คลังความรู้

Everyday knowledge for you

ข่าวการเงิน

แบ่งเงินออมไว้ปีหน้า-คาดดอกเบี้ยเงินฝากขยับแรง

30/04/2024

แนวโน้มโปรโมชันเงินฝากมีมากขึ้นหลัง กนง.ส่งสัญญาณดอกเบี้ยไปต่อ ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ประเมินดอกเบี้ยไตรมาสแรกปี 2566 อาจขยับมากกว่า 0.5% เหตุแบงก์ส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ เพิ่ม แนะคนออมแบ่งเงินเลือกโปรโมชันที่เหมาะกับตัวเอง เตือนเงินฝากไม่เสียภาษี สรรพากรให้สิทธิแค่ไม่เกิน 2 หมื่น ถ้าเลือกออมหลายรายการมีโอกาสที่จะเกิน ต้องเสียภาษี 15% ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.00% เป็น 1.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะยังเป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจในระยะต่อไป และช่วยลดทอนผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 มีแนวโน้มสูงกว่าประมาณการครั้งก่อนจากราคาพลังงานในประเทศเป็นสำคัญ แต่จะยังคงโน้มลดลงและกลับสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 คณะกรรมการฯ เห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้ เป็นอันว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยในไทยยังมีโอกาสที่จะปรับขึ้นต่อได้อีก นั่นหมายถึงจากนี้ไปโอกาสที่จะมีโปรโมชันระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ออกมาช่วงชิงเงินออมอาจจะเริ่มขึ้น หลังจากช่วงที่ผ่านมา ธนาคารรัฐออกโปรโมชันเงินฝากมาช่วงชิงเงินออมแล้วหลายตัว คาดปีหน้าดอกเบี้ยแรง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกบทวิจัย การแข่งขันราคาเงินฝากทยอยชัดเจนขึ้น หนึ่งในจุดที่น่าสนใจทางศูนย์วิจัยฯ มองว่าแม้เงินฝากจะไม่ได้เติบโตในอัตราเร่ง แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากน่าจะปรับสูงขึ้นในลักษณะที่ชันขึ้นอีก โดยมาจากแรงส่งทั้งการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ (ก่อนกำหนดการปรับเพิ่มอัตรานำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ อีก 0.23% ในช่วงต้นปี 2566) ทำให้มีโอกาสที่จะเห็นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับขึ้นมากกว่า 0.50% ภายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 สำหรับผู้มีเงินออม ราคาหรืออัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่เพิ่มขึ้น รวมถึงแคมเปญเงินฝากที่ทยอยออกมามากขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปี คงทำให้ผู้มีเงินออมที่รับความเสี่ยงได้น้อยมีทางเลือกในการออมเงินที่ให้ผลตอบแทนดีขึ้น หรือมีผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนถี่ขึ้นกว่ารายครึ่งปี อันอาจช่วยตอบโจทย์การนำดอกผลไปใช้จ่ายเพื่อดำรงชีวิตประจำวันได้ดีขึ้นกว่าเดิม กระนั้นก็ดี ด้วยเงินเฟ้อที่คาดว่าจะมีค่าเฉลี่ยสูงกว่า 2.5% ในปีหน้ายังทำให้การออมในรูปของเงินฝาก โดยเฉพาะเงินฝากระยะสั้นยังให้ผลตอบแทนที่ติดลบ โอกาสคนมีเงินออม การขยับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเริ่มมาตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ก่อนที่ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.5% เป็น 0.75% เมื่อ 10 สิงหาคม 2565 หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น เมื่อ กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยจาก 0.75% เป็น 1% เมื่อ 28 กันยายน 2565 ธนาคารพาณิชย์จึงเริ่มปรับดอกเบี้ยเงินฝากขึ้น ทั้งฝั่งออมทรัพย์และบัญชีเงินฝากประจำ แต่ไม่มีการออกโปรโมชันเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ออกมา มีเพียงธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กที่ออกเงินฝากเกิน 12 เดือน ให้ดอกเบี้ยเกือบ 2% ส่วนใหญ่เป็นฝากประจำต้องเสียภาษีอีก 15% แต่โปรฯ เงินฝากที่ออกมามากคือ ธนาคารรัฐส่วนใหญ่เป็นเงินฝากเพื่อการเกษียณ อย่างธนาคารออมสิน ออกโปรเงินฝากเพื่อการเกษียณออกมาแล้ว 3 รุ่น 10 ปี 7 ปี และล่าสุด 12 ปี คนที่ออมเงินจำนวนหนึ่งเลือกที่จะออมผ่านเงินฝากของสถาบันการเงิน แน่นอนว่ากลุ่มคนที่เน้นเงินฝากนั้นเป็นกลุ่มที่ต้องการความมั่นคง เงินต้นต้องไม่สูญ มีทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ วัยกลางคนหรือคนที่ไม่นิยมความเสี่ยง แม้ต้องแลกด้วยผลตอบแทนที่อาจน้อยกว่าการออมเงิน หรือลงทุนผ่านช่องทางอื่น สำรวจตัวเองก่อนเลือกโปรฯ ตอนนี้เริ่มมีผลิตภัณฑ์เงินฝากออกมามากขึ้น หนึ่งในผู้ออมเงินแนะนำว่า อันดับแรกคุณต้องทราบว่าวันนี้อายุเท่าไหร่ ถ้าอายุการทำงานยังเหลืออีกนานและไม่จำเป็นต้องใช้เงินก้อนที่จะนำไปหาผลตอบแทน โปรฯ เงินฝากยาวๆ คงไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าอยู่ในวัยใกล้เกษียณ อีกไม่กี่ปีต้องใช้เงินออมที่มี ไม่ควรเลือกเงินฝากที่ต้องฝากนาน แน่นอนว่าถ้าเลือกฝากไม่นานก็ต้องแลกด้วยดอกเบี้ยที่น้อยกว่า เรื่องแบบนี้ไม่มีสูตรสำเร็จ ทุกอย่างอยู่ที่ความจำเป็นของผู้มีเงินออม หากเงินออมบางก้อนยังไม่รีบใช้ก็นำไปหาผลตอบแทนที่นานขึ้นได้ หรือยอมรับได้ว่าเงินฝากอาจครบกำหนดเมื่อตัวเองพ้นวัยทำงานไปราว 2-3 ปี ขึ้นอยู่กับว่าท่านใช้เงินออมในการดำรงชีพช่วงพ้นวัยทำงานมากน้อยเพียงใด เรื่องนี้เป็นการบริหารจัดการชีวิตของตนเองให้เหมาะสมกับสถานะความเป็นอยู่ ประการต่อมา หากสนใจโปรโมชันเงินฝากของสถาบันการเงินใดควรอ่านรายละเอียดให้ครบถ้วน เพื่อการตัดสินใจที่เกิดประโยชน์สูงสุดของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าไม่สามารถฝากได้ตามเงื่อนไขตามที่กำหนด หรือถอนก่อนกำหนด ธนาคารบางแห่งอาจให้แค่ดอกเบี้ยตามช่วงเวลานั้น หรือปรับดอกเบี้ยลงมาเหลือแค่ออมทรัพย์ แต่บางธนาคารอาจมีค่าปรับ เช่น คิดค่าธรรมเนียม 1% หรือขั้นต่ำ 500 บาท ตรงนี้ต้องพิจารณาให้ดี ออมทรัพย์ไม่เสียภาษีอย่าเกิน 2 หมื่น อีกประการหนึ่งคำว่าเงินฝากไม่เสียภาษีนั้น ท่านควรทราบข้อยกเว้นของกรมสรรพากรที่ยกเว้นการเก็บภาษีสำหรับดอกเบี้ยที่ได้จากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไม่เกิน 2 หมื่นบาท คือขณะนี้ธนาคารรัฐออกบัญชีออมทรัพย์ (เผื่อเรียก) ไม่เสียภาษีออกมาหลายรอบ หากท่านใช้สิทธิฝากบัญชีลักษณะนี้หลายๆ โปรโมชัน พึงคำนึงถึงข้อยกเว้นดังกล่าวให้ดี แม้ว่ารายการฝาก 1 รายการดอกเบี้ยรับอาจไม่เกิน 2 หมื่นบาท แต่หากรวมกับหลายๆ บัญชีออมทรัพย์ที่เปิดไว้ดอกเบี้ยรวมมีโอกาสที่จะเกิน 2 หมื่นบาทได้ ตรงนี้จะทำให้ท่านต้องเสียภาษี 15% เดิมดอกเบี้ยออมทรัพย์ หรือเผื่อเรียกของแต่ละแบงก์จะต่ำมาก เช่น 0.25% ท่านต้องมีเงินฝากหลายล้านจึงจะเข้าข่ายดอกเบี้ยเกิน แต่ตอนนี้ดอกเบี้ยตามโปรโมชันขยับขึ้นไปเกินกว่า 3.5% ในบางโปรโมชัน ทำให้โอกาสที่ท่านจะได้รับดอกเบี้ยเกินกว่า 2 หมื่นบาทก็มีความเป็นไปได้หากท่านเปิดบัญชีตามโปรฯ ใหม่ๆ ที่แบงก์ออกมา ดีที่สุดเพื่อป้องการการเสียโอกาส ท่านควรทำบันทึกเงินฝากไว้ทุกรายการ รายการที่ได้สิทธิยกเว้นภาษีก็ควรรักษาไว้เพื่อไม่ให้เสียสิทธิดังกล่าว หากคำนวณแล้วดอกเบี้ยรับจากบัญชีฝากออมทรัพย์ใกล้เคียงหรือเกิน 2 หมื่นบาท ก็ควรเปลี่ยนไปออมไปช่องทางอื่น อาจต้องยอมเสียภาษี 15% บ้าง เช่น ซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือบางคนอาจขยับขึ้นไปซื้อหุ้นกู้ที่มีความเสียงมากกว่าการฝากเงินกับธนาคาร ดูเงื่อนไขดอกเบี้ย ยังมีรายการปลีกย่อยอีกที่ผู้ออมควรต้องทราบ เช่น ดูเรื่องการจ่ายอัตราดอกเบี้ยด้วย บางธนาคารมีข้อเสนอให้ผู้ฝากเงินจ่ายดอกเบี้ยเป็นรายเดือน อย่างเช่นพันธบัตรรัฐบาลรุ่นที่ผ่านมา ได้ปรับการจ่ายดอกเบี้ยจาก 6 เดือนครั้ง มาเป็น 3 เดือนครั้ง เงินฝากบางรุ่นก็มีเงื่อนไขจ่ายดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนดฝาก แบบนี้ผู้ฝากต้องรอดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนด บางค่ายอาจใช้เวลาเป็นปี นอกจากนี้ ต้องดูด้วยว่าเงินฝากบางประเภทฝากครั้งเดียว หรือต้องฝากต่อเนื่อง เช่น 24 เดือน หรือ 36 เดือน ท่านสามารถทำได้หรือไม่ ตัวดอกเบี้ยที่เห็นอาจดูสูง แต่ต้องอ่านรายละเอียดดีๆ เช่น ดอกเบี้ยสูงสุด หรือเงินฝากบางประเภทให้ดอกเบี้ยสูงเฉพาะช่วงเงินฝากที่กำหนดเท่านั้น หรือเป็นดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดที่ต้องมาหาค่าเฉลี่ย รักสลากเปลี่ยนบ้างก็ได้ อย่างไรก็ตาม หลายท่านอาจลืมเรื่องการคุ้มครองเงินฝากไปเลยอยากย้ำว่า ทางสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะให้ความคุ้มครองเงินฝากของผู้ฝากเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อ 1 รายผู้ฝากต่อสถาบันการเงิน มีผลมาตั้งแต่ 11 สิงหาคม 2564 ช่วงที่ดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างนี้ควรแบ่งเงินออมที่มีกระจายหาผลตอบแทน เพราะไม่มีใครรู้ได้ว่าดอกเบี้ยของค่ายใดจะเป็นดอกเบี้ยที่สูงที่สุด ออมแบบสั้นบ้าง ยาวบ้างสลับกัน น่าจะเป็นอีกทางออกหนึ่งในยามดอกเบี้ยขาขึ้น สำหรับผู้ที่ออมผ่านสลากของรัฐบาลทั้ง 3 แห่ง ซึ่งเคยเป็นที่พึ่งในช่วงที่ดอกเบี้ยในประเทศต่ำ อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด ตอนนี้น่าจะทำให้ท่านมีทางเลือกในการพิจารณามากขึ้นกว่าเดิม หากเงินที่ซื้อสลากครบอายุท่านอาจเลือกที่จะออมต่อผ่านสลากหรือถ้าเห็นว่าผลตอบแทนได้น้อยเกินไปก็อาจเปลี่ยนมาเป็นออมแบบเงินฝากรูปแบบอื่นๆ ได้ตามความพอใจ ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopMan agerOnline/?locale2=th_TH Instragram :https://instagram.com/special.scoop.m gronline?utm_medium=copy_link Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4jv แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับผู้จัดการออนไลน์ https://mgronline.com/specialscoop/detail/9650000115292

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ภาษี

ภาษีขายหุ้น คิดคำนวณยังไง เริ่มเมื่อไหร่ สรุปสำหรับนักลงทุน

30/04/2024

การเก็บภาษีขายหุ้น หรือ Financial Transaction Tax ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้กระทรวงการคลังดำเนินการจัดเก็บนั้น รัฐประเมินว่า ในปีแรกคาดว่าจะเก็บได้ประมาณ 8,000 ล้านบาท (จากการจัดเก็บที่อัตรา 0.055%) และในปีต่อ ๆ ไปคาดว่าจะจัดเก็บได้ประมาณปีละ 16,000 ล้านบาท (จากการจัดเก็บที่อัตรา 0.11%) เริ่มเก็บ “ล้านละ 550 บาท” ปีต่อไป “ล้านละพัน” “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รับการยืนยันจากกระทรวงการคลังว่า จะเก็บจากธุรกรรมการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ นับตั้งแต่บาทแรก ตามที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เคยให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เพียงแต่ช่วงแรก จนถึงสิ้นปี 2566 จะจัดเก็บที่อัตรา 0.055% เท่ากับว่า หากนักลงทุนขายหุ้น 100 บาท ก็จะเสียภาษี 0.055 บาท หรือขายหุ้น 1,000 บาท ก็จะเสียภาษี 0.55 บาท หรือขายหุ้น 10,000 บาท ก็จะเสียภาษี 5.5 บาท หรือขายหุ้น 100,000 บาท ก็จะเสียภาษี 55 บาท หรือขายหุ้น 1 ล้านบาท ก็จะเสียภาษี 550 บาทนั่นเอง ส่วนปีต่อ ๆไปก็จะจัดเก็บที่ “ล้านละ 1,000 บาท” คาดเริ่มจัดเก็บภาษีไตรมาส 2 ปี 2566 ส่วนที่ว่าจะเริ่มเก็บภาษีนี้เมื่อใดนั้น ตามร่างพระราชกฤษฎีกาตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะและกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ฉบับที่… พ.ศ. … ที่กระทรวงการคลังเสนอ มีการกำหนดช่วงระยะเวลาผ่อนผัน (Grace period) เพื่อให้เวลาบริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ต่าง ๆ ในการทำระบบข้อมูล และเตรียมพร้อมเรื่องการนำส่งภาษีให้กับกรมสรรพากรเป็นเวลา 90 วัน นับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ “หรือจะเริ่มเก็บในวันที่ 1 ของเดือนที่ 4 หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้นั่นเอง” ดังนั้น หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ได้อย่างเร็วที่สุด คือตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2565 นี้ การเก็บภาษีขายหุ้นก็จะเริ่มได้ในเดือน มี.ค. 2566 อย่างไรก็ดี ภาษีประเภทนี้จะจัดเก็บเหมือนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ผู้จัดเก็บจะต้องนำส่งกรมสรรพากรทุกเดือน ดังนั้น จึงคาดว่าน่าจะเริ่มได้ในเดือน เม.ย. 2566 หรือตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2566 เป็นต้นไป ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินของบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ที่คาดว่าการจัดเก็บน่าจะเริ่มได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีหน้าเป็นต้นไปเช่นเดียวกัน “ตลท.-บล.” เตรียมความพร้อมระบบจัดเก็บ นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ภายหลัง ครม.รับร่างหลักการการจัดเก็บภาษีขายหุ้น เบื้องต้นทางตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังทำงานร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (บล.) ในการเตรียมการสำหรับกระบวนการจัดเก็บภาษีขายหุ้น (Financial Transaction Tax) เพื่อให้มีภาระต้นทุนที่ต่ำ และมีประสิทธิภาพในการทำงานของทั้งอุตสาหกรรม นอกจากนี้ จะมีการเตรียมข้อเสนอในรายละเอียดการจัดเก็บภาษีให้กับกระทรวงการคลัง เพื่อไม่ให้เกิดการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อนจากผู้ลงทุนในบางประเภทธุรกรรมหากมีการจัดเก็บ ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะแจ้งข้อมูลความคืบหน้าให้ทราบต่อไป แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์ https://www.prachachat.net/finance/news-1134218

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

จะให้สร้างตัวในเศรษฐกิจแบบนี้? ‘ปล่อยให้เน่าไป’ แนวคิดล่าสุดของหนุ่มสาวชาวจีนที่ขอยอมแพ้กับชีวิต

30/04/2024

เรียนจบแล้วก็ต้องเข้าเมืองใหญ่มาหางานทำ บ้านก็ต้องเช่า ข้าวก็ต้องซื้อ เงินก็ต้องส่งให้ที่บ้าน แต่ก็ต้องประสบความสำเร็จ มีรถ มีบ้าน มีครอบครัวให้ได้ เมื่อสังคมกดดันและคาดหวังในตัวหนุ่มสาวรุ่นใหม่ แต่เศรษฐกิจดันเป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ขนาดนี้จะให้ทำอย่างไร ‘ปล่อยให้เน่าไป’ หรือ ‘摆烂’ เป็นคำภาษาจีนที่กำลังมาแรงในหมู่หนุ่มสาวชาวจีนผู้สิ้นหวัง เพื่อบรรยายความรู้สึกที่ตัวเองมีกับชีวิตในตอนนี้ พวกเขาไม่ต้องการตะเกียกตะกายสู่ความสำเร็จอีกต่อไป แค่อยากจะมีชีวิตแบบนี้แหละ ถ้าราคาบ้านมันแพงนักก็ปล่อยมันสิ เช่าเขาอยู่ไปตลอดชีวิตเลยแล้วกัน หรือถ้าการหางานในเมืองมันยากก็เอาเถอะ กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปประทังชีวิตอยู่บ้านเอาก็ได้ เดิมทีคำว่า 摆烂 มาจากวงการบาสเกตบอล หมายถึงการที่นักบาสเกตบอลอ่านเกมแล้วยังไงก็ต้องแพ้แน่นอน ก็เลยไม่ได้หวังจะชนะแล้ว เน้นเล่นต่อไปให้จบเกมอย่างเร็วที่สุด เพื่อที่จะแข่งในเกมต่อไป หรือจะให้อธิบายเป็นศัพท์เกมเมอร์ชาวไทยก็คือ ‘โยนเกม’ นั่นเอง หนุ่มสาวชาวจีนที่สิ้นหวังกับการดิ้นรนในเมืองใหญ่ก็เลยรวมตัวกันแชร์เรื่องราวของตัวเองผ่านแฮชแท็กนี้ ซึ่งดูเหมือนเป็นการประชดประชันเสียดสีที่ดูตลก แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป นี่เป็นการต่อต้านโครงสร้างครั้งยิ่งใหญ่ ทั้งการแข่งขันที่สูงในหมู่คนหนุ่มสาวด้วยกัน วัฒนธรรมการทำงานแบบ 996 ที่ทำให้คนตายมาแล้วนับไม่ถ้วน แต่ต่อต้านด้วยแนวคิดที่ว่า ถ้าไม่มีใครคิดจะปรับโครงสร้างก็ปล่อยให้อนาคตของประเทศมันเน่าไปให้หมดเนี่ยแหละ ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ชาวจีนกว่าหลายร้อยล้านคนต้องอาศัยอยู่แต่ในบ้านด้วยสถานการณ์โควิดและนโยบาย Zero-COVID ซึ่งสิ่งนี้ก็ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของจีนอยู่มากพอสมควร นักเศรษฐศาสตร์ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับแนวคิดของหนุ่มสาวชาวจีนรุ่นใหม่ว่า นี่อาจทำให้เศรษฐกิจจีนที่กำลังอยู่ในภาวะตกต่ำอยู่แล้วยิ่งตกต่ำขึ้นไปอีก รวมถึงจะส่งผลกับอัตราการเกิดที่ตอนนี้ก็ต่ำมากเป็นประวัติการณ์อยู่แล้วเช่นกัน “ที่จริงมันอาจเป็นแค่คนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นที่คิดจะปล่อยให้เน่าไปจริงๆ แต่การที่คำนี้กลายเป็นเทรนด์ขึ้นมาและถูกพูดถึงบ่อยบนโลกออนไลน์ ก็สามารถสร้างผลกระทบบางอย่างกับเศรษฐกิจได้” ศ.ซือเหลย จากมหาวิทยาลัยฟูตัน กล่าวถึงเทรนด์ครั้งนี้ ทางด้านของหนุ่มสาวก็ได้ให้เหตุผลของการที่จะ ‘ปล่อยให้มันเน่าไป’ เอาไว้ว่า คนหนุ่มสาวสมัยนี้ต้องแบกภาระและความคาดหวังอันหนักอึ้งเอาไว้ ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้ก็ไม่มีใครเดาอะไรได้เลย พวกเขาไม่สามารถวางแผนระยะยาวให้ชีวิตตัวเองได้ด้วยซ้ำ เพราะโรคระบาดและสภาพเศรษฐกิจที่ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อยู่ตลอดเวลา พวกเขาไม่รู้อีกต่อไปว่าใน 5 ปีข้างหน้ามันจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อคาดการณ์อะไรไม่ได้เลย พวกเขาจึงเลือกที่จะยอมแพ้และ ‘ปล่อยให้มันเน่าไป’ ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาใจเสาะหรือไม่อดทนเลยไม่อยากสู้ แต่สิ่งที่พวกเขาสู้อยู่ไม่ใช่สิ่งเล็กๆ ที่ใครสักคนจะสู้จนตัวตายเพื่อแก้ไขได้ แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องอาศัยการแก้ไขโดยผู้มีอำนาจที่อยู่เบื้องบนต่างหาก อ้างอิง:   •  https://www.insider.com/chinese-people-letting-it-rot-social-protest-trend-2022-10   •  https://www.theguardian.com/world/2022 /may/26/the-rise-of-bai-lan-why-chinas-frustrated-youth-are-ready-to-let-it-rot แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับthestandard https://thestandard.co/chinese-letting-it-rot/?fbclid=IwAR1XtkpbwbudV793YZTpskkLJBCk-T1V08l3PLr33EpxPfzUHllzJHXm4Us

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

รับมือการเปลี่ยนแปลงปี 2566 อาชีพใด? รุ่งแรง-ร่วงโรย

30/04/2024

ใครเร็วยิ่งได้เปรียบในการปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์ออาชีพปี 2566 เป็นอีกปีที่มีความเปลี่ยนแปลงมากมาย หลังฝ่ามรสุมวิกฤติโควิด เริ่มเข้าสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จากการเปิดประเทศอย่างเต็มตัว และถือเป็นความโชคดีที่ไทยได้เปรียบด้านการท่องเที่ยวหลายอย่าง ทั้งอาหารการกิน สถานที่ท่องเที่ยว และภาคบริการที่เกี่ยวข้อง เป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาใช้จ่าย แน่นอนทำให้ปีหน้ากลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว จะมาแรงมาก อาทิ โรงแรมที่พัก สายการบิน อาจขาดแคลนบุคลากร เกิดการแย่งตัวดึงไปทำงาน และปี 2566 นี้ ยังเป็นปีทองของคนทำงานด้านเทคโนโลยี ซึ่งมาแรงมาก จนค่าตัวพุ่งแบบก้าวกระโดด เช่นเดียวกับอาชีพด้านสุขภาพ และความสวยความงาม ไปได้อย่างสดใส มีการเปิดคลินิกเฉพาะทาง เพื่อบำบัดอาการออฟฟิศซินโดรม หรือการทำธุรกิจดูแลคนชราที่ขณะนี้สังคมไทยเต็มไปด้วยผู้สูงอายุ แต่หลายอาชีพจะต้องปรับตัวก่อนสายเกินแก้ หาวิธีเอาตัวรอด อย่าติดกับดักความสำเร็จในอดีต เหมือนน้ำเต็มแก้วไม่พร้อมจะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ อย่ารอให้วันนั้นเกิดขึ้น จะต้องพัฒนาฝีมือทักษะ หรือหาอาชีพที่ 2 ที่ 3 เพื่อหารายได้มาชดเชยรายได้ที่ขาดหายไป ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเรา ต้องพัฒนาตัวเอง เพราะสิ่งสำเร็จในอดีตไม่ใช่สิ่งสำเร็จในวันนี้ ต้องเปลี่ยนวิถีการทำงานไม่ให้เหมือนทฤษฎีกบต้ม อย่ารอก่อน และเลิกนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง แล้วคุณจะเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิต ในห้วงที่เศรษฐกิจไทยยังไม่พ้นปากเหว. แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับไทยรัฐออนไลน์ https://www.thairath.co.th/scoop/infographic/2563171

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

"ผู้ค้ำประกัน" ต้องจ่ายแทนลูกหนี้แค่ไหน? เปิดกฎหมายคุ้มครองที่ต้องรู้

30/04/2024

เป็นคนค้ำมันช้ำใจ! "ผู้ค้ำประกัน" ต้องจ่ายแทนลูกหนี้แค่ไหน? เมื่อคน "กู้เงิน" เบี้ยวหนี้ ชวนรู้กฎหมายคุ้มครองผู้ค้ำประกันที่มีการปรับปรุงใหม่ ที่คนค้ำไม่จำเป็นต้องแบกรับหนี้ทั้งหมด แม้วิกฤติโรคระบาดโควิดจะคลี่คลายแล้ว แต่วิกฤติเศรษฐกิจยังคงกระทบกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้คนที่หาเช้ากินค่ำหรือพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ต่างก็หมุนเงินไม่ทันจนต้อง “กู้เงิน” มาบรรเทาปัญหาด้านการเงิน ซึ่งแหล่งเงินกู้หลายแห่งต้องมี “ผู้ค้ำประกัน” ถึงจะกู้เงินได้  ในส่วนของผู้ค้ำประกันเอง ก่อนที่จะไปค้ำประกันให้ใคร ก็ต้องพิจารณาไตร่ตรองให้ดีก่อน เพราะหากผู้กู้ไม่สามารถจ่ายเงินคืนเจ้าหนี้ได้ ผู้ค้ำประกันก็จะต้องเป็นผู้ชดใช้หนี้ให้แทน ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้พบว่ามีคนไทยจำนวนไม่น้อย ต้องตกอยู่ในสถานะคนค้ำต้องจำใจจ่ายหนี้ที่ตนไม่ได้ก่อ  ประเด็นนี้มีคำแนะนำจาก “โค้ชหนุ่ม” จักรพงษ์ เมษพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการลงทุน เจ้าของเพจ The Money Coach ระบุถึงการเป็นผู้ค้ำประกันผ่านเพจไว้ว่า  “ก่อนค้ำประกันให้ใคร ถามตัวเองให้ดีว่าพร้อมรับหนี้ก้อนนั้นแทนมั้ย อย่าคิดเอง เออเอง ว่าลูกหนี้เป็นคนดีแล้วจะไม่เบี้ยว คิดให้จบว่าถ้าเบี้ยว เรารับหนี้ไหวมั้ย ถ้าไม่ไหวหรือรู้สึกไม่สบายใจที่ต้องรับหนี้แทนคนอื่น ก็อย่าเซ็นค้ำประกัน ผ่อนหนี้แทนคนอื่น มันเหนื่อยทั้งเงินเหนื่อยทั้งใจ”  โดยหลังจากโพสต์คำแนะนำดังกล่าวไปไม่นาน ก็มีชาวเน็ตต่างมาร่วมแชร์ประสบการณ์การเป็นผู้ค้ำประกัน ที่ต้องเสียเงิน เสียเพื่อน เสียความสัมพันธ์กับญาติพี่น้องไปมากมายหลายเคส และมีการถกเถียงถึงคำถามสำคัญที่ว่า “การเป็นผู้ค้ำประกัน แม้ไม่ใช่ลูกหนี้โดยตรงแต่ก็ต้องชดใช้หนี้ให้แทน แล้วต้องจ่ายหนี้แทนแค่ไหน?” เพราะผู้ค้ำหลายคนกังวลว่าจะต้องชดใช้ “หนี้ทั้งหมด” แทนลูกหนี้ จนตัวเองอาจถึงขั้นล้มละลายไปด้วย เรื่องนี้ “ผู้ค้ำประกัน” สบายใจได้ส่วนหนึ่ง เพราะตอนนี้ผู้ค้ำไม่จำเป็นต้องจ่ายหนี้ทั้งหมดแทนลูกหนี้แล้ว เนื่องจากมีกฎหมายใหม่ที่ปรับปรุงเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ค้ำประกันมากขึ้นกว่าในอดีต มีข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรม ระบุถึงประเด็นดังกล่าวไว้ว่า ทุกครั้งที่เกิดการเบี้ยวหนี้ ผู้ค้ำประกันมักเสียเปรียบเจ้าหนี้และต้องแบกภาระหนี้ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ อย่างไรก็ตาม มีความพยายามแก้ไขและผลักดันกฎหมายหลายฉบับออกมา เพื่อปกป้องสิทธิผู้ค้ำประกันให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีการบังคับใช้ตาม “กฎหมายค้ำประกัน” ฉบับปรับปรุงใหม่ 2558 โดยกำหนดให้ธุรกิจหลายประเภทเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติว่าด้วยการค้ำประกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 688 และ มาตรา 689 ข้อควรรู้สำหรับ “ผู้ค้ำประกัน” แม้ว่าผู้ค้ำประกันจะมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ แต่หากบุคคลที่เราไปค้ำประกันให้ ไม่ยอมชำระหนี้ตามสัญญา ผู้ค้ำประกันก็มีสิทธิขอให้เจ้าหนี้ติดตามเรียกลูกหนี้มาชำระหนี้ก่อนตนได้ เว้นแต่ลูกหนี้จะถูกศาลพิพากษาให้เป็นคนล้มละลาย หรือไม่ปรากฏว่าอยู่ที่ใด และหากผู้ค้ำประกันพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้มีหนทางที่จะชำระหนี้ได้ และการบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นไม่เป็นการยาก เจ้าหนี้จะต้องบังคับการชำระหนี้รายนั้นเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน  ถ้าจะให้เข้าใจง่ายขึ้น กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้สรุปข้อควรรู้สำหรับ “ผู้ค้ำประกัน” อ้างตามกฎหมายปรับปรุงใหม่มาให้แล้วดังนี้ 1. ผู้ค้ำประกันสามารถจำกัดวงเงินสูงสุดและระยะเวลาในการค้ำประกันได้ ดังนั้น ก่อนที่จะเซ็นค้ำประกันให้ใคร ควรตกลงกับลูกหนี้เพื่อกำหนดเพดานชำระหนี้แทนให้ดี และเซ็นสัญญากันเป็นลายลักษณ์อักษร 2. ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดชอบมูลหนี้ทั้งหมดให้แทนลูกหนี้ทุกประการอีกต่อไป หมายถึงว่า ผู้ค้ำประกันจะรับผิดชอบชำระหนี้แทนในส่วนของตนเท่านั้น ไม่ต้องรับผิดชอบดอกเบี้ย 3. หลังจากที่ผู้ค้ำประกันใช้หนี้แทนลูกหนี้แล้ว ก็สามารถใช้สิทธิไล่เบี้ย โดยฟ้องลูกหนี้เรียกเงินตามจำนวนที่ชำระไปแทนพร้อมดอกเบี้ย และค่าเสียหายอื่น ๆ ได้ 4. ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้จะต้องทำหนังสือแจ้งผู้ค้ำประกันให้ทราบก่อนภายใน 60 วัน และห้ามไม่ให้เจ้าหนี้เรียกเอาหนี้กับผู้ค้ำประกันในทันที จนกว่าพยายามไล่เบี้ยหรือเรียกหนี้กับลูกหนี้จนสุดความสามารถแล้ว จะเห็นได้ว่ากฎหมายค้ำประกันฉบับใหม่นี้คุ้มครองผู้ค้ำประกันมากขึ้น แต่ขอย้ำอีกที! ก่อนที่จะเซ็นค้ำประกันให้ใคร ก็ควรจะต้องถามตัวเองว่าพร้อมจะรับหนี้ที่ตนเองไม่ได้ก่อได้มากน้อยแค่ไหน และควรตั้งคำถามนี้กับลูกหนี้ถึงความสามารถในการชดใช้หนี้ที่เกิดขึ้นด้วย -------------------------------------------------- อ้างอิง : กระทรวงยุติธรรม, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, กฎหมายผู้ค้ำประกัน, The Money Coach แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับกรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1039301

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ประกันภัย

5 เหตุผลที่ควรมีประกันอุบัติเหตุไว้ในครอบครอง

30/04/2024

อุบัติเหตุคือสิ่งที่ไม่แน่นอน ไม่เคยนัดวันล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ยิ่งช่วงวันหยุดยาว หรือเทศกาลสำคัญอย่างวันสงกรานต์ อัตราการเกิดอุบัติเหตุก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นจนน่าใจหาย จากข้อมูลสถิติในปี 62 พบว่าเดือนเมษายนมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบนทางหลวงทั้งหมด 2,325  ครั้ง เสียชีวิต 311 คน  และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาธรรมดาอย่างเดือนมีนาคมพบว่าจำนวนของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นต่างกันถึง 1.6 เท่า  อุบัติเหตุนอกจากจะสร้างความเจ็บปวดให้แก่ร่างกายแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อการเงินในกระเป๋าด้วยเช่น เพราะถ้ามีเงินสำรองไม่เพียงพอ หรือมีสวัสดิการ แต่ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายการรักษาที่เกิดขึ้นทั้งหมดก็อาจทำให้ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อจ่ายให้กับอุบัติเหตุที่เคยคาดหวังจะให้เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ประกันอุบัติเหตุจึงกลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่คนส่วนใหญ่เลือกมาไว้แผนสำรองในยามที่เกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ก็ยังเหตุผลอีก 5 ข้อด้วยกันที่จะช่วยย้ำเตือนว่าทำไมเราจึงควรประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลไว้ในครอบครองเหตุผลข้อที่ 1  ไม่ต้องกังวลเรื่อค่ารักษาในกรณีที่เราเกิดอุบัติเหตุขึ้นไม่ว่าจะอาการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย หรือเข้าขั้นสาหัส ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลก็คอยช่วยดูแลเรื่องใช้จ่าย หรือค่ารักษาต่างๆ ให้ ซึ่งหากค่ารักษาที่เกิดขึ้นนั้นไม่เกินวงเงินที่สัญญากรมธรรม์กำหนดไว้ เราก็แทบจะไม่ต้องกวักเงินตัวเองออกมาจ่ายเลยแม้แต่สตางค์เดียวเหตุผลข้อที่ 2 มีค่าชดเชยในกรณีที่เสียชีวิต ทุพพลภาพ หรือสูญเสียอวัยวะจากอุบัติเหตุหลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลนั้นให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันในกรณีที่เสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ/สายตา หรือการทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง/ชั่วคราวสิ้นเชิง/ชั่วคราวบางส่วนจากอุบัติเหตุด้วย โดยบริษัทประกันจะจ่ายค่าชดเชย หรือสินไหมทดแทนให้เป็นเงินจำนวนตามที่สัญญากรมธรรม์กำหนดไว้ ยกตัวอย่างเช่น นาย noon ทำประกันอุบัติเหตุกับบริษัท a ไว้ 1 กรมธรรม์ โดยทำทุนประกันไว้ที่ 1,000,000 บาท หลังจากไปได้ไม่นาน นาย noon ประสบอุบัติเหตุจนต้องสูญเสียมือข้างซ้ายไป ทำให้บริษัทประกันต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับนาย noon เป็นจำนวน 60% ของจำนวนเงินเอาประกัน ดังนั้นนาย noon จะได้รับเงินชดเชยจากบริษัทประกันเป็นจำนวน 600,000 บาทเหตุผลข้อที่ 3 ไม่ต้องตรวจสุขภาพเหตุผลข้อที่ 3 นี้อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลข้อหลักๆ ที่คนส่วนใหญ่สนใจทำประกันอุบัติเหตุ เพราะโดยปกติแล้วประกันสุขภาพในทุกๆ แบบจำเป็นต้องตรวจสุขภาพทุกครั้งก่อนที่จะเริ่มทำสัญญา แต่ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลส่วนใหญ่นั้นแทบจะไม่จำเป็นเลยที่ต้องมีผลการตรวจสุขภาพ เพียงแค่ตอบคำถามสุขภาพให้ตรงตามความเป็นจริงเท่านั้น และะหากเราเป็นผู้ที่มีสุขภาพสมบูรณ์และมีอายุอยู่ภายในกฎเกณฑ์ที่กำหนดก็สามารถทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลได้แบบไม่มีปัญหาเหตุผลข้อที่ 4 จ่ายให้เลยไม่รอในกรณีที่เราไปเดินไปต่างจังหวัดแล้วดันเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลก็จ่ายให้เราทันที โดยไม่ต้องมานั่งสำรองจ่ายไม่เหมือนกับประกันสังคมที่เราต้องสำรองจ่าย แล้วไปทำเรื่องขอเงินคืนทีหลังเหตุผลข้อที่ 5 เบี้ยประกันถูกเหมือนให้ฟรีประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลส่วนใหญ่เบี้ยประกันจะราคาไม่แรงมาก บางแผนประกันเบี้ยอาจเริ่มต้นหลักร้อยเพียงเท่านั้น ซึ่งความถูก หรือแพงของเบี้ยประกันนั้นจะถูกคิด หรืออ้างอิงมาจากแผนประกันที่เราเลือก ความเสี่ยงของกลุ่มอาชีพ และความคุ้มครองเสริมที่เลือกเสริมเข้ามา อีกทั้งประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) ยังเป็นประกันที่มีความยืดหยุ่นสูงเนื่องจากเป็นสัญญาแบบปีต่อต่อ กล่าวคือประกันจะให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันเพียง 1 ปีเท่านั้น หากเรารู้สึกว่าแผนประกันอุบัติเหตุที่ทำอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่ตอบโจทย์ ปีหน้าก็สามารถเลือกแผนประกันใหม่ได้โดยไม่ติดเงื่อนไขอะไรขอบคุณแหล่งข้อมูล :tgia.org, oic.or.th, aar-insurance.ke, tataaig.com, metlife.com,cigna.co.th maoinvestor.comแหล่งที่มาข่าวต้นฉบับnoon bloghttps://www.noon.in.th/blog/5-reason-should-have-pa/

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

20 คำศัพท์เกี่ยวกับ “กองทุนรวม” ที่มือใหม่ควรรู้

30/04/2024

fintips by ttb ชวนรู้ 20 คำศัพท์เกี่ยวกับ “กองทุนรวม” ที่มือใหม่ควรรู้ การลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดก็ตาม ควรทำการศึกษาและเข้าใจในสินทรัพย์นั้น ๆ ให้ดีเสียก่อน เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อพอร์ตการลงทุน เริ่มต้นด้วยการศึกษาคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ที่เหมาะกับนักลงทุนมือใหม่ อย่างการลงทุนใน “กองทุนรวม” ว่าแต่ละคำศัพท์ที่นักลงทุนควรรู้นั้นมีอะไรบ้าง วันนี้ fintips by ttb จะมาแนะนำคำศัพท์เหล่านี้เพื่อให้นักลงทุนมือใหม่ได้รู้ และเข้าใจก่อนที่จะลงทุน 1. กองทุนรวม (Mutual Fund) คือ การรวบรวมเงินของนักลงทุน นำมาลงทุนตามนโยบายที่กองทุนรวมนั้น ๆ กำหนดไว้ โดยมี “ผู้จัดการกองทุน” ที่เป็นมืออาชีพช่วยบริหารจัดการเงินของกองทุน 2. ตราสารหนี้ (Bond) คือ ตราสารทางการเงินที่ผู้ถือ หรือนักลงทุนมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ และผู้ออกตราสารหนี้มีสถานะเป็นลูกหนี้ โดยเจ้าหนี้จะได้รับผลตอบแทนในรูปของ “ดอกเบี้ย” อย่างสม่ำเสมอ ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ และจะได้รับ “เงินต้น” คืน เมื่อครบกำหนดอายุ ตัวอย่าง ตราสารหนี้ที่พบเห็นทั่วไป เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้เอกชน 3. ตราสารทุน (Equity Instruments) คือ ตราสารที่กิจการออกขายให้แก่ผู้ลงทุนเพื่อระดมเงินทุนไปใช้ในกิจการ ตราสารทุนแบ่งได้หลายประเภท เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น 4. กองทุนรวมผสม (Mixed Fund) คือ กองทุนรวมที่ลงทุนทั้งในตราสารทุนและตราสารหนี้ โดยกองทุนรวมประเภทนี้จะให้ผลตอบแทน และความเสี่ยงที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับสัดส่วนของการลงทุนในตราสารแต่ละประเภทที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน ซึ่งแบ่งได้ 2 แบบ คือ กองทุนรวมแบบผสมที่มีข้อกำหนดในการลงทุนในตราสารทุน (Balanced Fund) และกองทุนรวมแบบผสมยืดหยุ่น (Flexible Fund) 5. กองทุนลดหย่อนภาษี คือ กองทุนรวมที่สามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งมีด้วยกัน 2 กองทุนรวม ได้แก่ Super Saving Funds (SSF) คือ กองทุนรวมเพื่อการออม ที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ได้ทุกประเภท ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ กองทุนดัชนี ฯลฯ และ Retirement Mutual Fund (RMF) คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ได้หลายประเภท 6. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) คือ บริษัทที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้บริหารเงินลูกค้าในรูปแบบกองทุนรวม (Mutual Fund) กองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) 7. หน่วยลงทุน Net Asset Value (NAV) คือ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิเป็นมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมดของกองทุนรวม รวมถึงผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่กองทุนรวมได้รับจากการลงทุน หักออกด้วยค่าใช้จ่าย และหนี้สินของกองทุนรวมนั้น โดยปกติแล้วจะคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนตามราคาตลาดในแต่ละวัน (Mark to Market) เพื่อสะท้อนถึงมูลค่าที่เป็นจริงตามสภาวะตลาดที่ได้เปลี่ยนแปลงไป 8. หนังสือชี้ชวนส่วนสรุป (Fund Fact Sheet) คือ หนังสือที่ บลจ.เป็นผู้ออกเพื่อเผยแพร่ข้อมูลของกองทุนให้ผู้ลงทุนทราบ ภายในหนังสือจะบอกรายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับกองทุนรวมนั้น ๆ เช่น ประเภทของกองทุน ความเสี่ยง นโยบายการลงทุน สัดส่วนของสินทรัพย์ที่กองทุนรวมลงทุน ผลตอบแทนย้อนหลัง และข้อมูลสำคัญอื่น ๆ เป็นต้น ซึ่งนักลงทุนควรอ่านและศึกษาข้อมูลในส่วนนี้ทุกครั้ง เพื่อทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน 9. Capital Gain คือ ผลกำไรจากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ กำไรที่ได้จาก Capital Gain ถูกเรียกเก็บภาษีในบางประเทศ (Capital Gains Tax) ส่วนในประเทศไทยนั้น เงินได้จากการขายหรือโอนหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่มีการเรียกเก็บภาษี ส่วนในกรณีที่เป็นการขายหรือโอนหลักทรัพย์นอกตลาด ผู้ลงทุนประเภทบุคคลธรรมดาที่อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันในปีภาษีจะต้องเสียภาษีโดยถูกหัก ณ ที่จ่ายตามอัตราภาษีก้าวหน้า และต้องนำเงินได้ไปรวมคำนวณตอนสิ้นปีด้วย ส่วน Capital Gain จากการลงทุนในกองทุนรวม ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี 10. เงินปันผล (Dividend) คือ การปันผลกำไรของบริษัทคืนแก่ผู้ถือหุ้น ซึ่งจะจ่ายเป็นเงินสด สินทรัพย์ หรือหุ้นก็ได้ ซึ่งรายได้ส่วนดังกล่าวที่นักลงทุนได้รับจะต้องเสียภาษีโดยถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% แต่สามารถขอคืนภาษีย้อนหลังได้โดยใช้สิทธิเครดิตภาษีเงินปันผล 11. Dollar Cost Average (DCA) คือ วิธีการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน ที่ลงทุนด้วยเงินลงทุนเท่า ๆ กันทุกงวด โดยไม่คำนึงถึงราคาของสินทรัพย์ลงทุน ณ ขณะนั้น โดยจะนิยมใช้กับการลงทุนในกองทุนรวมหรือหุ้น เหมาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่ยังจับจังหวะลงทุนไม่ได้ หรือไม่มีเวลาติดตามข่าวสาร 12. Lump Sum คือ วิธีการลงทุนแบบครั้งเดียวด้วยเงินก้อนในจังหวะเวลาที่ประเมินแล้วว่าเหมาะสม (Market Timing) และมีความมั่นใจว่าในอนาคตราคาสินทรัพย์ที่ลงทุนจะปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเหมาะสำหรับนักลงทุนที่สามารถวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน และภาวะเศรษฐกิจได้ดี มีความรู้เรื่องการวิเคราะห์ทางเทคนิค มีเงินก้อน และรอคอยเวลาที่เหมาะสมในการลงทุนได้ เพราะถ้าหากจับจังหวะลงทุนผิดก็อาจสร้างผลขาดทุนเป็นจำนวนมาก 13. ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) คือ ภาวะที่ราคาสินค้าหรือบริการเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล เสื้อผ้า ราคาที่ดิน ฯลฯ ซึ่งหากเรามีเงินเท่าเดิมจะซื้อสินค้าหรือบริการเหล่านั้นได้น้อยลงกว่าเดิม โดยสาเหตุการเกิดเงินเฟ้อแบ่งได้เป็น 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ ความต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น (Demand-Pull Inflation) และต้นทุนการผลิตสูงขึ้น (Cost-Push Inflation) 14. ภาวะเงินฝืด (Deflation) คือ ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการลดต่ำลงเรื่อย ๆ เนื่องจากปริมาณสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่ผลิตออกมามีมากกว่าความต้องการซื้อสินค้าของคนในประเทศ หรือพูดง่าย ๆ คือ ตรงข้ามกับภาวะเงินเฟ้อ โดยสาเหตุของเงินฝืดเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งเกิดจากความเชื่อมั่นของผู้ซื้อลดลง ไม่กล้าใช้จ่ายเงิน เนื่องจากปัจจัยที่เข้ามากระทบ เช่น ภัยธรรมชาติ หรือเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง รวมไปถึงปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจไม่เพียงพอ เช่น เงินตราไหลออกนอกประเทศมากเกินไป เป็นต้น 15. Stagflation คือ การรวมคำ 2 คำเข้าด้วยกัน ได้แก่ Stagnation คือ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือชะงัก และ Inflation คือ ระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นหรือเงินเฟ้อ Stagflation จึงหมายถึง ภาวะที่อัตราเงินเฟ้อและการว่างงานเพิ่มขึ้น แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจกลับโตไม่ทันกัน 16. Gross Domestic Product (GDP) คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ คำนวณมาจากมูลค่าสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตในประเทศ ณ ช่วงเวลานั้น หรือพูดง่าย ๆ ว่า GDP เป็นมูลค่าเศรษฐกิจทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่ Consumption คือ การบริโภคของภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป Investment คือ การลงทุนของภาคเอกชน Government Spending คือ การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ และ Net Export คือ มูลค่าการส่งออกสุทธิ 17. Federal Reserve (Fed) คือ หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ดูแลนโยบายการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่ง Fed นั้นมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต อัตราคิดลด (Discount Rates) และการลงทุนของนักลงทุน ซึ่งไม่มีใครจะสามารถคาดการณ์ได้ถูกต้องว่าทิศทางในอนาคตและนโยบายของ Fed จะเป็นอย่างไร ซึ่งต้องอาศัยการวิเคราะห์ การคาดเดาจากการสื่อสารของ Fed 18. Federal Open Market Committee (FOMC) คือ คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ มีหน้าที่ในการกำหนดและรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยตรง ซึ่งให้ความสำคัญกับการดำเนินการผ่านตลาดการเงิน โดยใช้เครื่องมือในการบริหารจัดการเป้าหมายของอัตราการว่างงาน และเป้าหมายเงินเฟ้อ 19. การจัดพอร์ตการลงทุน (Investment Portfolios) คือ การกระจายลงทุนในหลากหลายหลักทรัพย์ เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าหลักทรัพย์ โดยขึ้นอยู่กับแผนการลงทุนว่าเรารับความเสี่ยงได้แค่ไหน คาดหวังผลตอบแทนเท่าไหร่ และมีวัตถุประสงค์ในการลงทุนอย่างไร 20. Stop Loss คือ จุดตัดการลงทุน หรือจุดตัดการขาดทุน คือ การตั้งจุดตัดเพื่อไม่ให้ราคาหลักทรัพย์ในพอร์ตลดลงไปมากกว่านี้ ซึ่งขณะที่ทำการ Stop Loss นั้น นักลงทุนอาจขาดทุน หรือได้กำไรอยู่ในขณะที่ขายก็ได้ แต่ขายออกไปเพื่อป้องกันไม่ให้กำไรลดลงกว่าที่เป็น หรือขาดทุนมากยิ่งขึ้น การลงทุนไม่เป็นเรื่องที่ยากเกินอีกต่อไป หากทำความเข้าใจกับ 20 คำศัพท์ควรรู้นี้ เพื่อให้เข้าใจหลักการ พร้อมตั้งเป้าหมายการลงทุน เท่านี้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุน สามารถวางแผนลงทุนได้อย่างสบายใจ เพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีแบบยั่งยืน ทั้งนี้การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์ https://www.prachachat.net/finance/news-1127814

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

กฎ 9 ข้อ ที่ทำให้คุณมีเงินเก็บ 1 ล้านเหรียญฯ แม้ไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทอง

30/04/2024

วันที่ 23 ธันวาคม 2016 เป็นวันที่อยู่ในความทรงจำของ Steve Adcock ไปตลอดชีวิต เพราะเป็นวันสุดท้ายของเจ้าตัวที่จะได้ทำงานเต็มเวลา เนื่องจากเจ้าตัว และภรรยาได้เกษียณก่อนกำหนดเมื่ออายุเดินทางมาถึง 33 ปี และ 35 ปี ตามลำดับ ด้วยเงินเก็บที่ทำให้มีอิสรภาพทางการเงิน นี่คือวิธีที่เขาจัดการจนสามารถมีเงินเก็บ ที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ 1. มองข้าม passion ตัวคุณเอง แน่นอนว่าความหลงใหลมีแนวโน้มไปในทางสร้างสรรค์ แต่ไม่สามารถสร้างเงินให้กับเราได้เสมอไป โดยความหลงใหลของผมคือการถ่ายภาพ แต่จุดแข็งของผม คือวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่สามารถทำเงินได้มากกว่า ซึ่งในปี 2004 เงินเดือนเริ่มต้นในฐานะวิศกรซอฟต์แวร์ของผม คือ 55,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และในปี 2016 ผมสามารถทำเงินได้มากกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ผมอาจไม่มีเงินมากกว่านี้หากเลือกทำตาม passion 2. เรียนรู้จากมหาเศรษฐี ตลอดชีวิตการทำงานของผม ผมทำงานกับคนร่ำรวยมากมาย แทนที่จะอิจฉาพวกเขา ผมกลับจดบันทึก ผมไม่มีวันลืมเรื่องราวของ Brian ที่ผมทำงานด้วยหลังเลิกงาน แม้ว่าเขาจะเป็นมหาเศรษฐี แต่เขาก็ใส่นาฬิกา Casio ราคาถูก และไม่ได้สวมเสื้อผ้าแบรนด์เนมแต่อย่างใด โดย Brian เป็นคนที่มีความรับผิดชอบ เขาไม่ได้มาจากคนที่ฐานะร่ำรวย แต่เขาหาความมั่งคั่งด้วยการลงทุน และควบคุทการใช้จ่าย 3. ตัดคนขี้แพ้ออกจากชีวิต หากคุณออกไปเที่ยวกับคนที่ชอบดื่มตามบาร์ และใช้เงินเป็นจำนวนมาก จึงไม่แปลกที่คุณจะมีนิสัยการใช้เงินแบบเดียวกัน ดังนั้น คุณสามารถยกระดับตัวเองด้วยการอยู่กับคนที่ประสบความสำเร็จ โดยภารกิจของผมคือการสร้างความสัมพันธ์กับพวกเขา หลังจากนั้น ผมรู้สึกว่าการตัดสินใจเรื่องเงินดีขึ้น และลดแอลกอฮอล์ รวมถึงตั้งใจทำงานจนได้เลื่อนตำแหน่ง 4. เรียนรู้การใช้สิทธิ์ลดหย่อน ผมลงทุนในกองทุนที่นายจ้างสนับสนุน โดยบริษัทบางแห่งมีบัญชี Health Savings (HSA) เพื่อช่วยให้พนักงานประหยัดเงินก่อนหักภาษี ตลอดจนการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี เหล่านี้จะช่วยในเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นอย่างดี 5. เปลี่ยนบริษัท 5 ครั้ง ในรอบ 14 ปี การหางานมักเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการขอขึ้นเงินเดือน เพราะการต่อรองเงินเดือนที่สูงขึ้นถือเป็นเรื่องปกติของกระบวนการนี้ โดยผมได้รับเงินเพิ่ม 15-20% ทุกครั้งที่เปลี่ยนบริษัท ซึ่งสูงกว่าค่าครองชีพทั่วไป 3% ที่นายจ้างจำนวนมากเสนอให้พนักงาน อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังคืออย่าเปลี่ยนบริษัทบ่อย ควรทำงานอย่างน้อย 1 ปี เพราะนายจ้างบางคนจะไม่ชอบจ้างพนักงานที่เปลี่ยนงานบ่อย 6. ใช้ระบบอัตโนมัติกับเรื่องเงิน ผมหักเงินอัตโนมัติเข้าบัญชีเกษียณอายุ การจ่ายค่าสาธารณูปโภค ต่าง ๆ เพื่อให้เป็นระบบ และไม่ต้องมานั่งเสียดอกเบี้ยภายหลัง 7. ไม่สนใจผู้ที่เกลียดชัง ส่วนที่น่าเสียดายของการทำอะไรที่สำคัญ คือคุณจะโดนเกลียด บางครั้งก็เยอะ โดยผู้คนจะวิพากษ์วิจารณ์การใช้จ่ายเงินที่แตกต่างกัน คุณอาจต้องเสียเพื่อนไป หากคุณปฏิเสธชั่วโมงแห่งความสุขประจำสัปดาห์ที่บาร์ใกล้บ้านคุณ มันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ความเกลียดชังเป็นเรื่องที่ควรมองข้าม หากคุณจะสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง 8. ให้ความสำคัญกับการสื่อสาร บ่อยครั้งที่คู่สมรสมีความคิดที่แตกต่างกันเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่าย เป้าหมาย และความฝัน หากปล่อยไว้โดยไม่ทำอะไร ความแตกต่างเหล่านี้อาจทำให้เกิดข้อโต้แย้ง และปัญหาอื่น ๆ ในความสัมพันธ์ที่ขัดขวางไม่ให้คุณบรรลุเป้าหมายทางการเงิน ดังนั้น ความสัมพันธ์ขึ้นอยู่กับการสื่อสารอย่างเปิดเผยกับคู่ครองของคุณ เพื่อให้คุณสามารถกำหนดเป้าหมาย และสิ่งที่ทำให้คุณมีความสุขได้ 9. ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ ชีวิตมีค่ามากกว่าเงิน เหนือสิ่งอื่นใด สุขภาพเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การมีสุขภาพที่ดีทำให้คุณมีความสุข และมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังลดโอกาสค่ารักษาพยาบาลที่ไม่คาดคิดอีกด้วย ที่มา: cnbc แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับsmartsme https://www.smartsme.co.th/content/248777

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

10 นิสัยเรื่องเงินที่ควรเริ่มตั้งแต่วันนี้

30/04/2024

นิสัย... สร้างไม่ง่าย แต่สร้างได้ครับ โดยเฉพาะนิสัยดีๆทางการเงิน ยาวหน่อยแต่อ่านให้จบนะครับ 1. นิสัยกำหนดงบประมาณ นิสัยข้อนี้เป็นนิสัยพื้นฐานของคนที่ต้องการมีความสำเร็จทางการเงิน  ในแต่ละเดือนคุณควรกำหนดงบประมาณสำหรับรายจ่ายต่างๆ งบประมาณค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่ากินอยู่ ท่องเที่ยว และอื่นๆ และงบประมาณสำคัญที่สุดที่คุณควรตั้งคือ งบเงินอออม เงินลงทุนในแต่ละเดือนครับ 2. นิสัยไม่ใช้เงินเกินตัว ปัญหาทางการเงินของคนยุคนี้หนึ่งปัญหาคือปัญหาเรื่องบัตรเครดิต หากคุณต้องการมีความสำเร็จทางการเงิน คุณต้องใช้บัตรเครดิตให้เป็น บัตรเครดิตเป็นเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอย ไม่ใช่เป็นอุปกรณ์ในการให้คุณใช้เงินเกินกว่าที่คุณมีนะครับ 3. นิสัยการจ่ายบิลต่างๆตรงเวลา บิลค่าใช้จ่ายต่างๆที่คุณต้องจ่าย ไม่ว่าจะค่านำ้ ค่าไฟ ค่าผ่อนต่างๆ รวมทั้งสลิปเรื่องบัตรเครดิตที่คุณต้องจ่ายทุกเดือน สร้างนิสัยจ่ายตรงเวลาเถอะครับ เดี๋ยวนี้มีระบบช่วยเตือนคุณมากมาย ตั้งเวลาเตือนเลยครับ ยังไงๆก็ต้องจ่าย  จ่ายช้าบางทีเกิดลืมจ่ายเข้าไปอีก  อาจทำให้คุณมีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากดอกเบี้ย หรือค่าปรับนะครับ 4. นิสัยออมเงินอัตโนมัติ วินัยในการออมและการลงทุนจะช่วยให้คุณมีโอกาสสำเร็จทางการเงิน ระบบการออมอัตโนมัติคือระบบที่จะช่วยสร้างวินัยให้คุณ หาทางที่จะสร้างระบบที่จะหักเงินจากบัญชีเงินฝากของคุณ เพื่อไปออมหรือลงทุนทุกๆเดือน เช่นหักบัญชีซื้อกองทุน หักบัญชีย้ายมาฝากประจำ เข้าระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หักบัญชีออมเงินในกรมธรรม์ วิธีนี้จะช่วยให้คุณมีเงินเก็บอย่างแน่นอน 5. นิสัยตรวจสอบราคาก่อนซื้อ เวลาที่คุณจะซื้ออะไร อย่ารีบร้อนตัดสินใจซื้อทันที เช็คราคาก่อนที่จะซื้อหน่อยดีไหม เดี๋ยวนี้แค่คุณกดหาเข้าไปที่สมาร์ทโฟนที่อยู่ในมือคุณ ไม่กี่นาทีคุณก็สามารถตรวจสอบราคาของที่คุณจะซื้อได้แล้ว ว่าราคามันถูกหรือแพงกว่าแหล่งอื่นๆ มันช่วยให้คุณประหยัดเงินที่ต้องจ่ายได้พอสมควรเลย 6. นิสัยตรวจสอบรอยรั่วของเงินคุณเสมอๆ การจดบันทึกค่าใช้จ่าย จะทำให้คุณรู้ว่า เงินที่คุณหามาอย่างยากลำบาก มันไหลไปทางใดมั่ง จำนวนเท่าไหร่ มันจะช่วยให้คุณรู้จุดอ่อนทางการเงินของคุณ คุณจดบันทึกค่าใช้จ่ายของคุณไปสักสองสามเดือน เแล้วคุณจะประหลาดใจมากๆกับรายจ่ายบางอย่างของคุณแน่นอน 7. นิสัยจ่ายหนี้ที่คุณมี การจ่ายหนี้ต่างๆที่คุณมี ควรเป็นความสำคัญลำดับแรกๆเรื่องเงินของคุณ การจ่ายหนี้ไม่ตรงเวลาหรือไม่จ่ายหนี้  จะทำให้เครดิตของคุณเสียหาย  ซึ่งจะมีผลต่อการขอกู้หนี้ที่จำเป็นของคุณในอนาคต อย่างเช่นกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ นอกจากนั้นมันยังทำให้คุณมีรายจ่ายเรื่องดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกด้วย 8. นิสัยสร้างกองทุนเงินฉุกเฉิน บางทีคุณอาจไม่เคยฉุกเฉินเลย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่ต้องเตรียม รายจ่ายพวกนี้คุรไม่อาจรู้เลยว่ามันจะมาเมื่อไร อย่างค่าซ่อมรถ ซ่อมบ้าน ค่ารักษาพยาบาลของตัวเองและคนในบ้าน เผื่อเงินก้อนนี้ไว้มั่งนะครับ ฉุกเฉินขึ้นมาแล้วไม่มีใช้จะยุ่งนะ 9. นิสัยเก็บออมเงินเพื่อเกษียณ เรื่องเกษียณเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายถ้าคุณไม่ได้เตรียมเงิน การแบ่งเงินมาเก็บ มาออม มาลงทุนเพื่อเกษียณตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นเรื่องที่คุณควรทำเป็นอย่างยิ่ง การออมเงินจำนวนน้อยๆแต่ต่อเนื่อง จะช่วยให้คุณมีเงินเพื่อวันเกษียณที่ยังไงๆก็มาถึงแน่นอน 10. นิสัยไม่ประมาททางการเงิน ความประมาทเป็นบ่อเกิดของความล้มเหลวทุกอย่าง คุณต้องระมัดระวังค่าใช้จ่ายใหญ่ๆที่อาจเกิดขึ้น ที่อาจทำให้คุณเกิดความเสียหายทางการเงินอย่างรุนแรง เช่นค่ารักษาพยาบาลการเจ็บป่วยร้ายแรง ที่คุณป้องกันได้โดยการทำประกัน หรือป้องกันความประมาทในเรื่องการลงทุนที่คุณไม่ได้เข้าใจจริง ด้วยความไม่โลภ หมั่นหาความรู้เรื่องการลงทุนที่ถูกต้องสม่ำเสมอ หากคุณไม่ประมาทเสียอย่าง ก็จะไม่มีทางที่จะมีอะไรมาหยุดยั้งความร่ำรวยของคุณได้เลย อ่านถึงตรงนี้คุณมีนิสัยเรื่องเงินอะไรที่ผมบอกมั่งแล้วครับ ถ้ามีแล้วทำให้มีมากขึ้น ถ้าไม่มีก็รีบทำให้มีนนะครับ ความสำเร็จทางการเงินอยู่ข้างหลังนิสัยการเงินดีๆเหล่านี้ครับ แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับ stock2morrow https://stock2morrow.com/article/5063

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

อยาก “รวย” อย่า “เล่นหวย” เคล็ด(ไม่)ลับ "ซีอีโอ" ระดับโลก

30/04/2024

เปิดแนวคิดการลงทุนของเหล่าซีอีโอและนักลงทุนดังระดับโลก เช่น “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ที่เผยว่าถ้าอยากรวยต้องลงทุนไม่ใช่ “เล่นหวย” จากปากคำของ เทรย์ ล็อกเกอร์บี พิธีกรพอดแคสต์ชื่อดัง พร้อมเผยแนวคิดที่มหาเศรษฐีทั่วโลกใช้ในการดำเนินชีวิต เทรย์ ล็อกเกอร์บี ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ Better Booch เครื่องดื่มคอมบูชา กล่าวถึงประสบการณ์และแนวคิดที่เขาได้เรียนรู้จากการเป็นพิธีกรพอดแคสต์ “We Study Billionaires” รายการสัมภาษณ์นักลงทุนและซีอีโอชื่อดังหลายคน ซึ่งทำให้เขาได้ข้อสรุปว่า เหล่ามหาเศรษฐีไม่ได้หวังที่จะรวยจากการเล่นหวย หรือ ลอตเตอรี่ รวมถึงไม่ได้หวังรวยทางลัดการจากเสี่ยงโชค โดยชี้ให้เห็นว่า ถ้าหากนำเอาเงินที่ใช้ในการซื้อลอตเตอรี่ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี แล้วไปลงทุนในบัญชีเงินเกษียณส่วนบุคคล หรือ IRA (Individual Retirement Account) กองทุน ตลาดหุ้น และตราสารหนี้ จะได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า และมีโอกาสที่ทำให้คุณกลายเป็นมหาเศรษฐีได้มากกว่า ยิ่งคุณเสียเงินไปกับลอตเตอรี่มากเท่าไร โอกาสที่คุณจะเป็นเศรษฐีก็น้อยลงเท่านั้น โดยจะเห็นได้ว่าแทบจะไม่มีเหล่ามหาเศรษฐี ซีอีโอ ผู้ประกอบการ ผู้บริหารระดับสูงเคยถูกรางวัลลอตเตอรี่เลย ตามรายงานเมื่อปี 2559 จากสำนักข่าว Vox ระบุว่า กลุ่มผู้ที่ซื้อลอตเตอรี่มักจะเป็นคนที่มีรายได้รายปีระหว่าง 25,00-80,000 ดอลลาร์ ขณะที่ผู้ที่มีรายได้รายปีมากกว่า 200,000 ดอลลาร์ขึ้นไปแทบจะไม่เล่นหวยเลย อีกทั้งยังระบุว่า ในแถวชานเมืองของรัฐคอนเนตทิคัตที่เป็นพื้นที่ยากจน มักจะมีอัตราการถูกรางวัลบ่อยที่สุด ซึ่งสะท้อนได้ว่าคนเหล่านี้นิยมเล่นหวย ผลการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งจาก The Insured Retirement Institute ร่วมกับ Center for Generational Kinetics พบว่า 15% ของชาวมิลเลนเนียลยอมรับว่า พวกเขาลอตเตอรี่เป็นวิธีหนึ่งในการหาเงินไว้ใช้หลังเกษียณของพวกเขา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนรุ่นมิลเลนเนียลมีความกังวลกับการวางแผนออมเงินไว้ใช้หลังเกษียณ โดยมองว่าลอตเตอรีเป็นอีกความหวังหนึ่ง ทั้งที่อาจจะเป็นการลงทุนที่อาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนเลยก็ตาม นอกจากนี้ ล็อกเกอร์บีได้สรุปแนวคิด 3 ข้อ ที่เหล่ามหาเศรษฐีทั่วโลกใช้ในการดำเนินสู่เส้นทางแห่งความมั่งคั่งไว้ดังนี้   •  ไม่ทำตามความกลัวหรือแรงกระตุ้นจากภายนอก ล็อกเกอร์บีได้สัมภาษณ์ โฮเวิร์ด มาร์กส มหาเศรษฐีผู้ร่วมก่อตั้ง Oaktree Capital Management บริษัทจัดการสินทรัพย์ระดับโลก เกี่ยวกับช่วงเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (Great Recession) ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2550 - 2552 ตลอดจนช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-19  มาร์กส ระบุว่า แทนที่จะตัดสินใจลงทุนด้วยความกลัว แต่เขาเลือกที่จะมุ่งเน้นที่การค้นหาข้อมูลและมองหาโอกาสที่เป็นไปได้ มากกว่าที่จะพิจารณาถึงความเสี่ยงหรือผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้น วิธีการนี้ทำให้สามารถล้างหนี้สินช่วงวิกฤติทางการเงินปี 2551 และยังทำให้เหล่านักลงทุนของ Oaktree ได้รับผลกำไรประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์ ดังนั้น เมื่อคุณกำลังพบว่าตนเองประสบปัญหาหรือความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ มหาเศรษฐีคนนี้แนะนำให้ “ไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ ตั้งสติและค่อย ๆ มองหาหาวิธีที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น”   •  อดทนและมองการณ์ไกล หนึ่งในมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ประธานและซีอีโอของ Berkshire Hathaway บริษัทโฮลดิ้งข้ามชาติ กล่าวว่า หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การลงทุนของเขาประสบความสำเร็จ คือ เลือกลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่สามารถเติบโตได้ในอนาคตอีกหลายทศวรรษ ไม่ว่าราคาหุ้นในตอนนั้นจะสูงขนาดใดก็ตาม มหาเศรษฐีหลายคนชื่นชมทั้งแนวทางของบัฟเฟตต์และระยะเวลาที่สื่อถึงความอดทนเป็นอย่างมาก ในการพบกันของ ไบรอัน เชสกี ผู้ร่วมก่อตั้ง Airbnb กับ เจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอของ Amazon และมหาเศรษฐีนักลงทุนอย่าง บัฟเฟตต์  ในครั้งนั้น เบซอสถามบัฟเฟตต์ว่าทำไมถึงไม่มีใครสนใจลงทุนแบบวิธีของเขาทั้งที่มีประสิทธิภาพมากกว่า บัฟเฟตต์ตอบว่า “เพราะไม่มีใครอยากรวยช้าไงละ”   •  ปฏิเสธมากกว่าที่จะตอบตกลง ส่วนแนวคิดของ เดวิด รูเบนสไตน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Carlyle Group บริษัทหุ้นนอกตลาด อีกทั้งยังเป็นคณะกรรมการในอีกหลายบริษัท พร้อมทั้งเป็นนักเขียนและพิธีกรในรายการโทรทัศน์อีกด้วย ล็อกเกอร์บีถามว่า รูเบนสไตน์มีเคล็ดลับอะไรที่ทำให้มีเวลาในการทำงานได้มากขนาดนี้ เขายอมรับว่าเขาหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธกิจกรรมที่ทำให้เสียเวลา ไม่ว่าจะเป็น การเล่นกอล์ฟ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแม้แต่การดูเน็ตฟลิกซ์ ขณะที่ เจซซี อิตซ์เลอร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Marquis Jet บริษัทเช่าเครื่องบินเจ็ทที่ส่วนที่ใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งเป็นหุ้นส่วนของ Zico ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำมันมะพร้าว เขาเห็นด้วยรูเบนสไตน์ว่าต้องปฏิเสธให้เป็น “ช่วงอายุ 20-30 ปี เป็นช่วงที่ดีในการตอบตกลงทุกอย่าง เพื่อสร้างเครือข่าย เปิดรับโอกาสต่าง ๆ ที่จะเข้ามา แต่เมื่อเข้าสู่อายุ 40 ปีขึ้นไป คุณต้องรู้จักการปฏิเสธและจัดการกับเวลาของคุณได้อย่างเต็มที่” นอกจากนี้ อิตซ์เลอร์ยังเผยเคล็ดลับในการปฏิเสธอย่างนุ่มนวลว่า “เพื่อให้เป็นการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อไป คุณควรจะเลี้ยงอาหารเขาสักมื้อ หรือมอบของขวัญเล็ก ๆ น้อย ถึงแม้จะปฏิเสธข้อเสนอของเขาแต่ก็ยังต้องเก็บคอนเน็คชันเอาไว้” ที่มา: CNBC, New York Times แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับกรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1037812

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

X