศิลปินเจ้าของผลงานว่า เขาคงเข้ารับรางวัลชนะเลิศไม่ได้ เพราะมันเป็นภาพที่สร้างด้วย AI
และตอนนี้ ภาพถ่ายดังกล่าว “The Electrician” ผลงานของ บอริส เอลดากเซน (Boris Eldagsen) นำมาจัดแสดงแล้วที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในนิทรรศการแสดงภาพถ่าย Photography Never Lies - ภาพถ่ายไม่โกหก
นิทรรศการนี้รวมผลงานของศิลปินหลากเชื้อชาติรวม 13 คน เปิดมุมมองและตั้งคำถามต่อความหมายและความรู้สึกที่เรามีต่อ “ภาพถ่าย” ซึ่งเป็นคำถามที่มักเกิดขึ้นต่อเนื่องมาตลอดประวัติศาสตร์ของการถ่ายภาพ ว่าภาพถ่ายสามารถสะท้อนข้อเท็จจริงได้จริงหรือไม่ แล้วยิ่งเมื่องานนี้จัดขึ้นในช่วงเวลาที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดด กว่าครึ่งของชิ้นงานจึงเล่นกับภาพที่สร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI
บอริส เอลดักเซน ศิลปินจากเบอร์ลิน เยอรมนี ก็เป็นหนึ่งในศิลปินที่นำเซตภาพที่สร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ภายใต้ซีรีส์ผลงานที่ชื่อ Pseudomnesia ซึ่งเป็นภาพประดิษฐ์ให้ดูคล้ายภาพย้อนยุคปี 1940s มาจัดแสดงที่นี่ด้วย เขาเรียกชิ้นงานเหล่านี้ตามที่ชุมชนชาวไอทีประดิษฐ์คำใหม่ออกมาว่า “promptography” (ภาพที่ออกมาจากการใช้คีย์เวิร์ดที่ prompt เข้าไป)

ภาพชุด PSEUDOMNESIA (2022) โดย บอริส เอลดากเซน (เยอรมนี)
ภาพ The Electrician ที่คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวด Sony World Photography Awards เป็นภาพของหญิงสองคน จุดเด่นที่สุดคือแววตาของหญิงสูงวัยที่กำลังยืนกุมไหล่หญิงอีกคน เป็นแววตาที่เปี่ยมด้วยความรู้สึกล้ำลึกที่ซ่อนอยู่ เขาร่วมกับ DALL-E 2 ปัญญาประดิษฐ์ของ OpenAI ผู้สร้าง ChatGPT

ภาพชุด PSEUDOMNESIA (2022) โดย บอริส เอลดากเซน (เยอรมนี)
เอลดักเซน ให้สัมภาษณ์กับ Scientificamerican เอาไว้ว่า ที่ส่งงานไปประกวดเพราะอยากลองดูว่าคณะกรรมการจะแยกแยะออกหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการแยกไม่ออกจนคัดเลือกให้ภาพนี้ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ ผลยังปรากฏว่า กระบวนการนี้จุดประกายให้เกิดบทสนทนาต่องานจาก AI อีกมาก เช่นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างภาพถ่ายกับภาพ AI ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ในเมื่อมันมองแล้วคล้ายคลึงจนคนที่ไม่เชี่ยวชาญแยกไม่ออก แล้วภาพถ่ายกับภาพ AI จะสามารถอยู่ในพื้นที่เดียวกันได้บนข้อควรระวังอะไรบ้าง รวมไปถึงคำถามที่ว่า หากภาพศิลปะจะหมายถึงภาพที่ทำให้เรารู้สึกบางอย่างกับมัน แล้วงานภาพที่สร้างจาก AI จะสามารถได้รับการยอมรับและถูกนับเป็นงานศิลปะหรือไม่

คำถามเหล่านี้ยังไม่มีคำตอบในเวลานี้ และมุมมองต่อการรับมือของโลก AI ก็คงแตกต่างกันไป ระหว่างห้องแสดงงานศิลปะไปจนถึงงานเชิงวารสารศาสตร์
นอกจากงานภาพ AI ที่มาจากศิลปินหลายคนในงานนิทรรศการครั้งนี้แล้ว งานนี้ยังมีเผยถึงมิติอื่นๆ ของภาพถ่าย ที่ถูกปรุงแต่งด้วยเทคนิควิธีการหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์บนเพลตแก้ว (wet plate) piezegraphy รวมถึงการแสดงออกมาด้วยการคอลลาจภาพ

ภาพชุด เกจิ (2552) โดย มานิต ศรีวานิชภูมิ

ภาพชุด The Entrapment และ Love & Fire โดย ธนพล แก้วพริ้ง

ผลงานภาพถ่ายด้วยฟิล์มกระจกแบบดั้งเดิม ในชื่อ Barrels (2561-2565) โดย ปิยทัต เหมทัต

Variations of a Hill op.1 (2565) โดย มิติ เรืองกฤตยา
ศิลปินไทยที่เข้าร่วมแสดงงานในนิทรรศการนี้ ได้แก่ ธนพล แก้วพริ้ง, นภัสรพี อภัยวงศ์, ปิยทัต เหมทัต, ภูมิภัทร อุษาประทุมบาน, มานิต ศรีวานิชภูมิ และ มิติ เรืองกฤตยา โดยมี อัครา นักทำนา เป็นภัณฑารักษ์

ภาพชุด Trails of Absence โดย ไซ ▇▇ (รัฐฉาน พม่า)
งานอีกชิ้นที่น่าสนใจ มาจากศิลปินชาวพม่าที่ชื่อ ไซ (Sai) ภาพของเขาถูกจัดวางเรียงกันในห้องมืดขนาดพอดี เป็นเรื่องเล่าจำลองจากประสบการณ์จริงของครอบครัว ที่พ่ออยู่ภายใต้การคุมขังของรัฐบาลทหารพม่า แม่ถูกกักตัวอยู่ในบ้าน ส่วนเขาต้องหลบหนีออกมานอกประเทศ

โครงการ MACHT ภาพการเมืองโลก 100 ปี ผ่านผู้นำของแต่ละประเทศระหว่างปี 2464 ถึง 2564 โดย ปาทริค บูเดนซ์ และบียร์เทอร์ เซลเลนติน (เยอรมนี)
นอกจากนี้ ยังมีงานในโครงการ MACHT ของ ปาทริค บูเดนซ์ (Patrik Budenz) และ บียร์เทอร์ เซลเลนติน (Birte Zellentin) ศิลปินจากเยอรมนี ที่เล่าประวัติศาสตร์การเมืองผ่านผู้นำประเทศด้วยการรวมภาพซ้อนของผู้นำของประเทศหนึ่งๆ ในระยะ 100 ปี ตั้งแต่ปี 2464-2564 ออกมาให้อยู่ในภาพหนึ่งเฟรมต่อหนึ่งประเทศ ความเข้มของภาพแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่อยู่ในตำแหน่ง เป็นชิ้นงานที่เพ่งพินิจแล้วได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์นับแต่ก่อตั้งประเทศนั้นๆ บางประเทศมีผู้นำจำนวนน้อยเพราะอยู่ในระบอบเผด็จการที่ผู้นำหนึ่งคนครองอำนาจยาวนาน ขณะที่บางประเทศตกเป็นอาณานิคมต่างชาติจนมีผู้นำต่างชาติพันธุ์เข้ามาครอบครอง

ภาพชุด The Entrapment และ Love & Fire โดย ธนพล แก้วพริ้ง

Resonances of the Concealed โดย นภัสรพี อภัยวงศ์

Variations of a Hill op.1 (2565) โดย มิติ เรืองกฤตยา
นิทรรศการ Photography Never Lies - ภาพถ่ายไม่โกหก สามารถเข้าชมได้ฟรี งานจัดแสดงตั้งแต่ 30 พฤษภาคม - 8 กันยายน 2567 ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร