ประกันภัย

ประกันภัยตามการใช้งาน: ทางเลือกใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคดิจิทัล


ระกันภัยตามการใช้งาน คือ ประกันภัยที่คำนวณค่าเบี้ยประกันภัยตามพฤติกรรมและ/หรือการใช้งานจริงของผู้เอาประกันภัย โดยนำเทคโนโลยีในการติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้ร่วมกัน ซึ่งมีการใช้อย่างแพร่หลายในประกันรถยนต์ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาประมวลผลเพื่อคิดอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมตามการใช้งานจริง


ประกันภัยถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินของผู้เอาประกันภัย เมื่อเกิดความเสียหายจากภัยที่คุ้มครองไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ รวมถึงภัยธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบันที่ต้องการสินค้าหรือบริการที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะตน และจ่ายเท่าที่ใช้งานจริง ธุรกิจประกันภัยจึงพัฒนา “ประกันภัยตามการใช้งาน” หรือ Usage-based Insurance (UBI) ขึ้น โดยมีการนำมาใช้ในประกันภัยหลากหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นประกันรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันโดรน


ประกันภัยตามการใช้งานคืออะไร?


ประกันภัยตามการใช้งาน คือ ประกันภัยที่คำนวณค่าเบี้ยประกันภัยตามพฤติกรรมและ/หรือการใช้งานจริงของผู้เอาประกันภัย โดยนำเทคโนโลยีในการติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้ร่วมกัน ซึ่งมีการใช้อย่างแพร่หลายในประกันรถยนต์ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาประมวลผลเพื่อคิดอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมตามการใช้งานจริง แทนที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยในอัตราเดียวกันกับคนอื่นๆ ที่อาจจะขับรถน้อยกว่าหรือมากกว่าตน ประกันภัยตามการใช้งานยังส่งผลดีต่อตัวผู้ขับขี่ รวมถึงสังคมโดยรวมได้ด้วย เมื่อผู้เอาประกันภัยมีความต้องการที่จะจ่ายเบี้ยประกันภัยถูกลง ก็จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ให้ปลอดภัยและมีความระมัดระวังมากขึ้น รวมถึงอาจลดการใช้รถโดยไม่จำเป็นอีกด้วย


เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงขอเปรียบเทียบให้เห็นถึงความแตกต่างของประกันภัยทั่วไปกับประกันภัยตามการใช้งาน


1. การคำนวณค่าเบี้ยประกันภัย


ประกันภัยทั่วไป: บริษัทประกันภัยจะคำนวณค่าเบี้ยประกันภัยตามข้อมูลเบื้องต้นของผู้เอาประกันภัยเท่านั้น เช่น ประเภท ยี่ห้อ รุ่น และปีของยานพาหนะ และค่าเบี้ยประกันภัยจะถูกลงในกรณีที่ระบุคนขับ ที่จะมีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมคือ ชื่อ-นามสกุล อายุ เพศ และประวัติการขับขี่


ประกันภัยตามการใช้งาน: การคำนวณค่าเบี้ยประกันภัยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่


1) ประกันภัยตามระยะทางการใช้งาน หรือ Pay-As-You-Drive (PAYD) โดยค่าเบี้ยประกันภัยจะคำนวณตามระยะทางที่บริษัทประกันภัยกำหนด เช่น ปีละ 10,000 กิโลเมตร เป็นต้น


2) ประกันภัยตามพฤติกรรมการใช้งาน หรือ Pay-How-You-Drive (PHYD) บริษัทประกันภัยจะมีการเก็บข้อมูลการขับขี่ ได้แก่ ระยะทางการขับขี่ การเหยียบคันเร่ง การเหยียบเบรค และการหักเลี้ยวพวงมาลัย โดยจะมีการแสดงคะแนนพร้อมคำแนะนำ เพื่อให้ผู้ขับขี่ปรับปรุงพฤติกรรมการขับขี่ และจะได้รับส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัย


2. การติดตามและวิเคราะห์ข้อมูล


ประกันภัยทั่วไป: ไม่มีการติดตามข้อมูลการใช้งานจริงของผู้เอาประกันภัย ข้อมูลที่บริษัทประกันภัยใช้ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลเบื้องต้นและสถิติของผู้เอาประกันภัยในกลุ่มที่คล้ายคลึงกัน


ประกันภัยตามการใช้งาน: มีการติดตั้งอุปกรณ์ GPS หรือแอปพลิเคชันที่เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน เพื่อเก็บข้อมูลการขับขี่แบบเรียลไทม์ ซึ่งข้อมูลนี้จะถูกส่งกลับไปยังบริษัทประกันภัยเพื่อนำไปประเมินผลและคำนวณค่าเบี้ย


3. ความยืดหยุ่นในการใช้งาน


ประกันภัยทั่วไป: ผู้เอาประกันภัยต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยในอัตราที่กำหนดไว้ล่วงหน้า โดยไม่คำนึงถึงปริมาณการใช้งานหรือพฤติกรรมการขับขี่


ประกันภัยตามการใช้งาน: ผู้เอาประกันภัยสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานของตนเองเพื่อรับประโยชน์จากเบี้ยประกันภัยที่ลดลง เช่น การลดการขับขี่ในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงสูง หรือการขับขี่ด้วยความระมัดระวังมากขึ้น


Usage Based Insurance ทั่วโลกพัฒนาไปถึงไหน


ในต่างประเทศ UBI ได้รับความนิยมอย่างมากเช่น ในสหรัฐอเมริกา บริษัทประกันภัยเช่น Progressive Insurance และ Allstate Insurance ได้ใช้ PHYD เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้เอาประกันภัยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำให้เบี้ยประกันภัยถูกลง และในยุโรป โดยเฉพาะประเทศอังกฤษ PHYD ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในกลุ่มผู้ขับขี่ที่เป็นวัยรุ่น เนื่องจากผู้ขับขี่กลุ่มนี้ถูกจัดว่ามีความเสี่ยงในการขับรถและเกิดอุบัติเหตุสูง ทำให้ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยที่แพง


สำหรับ UBI ในประเทศไทย ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยหลายรูปแบบทั้งตามระยะทาง (PAYD) และตามพฤติกรรม (PHYD) ซึ่งผู้เอาประกันสามารถเลือกทำได้ตามความเหมาะสมตามรูปแบบการขับขี่ของแต่ละคน


ข้อดีของประกันภัยตามการใช้งาน


1. ค่าเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมกับการใช้งานจริง


ผู้ที่ใช้รถน้อยหรือมีพฤติกรรมขับขี่ปลอดภัยจะได้รับส่วนลดค่าเบี้ยประกัน ซึ่งช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว


2. ส่งเสริมพฤติกรรมขับขี่ที่ปลอดภัย


การที่ประกันภัยตามการใช้งานมีการติดตามพฤติกรรมการขับขี่ ทำให้ผู้ขับขี่รู้สึกว่าต้องขับขี่อย่างระมัดระวังมากขึ้น เพื่อไม่ให้ค่าเบี้ยประกันภัยสูงขึ้น และยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น


3. ความโปร่งใสในการคำนวณค่าเบี้ยประกันภัย


การใช้เทคโนโลยีในการติดตามข้อมูลพฤติกรรมการขับขี่ ทำให้ผู้เอาประกันภัยเห็นได้ชัดเจนว่า ค่าเบี้ยประกันภัยของตนถูกคำนวณจากปัจจัยใด ก่อให้เกิดความโปร่งใสและความไว้วางใจต่อบริษัทประกันภัย


ข้อเสียของประกันภัยตามการใช้งาน


1. ความเป็นส่วนตัว


การที่บริษัทประกันภัยติดตามข้อมูลการขับขี่ของผู้เอาประกันภัย อาจก่อให้เกิดความกังวลในเรื่องความเป็นส่วนตัว แม้ว่าบริษัทประกันภัยจะยืนยันว่า ข้อมูลที่ได้รับจะถูกใช้เฉพาะในการคำนวณค่าเบี้ยประกันภัย แต่ก็ยังคงมีผู้เอาประกันภัยบางรายที่รู้สึกไม่สบายใจ


2. การพึ่งพาเทคโนโลยี


การที่ประกันภัยตามการใช้งานต้องพึ่งพาเทคโนโลยีในการเก็บข้อมูล อาจทำให้เกิดปัญหาได้ หากอุปกรณ์ติดตามทำงานผิดพลาด หรือสมาร์ทโฟนของผู้เอาประกันภัยไม่มีความเสถียรในการเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน


3. อาจไม่เหมาะสำหรับทุกคน


ผู้ที่ขับขี่บ่อยหรือใช้รถในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ช่วงเวลาที่มีการจราจรหนาแน่น อาจไม่ได้รับประโยชน์จากประกันภัยตามการใช้งานมากเท่ากับผู้ที่ขับขี่น้อยหรือในช่วงเวลาที่ปลอดภัย


ประกันภัยตามการใช้งานเหมาะกับใคร?


คนที่ใช้รถน้อย: ผู้ที่ใช้งานรถเฉพาะในบางโอกาส หรือใช้รถเพียงระยะทางสั้นๆ จะได้รับประโยชน์มากจากประกันภัยตามการใช้งาน เพราะสามารถจ่ายเบี้ยประกันในอัตราที่ต่ำกว่าผู้ที่ใช้รถบ่อย


ผู้ที่มีพฤติกรรมขับขี่ปลอดภัย: เนื่องจากค่าเบี้ยประกันภัยจะถูกคำนวณตามพฤติกรรมการขับขี่ที่ปลอดภัย หากคุณเป็นคนที่ขับขี่อย่างระมัดระวัง ไม่ขับเร็ว หรือหลีกเลี่ยงการเบรกฉุกเฉิน ประกันภัยตามการใช้งานจึงเป็นตัวเลือกที่ดี


ผู้ที่ต้องการประกันที่ยืดหยุ่น: หากคุณกำลังมองหาประกันภัยที่สามารถปรับเปลี่ยนตามการใช้งานของคุณได้ ประกันภัยตามการใช้งานอาจตอบโจทย์ เพราะค่าเบี้ยประกันจะปรับตามพฤติกรรมและปริมาณการใช้งานของคุณ


อกสารอ้างอิง


Thai Re Knowledge Center (2020). Usage Based Insurance – ใช้แค่ไหน จ่ายแค่นั้น


แหล่งที่มาข่าวและภาพต้นฉบับกรุงเทพธุรกิจ
https://www.bangkokbiznews.com/blogs/finance/investment/1151229
X