คลังความรู้

Everyday knowledge for you

ข่าวการเงิน

10 เหตุการณ์เด่นปี 2565 เขย่าวงการภาคการเงินไทย

30/04/2024

รายงานพิเศษ ย้อนกลับไปดูในรอบปี 2565 ที่ผ่านมา มีหลาย ๆ เหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินเกิดขึ้นอย่างมากมาย โดย “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมเหตุการณ์ที่โดดเด่นในรอบปีที่ผ่านมา 10 เหตุการณ์ มานำเสนอ ดังต่อไปนี้ 1. สินมั่นคงฯยื่นฟื้นฟูกิจการ-เจ๊งเคลมโควิด หลังจากธุรกิจเผชิญผลกระทบจากการเข้าไปรับประกันภัยโควิด-19 แบบ “เจอ จ่าย จบ” จนปี 2564 “บมจ.สินมั่นคงประกันภัย (SMK)” ต้องประสบกับผลการดำเนินงานที่ขาดทุนสุทธิเกือบ 5 พันล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่มีกำไร ซึ่งมาจากการที่ต้องจ่ายเคลมประกันภัยโควิด และผลกระทบยังลุกลามต่อเนื่องมาถึงในปี 2565 นี้ ซึ่งแม้ว่าบริษัทจะพยายามดิ้นรนหาพันธมิตรเข้ามาเพิ่มทุนตั้งแต่ต้นปี แต่ก็มีอันต้องยกเลิกไปเพราะพันธมิตรขอรอสรุปตัวเลขความเสียหายทั้งหมดก่อน โดยสุดท้ายแล้ว ผลการดำเนินงานไตรมาสแรก ปี 2565 สินมั่นคงฯต้องขาดทุนสุทธิไปราว 3 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรลดลง จากงวดเดียวกันปีก่อนกว่า 16,000% สุดท้ายบริษัทจึงตัดสินใจยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2565 และศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันถัดมา ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งมีเดดไลน์ส่งแผนในวันที่ 20 พ.ค. 2566 และคาดว่าจะเริ่มเดินหน้าแผนฟื้นฟูกิจการได้ราวเดือน ก.ย. 2566 2. Zipmex เขย่าวงการคริปโตไทย หลังคริปโตเคอร์เรนซีระดับโลก อย่างเหรียญ LUNA ล่มสลาย นักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลชาวไทยก็ต้องตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ที่บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) (Zipmex Thailand) แฟลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์สัญชาติไทย ประกาศระงับการถอนเงินบาทและคริปโตเคอร์เรนซีชั่วคราว เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2565 ซึ่งปมปัญหาเกิดจากโปรดักต์ที่ชื่อว่า ZipUp+ มีการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปยังอีกบริษัทในสิงคโปร์ เพื่อนำไปฝากต่ออีกทอด ซึ่งพอบริษัทในต่างประเทศเกิดปัญหาขึ้นมา จึงกระทบชิ่งมาถึงนักลงทุนในไทย ต่อมากลุ่มนักลงทุนได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่ม “ผู้เสียหาย Zipmex Thailand” ขึ้นมา เพื่อดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท และทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้สั่งให้ Zipmex ชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้น และเข้าตรวจสอบเรื่องดังกล่าว โดย ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษ Zipmex และ นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Zipmex รวม 2 กรณี คือ กรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งบอร์ด ก.ล.ต.ได้มีการเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 1.92 ล้านบาท และล่าสุด มีปรับในกรณีระงับการให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอีก 5.4 แสนบาท ระงับการให้บริการฝากถอนทรัพย์สินของลูกค้าใน Trade wallet-Zwallet อีก 1.38 ล้านบาท รวมถึงปรับตัวบริษัทอีก 6.95 แสนบาท จากกรณีเปิดเผยข้อมูลไม่ครบถ้วน โดยเคสนี้กำลังนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายกำกับสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อล้อมคอกไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก รวมถึงการดูแลผู้เสียหาย ซึ่งยังต้องติดตามกันต่อไป 3. สองบิ๊กดีล “ยานแม่” ล่ม หลังเปิดตัว “ยานแม่” หรือ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) เมื่อปลายปี 2564 พร้อมกับประกาศดีลสำคัญ ๆ กับพันธมิตรทางธุรกิจหลายดีลด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการประกาศเข้าลงทุนใน บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (Bitkub Online) ที่ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล โดย SCBX จะเข้าไปถือหุ้นใหญ่ Bitkub Online ในสัดส่วน 51% ด้วยมูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 17,850 ล้านบาท หรือการลงนามในสัญญร่วมทุนกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เพื่อจัดตั้ง บริษัท เอไอเอสซีบี จำกัด (AISCB) ซึ่ง 2 บริษัทจะถือหุ้นในสัดส่วน 50:50 เพื่อประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม (digital lending) ทว่ามาถึงในปี 2565 นี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลตกลงอย่างน่าใจหายทั่วโลก ดีลกับ Bitkub Online ก็มีอันต้องล้มเลิกไป โดยประกาศออกมาในเดือน ส.ค. 2565 แต่ก็ไม่ได้มีการชี้แจงสาเหตุอย่างชัดเจนนัก และต่อมาในเดือน พ.ย. 2565 ทาง AIS ก็ขายหุ้นที่ถือทั้งหมดใน AISCB ให้แก่ SCBX เป็นการปิดฉากดีลประวัติศาสตร์ลงไปอีกดีล 4. ttb แอปล่ม 3 วัน ในยุคที่โทรศัพท์มือถือแทบจะกลายเป็นอวัยวะสำคัญที่ขาดไม่ได้ของผู้คน การทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ก็ล้วนพึ่งพาแอปพลิเคชั่นบนมือถือแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะโมบายแบงกิ้งแอปพลิเคชั่นของบรรดาแบงก์ต่าง ๆ ซึ่งปีนี้สถานการณ์ระบบขัดข้องหรือ “แบงก์ล่ม” ทำท่าว่าจะบรรเทาเบาบางลงกว่าปีก่อน ๆ ทว่าเมื่อต้นเดือน ก.ย. 2565 เกิดเหตุการณ์ ระบบของธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ttb ขัดข้องนานติดต่อกันถึง 3 วัน (1-3 ก.ย.) ส่งผลกระทบต่อลูกค้าอย่างมาก จน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องออกโรงสั่งการให้ ttb เร่งช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบให้ได้อย่างครบถ้วนและทันท่วงที รวมถึงสั่งการให้ ttb จัดทำแผนปรับปรุงและยกระดับมาตรฐานของระบบ เพื่อให้บริการโมบายแบงกิ้งของ ttb มีความเสถียร โดยให้คณะกรรมการธนาคารกำกับดูแลการนำแผนไปปฏิบัติและประเมินผลอย่างจริงจัง รวมทั้งรายงานผลให้ ธปท.ทราบเป็นระยะ 5. หวยดิจิทัลบูมแก้เกมเกินราคา หลังจากทำสารพัดวิธีแล้ว ก็ยังแก้ปัญหาการขายสลากเกินราคาไม่ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลก็หันมาขายสลากผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ของธนาคากรุงไทย โดยเรียกว่าเป็น “สลากดิจิทัล” ซึ่งเริ่มจำหน่ายงวดแรกเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2565 เริ่มต้นที่กว่า 5 ล้านใบ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากบรรดานักเสี่ยงโชคเป็นอย่างมาก เพียงวันแรกมียอดจำหน่ายพุ่งกระฉูดถึง 2.4 ล้านใบ จำนวนผู้ซื้อสลากกว่า 6 แสนคน จากจำนวนสลากทั้งหมด 5.2 ล้านใบ และใช้เวลาเพียง 5 วัน ก็ขายเกลี้ยงทั้งหมด สร้างความฮือฮาให้แก่ประชาชน และผู้คนในวงการหวยเป็นอย่างมาก ต่อมาสำนักงานสลากฯก็ทยอยปรับเพิ่มจำนวนสลากดิจิทัลอีกเป็นระยะ โดยเพิ่มอีกราว 2 ล้านใบ เป็นกว่า 7.1 ล้านใบ ในงวดวันที่ 1 ส.ค. 2565 จากนั้นก็เพิ่มเป็น 9.1 ล้านใบ ในงวดวันที่ 16 ส.ค. 2565 ท่ามกลางกระแสคัดค้านที่เริ่มดังขึ้นจากผู้เสียประโยชน์ และผู้ค้ารายย่อยบางกลุ่ม นอกจากนี้ สำนักงานสลากฯได้เพิ่มลูกเล่น โดยในงวดวันที่ 1 ก.ย. 2565 มีการเปิดตัวเลือกในแอป “เป๋าตัง” เพิ่ม ให้ผู้ขายสามารถลดราคาสลากได้ ทำให้ประชาชนสามารถซื้อสลากในราคาที่ถูกกว่า 80 บาทได้ด้วย หลังจากนั้น สำนักงานสลากฯก็ทยอยเพิ่มสลากดิจิทัลงวดละ 1-2 ล้านใบ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 20 ล้านใบ 6. หนี้ครัวเรือนไทยพีกสุด ต้นปี 2565 เป็นช่วงที่หนี้ครัวเรือนของไทยพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดที่ 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จนหลายฝ่ายต้องออกมาส่งเสียงเตือน ขณะที่รัฐบาลประกาศให้ปีนี้เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” ซึ่งแม้ว่าช่วงปลายปีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนเริ่มลดลง ส่วนหนึ่งมาจากจีดีพีที่ขยายตัวได้มากขึ้น แต่ก็ยังเป็นระดับที่น่ากังวล โดยกระทรวงการคลัง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อยู่ระหว่างเดินหน้าจัดมหกรรมแก้หนี้ในแต่ละภูมิภาค ซึ่งในส่วนของภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ มีการจัดไปแล้ว ซึ่งในเดือน ม.ค. 2566 จะมีจัดอีก 2 ครั้ง ที่ชลบุรี และสงขลา นอกจากนี้ ต้นปีหน้า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการออกเอกสารทิศทางและนโยบาย (directional paper) ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน ตั้งแต่ต้นเหตุยันปลายเหตุ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติของบรรดาสถาบันการเงินภายใต้กำกับต่อไป 7. เงินเฟ้อพุ่งถึงยุคดอกเบี้ยขาขึ้น ปี 2565 เป็นปีแห่ง “ดอกเบี้ยขาขึ้น” อย่างแท้จริง เพราะเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 เดือน ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2565 โดย กนง.ลงมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 0.75% ในขณะที่แบงก์ยังคงตรึงดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้กันไว้ในรอบนี้ จากนั้นที่ประชุม กนง. รอบวันที่ 28 ก.ย. 2565 ก็มีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 2 อีก 0.25% เป็น 1.00% ส่งผลให้บรรดาแบงก์ต่าง ๆ ออกมาประกาศขึ้นดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้กัน และการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 3 ก็เกิดขึ้น
ในการประชุมรอบสุดท้ายของปี เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2565 ซึ่งคณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์อีกเช่นกัน ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 1.25% 8. เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 38 บาท อ่อนสุดรอบ 16 ปี นอกจากนี้ ในปี 2565 นี้ ยังเป็นปีที่ “ค่าเงินบาท” ผันผวนอย่างมาก โดยต้นปีเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปมากสุดที่ 32.08 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะระเบิดขึ้น ซึ่งการเกิดสงครามเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์เงินเฟ้อให้รุนแรงขึ้น ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทยอยขึ้นดอกเบี้ย เพื่อให้เอื้อกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้เงินบาททำสถิติอ่อนค่าต่อเนื่องจนทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์ ถึง 2 ช่วง คือ ในเดือน ก.ย. 2565 และในเดือน ต.ค. 2565 ที่อ่อนค่าไปถึง 38.46 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี 9. หุ้น MORE สั่นสะเทือนตลาดทุนไทย ประเด็นร้อนสั่นคลอนตลาดหุ้นไทย เมื่อไม่นานมานี้ คือ กรณี “หุ้น MORE” หรือ บริษัทหลักทรัพย์ มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) ที่ถูกเรียกกันว่า “ปฏิบัติการปล้นโบรกฯ” ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2565 โดยหุ้น MORE มีการซื้อขายอย่าง “ผิดปกติ” มีมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 7,142 ล้านบาท เป็นอันดับ 1 ของมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งตลาด (SET และ mai) โดยเปิดตลาดที่ราคา 2.90 บาท เพิ่มขึ้น 4.3% จากราคาปิดวันก่อนหน้า จากนั้นราคาปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จนราคาต่ำสุด (floor) และ floor ต่อเนื่องอีกในวันถัดมา ปมเรื่องนี้ คือ การส่งคำสั่งซื้อที่ราคาเดียว โดยคนคนเดียว ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หลายแห่ง รวมกันถึง 1,500 ล้านหุ้น เป็นวงเงินมาร์จิ้นกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งความเดือดร้อนจะตกมาสู่โบรกฯ ที่จะต้องชำระค่าหุ้นแทน ในที่สุด เคสนี้มีการอายัดทรัพย์สิน โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และมีการเดินหน้าดำเนินคดีใน 2 ส่วน คือ “ฉ้อโกง” ที่มีบรรดาโบรกเกอร์เป็นผู้เสียหาย และ “ปั่นหุ้น” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างพิจารณา ส่วนเกณฑ์การกำกับดูแล ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็เดินหน้าแก้ไข เพื่อปิดช่องโหว่ไม่ให้เกิดซ้ำรอยอีก 10. รัฐเอาจริงเก็บภาษีขายหุ้น ก่อนสิ้นปี 2565 แค่ไม่กี่วัน กระทรวงการคลังก็เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ไฟเขียวเรื่องการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือภาษีขายหุ้น โดยจะเริ่มจัดเก็บหลังจากร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว 90 วัน หรือจัดเก็บในเดือนที่ 4 หลังจากบังคับใช้ ซึ่งในปีแรกกำหนดจัดเก็บครึ่งหนึ่งของอัตรา 0.1% หรือจัดเก็บที่ 0.05% แต่เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่นแล้วจะเก็บที่ 0.055% จนถึงสิ้นปี 2566 หลังจากนั้นจะเก็บเต็มเพดานที่ 0.1% หรือเมื่อรวมภาษีท้องถิ่นแล้วอยู่ที่ 0.11% โดยรัฐบาลคาดว่าจะมีรายได้ 16,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ แม้จะมีเสียงคัดค้านจากผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุน ทว่า กระทรวงการคลังก็ยืนยันหนักแน่นว่า “เก็บแน่นอน” เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้เสียภาษีอื่น ๆ ขณะที่ผู้คัดค้านก็ยังคงเดินหน้าคัดค้าน และยังมีความหวังว่ากฎหมายนี้จะ “ตก” ไป ในห้วงเวลาที่นับถอยหลังสู่การเลือกตั้งนี้ แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์ https://www.prachachat.net/finance/news-1157118

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

ส่องท่าทีนักลงทุนปี 2023 “กอดเงินสด” นั่งข้างสนาม

30/04/2024

คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แสดงท่าทีค่อนข้างชัดเจนว่าจะเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อกำราบเงินเฟ้อและจะไม่มีการลดดอกเบี้ยเลยตลอดปี 2023 ทำให้มีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะเกิดภาวะถดถอย ความกลัวดังกล่าวมีผลต่อท่าทีและมุมมองของนักลงทุนในปี 2023 ซึ่งเห็นได้จากผลสำรวจ
นักลงทุนระดับเศรษฐี จัดทำโดยซีเอ็นบีซีร่วมกับสเปกตรัม กรุ๊ป ที่สำรวจเมื่อเดือนพฤศจิกายน โดยกลุ่มตัวอย่างที่โพลสำรวจ เป็นนักลงทุนที่มีสินทรัพย์ลงทุน 1 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป ผลสำรวจพบว่านักลงทุนเหล่านี้เห็นว่าภัยคุกคามใหญ่ที่สุดต่อความมั่งคั่งของพวกเขาในปี 2023 ก็คือตลาดหุ้น โดยนักลงทุนเหล่านี้ 56% คาดว่าในปี 2023 ดัชนีเอสแอนด์พี 500 จะปรับตัวลง 10% และเกือบ 1 ใน 3 เชื่อว่าจะปรับลงมากกว่า 15% ซึ่ง จอร์จ วอลเตอร์ ประธานสเปกตรัม กรุ๊ป ชี้ว่า นี่เป็นมุมมองที่แย่ที่สุดของนักลงทุนกลุ่มนี้ต่อตลาดหุ้น นับจากช่วงวิกฤตการเงินปี 2008 และ 2009 ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ในปี 2022 ปรับตัวลงไปแล้ว 18% นักลงทุนกลุ่มนี้คาดหมายว่าปี 2023 จะแย่ยิ่งกว่า ซึ่งมุมมองเช่นนี้ยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อตลาดหุ้น เพราะนักลงทุนระดับเศรษฐีกลุ่มนี้ถือครองหุ้นในตลาดราว 85% หลายคนถือเงินสดเอาไว้ และวางแผนจะนั่งอยู่ข้างสนามเฉย ๆ อย่างน้อยก็ในอนาคตที่มองเห็นได้ ทั้งนี้ มีนักลงทุนถึง 46% ที่เพิ่มการถือเงินสดในพอร์ตการลงทุนปี 2022 มากกว่าปีก่อนหน้าไปแล้วเรียบร้อย ขณะเดียวกัน พวกเขายังมีมุมมองไม่สดใสต่อเศรษฐกิจ โดย 60% คาดว่าเศรษฐกิจจะอ่อนแอยิ่งขึ้นในปลายปี 2023 อย่างไรก็ตาม มีช่องว่างค่อนข้างกว้างของมุมมองนักลงทุนเศรษฐีอายุน้อยกับอายุมาก โดย 81% ของนักลงทุนในกลุ่มมิลเลนเนียลเชื่อว่าสินทรัพย์ของพวกเขาจะสูงขึ้นในปลายปี 2023 ในจำนวนนี้เกือบครึ่งคาดว่าทรัพย์สินของพวกเขาจะเพิ่มขึ้น 10% หรือมากกว่านั้น และเชื่อว่าดัชนีเอสแอนด์พี 
500 จะปรับขึ้น 10% เช่นกัน ตรงข้ามกับนักลงทุนกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ที่ 61% คาดว่าสินทรัพย์ของพวกเขาจะลดลงในปี 2023 ประธานสเปกตรัม กรุ๊ป กล่าวว่า การที่นักลงทุนเศรษฐีกลุ่มมิลเลนเนียล มีมุมมองบวกกว่ารุ่นเบบี้บูมเมอร์ ก็เพราะพวกเขาเติบโตมาในช่วงที่ตลาดการเงินทั่วโลกมีดอกเบี้ยต่ำมาก และราคาสินทรัพย์สูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในสภาพแวดล้อมดังกล่าว เมื่อใดก็ตามที่ตลาดมีการเทขายหุ้นก็จะตามมาด้วยการฟื้นกลับอย่างรวดเร็ว แต่นักลงทุนรุ่นเบบี้บูมเมอร์จะมีภาพจำของเงินเฟ้อสูง อัตราดอกเบี้ยสูงของช่วงทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980 ซึ่งทำให้ดัชนีเอสแอนด์พีลดลงนานกว่า 10 ปี “นักลงทุนรุ่นมิลเลนเนียลไม่เคยมีชีวิตผ่านช่วงที่มีเงินเฟ้อสูงอย่างแท้จริง ตลอดชีวิตการลงทุนของพวกเขาไม่เคยเห็นอัตราดอกเบี้ยที่ถูกบริหารจัดการโดยเฟด ไม่เคยเห็นการขึ้นดอกเบี้ยอย่างดุดันแบบนี้มาก่อน” ในอีกด้านหนึ่งตามรายงานของวิลลิส ทาวเวอร์ส วัตสัน ชี้ว่า แม้เศรษฐกิจในปี 2023 จะเผชิญอุปสรรคจนอาจทำให้เศรษฐกิจถดถอย แต่กิจกรรมการควบรวมกิจการ หรือ “เอ็มแอนด์เอ” จะยังเกิดขึ้นต่อไป เนื่องจากในวิกฤตก็มีโอกาสทำให้ซื้อกิจการได้ในราคาที่ดี แต่รูปแบบก็อาจเปลี่ยนแปลงไป โดยผู้ซื้ออาจมุ่งไปที่กิจการขนาดเล็กแทนที่จะซื้อกิจการขนาดใหญ่ ขณะเดียวกัน ก็อาจผลักดันให้บริษัทต่าง ๆ ขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่สินทรัพย์หลักออกไป ตัวอย่างเช่น บริษัทพลังงานอาจลดการลงทุนในกิจการที่เน้นเรื่องการลดคาร์บอน วิลลิสฯระบุว่า สภาพดังกล่าวจะทำให้ผู้ซื้อกิจการมีโอกาสขยายไลน์สินค้า การบริการ หรือห่วงโซ่อุปทานในราคาถูกลง อาจเห็นคลื่นการซื้อธุรกิจเอไอในปี 2023 เนื่องจากทุกอุตสาหกรรมมีความจำเป็นที่ต้องเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล รวมทั้งสร้างความยืดหยุ่นให้กับระบบห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับ
ผลกระทบจากโควิด-19 วิลลิสฯระบุว่า สภาพดังกล่าวจะทำให้ผู้ซื้อกิจการมีโอกาสขยายไลน์สินค้า การบริการ หรือห่วงโซ่อุปทานในราคาถูกลง อาจเห็นคลื่นการซื้อธุรกิจเอไอในปี 2023 เนื่องจากทุกอุตสาหกรรมมีความจำเป็นที่ต้องเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล รวมทั้งสร้างความยืดหยุ่นให้กับระบบห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับ
ผลกระทบจากโควิด-19 วิลลิสฯระบุว่า สภาพดังกล่าวจะทำให้ผู้ซื้อกิจการมีโอกาสขยายไลน์สินค้า การบริการ หรือห่วงโซ่อุปทานในราคาถูกลง อาจเห็นคลื่นการซื้อธุรกิจเอไอในปี 2023 เนื่องจากทุกอุตสาหกรรมมีความจำเป็นที่ต้องเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล รวมทั้งสร้างความยืดหยุ่นให้กับระบบห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับ
ผลกระทบจากโควิด-19 วิลลิสฯระบุว่า สภาพดังกล่าวจะทำให้ผู้ซื้อกิจการมีโอกาสขยายไลน์สินค้า การบริการ หรือห่วงโซ่อุปทานในราคาถูกลง อาจเห็นคลื่นการซื้อธุรกิจเอไอในปี 2023 เนื่องจากทุกอุตสาหกรรมมีความจำเป็นที่ต้องเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล รวมทั้งสร้างความยืดหยุ่นให้กับระบบห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับ
ผลกระทบจากโควิด-19 แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์ https://www.prachachat.net/world-news/news-1157152

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

"เรียนไม่จบ แต่รวยกว่าคน ป.ตรี" เจาะเทรนด์ "วัยรุ่นสร้างตัว" ไม่สนวุฒิ-เน้นรายได้-อวดว่อนโซเชียลฯ

30/04/2024

สะท้อนใจเทรนด์ฮิต!! “วัยรุ่นสร้างตัว” ต้องรีบมีชีวิตดี เติบโตตามสังคมที่กดดัน ผู้เชี่ยวชาญเด็กและวัยรุ่นเผยตั้งรับการสื่อสารในโลกโซเชียลฯ ก่อนจะสายเกินแก้!! ยุคสร้างภาพ-ปลดปล่อยตัวตนบนโซเชียลฯ!!? “มันเกิดขึ้นจากกระแสของโซเชียลมีเดีย เวลามีโซเชียลมีเดียที่เอามาเปรียบเทียบกัน ลองสังเกตประชากรคนไทยใช้โซเชียลมีเดียสูงมาก หมอเข้าใจว่าน่าจะเป็น Top ของโลกเลย แค่เราไปเที่ยวตรงไหน ที่ไหน อย่างไรมา เราก็เอามาลงหมดเลย ส่วนคนที่ขยันทำงานกันอยู่ เมื่อนั่งดูก็มีความรู้สึกจิตตกเหมือนกัน ตัวเองไม่ได้เที่ยว ซึ่งก็มีวุฒิภาวะที่เบรกตัวเองได้ แล้วมาเจอเด็กกันเองที่ใช้โซเชียลมีเดียในการที่จะเอามาโอ้อวดกัน เอามาโชว์กัน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ก็เป็นหมดเลย ทั้ง facebook, twitter, instagram มันไปในกระแสแบบนั้นหมดเลย” [รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี] รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ด้านเด็กและวัยรุ่น ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เจ้าของแฟนเพจ “บันทึกหมอเดว” ให้ความเห็นแก่ทีมข่าว MGR Live หลังจากมีกระแสเทรนด์วัยรุ่นสร้างตัว ต้องประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย จนในขณะนี้มีการพูดถึงในโลกโซเชียลฯ เป็นจำนวนมาก ล่าสุดกลายเป็นดรามาชวนชาวโซเชียลสงสัยต่อเหตุการณ์วัยรุ่นคนหนึ่งถ่ายรถป้ายแดง ประกาศเรียนไม่จบ แต่ได้รับเงินเดือน 5 หมื่น พร้อมทั้งเทียบกับคนจบปริญญาตรี เงินเดือนแค่ 15,000 บาท อย่างไรก็ดี เมื่อถูกแชร์ออกไป นำมาซึ่งความคิดเห็นไปทางเดียวกัน คือความผิดปกติของโพสต์ดังกล่าว บวกกับความหมั่นไส้นิดๆ ที่ดูอวดชีวิตดีจนเกินไป ทำให้ทัวร์มาลงวัยรุ่นรายนี้ ต้องรีบลบโพสต์ดังกล่าวออกไป “คนจบปริญญาบางคน ทำงานได้เงินเดือน 15,000 บางคนเรียนจบไม่สูงอ่านออกเขียนไม่ได้ แต่เงินเดือน 50,000 มันคือเรื่องจริง” ผ่านสายตาของคุณหมอเดวมองว่าในยุคที่เราเห็นความสำเร็จของคนอื่นได้ง่าย การเปรียบเทียบกับชีวิตของตัวเองก็เลยเกิดขึ้นได้ง่าย “จริงๆ ณ ขณะนี้มันเป็นกระแส คือหมอมองว่าเราอยู่ในยุคของ fast life กระแสของดิจิทัล เด็กทุกคนที่เกิดมาอยู่ในระบบดิจิทัลหมด การใช้ระบบดิจิทัลมันเป็น fast life หมด แล้วกระแสของโซเชียลมีเดียมันก็กดดันกันเอง เพราะแนวคิดที่เป็นทุนนิยมที่จะต้องการรวยเร็ว รวยทางลัด ทำอาชีพอะไรก็ได้ที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว มันเป็นแนวคิดใหม่ของคนรุ่นใหม่หมดเลย การที่จะต้องมาคอยการรักและผูกพันในองค์กร พวกนี้ร่อยหรอหมด ก็บวกกับชีวิตที่เปลี่ยนไปด้วย เพราะวิถีชีวิตทั้งในบ้าน ทั้งในชุนชน และรั้วสถาบันการศึกษา ก็ถูกเร่งรัดเราจะสังเกตเห็นเลยว่าเขาใช้ระบบเร่งรัดเรียน ฉะนั้นในรั้วเองก็ไม่ได้ทำให้ slow life ขึ้น แต่เป็น fast life หนักขึ้นไปอีก และมีการเปรียบเทียบไปอีก คนที่แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น และเกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เหลื่อมล้ำทั้งในรูปแบบของการศึกษา ซึ่งเป็นผลกระทบหมดเลยที่ทำให้เกิดทัศนคติใหม่ เขาเรียกว่า mindset ของเด็กรุ่นใหม่ครับ” ตั้งรับความอ่อนแอ “เครียด-คิดสั้น” นี่ไม่ใช่ครั้งแรกกับการที่เห็นการสร้างคำถามถึงการประสบความสำเร็จ อยากได้ อยากมีบนโลกออนไลน์ หากแต่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลับกลายเป็นการสร้างความกดดันให้ชีวิตของตัวเอง รุนแรงไปถึงเกิดภาวะตึงเครียด คิดสั้น “เวลาเราดำเนินชีวิตอย่างรวดเร็ว และต้องการกดดันขึ้นมา มันจะนำมาสู่ความตึงเครียด ความคาดหวัง แล้วจะนำมาสู่ภาวะทางจิตที่อ่อนแอ บางคนอาจจะอ่อนแอต้องไปพึ่งยาเสพติด บางคนอาจจะอ่อนแอถึงขั้นโรคจิต อย่างเช่น ภาวะความตึงเครียดจะนำมาสู่ซึมเศร้า วัยรุ่นฆ่าตัวตายสำเร็จ 2 รายต่อวัน ยังไม่นับที่พยายามฆ่าตัวตาย 20 เท่า ซึ่งจะเห็นเลยว่าจำนวนอย่างนี้ เป็นจำนวนที่เยอะมาก และมันกำลังมากขึ้น เพราะโดนแรงกดดัน โดนแรงเปรียบเทียบ ตั้งความคาดหวังตัวเองก็สูงมีกลไกที่ทำให้เขาต้อง slow life ความรู้สึกตั้งสติได้ มันอ่อนไปด้วย ซึ่งเป็นงานวิจัยทุนชีวิตของหมอเอง ที่จะเห็นว่าครอบครัวก็อ่อนแอลง หลังคาบ้านมีแค่อาศัยอยู่แค่นั้น หรือแม้กระทั่งรั้วโรงเรียนก็อ่อนแอลง ชุมชนก็อ่อนแอลง กลไกตัวนี้อ่อนแอ บวกกับปฏิกิริยาถูกเร่งอย่างแรง มันก็เลยเกิดผลลัพธ์แบบนี้” ทว่า ในขณะที่สังคมบีบบังคับให้เติบโต ความเครียดจากการเป็นผู้ใหญ่ก็เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ มีเรื่องการเงิน การงาน รวมทั้งความสัมพันธ์ต่างๆ มาเกี่ยวข้องอย่างเลี่ยงไม่ได้ คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่นได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ควรให้ความสำคัญถึงการปลูกฝังพลังบวกให้แก่บุตรหลาน เพื่อที่พวกเขาเหล่านั้นจะได้เติบโตขึ้นมามีพลังบวกเป็นเกราะป้องกันจิตใจ รวมถึงการตั้งรับการสื่อสารในโลกโซเชียลฯ ที่กลายเป็นหนึ่งในชีวิตไปแล้ว “ถอยกันมาตั้งหลัก สื่อสารดีๆ สื่อสารด้วยพลังบวก ใช้สติ ไม่ใช้อารมณ์ อีกเรื่องที่หมอรู้สึกว่าสำคัญมาก คือ ภารกิจเปลี่ยนแปลงอินเนอร์จากข้างใน โดยเลือกมา 1 พฤติกรรม และเกิดการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ในบ้าน ชุมชน โรงเรียน ซึ่งเป็นกลไกหลักของเด็กๆ ที่ใช้ชีวิตกันอยู่ ก็ทำให้ช่วยเยียวยาสถานการณ์ที่เป็นวิกฤตนี้ลงไปได้ เพราะสังคมกลายเป็นสังคมดิจิทัล เราก็ไม่ได้ปฏิเสธดิจิทัล แม้แต่เรื่องคุณธรรมเราก็ทำในรูปแบบของที่สามารถวัดได้แล้ว คุณธรรมสัมผัสได้ แล้วคุณธรรมกินได้ ทั้งหมดนี้เรากลายมาให้เป็นประเด็นที่สามารถจับต้องได้ มันเป็นพฤติกรรมที่ดีครับ เพราะฉะนั้นถ้าพฤติกรรมที่ดี มันจะทำให้สิ่งที่น้องตั้งคำถามมา มันจะช่วยเยียวยาสภาวะทางจิตใจของประชาชนได้ เราเชื่อว่านี่เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ลดทอนความวิกฤตที่มันเป็นอยู่ครับ” สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับผู้จัดการออนไลน์ https://mgronline.com/live/detail/9650000120714

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ภาษี

เตือนถูกหวยรางวัลที่ 1 แพลตฟอร์มเอกชน ไม่ได้ขึ้นเงินเอง อาจถูกประเมินภาษีสูงสุด 35%

30/04/2024

บนโซเชียลฯ แชร์ ผู้ที่ถูกรางวัลจากแพลตฟอร์มออนไลน์เอกชน รางวัลใหญ่ไม่ได้ขึ้นเงินกับสำนักงานสลากฯ เอง อาจไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ และถูกประเมินภาษีเงินได้สูงถึง 35% พบประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา วันนี้ (20 ธ.ค.) บนโซเชียลฯ มีการแชร์ข้อความจากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ระบุว่า "แจ้งข่าวร้ายให้ผู้ที่ถูกรางวัลจากแพลตฟอร์มออนไลน์เอกชนทราบครับ ผู้ที่ถูกรางวัลใหญ่ แต่ไม่ได้ขึ้นเงินกับสำนักงานสลากฯ เอง แต่ให้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ตัวท่านเองซื้อขึ้นเงินรางวัลให้ โดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ จากท่าน โดยอ้างว่าจ่ายภาษีให้แทนนั้น ท่านจะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นะครับ ถ้าท่านถูกรางวัลตั้งแต่ 6 ล้านบาทขึ้นไป ท่านจะต้องถูกสรรพากรประเมินภาษีเงินได้สูงถึง 35% ยกตัวอย่างเช่น ถูกรางวัลที่ 1 รับ 6 ล้าน ต้องเสียภาษี 2.1 ล้านบาท เพราะกฎหมายยกเว้นให้เฉพาะคนที่ขึ้นเงินกับสำนักงานสลากเท่านั้น คำยืนยันจากประธานบอร์ดสำนักงานสลากฯ (อธิบดีกรมสรรพากร) และ ผอ.สำนักงานสลากฯ ป.ล.ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบด้วยครับ" อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวตรวจสอบเรื่องราวดังกล่าว พบว่าเมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวจากกรมสรรพากร ระบุว่า อยู่ระหว่างพิจารณากรณีที่แพลตฟอร์มขายสลากออนไลน์ของเอกชนหลายราย ใช้วิธีการทางการตลาด โดยนำเงินสดไปมอบให้ลูกค้าในกรณีที่ถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลจำนวนมาก เช่น รางวัลที่ 1 หลายใบ เงินรางวัลหลาย 10 ล้านบาท เพื่อจูงใจให้ลูกค้ามาซื้อสลาก โดยอ้างว่าไม่หักค่าใช้จ่าย ที่ผ่านมามีการตั้งข้อสังเกตว่า การนำเงินสดไปมอบให้ลูกค้าโดยตรงอาจเข้าข่ายเป็นเงินได้ ต้องนำมาคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีหรือไม่ ต่างจากการนำสลากมาขึ้นเงินรางวัลเอง ที่จะเสียเฉพาะค่าอากรแสตมป์ 0.5% ของเงินรางวัล เช่น รางวัลที่ 1 ที่ 6 ล้านบาท เสียอากรแสตมป์ 30,000 บาท แต่ประมวลรัษฎากร จะมีการยกเว้นไม่ต้องมาเสียภาษีเงินได้อีก หากพิจารณาแล้วว่า การรับเงินรางวัลในลักษณะดังกล่าว ต้องเสียภาษีเงินได้ ก็อาจจะมีผลย้อนหลังกับผู้ที่ได้รับเงินรางวัลจากแพลตฟอร์มเอกชนไปก่อนหน้านี้ รวมถึงผู้ที่ได้รับเงินรางวัลในปีนี้ทั้งหมดที่ต้องยื่นแบบคำนวณรายได้ เพื่อใช้เสียภาษี แต่กรมฯ ต้องไปดูให้ชัดเจนก่อนว่าวิธีการจ่ายเงินรางวัลของแพลตฟอร์มเอกชนให้กับลูกค้า ว่ามีรายละเอียดเป็นอย่างไร ขณะที่ นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะประธานกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา กล่าวถึงกรณีผู้ถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ซื้อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ อาจต้องเสียภาษีเงินได้ ว่า หลักการถ้ามีเงินได้ถึงเกณฑ์ก็ต้องมีการเสียภาษีอย่างถูกต้อง ถ้ามีคนเอาเงินมาให้ ถือเป็นได้หรือไม่ ต้องไปดู ต่างจากการซื้อสลากดิจิทัลผ่านแอปเป๋าตัง ที่คนถูกรางวัลมาขึ้นเงินรางวัล เป็นชื่อคนรับรางวัล จ่ายภาษีตรงตัวจากอากรแสตมป์ 0.5% ทั้งนี้ กฎหมายระบุชัดว่า การถูกรางวัล คนที่ถือสลากต้องถือมารับรางวัลเอง ดังนั้นเวลามาขึ้นเงิน คนที่ไม่โดนภาษีคือคนที่มาขึ้นเงิน ส่วนกรณีที่มาขึ้นเงินรางวัลกับกรุงไทย ธ.ก.ส. ออมสิน ที่มีการระบุว่าต้องเสียภาษีด้วยหรือไม่ ถือเป็นจ่ายตรง คนรับเงินรางวัลที่ถือสลากมา มีการจ่ายอากรแสตมป์ มีใบกำกับภาษีครบหมด ถึงกระนั้น พบว่ามีแพลตฟอร์มเอกชนรายหนึ่ง แถลงข่าวตอบโต้เรื่องดังกล่าว อ้างว่าหากลูกค้าถูกรางวัลกับแพลตฟอร์มของตนเอง ทางบริษัทจะโอนเงินให้เต็มจำนวนโดยไม่หักค่าใช้จ่าย ส่วนสลากกินแบ่งรัฐบาลใบจริง จะรับมอบอำนาจจากลูกค้าให้ไปขึ้นเงินรางวัลโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกจ่ายภาษีให้กับลูกค้า และกรณีที่ถูกรางวัลที่ 1 จะไปลงบันทึกประจำวัน ถ้ายังต้องเสียภาษี ยินดีจะจ่ายให้ ไม่อยากให้ลูกค้ากังวลกับข่าวที่เกิดขึ้น รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับกรณีที่ถูกรางวัลที่ 1 ได้รับเงินรางวัล 6 ล้านบาท แล้วนำสลากตัวจริงไปขึ้นเงินรางวัลที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี ถ้าเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาล จะเสียค่าอากรแสตมป์ 30,000 บาท หรือคิดเป็น 0.5% ของเงินรางวัลที่ได้รับ และจะได้รับเงินสั่งจ่ายเป็นเช็ค 5,970,000 บาท ส่วนสลากการกุศล จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 60,000 บาท หรือคิดเป็น 1% ของเงินรางวัลที่ได้รับ แต่ไม่เสียค่าอากรแสตมป์ และจะได้รับเงินสั่งจ่ายเป็นเช็ค 5,940,000 บาท โดยจะมีหลักฐานเป็นใบรับเงินรางวัลและคิดเงินอากร/ภาษีไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งผู้ถูกรางวัลจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ต้องนำเงินรางวัลไปยื่นภาษีประจำปีอีก แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับผู้จัดการออนไลน์ https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000120371

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ประกันสังคม

ประกันบำนาญ กับคำถามที่ต้องตอบ

30/04/2024

“ประกันบำนาญ” หนึ่งในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การมีรายได้หลังเกษียณโดยเฉพาะ แต่กลับยังได้รับความนิยมน้อยเมื่อเทียบกับประกันตัวอื่นๆ ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พบว่า จำนวนกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีผลบังคับใช้ ณ สิ้นปี 2564 ของประกันบำนาญคิดเป็น ร้อยละ 0.85 ของจำนวนกรมธรรม์เท่านั้น ซึ่งหากเทียบกับประกันสะสมทรัพย์ที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 43.6 ของจำนวนกรมธรรม์ นั้น ถือว่ามีความแตกต่างกันอย่างน่าตกใจทำไม “ประกันบำนาญ” ถึงมีความสำคัญไม่แพ้ “ประกันสะสมทรัพย์” ?ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ทั้ง “ประกันสะสมทรัพย์” และ “ประกันบำนาญ” ต่างเป็นแบบประกันเพื่อออมเงินและได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนดทั้งคู่ แต่แตกต่างกันที่ระยะเวลาและรูปแบบการจ่ายผลประโยชน์ โดยส่วนใหญ่ประกันสะสมทรัพย์จะมีความคุ้มครองระยะสั้นถึงกลางและจ่ายผลประโยชน์เป็นผลตอบแทนเงินคืนหรือเป็นเงินก้อนเมื่อครบกำหนดตามระยะเวลา จึงตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินที่ไม่ได้ยาวมาก เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือเพื่อการศึกษาบุตร เป็นต้น  ขณะที่ประกันบำนาญ จะทยอยจ่ายผลประโยชน์เป็นรายเดือนหรือปีในช่วงหลังเกษียณอายุ 55 ปี เป็นต้นไป ถึงอายุ 99 ปี ซึ่งเหมาะกับเป้าหมายทางการเงินระยะยาว อย่างการเกษียณอายุมากกว่า และยิ่งนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า ส่งผลให้ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2565) อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 78 ปีแล้ว และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นไปได้ถึง 100 ปีในอนาคต ทำให้เราต้องหันมาใส่ใจเรื่องการวางแผนหลังเกษียณที่มีกระแสนเงินสดที่มั่นคงมากขึ้นด้วยประกันบำนาญกองทุน RMF VS ประกันบำนาญ...อะไรดีกว่ากัน?สำหรับผู้ที่กำลังวางแผนลดหย่อนภาษีและวางแผนเกษียณไปพร้อมกัน พบว่าคนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับการลงทุนผ่านกองทุน RMF มากกว่า ซึ่งจากข้อมูลของ Google Trends ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการค้นหาคำว่า “RMF” ผ่านเว็บไซต์ Google มากกว่าคำว่า “ประกันบำนาญ” กว่าเท่าตัวในช่วงสิ้นปีภาษี บ่งชี้ว่าคนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับการสร้างผลตอบแทนมากกว่า แต่การสร้างผลตอบแทนในปัจจุบันก็มีความไม่แน่นอน จากสภาวะตลาดที่มีความผันผวนมากขึ้น ทั้งประเด็นเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวจนเข้าสู่สภาวะถดถอย ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่รุนแรงขึ้น ทำให้เป้าหมายเกษียณที่วางไว้ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ดังนั้น การมีประกันประกันบำนาญจึงเป็นตัวช่วยที่ดีและสร้างความมั่นคงในการรองรับค่าใช้จ่ายหลังเกษียณได้มั่นคงมากขึ้น แม้ว่าประกันบำนาญจะยังไม่ได้รับความนิยมเท่ากับผลิตภัณฑ์ทางการเงินตัวอื่น แต่ก็ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการวางแผนเกษียณ เพราะนอกจากจะช่วยการันตีรายได้แล้ว ยังรองรับค่าใช้จ่ายตามไลฟ์สไตล์ที่เราต้องการอีกด้วย ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุขแหล่งที่มาข่าวต้นฉบับwealthythaihttps://www.wealthythai.com/en/updates/insurance/12147

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

ความผิดพลาด 3 ข้อที่เรามักจะพลาดกันมากที่สุด

30/04/2024

ครั้งหนึ่ง นักลงทุนระดับตำนานอย่างโจเอล กรีนแบล็ตต์ (Joel Greenblatt) เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าข้อผิดพลาด 3 ข้อที่นักลงทุนมักจะผิดพลาดกันมากที่สุด ประกอบไปด้วย 1. ใช้อารมณ์มากเกินไป สิ่งที่คนส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญมากที่สุด คือราคาหุ้น และราคาหุ้น คือ สิ่งที่หลอกเราได้มากที่สุด  เมื่อเราเอาราคาหุ้นเป็นที่ตั้ง หมายความว่าเราได้ปล่อยให้อารมณ์เข้าครอบงำ ตัดสินใจซื้อขายหุ้นตามอารมณ์ตลาด ณ เวลานั้น 2. ลงทุนแบบไม่รู้เรื่อง ประวัติศาสตร์ได้บอกเราไว้เสมอว่า  ลงทุนแบบไม่รู้เรื่อง ไม่สามารถทำให้เรามั่งคั่งได้ในระยะยาว เราอาจจะได้เงินในเวลาสั้นๆ แต่สุดท้ายเราก็ต้องเสียให้มันไปอยู่ดี  ถ้าเราไม่เรียนรู้ที่จะประเมินมุลค่าบริษัท นั่นหมายความว่าเรากำลังลงทุนแบบไม่รู้เรื่องอะไร  การประเมินมูลค่าบริษัทเป็นเรื่องยาก เพราะไม่มีสูตรสำเร็จหรือทฤษฏีที่ใช้ได้ 100%  นี้จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมมีนักลงทุนไม่ถึง 2% สามารถสร้างความมั่งคั่งจากการลงทุนได้ ... สิ่งแรกที่โจเอลแนะนำ คือ ไปเรียนรู้เรื่องของการประเมินมูลค่าหุ้น ก่อนจะลงทุนหุ้นแบบจริงๆจังๆ 3. ให้ความสำคัญกับผลประกอบการล่าสุดมากเกินไป เรามักจะให้ความสำคัญกับผลประกอบการล่าสุดมากเกินไป  แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ "ที่มาของกำไร" มาจากอะไร หุ้นที่ผลประกอบการแย่ ไม่ได้หมายความมันจะแย่เสมอไป บางทีมันอาจจะมีอะไรดีๆซ่อนอยู่ก็ได้ เช่น รายได้ลดลงแต่กำไรสุทธิมากขึ้นจากการที่ Net Margin ดูดีขึ้น หรือธุรกิจใหม่ของบริษัทเริ่มมีกำไรดูดีขึ้น .. สิ่งที่ควรทำ คือ การประเมินอนาคต ไม่ใช่การมองอดีต แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับ stock2morrow https://stock2morrow.com/article/5082

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

9 เคล็ดลับ "ออมเงิน" แบบง่ายๆ แถมไม่ต้องเสีย "ภาษี"

30/04/2024

ทำความรู้จัก "เงินออม" แต่ละประเภท พร้อมหลักการออมเงินไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ที่นอกจากจะต้องดูกันที่ "ดอกเบี้ย" หรือผลตอบแทนที่แตกต่างกันแล้ว ยังต้องเข้าใจเรื่อง "ภาษี" อีกด้วย เพราะการออมเงินแต่ละประเภทนั้น เสียภาษีไม่เหมือนกัน ในยุคที่ข้าวของเครื่องใช้ทุกอย่างราคาสูงขึ้นแบบไม่มีลดละ ทำให้คนจำนวนมากเริ่มหันมาประหยัดอดออมเงิน และ "การออมเงิน" นั้นก็มีหลากหลายวิธี แต่อาจมาพร้อมกับความเสี่ยงที่จะต้อง "เสียภาษี" ด้วย 9 เคล็ดลับ ออมเงินแบบง่ายๆ ที่ไม่ต้องเสียภาษี คุณสามารถ ออมเงินแบบง่ายๆ ที่ ไม่ต้องเสียภาษี เพียงศึกษาเงื่อนไขที่แตกต่างกันของการออมแต่ละประเภท ดังนี้ 1. เงินฝากออมทรัพย์ เนื่องจากเงื่อนไขสำหรับการฝากเงินแบบออมทรัพย์ ทุกบัญชีและทุกธนาคาร หาก "ดอกเบี้ยรับ" รวมเกิน 20,000 บาทต่อปี จะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% เฉพาะดอกเบี้ยตั้งแต่บาทแรก ไม่เกี่ยวกับเงินต้น แต่หากดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาท จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี โดยในกรณีที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 20,000 บาท หากลงทะเบียนยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรเท่านั้น ก็จะได้สิทธิ์ยกเว้นภาษีเหมือนเดิม 2. เงินฝากประจำ เงินฝากประจำ เป็นบัญชีที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่ต้องการออมเงินเป็นอย่างมาก เพราะมีข้อกำหนดต้องฝากทุกเดือนติดต่อกัน 24 เดือน โดยไม่สามารถถอนออกมาได้จนกว่าจะครบกำหนด หรือรวมทั้งหมดไม่เกิน 600,000 บาท จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี โดยบางแห่งมีการกำหนดขึ้นต่ำในการเริ่มต้นฝากประจำ รวมไปถึงกำหนดให้เปิดได้เพียงคนละหนึ่งบัญชีเท่านั้น และในกรณีที่ฝากเงินประจำแล้วมีการขาดส่งเกิน 2 ครั้ง ก็จะไม่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีทันที 3. เงินฝากประจำสำหรับผู้มีอายุ 55 ปีขึ้นไป เงินฝากประจำสำหรับผู้มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ที่มีระยะเวลาฝากขั้นต่ำ 1 ปี และเมื่อรวมกับดอกเบี้ยฝากประจำทุกประเภทแล้วไม่เกิน 30,000 บาท จะได้รับยกเว้นภาษี 4. เงินฝากเผื่อเรียกหรือออมทรัพย์ของธนาคารของรัฐ สำหรับ เงินฝากเผื่อเรียก ของธนาคารรัฐจะได้รับยกเว้นภาษี ซึ่งประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ แต่อัตราดอกเบี้ยอาจจะไม่ได้สูงกว่าการฝากออมทรัพย์ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ แต่ได้รับยกเว้นภาษีอย่างแน่นอน 5. สลากออมสินของรัฐบาล สลากออมสิน ของรัฐบาลเป็นแนวทางการออมเงินที่ไม่ต้องเสียภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา และยังสามารถลุ้นรางวัลได้ยาวนานตลอดระยะเวลาของการฝาก ที่สำคัญเงินรางวัลที่ได้รับก็ไม่เสียภาษีเช่นกัน ซึ่งสลากออมทรัพย์จะมีรูปแบบคล้ายกับบัญชีเงินฝากประจำ มีการนำเงินเหล่านี้ไปซื้อสลากออมทรัพย์เป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยราคาของสลากจะมีราคาหน่วยที่ต่างกันออกไป ตามแต่ละธนาคารกำหนด ซึ่งจะไม่สามารถถอนออกมาก่อนได้ และดอกเบี้ยที่ได้รับจากสลากออมทรัพย์จะได้รับการยกเว้นภาษี รวมถึงเงินรางวัล 6. เงินฝากออมทรัพย์จากสหกรณ์ สำหรับข้าราชการหรือพนักงานของหน่วยงานรัฐต่างๆ เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือโรงพยาบาล จะได้รับสิทธิ์ฝากเงินกับสหกรณ์ออมทรัพย์ของหน่วยงานนั้นๆ ได้ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ของสำหรับข้าราชการ ซึ่งดอกเบี้ยจะสูงกว่าการฝากออมทรัพย์ทั่วไป และมีเงินปันผลให้แก่สมาชิกที่ถือหุ้นสหกรณ์ โดยได้รับการยกเว้นภาษี 7. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานประจำที่ทำ "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" กับบริษัท ถือเป็นการออมเงินระยะยาว และยังได้เงินส่วนสมทบจากนายจ้าง และกำไรจากการดำเนินงานของกองทุนอีกด้วย ซึ่งจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีทั้งจำนวน อีกทั้งผู้ที่จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังสามารถนำเงินนั้นไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่กฎหมายกำหนดในอัตราไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท 8. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ออมเงิน ด้วยการลงทุนใน กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ถือเป็นการออมเงินระยะยาว เพื่อใช้ในการวางแผนการเงินหลังเกษียณ ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษี ผู้ลงทุนจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อมีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป ส่วนต่างของมูลค่าหน่วยลงทุน เงินปันผลในบางกองทุน สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ โดยค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF จะหักได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท 9. ซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เป็นการออมเงินในหุ้น กำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ สำหรับบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้โอนขายหุ้น จะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งจำนวน สรุป รูปแบบการออมเงินต่างๆ นี้ สามารถเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่อยากออมเงิน ได้ใช้พิจารณาให้เหมาะกับตนเองและความต้องการของแต่ละบุคคล รวมถึงหากการออมเงินได้รับยกเว้นภาษีด้วย ก็จะช่วยให้คุณออมเงินได้เพิ่มขึ้นนั่นเอง - ---------------------------------- Source : Inflow Accounting แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับกรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1040107

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

เมื่อเงินสมมติสร้างหายนะ

30/04/2024

ธุรกิจคริปโตเงินสมมติเงินอุปโลกน์ขึ้นมาโดยหวังว่าจะเป็นเงินดิจิทัลได้สร้างธุรกิจแนวใหม่ให้นักลงทุนในความเสี่ยงรุ่นใหม่ได้รับการส่งเสริมสารพัดคนแห่ลงทุนทำให้บิทคอยน์มีค่าสูงเกือบ 7หมื่นดอลลาร์เมื่อพุ่งขึ้นสูงสุด ปัจจุบันมูลค่าที่พยายามประคองอยู่เหนือ 1.6หมื่นดอลลาร์ยังมีคนตั้งความหวังว่าธุรกิจนี้จะฟื้นตัวทั้งที่คนหลายล้านคนอยู่ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว เป็นความล่มสลายของระบบค้าเงินคริปโตและรายใหญ่ที่ล้มดังมี Terraและ Lunaซึ่งตัวผู้บริหารหลักนายDo Kwonเผ่นหนีไปซุกตัวอยู่ในประเทศเซอร์เบีย ช่วงรุ่งสุดขีดมีมูลค่าสูงถึง 4.2หมื่นล้านดอลลาร์นายDo Kwonอ้างกับผู้ลงทุนว่าจะไม่หนีแต่ก็ไปหลบที่เซอร์เบียซึ่งไม่มีสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับเกาหลีแต่ทางการเซอร์เบียก็บอกว่าพร้อมจะให้ความร่วมมือเต็มที่ การจะส่งตัวนายDo Kwonกลับไม่ใช่เรื่องง่ายถ้ามีเงินก็จ้างทนายเก่งสู้คดีสามารถยื้อได้หลายปีถ้าสำเร็จก็รอดคุกชีวิตจะมีความสุขหรือไม่เป็นอีกเรื่อง ไม่มีใครประเมินว่าธุรกิจเงินคริปโตนั้นได้สร้างความหายนะให้นักลงทุนไปเท่าไหร่ที่ผ่านมาก็ล้มเป็นโดมิโนไปอย่างน้อย 5รายใหญ่ล่าสุดก็เป็น BlockFi ล่าสุดรายใหญ่ที่โดนกฎหมายเล่นงานคือนายแซมแบงก์แมน-ฟรีด (Sam Bankman-Fried)อดีตซีอีโอและผู้ก่อตั้งกระดานเทรดคริปโต FTXที่โดนทางการบาฮามาสจับกุมถูกส่งตัวไปยังสหรัฐฯเพื่อถูกดำเนินคดีข้อหาฉ้อฉลทางการเงิน คดีอื่นๆคงตามมาเป็นหางว่าวเพราะโจทย์เป็นกรรมการควบคุมการซื้อขายหลักทรัพย์ Securities and Exchange Commissionต้องข้อหาว่านายSamใช้เวลากว่า 1ปีวางแผนแยบยลในการสมรู้ร่วมคิดต้มตุ๋นระดมเงินถึง 1.8พันล้านดอลลาร์ ประธานของ SECนายGary Genslerกล่าวหาเจ้าพ่อ FTXว่าได้สร้างอาณาจักรการลงทุนบนโครงสร้างที่เปราะบางการบริหารงานผิดพลาดไร้ความเป็นมืออาชีพสร้างความเสียหายให้นักลงทุนมากกว่า 1ล้านราย เฉพาะรายใหญ่ 50รายนั้นมีวงเงินลงทุนมากกว่า 1พันล้านดอลลาร์ นักลงทุนทั้งรายใหญ่สถาบันมีชื่อเสียงเช่น SoftBankของญี่ปุ่นและ Temasekของสิงคโปร์ก็เอาเงินไปจมหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นที่คาดการณ์ว่าโอกาสจะได้เงินคืนจาก FTXนั้นมีน้อยเหลือเกินก่อนหน้าที่นายSamได้ยื่นคำร้องขอล้มละลายวันที่ 11เดือนที่ผ่านมาเงินแทบไม่เหลือทั้งยังอ้างว่าบริษัทโดนเจาะและขโมยไปประมาณ 600ล้านดอลลาร์ เจ้าพ่อ FTXที่ล้มละลายถูกจับกุมวันจันทร์ที่ผ่านมาในบาฮามาสและอยู่ในกระบวนการถูกส่งตัวไปดำเนินคดีในสหรัฐฯโดยอัยการศาลแขวงเขตใต้ของนิวยอร์ก ช่วงที่ยังรุ่ง Samได้บริจาคเงินให้พรรคเดโมแครตองค์กรการกุศลและองค์กรของยิวถือว่าเป็นนักบริจาครายใหญ่ทางการเมืองเพื่อให้สมาชิกสภาสหรัฐฯได้ออกกฎเพื่อส่งเสริมและอวยธุรกิจค้าเงินคริปโตการสืบสวนจะสาวไปหาผู้รับบริจาคด้วย จะมีข้อหาฟอกเงินด้วยหรือไม่ต้องรอดูว่าทางการสหรัฐฯมีหลักฐานหรือไม่ไม่กี่วันที่ล่มจำนวนเงินลงทุนมากถึง 3.2หมื่นล้านดอลลาร์สร้างประวัติการณ์ว่า Samเป็นนักลงทุนรุ่นใหม่ทาบชั้นมหาเศรษฐีนักเล่นหุ้น Warren Buffetนั่นเลย Samใช้เวลาตั้ง FTXจากปี 2019จนดังระเบิดแต่ร่วงในวัยเพียง 30ปี ในด้านการเงินการธนาคาร Samได้รับการยกย่องว่าอยู่ในระดับ J.P. Morganนักการธนาคารเจ้าแห่งตำนานของ J.P. Morgan Bankและบริษัทในเครือ ให้สัมภาษณ์สื่อไม่เว้นแต่ละวันสร้างกระแสและความน่าเชื่อถือโดยสื่อหลักดึงดูดนักลงทุนสถาบันและรายย่อยมีหลายรายที่ทุ่มเงินออมทั้งชีวิตใน FTX จากการเปิดโปงโดยสื่อทำให้รู้ความจริงว่ากลุ่ม FTX มีพนักงาน 300 คนแต่ผู้บริหารหลักมี 6-7 คนอยู่ในวัยใกล้เคียงกับ Samไม่มีการบริหารอย่างเป็นระบบ ทำงานอยู่ในคอนโดฯกินนอนที่นั่นมีความสัมพันธ์ทางเพศในกลุ่มด้วยก่อนหน้านั้นไม่มีใครรู้ว่าการบริหารของบริษัท FTXจะเละไร้ระบบเช่นนั้น นักลงทุนที่เล็งผลเลิศแห่ตามกันด้วยเงินที่มีอยู่หวังว่า FTX จะสร้างผลตอบแทนและความมั่งคั่งโดยเร็วเมื่อเห็นผลตอบแทนก็ยิ่งเพิ่มเงินลงทุน ผลสุดท้ายมีรายใหญ่ถอน 6พันล้านดอลลาร์ภายใน 3วันทำให้ขาดสภาพคล่อง Samขอร้องให้นักค้าคริปโตรายใหญ่ Binance เข้ามารับซื้อกิจการแต่ถอนตัว นั่นทำให้ FTX ล่มรายใหญ่สูญเสียการลงทุนระดับหลายร้อยล้านดอลลาร์รายย่อยทั้งเงินกองทุนเกษียณกลุ่มเงินออมของผู้ชราไม่เหลือเงินคืนให้ผู้ลงทุน เป็นการช็อกโลกอีกครั้งหลังจากมี 4-5บริษัททยอยล่มก่อนหน้านี้ คนเหล่านั้นอยู่ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัวหมดโอกาสได้ฟื้นฟูและยังไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนเลี้ยงชีพในวัยชราที่ยังเหลือลมหายใจอยู่ ในบ้านเราการล่มของบริษัทค้าเงินคริปโตและการหลอกให้ลงทุนธุรกิจค้าเงินทั้งของจริงและการต้มตุ๋นทำให้คนที่หวังรายได้งามมากกว่าเงินฝากต้องเสียเงินมหาศาลบางรายเอาทรัพย์สินไปจำนองเอาเงินมาลงทุนสุดท้ายไม่เหลืออะไร กฎหมายในบ้านเราจะช่วยได้มากแค่ไหนเพราะการค้าเงินคริปโตที่เจ๊งไปไม่มีทางจะฟื้นตัวได้ตัวการยังไม่มีติดคุกหรือถูกดำเนินคดีถูกมองว่าเป็นพวกเส้นใหญ่ ตอนนี้นักลงทุนเฝ้ารอดูว่า Bitcoinและ Binance จะมีสภาพอย่างไรต่อไปความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะเป็นอย่างไรเมื่อหลายประเทศออกกฎห้ามและคุมเข้ม แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับผู้จัดการออนไลน์ https://mgronline.com/daily/detail/9650000118614

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

Gen Y จ่ายหนี้ไม่ไหว กลายเป็นเอ็นพีแอลมากขึ้น

30/04/2024

เครดิตบูโรเผย กลุ่มเจนวาย (อายุ 25-42 ปี) มีปัญหาการจ่ายหนี้ไม่ไหว กลายเป็นเอ็นพีแอลมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะสินเชื่อบุคคล นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) หรือเครดิตบูโร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ประเด็นตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนไทยปัจจุบันอยู่ที่ 14.7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 88% ของจีดีพี (16.7 ล้านล้านบาท) ปัจจุบันพบว่าหนี้ครัวเรือนทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบุคคล (พีโลน) สินเชื่อรถ สินเชื่อบ้าน รวมถึงบัตรเครดิต ผู้บริโภคกลุ่มเจนวาย (อายุ 25-42 ปี) คือกลุ่มที่เป็นฐานลูกค้าใหญ่ ขณะเดียวกัน ก็เป็นกลุ่มที่มีปัญหาในการชำระหนี้มากที่สุด และมีแนวโน้มหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งในแง่ของจำนวนบัญชีและวงเงินหนี้ และจากข้อมูลพบว่า ขณะนี้ปัญหาหนี้เสียของกลุ่มเจนวายเริ่มก่อตัวมากขึ้นในสินเชื่อบุคคล ซึ่งเป็นการก่อหนี้เพื่อการบริโภค และกำลังเห็นสัญญาณว่าปัญหาจะลามไปที่สินเชื่อรถ และสินเชื่อบ้านเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มวัยทำงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้รายได้ลดลง อย่างไรก็ตาม กลุ่มเจนวายคือกลุ่มมนุษย์แรงงานที่จะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ถ้ากลุ่มนี้กลายเป็นหนี้เสียก็จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น “กลุ่มลูกหนี้เจนวายเป็นกลุ่มที่มีการก่อหนี้ตลอดเวลา และมีการก่อหนี้สะสมมาโดยตลอด และภายหลังจากเกิดปัญหาโควิด-19 ทำให้เกิด income shock ทำให้ปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ต่าง ๆ ที่ก่อไว้ได้ ส่งผลให้ตัวเลขหนี้เสียของกลุ่มเจนวายเพิ่มขึ้นชัดเจน” นายสุรพลกล่าวอีกว่า ประเภทสินเชื่อที่น่าเป็นกังวลมากที่สุดก็คือ “สินเชื่อส่วนบุคคล” ยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท ณ ไตรมาส 3/65 ตัวเลขเอ็นพีแอลอยู่ที่ราว 10.3% และตัวเลขที่กำลังจะเสีย (SM) อีก 2.9% รวม 2 ตัวนี้จะเพิ่มเป็น 13.2% ซึ่งถือเป็นระดับที่สูง และผลิตภัณฑ์ที่กำลังจะสร้างปัญหาในอนาคตคือบริการ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” (Buy Now Pay Later) ซึ่งขณะนี้มีผู้ให้บริการออกมาโปรโมตการทำตลาด เพราะดอกเบี้ยจูงใจผู้ประกอบการ 25% ต่อปี สูงกว่าบัตรเครดิตที่อยู่ 16% ต่อปี ทำให้หลายบริษัทให้ความสนใจทำธุรกิจนี้ ซึ่งยิ่งเป็นการกระตุ้นการก่อหนี้เพื่อการบริโภค จับจ่ายซื้อสินค้าไม่จำเป็นมากยิ่งขึ้น “หากดูในต่างประเทศมีรายงานออกมาว่า ถ้าจะเปิดให้สินเชื่อในลักษณะนี้จะต้องควบคุมให้ดี เพราะขณะนี้บริการประเภท Buy Now Pay Later กำลังเป็นปัญหาหนี้เสียสูงมาก แต่ประเทศไทยกำลังโปรโมต ซึ่งปัญหาของโปรดักต์นี้คือดอกเบี้ย หากเพดานดอกเบี้ย 15% ต่อปี ก็ถือว่าช่วยกลุ่มคนไม่มีสภาพคล่อง แต่ตอนนี้ใช้อัตราดอกเบี้ยส่วนบุคคลสูงถึง 25% ต่อปี” กลุ่มเจนวาย (อายุ 25-42 ปี) มีปัญหาการจ่ายหนี้ไม่ไหวกลายเป็นเอ็นพีแอลมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้กลุ่มเจนวายกลายเป็นหนี้เสียสินเชื่อพีโลน 2.98 ล้านบัญชี (มูลหนี้ 1.18 แสนล้านบาท) จากสิ้นปี 2563 มีจำนวน 1.81 บัญชี (มูลหนี้ 7.99 แสนล้านบาท) แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์ https://www.prachachat.net/finance/news-1139269

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

เปิดสถิติ กว่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่า ตั้งแต่ต้นปีอ่อนค่าลงไปกี่ครั้ง ?

30/04/2024

ย้อนดูสถิติเงินบาทปี 2565 อ่อนค่าลงไปกี่ครั้ง ? ก่อนดีดกลับมาแข็งค่าสุดในรอบกว่า 5 เดือนครึ่งอีกครั้งที่ 34.76 บาทต่อดอลลาร์ วันที่ 5 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาหลังจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและดำเนินมาตรการ QT ลดสภาพคล่องเงินดอลลาร์ในตลาด และส่งผลให้เกิดความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยทำให้คนหันไปถือเงินดอลลาร์และซื้อพันธบัตรมากขึ้น เนื่องจากเชื่อว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ เป็นผลให้ค่าเงินทั่วโลกดิ่งอ่อนค่าลงในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น เงินเยนของญี่ปุ่น เงินยูโรของฝั่งยุโรป และอีกหลาย ๆ ประเทศรวมถึงเงินบาทของประเทศไทย ก็ได้รับผลกระทบและอ่อนค่าลงไปทำจุดต่ำสุดเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.76 บาทต่อดอลลาร์ หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 5 เดือนครึ่งที่ 34.71 บาทต่อดอลลาร์ ในระหว่างสัปดาห์ “ประชาชาติธุรกิจ” พาย้อนดูสถิติค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปี 2565 กว่าจะกลับมาแข็งค่า อ่อนค่าลงไปกี่ครั้ง ? มกราคม : บาทผันผวนหนัก เงินบาทสัปดาห์แรกของปี 2565 ผันผวนหนัก เริ่มต้นด้วยแข็งค่า ก่อนจะพลิกกลับมาอ่อนค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ในขณะนั้น โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงวันทำการแรก ๆ ของปีสอดคล้องกับสัญญาณเงินทุนไหลเข้า โดยเฉพาะแรงซื้อสุทธิในพันธบัตรระยะสั้นและหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดีเงินบาทก็พลิกกลับมาอ่อนค่า แต่โดยภาพรวมในเดือนมกราคมเงินบาทยังอยู่ในทิศทางแข็งค่า กุมภาพันธ์ : บาทแข็งค่าที่สุดในรอบ 7 เดือน เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือนในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ 32.20 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าขึ้นมาแล้วประมาณ 3.8% เมื่อเทียบกับระดับสิ้นปี 2564 และกลายเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในเอเชีย จากการที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดี บริษัทจดทะเบียนมีกำไรดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ เป็นปัจจัยดึงดูดเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตร และตลาดหุ้นต่อเนื่องจากปลายปีก่อน โดยมีแรงซื้อสุทธิหุ้นไทยสะสม 64,580 ล้านบาท พร้อม ๆ กับเพิ่มการถือครองพันธบัตรไทยอีก 127,778 ล้านบาท ทำให้ยอดถือครองพันธบัตรไทยโดยนักลงทุนต่างชาติขยับสูงขึ้นไปแตะ 1.15 ล้านล้านบาท มีนาคม : บาทผันผวนจากสงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” จากสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครนตั้งแต่หลังวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา การปะทุของสงครามรัสเซีย-ยูเครนนำพาโลกเข้าสู่ความยุ่งเหยิงและความไม่แน่นอน สร้างความเสี่ยงครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท และเงินบาทมีการผันผวนและอ่อนค่า โดยเงินบาทอ่อนค่าลงตามแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นอย่างแข็งแกร่งในฐานะสกุลเงินปลอดภัยและมีสภาพคล่องสูงท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ระหว่างยูเครน-รัสเซีย รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อาจได้รับผลกระทบมากขึ้นจากราคาน้ำมัน และเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น เมษายน : เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 4 เดือน ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจนอยู่ระดับที่อ่อนค่าที่สุดในรอบ 4 เดือน และกลายเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่าที่สุดในภูมิภาคที่ 33.95 บาทต่อดอลลาร์ จากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นรับเศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นตัวและการคาดการณ์ถึงโอกาสของการขึ้นดอกเบี้ยแบบรุนแรงของเฟดเพื่อสกัดเงินเฟ้อสหรัฐ นอกจากนี้เงินบาทยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากแรงขายของต่างชาติในตลาดพันธบัตรไทย พฤษภาคม : บาทอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี เงินบาทอ่อนค่าในรอบ 5 ปี ทะลุ 34 บาทต่อดอลลาร์ จากทิศทางนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นของเฟด ที่ในขณะนั้นนักลงทุนคาดกันว่าจะขึ้นดอกเบี้ยแบบรุนแรง ประกอบกับความกังวลเรื่องเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ทำให้เงินทุนไหลออกจากประเทศไทยกลับไปสู่สกุลดอลลาร์ที่ถูกมองเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น เป็นสาเหตุที่ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าหนัก ไม่ได้มีประเทศไทยเท่านั้น หลายประเทศในในฝั่งเอเชียก็ต่างพากันอ่อนค่ากันถ้วนหน้า แต่ในช่วงกลางเงินบาทก็สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ก่อนที่จะกลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้งในช่วงสิ้นเดือน มิถุนายน : บาทอ่อนต่อเนื่องตลอดทั้งเดือน เงินบาทยังคงอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าโดยในมิถุนายนอ่อนค่าลงไปต่ำสุดในรอบ 5 ปี 3  เดือน ที่ 35.05 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงตามทิศทางสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค ซึ่งปัจจัยหลักคืออ่อนลงตามดอลลาร์แข็งค่ารวมถึงตลาดและนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.75% นอกจากนี้เงินบาทยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของต่างชาติด้วยในเดือนนี้ กรกฎาคม : เงินบาทสวิงใกล้อ่อนค่าสุดรอบ 16 ปี ค่าเงินบาทอ่อนค่าไปที่ระดับ 36.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งยังเป็นการอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 7 ปีอยู่ เนื่องจากในปี 2015 (พ.ศ. 2558) ค่าเงินบาทอ่อนค่าสูงสุดที่ 36.665 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ถือว่าเข้าใกล้ระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบ 16 ปีแล้ว จากแรงกดดันจากดอลลาร์ที่แข็งค่ามาก หลังเงินเฟ้อสหรัฐออกมาเหนือกว่าที่ตลาดคาดไว้ ทำให้แทบทุกสินทรัพย์ถูกเทขาย เงินไหลกลับเข้าสกุลดอลลาร์ทำให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างมาก ทั้งนี้ท่ามกลางปัจจัยกดดันจากการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐ รวมถึงความกังวลแนวโน้มทางการจีนอาจใช้มาตรการล็อกดาวน์เข้มงวด เพื่อควบคุมการระบาดโควิด-19 ทำให้เงินบาทยังคงเสี่ยงอ่อนค่าต่อเนื่อง สิงหาคม : บาทแกว่งตัวผันผวน เงินบาทยังคงผันผวนแกว่งตัวอย่างหนักตลอดทั้งเดือน ทั้งนี้เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบประมาณ 3 สัปดาห์ที่ 36.33 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงแรกท่ามกลางทิศทางที่อ่อนค่าของสกุลเงินเอเชียและเงินหยวน หลังจากธนาคารกลางจีนเพิ่มการผ่อนคลายทางการเงินด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR ลงเพื่อบรรเทาแรงกดดันในตลาดอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจจีนในภาพรวม นอกจากนี้เงินดอลลาร์ ยีังขยับขึ้นตามทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐ ท่ามกลางการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งอาจจะมากกว่า 50 bps. ในการประชุมเดือน ก.ย. กันยายน : บาทอ่อนทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์ เงินบาทอ่อนทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงราว 0.41% ถือเป็นระดับการอ่อนค่าที่สุดในรอบ 16 ปี ปัจจัยส่วนใหญ่มาจากการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ นอกจากนี้เงินบาทลดช่วงบวกทั้งหมดลงและพลิกอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI และ Core CPI ของสหรัฐ ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งหนุนแนวโน้มการเร่งคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐ แม้เสียงส่วนใหญ่จะมองว่าเฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ย 75  bps. แต่ตลาดบางส่วนเริ่มมองความเป็นไปได้ที่เฟดอาจจะขึ้นมากกว่านั้นในการประชุม 20-21 ก.ย. ส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ตุลาคม : บาทร่วงอ่อนค่าทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันอ่อนค่าค่าลงตามทิศทางภาพรวมของสกุลเงินเอเชีย โดยเงินบาทร่วงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 16 ปีที่ 38.46 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีปัจจัยจากดอลลาร์ที่กลับมาแข็งค่าอีกรอบหลังจากตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐออกมาดี ขณะที่สมาชิกธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ก่อนการประกาศรายงานการประชุมเฟดกับรายงานเงินเฟ้อสหรัฐ ในวันที่ 13 ต.ค. 65 โดยดัชนีดอลลาร์ปรับตัวขึ้นมาสู่ระดับ 114 จุด ส่งผลให้ค่าเงินสกุลต่าง ๆ อ่อนค่าลงตามไปด้วย พฤศจิกายน : บาทแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 3 เดือน เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 3 เดือนอยู่ที่ 35.92 บาทต่อดอลลาร์ ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ ทั้งเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก และสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ทั้งนี้เงินดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าลง โดยเฉพาะหลังการรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในเดือน ต.ค. ของสหรัฐ ที่ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ และบอนด์ยีลด์สหรัฐ ยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากท่าทีของเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งสะท้อนว่า เฟดอาจปรับขนาดการขึ้นดอกเบี้ยให้มีความแข็งกร้าวน้อยลงในการประชุม FOMC รอบถัด ๆ ไป ธันวาคม : เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดรอบ 5 เดือนครึ่ง เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 5 เดือนครึ่ง อยู่ที่ 34.76 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินเอเชียอื่น ๆ โดยมีแรงหนุนจากถ้อยแถลงของประธานเฟด ซึ่งกระตุ้นการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการชะลอขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ในการประชุมรอบสุดท้ายของปี นอกจากนี้การแข็งค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับสถานะพอร์ตการลงทุนระหว่างวันที่ 28 พ.ย.-2 ธ.ค. 2565 ของนักลงทุนต่างชาติที่เข้าซื้อสุทธิพันธบัตรและหุ้นไทย 25,269 ล้านบาท และ 4,493 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ ห้องค้ากสิกรไทยประเมินทิศทางเงินบาท มีโอกาสแข็งค่าต่อ จากการที่ทิศทางตลาดการเงินโลกถึงจุดกลับตัว หลังเงินเฟ้อสหรัฐต่ำกว่าคาดการณ์ และเฟดแสดงท่าทีเตรียมชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในระยะถัดไปมีจำกัด อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังคงต้องตืดตามสถานการณ์ต่าง ๆ ในเดือน ธ.ค.ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขเศรศฐกิจไทย รวมถึงในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์ https://www.prachachat.net/prachachat-wealth/news-1139304

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

X