การดำเนินชีวิต

เมื่อชีวิตติดแกลม แต่เงินในบัญชีติดลบ นี่แหละ ชีวิตลูกคุณหนูเจนวาย


ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หนึ่งในมีมยอดฮิตที่เห็นกันบ่อยครั้งในปี 2567 ก็คือ #ชีวิตติดแกลม ทั้งในแพลตฟอร์ม TikTok และ Instagram


คำว่า ‘แกลม’ คือคำคุณศัพท์ Glamorous แปลว่ามีเสน่ห์ น่าเร้าใจ น่าตื่นเต้น และน่าดึงดูดใจในหนทางที่แสนพิเศษ


เช่น  A glamorous woman/outfit  ผู้หญิงที่มีเสน่ห์น่าดึงดูด, เสื้อผ้าที่มีเสน่ห์น่าดึงดูด หรือ She looks so glamorous. เธอดูมีเสน่ห์น่าดึงดูดใจสุดๆ 


คำว่า ‘glamorous’ มาจากคำภาษาสก็อตติช ‘gramarye’ หมายถึง เวทมนตร์, ความเคลิบเคลิ้มหลงใหล, คาถา เช่น ความหมายของผู้หญิงที่ดูแกลมซึ่งเรายกตัวอย่างไปข้างต้น หรือจะใช้ในบริบทงานเลี้ยงหรือกิจกรรมที่มีความหรูหรามากๆ ก็ได้ รวมไปถึงไลฟ์สไตล์ที่คนเลือกใช้ชีวิตซึ่งเต็มไปด้วยความหรูหรา


สำหรับบริบทแบบไทยๆ ในตอนนี้ ‘ติดแกลม’ หรือที่บางคนสะกดว่า ‘ติดแกรม’ ถูกใช้หรือถูกเน้นไปในทางที่หมายถึง ‘ติดหรู ติดแพง ติดหล่อ หรือติดสวยแบบฟีลลูกคุณหนู’


แล้วถ้าโฟกัสไปที่มีม หรือคลิปรีลส์ต่างๆ ที่มีการโพสต์กันอย่างมากมายในโซเชียลมีเดีย เราก็จะเห็นถึงรายละเอียดของความขำขันในภาพถ่าย วิดีโอ หรือในข้อความที่คนรุ่นใหม่กำลังสื่อสารผ่าน #ชีวิตติดแกลม หรือ #ติดแกลม แถมยังแฝงฝังไปด้วยความเป็นจริงทางสังคมบางอย่างที่น่าสนใจอีกด้วย


เราจึงอยากลองชวนทุกคนมาดูตัวอย่างกันว่า คนเจเนอเรชัน Y และเจเนอเรชัน Z ที่โพสต์คอนเทนต์เหล่านี้ในโลกออนไลน์นั้น สื่อสารเมสเสจอะไรในคลิปหรือภาพติดแกลมของพวกเขากันบ้าง


ชีวิตติดแกลม แต่เงินในบัญชีติดลบ นำเสนอภาพสาวติดแกลมสไตล์เก๋ไก๋ที่แสดงสีหน้ากลัดกลุ้มใจ (เพราะเงินในบัญชีของเธอ น่าจะติดลบแบบที่บรรยายไว้ในแคปชัน)


ชีวิตสาวติดแกรมของกูและเพื่อนในโซเชียลกินหรูติดแกรม ชีวิตจริงแค่มีแจ่วบองปลาร้าก็คือจบ นำเสนอภาพกลุ่มเพื่อนหญิงที่แต่งตัวแต่งหน้าแน่นๆ กำลังล้อมวงกันกินแจ่วบองนัวๆ ริมฟุตพาต


แต่งตัวแต่งหน้าติดแกลม แต่มอมแมมทางการคมนาคม นำเสนอภาพของสาวที่เพิ่งจอดมอเตอร์ไซค์ แล้วถอดชุดคลุมกันแดดมอมๆ ออก เพื่อโชว์ชุดเดรสสวยๆ ที่เธอตั้งใจแต่งมา


และที่เห็นกันบ่อยมากคือเมสเสจการแชร์เช็กลิสต์ราคาที่ต้องจ่ายสำหรับภาพลักษณ์เทสต์ดีที่เขาหรือเธอโพสต์บนโซเชียลมีเดีย (ซึ่งราคาและรายละเอียดของค่าใช้จ่ายจะแตกต่างกันไปตามที่แต่ละคนครีเอตคอนเทนต์ขึ้นมา) เช่น ค่าชุด 1,500 ค่าคาเฟ่ 500 ค่าเดินทาง 300 เพื่อถ่ายรูปอัพลงไอจี คนไลก์ 32 คน นี่แหละวงจรชีวิตติดแกลม ซึ่งนำเสนอภาพหนุ่มเทสต์ดีนั่งโพสต์ท่าชิคๆ ในคาเฟ่ฮิป


หรือที่แหวกแนวไปกว่านั้นก็คือ ติดแกรม แต่เป็น ติดแกรมมี่โกลด์ คือการหยอกกันว่า โห เธอติดแกรมว่ะ แต่แหกโค้งความหมายไปที่ ติดแกรมมี่โกลด์ สรุปก็คือเป็นมุกตลกที่สื่อสารว่า เหมือนจะติดหรู แต่ติดฟังเพลงลูกทุ่งมากๆ นั่นเอง


#ชีวิตติดแกลมสะท้อนสังคมไทยยังไง?


ในทางหนึ่ง เมื่อเรามองการโพสต์เนื้อหา #ชีวิตติดแกลม มันก็คือการยั่วล้อกับชีวิตฉากหน้าที่นำเสนอภาพความหรูหราของชีวิต ซึ่งอาจเป็นการเสียดสีพฤติกรรมการโพสต์เนื้อหาติดหรูดูดีในโลกออนไลน์ และอาจต่างกับชีวิตจริงที่ภาวะทางการเงินอยู่ในทิศทางตรงกันข้าม ความจริงเราอาจจะยากจน ใช้เงินแบบเดือนชนเดือน หรืออาจอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่แกลมเอาเสียเลย 


และนี่คือเสียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนปรากฏการณ์ติดแกลมในสังคมไทย เทรนด์ความแกลมไม่แน่นอนตายตัว แต่มีบริบทการใช้งานได้หลายแบบ และนำมาซึ่งการตีความจากมุมมองของผู้คนที่หลากหลาย


“คลิปหรือมีมพวกนี้เป็นปรากฏการณ์ ที่น่าจะต่อเนื่องมาจากการพรีเซนต์ตัวเองเพื่อสร้างแบรนดิ้งในโลกออนไลน์ ซึ่งคอนเทนต์มันอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจมากก็คือ คนยุคนี้บางส่วนยอมทิ้งวินัยทางการเงินเพื่อใช้ชีวิตแกลมๆ ในโซเชียลมีเดีย”


เฟิร์น อายุ 29 ปี


ช่างภาพสาว 


#ชีวิตติดแกลมปลอม


“ชีวิตติดแกลมในโลกออนไลน์ คือการที่ผู้คนพยายามบอกว่า ตัวเองใช้ชีวิตดีๆ แต่แท้จริง เขาอาจจะไม่มีเงินก็ได้ มันเป็นเทรนด์ที่ค่อนข้างมีความหมายตรงตัวนะ 


จากเทรนด์นี้ เรามองมันในมุมของการใช้โซเชียลมีเดียของคนในยุคปัจจุบัน เพราะโลกออนไลน์ทำให้เราต้องการฉายภาพบางอย่างของตัวเองออกไปสู่คนอื่น ซึ่งมันก็คือสิ่งที่บอกว่า นั่นคือตัวตนเรานะ แต่จริงๆ อีกทาง มันอาจจะไม่ใช่ตัวเราจริงก็ได้ 


สมมติอย่างตัวเราเอง ตัวตนเราจริงๆ และในโซเชียลมีเดียอาจไม่ได้ลงรอยกันขนาดนั้น ในโซเชียลมีเดีย เราอาจจะดูเทสต์ดีกว่าตัวจริง ดูเป็นคนลึกลับ ทั้งที่ในความจริงเราก็เป็นคนธรรมดาเหมือนคนอื่นๆ มันคือเรื่องเดียวกันกับชีวิตติดแกลมนั่นแหละ แต่เรื่องของความแกลม มันคือการที่คนใช้โซเชียลมีเดียต้องการฉายภาพว่าตัวเองมีเงินแทน 


แต่เทรนด์นี้มันก็มีความหมายอีกชั้นหนึ่งนะ เพราะคนอยากฉายภาพว่าตัวเองรวยจริงๆ แหละ แต่ก็ตัดเลี่ยนมันด้วยภาพว่า ก็ไม่ได้รวยขนาดนั้นหรอก กูรวยแบบตลกๆ”


น้ำ อายุ 27 ปี


อาชีพ กองบรรณาธิการสื่อ


#ติดแกลมในสังคมเหลื่อมล้ำ


“พอเราเห็นเทรนด์ชีวิตติดแกลมก็สงสัยว่า น้องๆ ในโซเชียลมีเดีย เขากำลังทำอะไรกันอยู่คะ (หัวเราะ) เรารู้สึกว่าน้องๆ น่าจะเอาฮากันนะ ไม่ได้จริงจังกับเรื่องติดแกลมขนาดนั้น เพราะความเหลื่อมล้ำในประเทศเรา จริงๆ มันมีอยู่เยอะมากแล้ว คนส่วนใหญ่ในประเทศจึงไม่ได้มีชีวิตหรูหรา หรือเข้าถึงความแกลมได้แบบนั้น ทุกคนเลยเล่นมีมเอาฮากันหมด แต่พอเราดู เราก็มีความสงสัยว่า เอ๊ะ ตกลง เขาแกลมกันจริงๆ หรือเปล่า หรือเขาแค่อยากแสดงภาพแบบนั้นจริงๆ ใช่ไหม คือสำหรับเรา มันมีเส้นของความทีเล่นทีจริงอยู่ในนั้นด้วย”


ออย อายุ 36 ปี


อาชีพ คุณแม่ลูกหนึ่ง


สรุปติดแกลม นี่ชมหรือด่า


ดูเหมือนว่า คำว่า ติดแกลม ไม่ได้มีความหมายในทางเดียวเท่านั้น เพราะเมื่อมันถูกใช้อย่างทีเล่นทีจริง จึงมีบ้างที่บางคนสงสัยในแง่ความหมายที่ลื่นไหลได้ และไม่ได้ตายตัว เช่น คำถามของเนติเซนที่ถามครูสอนภาษาอังกฤษ Dr.Nan_English ใน TikTok ว่า “ติดแกรมนี่เหมือนด่าไหมคะ หรือว่าชมว่า แบบติดสวยตลอดอะไรอย่างนี้” และได้คำตอบจากเจ้าของช่องว่า “คิดว่าได้ทั้งสองสถานการณ์นะคะ น่าจะแล้วแต่บริบทเลยค่ะ”


เพราะ ถ้าเป็นการชื่นชมก็หมายความว่า เธอมีความหรูหราจริงๆ นั่นแหละ


แต่ถ้าในทางการเสียดสี ก็คือการหยิกแกมหยอกคนอื่นว่า แหม ชีวิตมึงมันติดแกลม หมายถึงความหมายที่ไม่ได้แปลว่า การชื่นชมเยินยอ แต่เปลี่ยนมาเป็นการหยอกล้อแทน แปลว่า แกไม่ได้แกลมจริง แต่แกกำลังโดนหยอกหรือเสียดสีอยู่ แต่ท้ายที่สุดต้องสังเกตความหมายด้วยบริบทล้อมรอบนั้นๆ ด้วย


“ชมหรือด่า อยู่ที่ว่าใครเป็นคนพูดกับเรา เพราะจริงๆ บริบทส่วนใหญ่คือการวิพากษ์วิจารณ์คนกลุ่มหนึ่งที่ติดแกลม ถ้ามันดูน่าหมั่นไส้ หรือน่ารำคาญ มันก็จะเป็นความหมายในทางลบ แต่กับบางคน เขาก็ยอมรับว่าตัวเองอยากแกลมจริงๆ เช่น คอนเทนต์สไตล์ติดแกลม อาจไม่ใช่คำด่าอย่างเดียว แต่อยู่ที่ว่าใครพูด มันอาจหมายความตรงตัวว่าแกลมจริงๆ ก็ได้ ภาษาเป็นวัฒนธรรม คำว่าชีวิตติดแกลมมันก็สะท้อนปรากฏการณ์ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้นเอง”


น้ำตาล อายุ 43 ปี


อาชีพผู้ช่วยบรรณาธิการ


แล้วทำไมมีมนี้ถึงเวิร์กในหมู่เนติเซนไทย นี่คือข้อสันนิษฐานที่อาจน่าสนใจสำหรับหลายๆ คน


“ผมคิดว่า วัฒนธรรมของเจน Y และ เจน Z มักมีพฤติกรรมการบริโภคที่เน้นการใช้จ่ายเกินกำลังทรัพย์ที่ตัวเองมี เช่น มีเงินเดือนอยู่จำนวนหนึ่ง แต่อยากจะซื้อของที่มีราคาสูงไปกว่าเงินเดือนนั้น ผมเคยอ่านข้อมูลที่ปรากฏของ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 แล้วพบว่า คนในช่วงอายุระหว่าง 20-43 ปี เป็นช่วงอายุของคนเจน Y และ เจน Z มีหนี้เสีย (NPLs) รวมกันสูงถึง 5.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ อาจจะบริหารจัดการเงินได้ไม่ดีพอ


เราคิดว่า เทรนด์ของคำว่าชีวิตติดแกลม มันเป็นวัฒนธรรม คนไทยอาจมองว่ามันเป็นเรื่องตลกได้ แต่ถ้ามองลึกๆ เราอาจไม่ได้มีรายได้มากพอ ซึ่งมีสถิติด้วยว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ มีเงินเดือนไม่ถึง 50,000 บาทด้วยซ้ำ”


เติร์ด อายุ 29 ปี


โปรดิวเซอร์ออนไลน์


คนเจนวายมีบ้าน มีรถ และมีหนี้


ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสังคมไทยของเรากำลังกลายเป็นสังคมที่คนเจเนอเรชัน Y (ปีค.ศ. 1981-2000 โดยประมาณ) เข้ามาเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยในฐานะแรงงานหลักยุคปัจจุบัน ซึ่งในตอนนี้พวกเขามีช่วงอายุราวๆ 27-43 ปี และข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ที่อัปเดตในเดือนธันวาคม 2565 ก็ทำให้เราเห็นว่าคนเจนวายไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 15,144,468 คน ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่เยอะที่สุดรองจากคนเจเนอเรชัน X ที่มีอยู่ราวๆ 16 ล้านคน


ในฐานะที่ผู้เขียนเองก็เป็นคนเจนวาย อาจกล่าวได้คร่าวๆ ว่า คนในเจเนอเรชันเราต่างเติบโตมาในยุคเปลี่ยนผ่านจากโลกแอนะล็อกสู่โลกดิจิทัล ในแง่เทคโนโลยีและเครื่องมืออำนวยความสะดวกในชีวิตของเรานั้นสบายกว่าคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายมากๆ แต่คนเจนวายกลับไม่ได้มีโอกาสสะสมความมั่งคั่งแบบที่เจเนอเรชัน Baby boomer และเจเนอเรชันก่อนหน้าสามารถทำได้


อย่างไรก็ตาม ‘เครดิตบูโร’ หรือบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ในช่วงกลางปีนี้รายงานและสะท้อนให้เราเห็นว่า ‘หนี้เสีย’ ภาพรวมของครัวเรือนไทยพุ่งทะยานสูงสู่ 1.09 ล้านล้านบาท และที่กำลังน่าเป็นห่วงสุดๆ ก็คือสุขภาพทางการเงินของคนเจเนอเรชันวายไทยที่ครองแชมป์เป็นเจเนอเรชันที่มีหนี้เสียมากที่สุด ซึ่งยอดกำลังมุ่งหน้าไปแตะตัวเลข 2.5 แสนล้านบาท


สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการมีชีวิตติดแกลมยังไง?


คำตอบส่วนหนึ่งคือเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย (ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของคนเจเนอเรชันวายแต่ละบุคคลด้วยว่ามีพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินกันอย่างไรบ้าง) เพราะการใช้จ่ายเงินส่วนหลักๆ ของมนุษย์ต่างเป็นไปเพื่อแลกกับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต 


แต่อีกส่วนก็คือการใช้จ่ายมันเพื่อสร้างภาพลักษณ์หรือไลฟ์สไตล์ที่แต่ละคนชื่นชอบและอยากจะนำเสนอ เช่น ไลฟ์สไตล์ชีวิตติดแกลมติดเก๋ที่เราอยากแชร์ให้คนอื่นๆ ที่อยู่แวดล้อมในสังคมได้เห็น 


ทว่า ถ้าสุขภาพการเงินไม่แข็งแรงมากพอ ความฮาในคอนเทนต์ #ชีวิตติดแกลม อาจกลายเป็นเรื่องจริงที่เรากำลังขำขื่น เสียดสี หรือประชดประชันให้กับความฝืดเคืองทางการเงินส่วนตัว เพราะเรื่องจริงที่เกิดขึ้น จนหลายๆ คนปฏิเสธไม่ได้ก็คือ เรากำลังยอมจ่ายเพื่อความเท่ แต่ความเท่ที่ต้องแลกทำให้เรามีเงินใช้ไม่พอ


ในทางหนึ่ง มีมชีวิตติดแกลม เพื่อการโชว์ความเทสต์ดีบนโลกออนไลน์ผ่านการกินดื่ม การใช้เสื้อผ้า สิ่งของ การท่องเที่ยว และกิจกรรมอื่นๆ ในรูปแบบการอธิบายเช็กลิสต์การใช้จ่ายเกินตัวจนเงินทองเกลี้ยงบัญชี อาจจะอธิบายอย่างจริงจังผ่านเรื่อง ‘Lifestyle Inflation’ หรือภาวะการใช้จ่ายเงินที่ฟุ่งเฟ้อสุรุ่ยสุร่ายเกินตัวเองได้ ซึ่งการที่เราจะเข้าถึงไลฟ์สไตล์ที่ดูมีราคาแพง เช่น การเข้าคาเฟ่เท่ๆ กาแฟแก้วละร้อยอัปได้นั้น ก็สันนิษฐานได้ว่า เราน่าจะพอมีเงินเดือนหรือรายได้ที่ต้องสูงมากพอ ซึ่ง Lifestyle Inflation มักจะทำให้คนต้องติดกับวังวนของหนี้ที่จ่ายไม่ไหว หรือการใช้จ่ายเงินแบบเดือนชนเดือน และไม่มีเงินเก็บอย่างไม่มีจุดสิ้นสุด


จากการสังเกตปรากฏการณ์เทรนด์ #ชีวิตติดแกลม และหลังจากการพูดคุยกับผู้คนที่เคยเสพมีมยอดฮิตเหล่านี้ ทำให้เราพอจะมองเห็นว่าเบื้องหลังความตลกโปกฮาเหล่านี้ มีเรื่องจริงของผู้คนซ่อนอยู่ เพราะใครๆ ก็อยากมีชีวิตที่ทั้งเท่และสะดวกสบาย ภายใต้รายได้ที่ได้มาอย่างจำกัด ค่าครองชีพที่สูงในโลกทุนนิยมที่กระตุ้นให้เราอยากบริโภคและอยากโชว์ตัวตนทางสังคม 


ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สิ่งเหล่านี้นี่แหละ ทำให้ออนไลน์มีมกลายเป็นหนทางในการสะท้อนและระบายความรู้สึกแห่งยุคสมัยออกมาได้อย่างแยบยล และน่าสนใจยิ่ง


แหล่งที่มาข่าวและภาพต้นฉบับไทยรัฐออนไลน์
https://plus.thairath.co.th/topic/everydaylife/104962
X