นิทรรศการ Red mud, Green Shoots จัดแสดงผลงานศิลปะหลากหลายเทคนิคของศิลปิน ‘แม่ญิง’ 28 คน สะท้อนความรู้สึก ความทรงจำ ของเหตุการณ์มหาอุทกภัย ส่งต่อกำลังใจ พลิกฟื้นให้ชีวิตดำเนินต่อไปกันได้ ท่ามกลางความผันผวนไม่แน่นอนของสภาพอากาศและทุกอย่างรอบๆ ตัว
ในน้ำท่วมเราพบน้ำใจ ท่ามกลางโคลนตมที่กลืนกินพื้นที่ไปทั่วเมือง เราเห็นความหวังที่ยังผลิบาน โลกมีสองด้านให้เราเรียนรู้เสมอ
พจวรรณ พันธ์จินดา หนึ่งในสมาชิกศิลปินแม่ญิง (Maeying Artists Collective) กล่าวถึงที่มาของนิทรรศการ Red mud, Green Shoots ที่กำลังจัดแสดงอยู่ที่บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ไปจนถึง 21 ธันวาคม ศกนี้ ให้ฟังว่า
“ศิลปินแม่ญิง แสดงผลงานร่วมกันในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปี 2560 แต่ปีนี้เกิดน้ำท่วมใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ของ เชียงราย สมาชิกในกลุ่มเรามีทั้งผู้ประสบภัยและอยู่ร่วมในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงอยากถ่ายทอดมุมมองของแต่ละคนในนิทรรศการ Red mud, Green Shoots ท่ามกลางโคลนสีแดงเต็มเมือง ก็ยังมีหน่อเล็ก ๆสีเขียวงอกขึ้นมาใหม่ แม้จะอยู่ท่ามกลางภัยพิบัติเรายังมีความหวัง”

ศิลปินแม่ญิง (Maeying Artists Collective)(ภาพ : บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย)

หอยทากบนผนัง ตัวแทนของผู้รอดชีวิต ผลงานดินปั้นโดย พจวรรณ พันธ์จินดา
ผลงานศิลปะในนิทรรศการครั้งนี้ ได้รับการตีความผ่านความรู้สึกและประสบการณ์ของศิลปินแต่ละคน ทำให้ผู้ชมได้เห็นมุมมองที่หลากหลาย
พจวรรณ เจ้าของคาแรกเตอร์ PoyPoy เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ชอบแฝงตัวอยู่ในท้องฟ้ากว้างๆ ชอบชวนเพื่อนๆออกไปผจญภัย นำเสนอเรื่องราวของหอยทากที่พากันหนีน้ำขึ้นไปอยู่บนกำแพงและผนังของบ้าน ด้วยการปั้นดินเป็นรูปหอยทากระบายสีราวลูกกวาดแล้วนำมาเกาะอยู่ตามผนังกระจายอยู่ภายในห้องจัดแสดงงานศิลปะ
“เล่าถึงเรื่องราวของผู้รอดชีวิต” เจ้าของผลงานตอบสั้นๆเพราะอยากให้เราจินตนาการต่อ

เรือกระดาษ สะท้อนภาพความช่วยเหลือจากเรือกู้ภัยที่แล่นผ่านหน้าบ้านทุกวันผลงานของ ภัทรพร สิทธิศักดิ์
ในขณะที่ ภัทรพร สิทธิศักดิ์ หยิบรูปทรงของเรือกระดาษมาบอกเล่าถึงขบวนเรือกู้ภัยที่แล่นผ่านหน้าบ้านซึ่งอยู่บนเส้นทางผ่านระหว่างอำเภอแม่สายและอำภอเมืองเชียงราย แทนความทรงจำที่ได้เห็นความช่วยเหลือที่เกิดขึ้นในทุกวัน

ภาพเขียนสีจากดินโคลนน้ำท่วม ผลงานของ ธนันท์ ใจสว่าง
ธนนันท์ ใจสว่าง นำดินโคลนที่มากับน้ำท่วมในบ้านมาผสมน้ำแล้วใช้แทนสีวาดภาพสะท้อนความโกลาหลที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์น้ำท่วม
ส่วน กิตติ์สินี ธันวรักษ์กิจ สร้างสรรค์ผลงานศิลปะจัดวางด้วยการนำดินโคลนมาใส่ในถุงดำแล้วปลูกดอกเดซี่ สื่อถึงความหวังและการเริ่มต้นใหม่ และดอกทานตะวัน สะท้อนถึงความอบอุ่นของแสงอาทิตย์
“ถึงแม้ว่าเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นจะทิ้งร่องรอย สร้างบาดแผลและความเจ็บปวดมากแค่ไหน แต่ขออย่าสิ้นหวัง หมดพลัง และสิ้นศรัทธา เหมือนดอกไม้ที่เติบโตหลังพายุฝน” โดยต้นไม้ในถุงดำนี้ผู้เข้าชมสามารถซื้อกลับบ้านได้ รายได้จะนำไปสมทบทุนช่วยเหลือ

“ซ้อนสู้สู่ความหวัง” โดย จตุพร เทพนิล
ประกาศยกของขึ้นที่สูงเป็นคำเตือนที่คุ้นหู จตุพร เทพนิล นำดินโคลนน้ำท่วมมาสร้างสรรค์เป็นงานเซรามิคที่ชื่อว่า ซ้อนสู้สู่ความหวัง สะท้อนถึงความพยายามในการปกป้องสิ่งของจากภัยน้ำท่วม
ด้วยการซ้อนวางสิ่งของอย่างมุ่งมั่นตั้งใจและระมัดระวัง จนเกิดเป็นความสูงจากการสู้เพื่อให้สิ่งของพ้นระดับน้ำ อีกทั้งการซ้อนสู้นี้แฝงด้วยความหวังให้เกิดความปลอดภัย พร้อมชีวิตที่รอวันผลิบานกับการเริ่มต้นใหม่ที่สดใสยิ่งขึ้น เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ชวนก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับรอยยิ้ม
สำหรับผลงานที่ดูเหมือนว่าจะเก็บรายละเอียดของเหตุการณ์และเรื่องราวของผู้คนได้เอาไว้ได้มากมาย ต้องยกให้ผลงานจิตรกรรมในบรรยากาศเหนือจริง “อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” ของ ชรินรัตน์ สิงห์หันต์ เจ้าของฉายา หลานหวัน หรือหลานของ ‘ถวัลย์ ดัชนี’ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย ที่รุ่นพี่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ตั้งให้เพราะความที่เป็นคนเชียงรายที่มีความบ้าพลังทำงานศิลปะชิ้นเล็ก ๆไม่ค่อยถนัด
ถึงแม้ว่าผลงานในครั้งนี้จะมีขนาดเล็กอยู่สักหน่อย แต่ถือว่าเป็นงานชิ้นเล็กแบบตะโกนเลยทีเดียว
“อยากเขียนภาพที่บันทึกเหตุการณ์ทั้งหมดของปีนี้เอาไว้ ตอนต้นปีเขาบอกว่าเชียงรายจะแล้งแต่ปรากฏว่ามีฝนตกหนัก นอกจากนี้การเผาข้าวโพดทำให้หน้าดินแข็งไม่สามารถอุ้มน้ำได้ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วม
เรามานั่งดูเชียงรายปีนี้ว่าเกิดประสบภัยพิบัติเกือบทุกฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็นฝนตก น้ำท่วม หรือฝุ่นละออง เลยอยากจะบันทึกเรื่องราวทุกอย่างที่เกิดขึ้นในปีนี้เอาไว้ถอดบทเรียนสำหรับการไขปัญหาให้ดีขึ้น”

“อดีต ปัจจุบัน และ อนาคต” โดย ชรินรัตน์ สิงห์หันต์
หลานหวัน นำเสนอรูปบุคคลที่มีหัวเป็นรูปกล่องสี่เหลี่ยม สื่อความหมายของสภาวะที่หลีกหนีไม่ได้ ร่องรอยบูดเบี้ยวแทนประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ในขณะที่สีหน้าบ่งบอกถึงความเบื่อหน่ายที่ชาชิน งานเก็บกวาดยังคงเป็นงานหนักหลังน้ำลด
ท่ามกลางความโกลาหลอาหารและข้าวกล่องลำเลียงส่งมาทางเฮลิคอปเตอร์ ดังที่เห็นเป็นข่าว อาสาสมัครกู้ภัย และน้ำใจที่หลั่งไหลจากทั่วสารทิศ ล้วนเป็นเรื่องราวที่บันทึกไว้ในผลงานชิ้นนี้

ข้าวกล่อง คือ ของสำคัญในยามนั้น
ในดีมีร้าย ในร้ายมีดี ทุกเรื่องราวล้วนมีมุมมองคู่ขนานกันอยู่เสมอ เช่นเดียวกับเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเชียงรายเมื่อเดือนสิงหาคม กันยายน ต่อเนื่องมาจนถึงตุลาคมที่ผ่านมา
“บนโคลนตมสีแดงที่หลากท่วมไปทั่วเมือง ความหวังยังผลิบาน”

ถ้าไม่เป็นผู้ประสบภัยเองก็จะไม่เข้าใจความรู้สึกนี้ ผลงานของ อิ่มบุญ อินยาศรี
นิทรรศการ Red mud, Green Shoots จัดแสดง 16 พฤศจิกายน -21 ธันวาคม 2567 ณ บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย เปิดให้เข้าชมฟรี เวลา 10.00-16.00 น. (หยุดวันจันทร์) และติดตามกิจกรรมของทางกลุ่มศิลปินได้ที่ เฟซบุ๊ก กลุ่มศิลปินแม่ญิง Maeying Artists Collective
ภาพ : บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย , แม่ญิง