บีบีซีนิวส์ มุนโด (แผนกภาษาสเปน)
คุณเคยเป็นแบบนี้บ้างไหม ? มีงานค้างหลายชิ้นที่ต้องรีบทำ แต่พยายามรวบรวมพลังกายและใจหลายยกแล้ว ก็ไม่สามารถจะเคี่ยวเข็ญตัวเองให้ลุกขึ้นมาจัดการงานค้างให้เสร็จได้
ในบางครั้งความเกียจคร้าน, ความกลัวที่จะทำงานได้ไม่ดีหรือไม่สมบูรณ์แบบ, รวมทั้งความเฉื่อยชาผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ ทำให้เราต้องเสียเวลาไปมากมายโดยใช่เหตุ จนท้ายที่สุดแล้วก็ไม่อาจทำงานได้สำเร็จลุล่วงตามกำหนด แถมยังต้องเสียเวลาอันมีค่าของตนเองไปกับการนั่งวิตกกังวล โดยไม่อาจจะพักผ่อนอย่างสบายใจได้เลย
แม้จะมีหลายเหตุผลที่ทำให้เรากลายเป็นคนขี้เกียจไปชั่วคราว แต่ก็ใช่ว่าเรื่องนี้จะไม่มีทางแก้ไขได้ เพราะชาวญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อว่าขยันขันแข็งและมีวินัยในการทำงานอย่างยิ่ง ได้เสนอเคล็ดลับหลายวิธีในการเอาชนะความเกียจคร้านและสร้างแรงจูงใจในการทำงานไว้ดังนี้
อิคิไก
แม้จะไม่มีคำแปลความหมายโดยตรงจากภาษาญี่ปุ่น แต่อิคิไก (ikigai) เป็นศัพท์ที่ใช้เรียกแนวคิดเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งแท้จริงแล้วมันคือเหตุผลที่ทำให้คุณตื่นขึ้นมาในทุกเช้า
สำหรับชาวตะวันตกที่คุ้นเคยกับแนวคิดเรื่องอิคิไกดี พวกเขาอาจนึกถึงแผนภาพเวนน์ (Venn diagram) ที่มีวงกลม 4 วงมาซ้อนทับกัน โดยแต่ละส่วนแสดงถึงข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่คุณรัก, สิ่งที่คุณทำได้ดี, สิ่งที่คุณต้องการ, และสิ่งที่คุณซื้อหาได้ด้วยเงิน
เค็น โมงิ นักประสาทวิทยาศาสตร์ผู้เขียนหนังสือ "ปลุกอิคิไกในตัวคุณ" (Awakening Your Ikigai) ระบุว่าอิคิไกคือแนวคิดโบราณที่คนญี่ปุ่นรู้จักคุ้นเคยมานาน ซึ่งอาจจะนิยามความหมายได้ง่าย ๆ ว่า "เหตุผลที่ทำให้ตื่นนอนตอนเช้า" หรือถ้าจะกล่าวให้ไพเราะแบบบทกวีเสียหน่อยก็คือ "การตื่นขึ้นด้วยความสุขใจ"
มิจิโกะ คุมาโนะ นักจิตวิทยาชาวญี่ปุ่น กล่าวไว้ในบทความของเธอที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2017 ว่าอิคิไกคือสุขภาวะของกายและจิตที่เกิดขึ้นจากการทุ่มเทอุทิศตนทำในสิ่งที่ชื่นชอบ โดยกิจกรรมดังกล่าวนำมาซึ่งความรู้สึกว่าชีวิตถูกเติมเต็มจนสมบูรณ์
โดยสรุปแล้วอิคิไกคือการมองหาสิ่งที่สร้างแรงจูงใจให้ตัวคุณในทุกวัน สิ่งนั้นจะกลายเป็นเหตุผลที่ผลักดันคุณให้ก้าวไปข้างหน้า กิจกรรมดังกล่าวอาจเป็นอะไรก็ได้ เช่นการหาพื้นที่เล็ก ๆ ปลูกต้นไม้, ดูแลสัตว์เลี้ยง, หรือเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เป็นประจำ
ไคเซ็น
ปรัชญาไคเซ็น (kaizen) มีรากฐานอยู่บนหลักการสร้างความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ และหมั่นปรับปรุงพัฒนาอย่างสม่ำเสมอในทุกแง่มุมของชีวิต อันเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความทะเยอทะยานจะประสบความสำเร็จตั้งแต่วันแรกที่ลงมือทำ ซึ่งนอกจากจะเป็นไม่ได้แล้ว ความรีบร้อนจะยิ่งทำให้เกิดความสับสนคับข้องใจ จนเราเลิกล้มสิ่งที่เพิ่งเริ่มลงมือทำไปในที่สุด
ส่วนการประยุกต์ใช้ปรัชญาไคเซ็นในชีวิตประจำวันนั้น เราอาจตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ที่ต้องการทำให้สำเร็จลุล่วงในแต่ละวัน โดยมุ่งให้ความสนใจกับการปรับปรุงพัฒนาไปทีละน้อย เคล็ดลับนั้นอยู่ที่ความมุ่งมั่น เพื่อสร้างความก้าวหน้าเล็ก ๆ ที่นำพาตัวคุณเข้าใกล้เป้าหมายใหญ่มากขึ้นไปทุกขณะ
ย่างก้าวเล็ก ๆ เหล่านี้ จะช่วยคุณเอาชนะความเกียจคร้านเฉื่อยชา ทั้งยังช่วยสร้างแรงส่งที่สม่ำเสมอ เพื่อผลักดันให้สามารถผลิตผลงานออกมาได้ตามเป้า นอกจากนี้ยังช่วยให้มองเห็นรายละเอียด ซึ่งจะนำไปใช้ในการพัฒนาไปทีละเล็กละน้อยได้เป็นอย่างดี
การตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ในแต่ละวัน และเฝ้าดูตัวคุณทำมันได้สำเร็จ สามารถจะสร้างแรงจูงใจให้ตัวเองได้
ปรัชญาไคเซ็นนั้นมีประวัติความเป็นมาย้อนไปได้ถึงยุคหลังสงครามของญี่ปุ่น บริษัทใหญ่อย่างโตโยต้า (Toyota) ถึงกับยอมรับแนวคิดนี้ให้เป็นหนึ่งในหลักการพื้นฐานของระบบการผลิต คำว่า "ไค" หมายถึงความเปลี่ยนแปลง ส่วนคำว่า "เซ็น" หมายถึงการไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลักการนี้สามารถจะช่วยรับประกันได้ว่า ผลงานที่ออกมาจะมีคุณภาพในระดับสูงสุด ลดปริมาณของเสียเหลือทิ้ง และเพิ่มพูนประสิทธิภาพทั้งในการทำงานของเครื่องจักรและกระบวนการทำงานของมนุษย์
เทคนิค "มะเขือเทศ"
เมื่องานที่ต้องทำดูซับซ้อนยุ่งยากเกินไป หรือเป็นงานที่หนักและต้องอาศัยการเพ่งสมาธิจดจ่ออย่างมาก เทคนิคนี้อาจช่วยคุณได้ แม้ว่ามันจะเป็นหลักการที่ไม่ได้ถือกำเนิดในประเทศญี่ปุ่นก็ตาม
เทคนิค "โปโมโดโร" (pomodoro) ซึ่งหมายถึงมะเขือเทศในภาษาอิตาเลียน ถูกคิดค้นขึ้นโดยฟรานเชสโก ชิริลโล ในช่วงทศวรรษ 1980 ก่อนจะถูกหยิบยืมมาใช้กันอย่างกว้างขวางในญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มผลิตภาพและทำให้ผู้คนรู้สึกเพลิดเพลินกับการงานประจำวันได้มากขึ้น โดยคำว่ามะเขือเทศนั้นหมายถึงอุปกรณ์ช่วยนับเวลาชนิดหนึ่ง ที่มีรูปทรงเหมือนกับมะเขือเทศนั่นเอง
ไม่ว่าจะอ่านหนังสือ ทำงานบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือจัดระเบียบบ้านให้เรียบร้อย เทคนิคมะเขือเทศจะช่วยให้คุณมีสมาธิและรู้สึกว่างานเบาขึ้น
รศ.แมตทิว เบอร์แนกคี จากคณะศึกษาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาของสหรัฐฯ บอกกับบีบีซีว่า เทคนิคมะเขือเทศนั้นแบ่งเวลาทำงานออกเป็นช่วงสั้น ๆ ซึ่งส่งผลดีต่อการหลีกเลี่ยงสิ่งรบกวนที่ทำให้เสียสมาธิ
คุณอาจลองตั้งเวลาด้วยนาฬิกาไว้ 25 นาที แล้วอ่านหนังสือหรือทุ่มเททำงานอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลานั้นเพียงอย่างเดียว โดยตัดขาดจากสิ่งล่อใจทั้งปวงที่ทำให้วอกแวก ไม่จดจ่อแน่วแน่กับงานที่อยู่ตรงหน้า
จากนั้นคุณจะมีเวลาพักเพื่อให้รางวัลกับสมอง 5 นาที โดยสามารถจะหันไปเพลิดเพลินกับสิ่งที่ทำให้เสียสมาธิได้ เช่นอาจจะกินขนมของว่างหรือดูข้อความในโทรศัพท์ แล้วจึงกลับมาเริ่มช่วงเวลาของการตั้งใจทำงานอีก 25 นาทีต่อไป
เทคนิคนี้นอกจากจะช่วยไม่ให้คุณเสียเวลาไปกับสิ่งชวนวอกแวกทั้งหลายแล้ว ยังเพิ่มแรงจูงใจให้กับสมอง โดยใช้ช่วงเวลาพักให้รางวัลตัวเองสั้น ๆ มาหลอกล่อให้ตั้งใจทำงานได้นั่นเอง
ฮาระฮะจิบุ
มีคำกล่าวในภาษาญี่ปุ่นที่ว่า "อย่ากินอาหารลงท้อง (ฮาระ) มากเกินกว่าแปดส่วน (ฮะจิบุ)" ซึ่งเป็นคำเตือนที่หมายความว่า อย่าทำให้ตัวเองท้องพองอืดจนกระเพาะแทบแตก เนื่องจากการกินเข้าไปเรื่อย ๆ ไม่หยุด จนกว่าจะรู้สึกอิ่ม
คำเตือนนี้เกี่ยวข้องกับความรู้สึกขยันหรือขี้เกียจทำงานอย่างยิ่ง เพราะหลังจากที่คุณกินอาหารมื้อใหญ่เข้าไปจนหนังท้องตึงหนังตาหย่อน ก็อาจอยากงีบหลับแทนที่จะทำงานก็เป็นได้
คำแนะนำให้กินอาหารเพียงแปดส่วนของท้องนี้ มาจากจังหวัดโอกินาวาทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ซึ่งคนท้องถิ่นทำตามหลักการดังกล่าวมาแต่โบราณ เพื่อควบคุมนิสัยการกินและรักษาสุขภาพ
ดร.ซูซาน อัลเบอร์ส นักจิตวิทยาชาวอเมริกันจากคลีฟแลนด์คลินิกในรัฐโอไฮโอ บอกว่าวิธีการกินดังกล่าวมีประโยชน์มาก เพราะช่วยให้ผู้คนไม่กินมากเกินไป โดยหยุดกินก่อนที่จะเริ่มรู้สึกอิ่มเพียงเล็กน้อย
เทคนิค "โชชิน" คือการทำทุกสิ่งด้วยทัศนคติที่เปิดกว้าง ไม่ด่วนตัดสินด้วยประสบการณ์ในอดีตที่เคยพบเจอมาก่อน
ดร.อัลเบอร์สยังแนะนำว่า เมื่อคุณตักอาหารใส่จาน ให้ลองกะดูว่าต้องกินในปริมาณเท่าใดจึงจะอิ่มพอดี จากนั้นให้ตักใส่จานเพียงแค่ 80% ของปริมาณที่กะไว้ว่าจะทำให้อิ่ม หรืออาจลองกินเพียง 2 ใน 3 ของปริมาณอาหารในจานที่มีคนตักมาให้แล้ว โดยช่วงหลังอาหารคุณควรจะรู้สึกพึงพอใจและไม่หิว แต่ไม่ควรคิดว่าจะต้องกินจนอิ่ม
โชชิน
แนวคิดนี้มาจากคำสอนของพุทธศาสนานิกายเซ็น โดยคำว่า "โชชิน" (shoshin) นั้นแปลว่า "จิตของผู้เริ่มต้น" โดยพระภิกษุชุนริว ซูสุกิ ผู้ให้กำเนิดแนวคิดนี้เคยเขียนไว้ในคัมภีร์ว่า "จิตของผู้เริ่มต้นมีความเป็นไปได้อยู่มหาศาล แต่จิตของผู้เชี่ยวชาญนั้นมีความเป็นไปได้อยู่น้อยมาก"
หลักการนี้คือการทำทุกสิ่งด้วยทัศนคติที่เปิดกว้าง ไม่ด่วนตัดสินด้วยประสบการณ์ในอดีตที่เคยพบเจอมาก่อน ไม่ว่าจะมีความช่ำชองหรือเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวมามากเพียงใดก็ตาม โดยให้ทำใจเสมือนว่าเป็นผู้มาใหม่ที่ไร้ประสบการณ์อย่างสิ้นเชิง
ในแง่หนึ่งปรัชญาโชชินจะทำให้เรายอมรับได้ว่า ตนเองไม่ใช่ผู้ที่รู้รอบไปเสียทุกสิ่ง นิตยสารฟอร์บส์ฉบับที่ตีพิมพ์ในอินเดียยังรายงานว่า ปัจจุบันมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นที่พิสูจน์ยืนยันถึงประโยชน์ของทัศนคติแบบถ่อมตนดังกล่าว ซึ่งส่งผลดีเกินคาดแก่ผู้ที่ยึดถือปฏิบัติตาม เพราะการเข้าหาสิ่งใหม่ด้วยความกระตือรือร้นอยากรู้อยากเห็นและมีใจเปิดกว้าง จะนำเราไปสู่ความเพียรพยายาม, ความกล้าหาญ, และการสร้างสรรค์นวัตกรรม
วาบิซาบิ
นอกจากคำนี้จะแปลความหมายโดยตรงไม่ได้แล้ว ยังไม่มีนิยามที่แน่นอนตายตัวในวัฒนธรรมญี่ปุ่นอีกด้วย คำว่า "วาบิซาบิ" (wabi-sabi) มีต้นกำเนิดมาจากคำสอนลัทธิเต๋าในยุคราชวงศ์ซ่งของจีน (ค.ศ. 960 - 1279) และต่อมาได้ถ่ายทอดไปเป็นส่วนหนึ่งของคำสอนในพุทธศาสนานิกายเซ็น
ในตอนแรกมีความเข้าใจกันว่า ปรัชญานี้คือการแสดงความชื่นชมยินดีต่อสิ่งต่าง ๆ ในรูปแบบที่จำกัดและประหยัดมัธยัสถ์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแนวคิดวาบิซาบิมีความหมายที่ครอบคลุมกว้างขวางและผ่อนคลายมากขึ้น โดยหมายถึงการยอมรับภาวะตามธรรมชาติที่เป็นอนิจจังไม่เที่ยงแท้ ซึ่งรวมถึงความเศร้าและความทุกข์ตรม รวมทั้งยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบในทุกสิ่ง ตั้งแต่สถาปัตยกรรมไปจนถึงภาชนะเซรามิกและการจัดดอกไม้
ลิลี่ ครอสลีย์-แบ็กซ์เตอร์ เคยระบุไว้ในบทความหนึ่งของบีบีซีนิวส์มุนโดว่า "เมื่อเราพยายามสร้างสิ่งสมบูรณ์แบบขึ้นมา และพยายามต่อสู้เพื่อถนอมรักษามันไว้ เราได้ปฏิเสธเจตจำนงของมัน ทั้งยังพลาดโอกาสไม่ได้รับความสุขที่มากับความเปลี่ยนแปลงและการเติบโต"
ดังนั้นเมื่อเราตั้งใจสร้างผลงานในอาชีพหรือทำงานอดิเรกทั่วไป การยอมรับความบกพร่องไม่สมบูรณ์แบบ แทนที่จะมุ่งเน้นความเป็นเลิศในทุกรายละเอียด จึงเป็นหลักการที่ควรยึดถือปฏิบัติ เพราะแท้จริงแล้ว "ความสมบูรณ์แบบคือศัตรูของความดีงาม" การที่เราดื้อรั้นจะสร้างสิ่งสมบูรณ์แบบขึ้นมาให้ได้ โดยมุ่งเพ่งเล็งไปที่รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งหมด มีแต่จะทำให้เราสูญเสียเวลาอันมีค่าไปโดยเปล่าประโยชน์