ข่าวการเงิน
บทความโดย “สมาคมนักวางแผนการเงินไทย”
บทความโดย “สมาคมนักวางแผนการเงินไทย”
วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 หากเอ่ยถึงคำว่า “หนี้” ก็ถือเป็นดาบสองคมของหลาย ๆ คน โดยด้านหนึ่งเปรียบเสมือนทางลัดที่ช่วยให้เข้าถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องการได้เร็วขึ้นที่ไม่ต้องรอเก็บเงินให้ครบทั้งก้อน เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ แทนที่จะรอเก็บเงินก้อนใหญ่เป็นเวลาหลายปี ก็กู้สินเชื่อบ้านหรือรถ ก็จะช่วยให้มีบ้านหรือได้รถเร็วขึ้น หรือหากต้องการเรียนต่อก็ใช้วิธีกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาก็จะช่วยให้สามารถเรียนต่อได้เร็วขึ้น
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง เมื่อเป็นหนี้แต่บริหารจัดการผิดพลาด อาจนำไปสู่ปัญหาใหญ่ ๆ ได้ เช่น จ่ายหนี้ช้าก็มีภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ยิ่งมีหนี้มาก ดอกเบี้ยก็ยิ่งสูงก็กัดกินเงินออม แถมเสียค่าปรับก็ส่งผลเสียต่อเครดิต หรือเกิดความเครียดก็ส่งผลต่อสุขภาพจิต เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากเป็นช่วงเศรษฐกิจดี ๆ การงานมั่นคง เงินทองเข้ามาไม่ขาดมือได้โบนัสทุกปี ภาระหนี้สินที่ก่อเอาไว้ก็ไม่น่าจะกระทบกับเงินในกระเป๋า แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจเพราะหากมีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนมากจนเกินไป ย่อมส่งผลต่อสุขภาพการเงินในระยะยาว ดังนั้น ต้องถามตัวเองว่ามีความจำเป็นแค่ไหนในการก่อหนี้
การสำรวจว่าตัวเองมีภาระหนี้แต่ละเดือนมากน้อยแค่ไหน สามารถคำนวณได้จากDSR ย่อมาจาก Debt Service Ratio หมายถึง อัตราส่วนเงินสำหรับใช้ผ่อนชำระหนี้กับรายได้ในแต่ละเดือน ซึ่งตามหลักสุขภาพการเงินที่ดี DSR ไม่ควรเกิน 40%
สูตรคำนวณ DSR = (ภาระหนี้ต่อเดือน ÷ รายได้ต่อเดือน) x 100
โดยหนี้สินที่นำมาเพื่อตรวจสุขภาพทางการเงินจะเป็นหนี้สินปัจจุบันต่อเดือน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนบัตรเครดิต ต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนรายได้ที่นำมาคำนวณจะเป็นรายได้ต่อเดือนทั้งหมด เช่น เงินเดือน รายได้พิเศษ เป็นต้น
ตัวอย่าง
มีเงินเดือน 50,000 บาท มีหนี้สินต้องผ่อนต่อเดือน ได้แก่ หนี้บ้าน (9,000 บาท), หนี้รถ (7,000 บาท), หนี้บัตรเครดิต (3,000 บาท), ผ่อนมือถือ (800 บาท) รวมทั้งหมด 19,800 บาท
จากสูตร DSR = 18,800 ÷ 50,000 x 100 = 39.60% แสดงว่า ถือว่าฐานะทางการเงินยังแข็งแรง มีความสามารถในการจ่ายหนี้แต่ละเดือนได้ตามปกติ แต่หากลดหนี้ลงไปได้ก็ควรลด
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวหรือเกิดวิกฤต เงินทองหายาก ไม่รู้ว่าจะถูกเลิกจ้างวันไหน รายได้พิเศษก็ไม่เข้ามาเลยแม้แต่บาทเดียว หากต้องการทำให้สุขภาพการเงินมีความแข็งแรง นอกจากการลดค่าใช้จ่ายแล้ว การหยุดก่อหนี้ก็เป็นทางเลือกที่ดี
อาจโต้แย้งว่าที่ผ่านมาเคยผ่อนหนี้เดือนละ 19,800 บาท จะให้มาลดทันที เจ้าหนี้คงไม่ยอม ที่สำคัญเมื่อไม่ผ่อนตามเงื่อนไขก็จะผิดเงื่อนไขและมีปัญหาตามมา เช่น ภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย หรือรถโดนยึด ดังนั้น หากให้การผ่อนหนี้ลดลง
ควรเริ่มต้นด้วยการหยุดกู้ยืมก้อนใหม่ ถัดมา คือ ใช้จ่ายเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเท่านั้น หากทำได้จำนวนหนี้ที่ต้องผ่อนในแต่ละเดือนจะลดลง
จากตัวอย่างด้านบน เช่น หากหยุดการใช้บัตรเครดิต (3,000 บาท) ก็จะเหลือผ่อนหนี้แต่ละเดือน 16,800 บาท ทำให้ DSR เหลือ 33.60% หมายความว่า จะมีเหลือเงินในกระเป๋าเอาไว้ใช้จ่ายเฉพาะสิ่งที่จำเป็นมากขึ้น
ตารางประกอบบทความ

อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นในการก่อหนี้ช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวหรือเกิดวิกฤติ จำเป็นต้องวางแผนอย่างรอบคอบ รัดกุม เพื่อลดความเสี่ยงและภาระหนี้ในอนาคต ต่อไปนี้ คือ แนวทางการวางแผนก่อหนี้ให้เหมาะสม
ประเมินสถานการณ์ทางการเงินของตัวเอง
• ตรวจสอบรายรับ รายจ่าย เงินออม และภาระหนี้ที่มีอยู่
• คำนวณความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ ว่าสามารถผ่อนไหวหรือไม่
• พิจารณาถึงความมั่นคงของหน้าที่การงานและรายได้
พิจารณาความจำเป็นในการกู้ยืม
• กู้ยืมเงินเฉพาะในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ
• หลีกเลี่ยงการกู้ยืมเพื่อใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
• พิจารณาทางเลือกอื่น เช่น การหารายได้เสริม
เปรียบเทียบข้อเสนอจากสถาบันการเงินต่าง ๆ
• เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม เงื่อนไข และระยะเวลาการผ่อนชำระ
• เลือกสินเชื่อที่เหมาะสมกับความต้องการและความสามารถในการผ่อนชำระ
กู้ยืมเงินในจำนวนที่จำเป็น
• กู้ยืมเงินในจำนวนที่น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น
• หลีกเลี่ยงการกู้ยืมเงินเกินตัว
เตรียมแผนสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉิน
• เตรียมเงินสำรองเผื่อไว้สำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด
• วางแผนรับมือกับสถานการณ์เลวร้าย เช่น ตกงาน
ศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจเงื่อนไขการกู้ยืม
• อ่านสัญญาเงินกู้ให้ละเอียดก่อนเซ็นชื่อ
• สอบถามข้อมูลให้ครบถ้วน
ชำระหนี้คืนตรงเวลา
• วางแผนการผ่อนชำระหนี้ให้ชัดเจน
• ชำระหนี้คืนตรงเวลาทุกงวด
• หลีกเลี่ยงการจ่ายหนี้ล่าช้า
ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
• ปรึกษานักวางแผนการเงิน หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสินเชื่อ
• ขอคำแนะนำเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินและการจัดการหนี้จากนักวางแผนการเงิน
การก่อหนี้ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวหรือเกิดวิกฤตอาจมีความเสี่ยงสูง จึงต้องวางแผนอย่างรอบคอบ เริ่มต้นด้วยการศึกษาข้อมูล ถามตัวเองว่าควรก่อหนี้แค่ไหนที่ไม่สร้างปัญหาด้านการเงินในระยะยาว และเมื่อตัดสินใจก่อหนี้ก็ต้องจ่ายหนี้คืนให้ตรงเวลาตามเงื่อนไขที่กำหนด และเตรียมแผนสำรองการเงินเพื่อช่วยให้การกู้ยืมเงินเป็นไปอย่างปลอดภัยและลดความเสี่ยงในอนาคต
X