ทำความรู้จักกับ อลิซาเบธ รอมฮิลด์ ศิลปินเชื้อสายเดนมาร์ก-อาร์เมเนียน ผ่านการผจญภัยบนเส้นทางสายศิลปะ 40 ปี ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม และสีสันของกรุงเทพฯ เมืองที่เธอพำนักอยู่นานกว่า 37 ปี ในหนังสือ Elizabeth Romhild's Odyssey
เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ แปซิฟิค ซิตี้คลับ สำหรับหนังสือรวบรวมผลงานตลอดระยะเวลา 40 ปี ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ของ อลิซาเบธ รอมฮิลด์ (Elizabeth Romhild) ศิลปินเชื้อสายเดนมาร์ก-อาร์เมเนียนที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ

อลิซาเบธ รอมฮิลด์ กับผลงานจิตรกรรม Untold Stories และประติมากรรม Freedom
ก่อนงานเลี้ยงค็อกเทลในช่วงค่ำ ซึ่งจะมีการจัดประมูลผลงานจิตรกรรม Untold Stories และประติมากรรม Freedom เพื่อนำรายได้ไปสมทบทุนให้แก่ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อโรคมะเร็งเต้านม (QSCBC) เรามีโอกาสได้สนทนากับคุณอลิซาเบธพอสังเขป
คุณอลิซาเบธเล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเองว่าเธอเกิดที่เดนมาร์ก แต่ชีวิตศิลปินนั้นเริ่มต้นที่อินโดนีเซียในขณะที่มีอายุ 26 ปี ( พ.ศ.2528) ความสนใจในการวาดรูปสีน้ำสะท้อนบ้านเรือนของชุมชนแออัดที่ดึงดูดเธอด้วยสีของสนิมและไม้ในเฉดต่าง ๆ ทำให้เธอได้รับการเรียกขานว่าเป็น Slum Painter

ภาพเขียนสีน้ำชิ้นแรกในชีวิตที่ขายได้ ขณะจัดแสดงในแกลลอรีที่อินโดนีเซีย
(ภาพจากหนังสือ Elizabeth Romhild's Odyssey)
วาดสีน้ำอยู่ได้ราว 3 ปี คุณอลิซาเบธมีอันต้องย้ายตามคุณปีเตอร์สามีผู้ทำงานให้กับบริษัท อีสต์ เอเชียติก มาอยู่ที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2531 และพำนักอยู่จนถึงปัจจุบัน
“กรุงเทพฯเป็นมากกว่าบ้าน และเป็นสถานที่สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานศิลปะ ลูกของฉันเกิดที่นี่ และการค้นพบสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของฉันก็เกิดขึ้นที่นี่เช่นกัน”
ผู้คนและวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยสีสันของกรุงเทพฯ ทำให้คุณอลิซาเบธเปลี่ยนเทคนิคจากสีน้ำมาเป็นสีน้ำมันที่สามารถสะท้อนความสดใสของเมืองได้อย่างตรงใจ ประกอบกับความรู้สึกและอารมณ์ที่ลึกซึ้งหลังจากการได้เป็น “แม่” เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันในการค้นหาตัวตนบนเส้นทางศิลปะ

กรุงเทพฯ

จากผลส้มในชามแก้วสีน้ำเงินที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นสไตล์ของตนเอง
“วันหนึ่งไปโรงแรมโอเรียนเต็ลไปเห็นผลส้มวางอยู่ในชามแก้วสีน้ำเงิน ไม่น่าเชื่อว่ารูปทรงกลมธรรมดากับสีน้ำเงินจะจุดประกายสร้างสรรค์ทำให้เราได้ค้นพบสไตล์การทำงานที่เป็นของตัวเองได้ในที่สุด”
ผลส้มทรงกลม นำไปสู่รูปทรงที่สื่อความหมายถึงความเป็นผู้หญิง และความรักอันเป็นนิรันดร์ ในขณะที่สีน้ำเงินของชามแก้วบรรจุผลส้มได้เข้ามาอยู่ในจานสี กลายเป็นสีที่ขาดไม่ได้บนผืนผ้าใบในงานศิลปะของเธอ

FEAST ผลงานที่นำรูปทรงของหน้ากากและเครื่องดนตรีเข้ามาในการสื่อสารอารมณ์
หลังจากชัดเจนในสไตล์แล้ว คุณอลิซาเบธเริ่มนำเอารูปทรงของเปียโนเข้ามาสร้างความเคลื่อนไหวด้วยเส้นและสีที่มีความพลิ้วไหวราวกับบทเพลง ร่วมด้วยหน้ากากเพิ่มความหลากหลายของสีสันและความเป็นปริศนาที่ชวนให้รู้สึกถึงความน่าค้นหา

จากผลงานจิตรกรรมสู่งานออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องถ้วยชามกระเบื้อง

รูปทรงเปียโนในภาพเขียนพัฒนาสู่งานเครื่องประดับ
นอกจากงานจิตรกรรมสีน้ำมันแล้ว อลิซาเบธยังได้สร้างสรรค์งานประติมากรรม และงานออกแบบควบคู่กันไปด้วย เช่น งานออกแบบเครื่องประดับ จานกระเบื้อง ถ้วยกาแฟ กระเบื้องโมเซกประดับผนัง ล่าสุดร่วมมือกับ Skiniplay นำเสนองานศิลปะฝาครอบลำโพง Helix บนลำโพง Bang & Olufsen อีกด้วย

งานออกแบบศิลปะให้กับลำโพง Bang & Olufsen
40 ปีบนถนนสายศิลปะที่เรียนรู้ศิลปะด้วยตนเอง กว่าจะมาถึงวันที่ผลงานได้รับการยอมรับและเป็นที่ชื่นชอบของนักสะสมในทวีปยุโรป อเมริกา และ เอเชีย คุณอลิซาเบธ กล่าวว่า
“ฝึกฝน ฝึกฝน อย่ายอมแพ้ แม้ว่าจะเหงาบ้างในบางตอน แต่เชื่อเถอะเมื่อประตูบานหนึ่งปิดลง เราจะพบประตูบานใหม่ที่เปิดอยู่เสมอ
สุดท้ายนี้ฉันหวังว่าหนังสือของฉันจะเป็นแรงบันดาลใจ สร้างความท้าทาย สร้างความประทับใจในหัวใจของผู้อ่านทุกท่าน เช่นเดียวกับที่การสร้างสรรค์มันได้ประทับตราตรึงอยู่ในหัวใจของฉัน”
ขอบคุณศิลปินที่ทำให้บ่ายวันธรรมดาของฉันกลายเป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำ

หนังสือ Elizabeth Romhild's Odyssey มีจำหน่ายที่ร้านเอเชียบุ๊คส์และร้านคิโนะคุนิยะ
ติดตามชมผลงานของ อลิซาเบธ รอมฮิลด์ ได้ทาง