หลอนรับฮาโลวีน นิทรรศการ 'The Untold Story เรื่องผีท้องถิ่นที่ไม่เคยถูกเล่า' เปิดตัวผีท้องถิ่นไทยที่ยังไม่อยู่ในสื่อกระแสหลัก ไปฟังเรื่องราวของผีอ๊าบ ผีมนายสโนน ผีจะแกขเมา ผีสม่อยดง ผีปู่พึ้ม ผีม้าบ้อง ผีตากะลายายกะลี ฯลฯ
ผี มีจริงหรือเปล่า ยังเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบตายตัว ขึ้นอยู่กับความเชื่อส่วนบุคคล แต่ที่แน่ๆ จินตนาการจากความกลัวในรูปแบบของ ‘ผี’ ถูกนำมาใช้หลากหลาย ทั้งจากตำนานที่สร้างขึ้นเพื่อการสั่งสอนให้ระมัดระวัง การขู่เพื่อให้เกิดความมีระเบียบเรียบร้อยในสังคม หรือการจูงใจให้เกิดความร่วมมือ
กระทั่งมาถึงยุคใหม่ ที่ ‘ผี’ ได้รับการตีความให้มีความน่ารักมากขึ้นในภาพยนตร์และแอนิเมชัน รวมถึงการสร้างสรรค์คาแรคเตอร์ที่สามารถดัดแปลงเป็นสินค้าและสื่อดิจิทัลที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าและกลายเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ที่กำลังเติบโต
หลายประเทศนำเรื่อง ‘ภูต ปีศาจ ผี’ ในนิทานพื้นบ้าน ในประวัติศาสตร์ ในเรื่องเล่าท้องถิ่น เช่น แวมไพร์ มนุษย์หมาป่า ซาตาน อสูรน้อยคิทาโร่ มาแปลงสู่สื่อร่วมสมัย ได้รับความนิยมไปทั่วโลกและสร้างมูลค่ากลายเป็นเม็ดเงินมหาศาล
นิทรรศการ “The Untold Story เรื่องผีท้องถิ่นที่ไม่เคยถูกเล่า”
ประเทศไทยก็มีเรื่องราวของภูตผีปีศาจผีสางนางไม้มากมาย ล่าสุด สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ปลุกเรื่องเล่าจากตำนาน ‘ผีท้องถิ่นไทย’ ที่ใครหลายคนอาจไม่รู้จัก จัดทำเป็นนิทรรศการชื่อ The Untold Story เรื่องผีท้องถิ่นที่ไม่เคยถูกเล่า เปิดตัว 30 ผีท้องถิ่นไทยที่อาจไม่คุ้นชื่อยกโขยงกันมาจากทั่วทุกภูมิภาค
ชวนทุกคนไปสัมผัสและปลดปล่อยจินตนาการ สร้างแรงบันดาลใจ และส่งต่อความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจาก ทุนวัฒนธรรม และ เรื่องเล่าท้องถิ่น ที่ยังไม่เคยถูกเล่ามาก่อน
พร้อมกับชมคาแรคเตอร์ผีร่วมสมัยกว่า 90 แบบ ซึ่งเป็นผลงานที่ผสานการตีความเรื่องราวเข้ากับการออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปินไทยรุ่นใหม่
นิทรรศการ “The Untold Story เรื่องผีท้องถิ่นที่ไม่เคยถูกเล่า” แบ่งออกเป็น 3 โซน ชวนทุกคนมาเปิดตาและเปิดใจ สร้างประสบการณ์เห็น ‘ผี’ ร่วมกัน ดังนี้
• โซนที่ 1: ปลุกตำนานผีท้องถิ่น
ล้อมวงฟังเรื่องผี
หากเอ่ยถึง ‘ผีไทย’ ในความทรงจำ หลายคนอาจนึกถึงผีกระสือ ผีปอบ ผีเปรต ผีที่ครั้งหนึ่งเคยหลอนเราจนขวัญผวา และเป็นขวัญใจยอดฮิตในอุตสาหกรรมบันเทิงทั้งหลาย
แต่จริง ๆ แล้ว ‘ผีไทย’ มีแก๊งเยอะกว่านั้น เพราะยังมี ผีท้องถิ่น ที่ไม่ได้ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์กระแสหลักอีกเพียบ ทุกคนจะได้รู้จักเรื่องเล่าตำนานผีท้องถิ่นไทยกันมากยิ่งขึ้น เพื่อท้าทายจินตนาการว่า “ผีเหล่านี้จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร?”
พื้นที่แรกของนิทรรศการโซนนี้ชวน ล้อมวงฟังเรื่องผี ผ่านเสียงที่บันทึกไว้จากแพลตฟอร์มยูทูป สร้างบรรยากาศโดยมีวิทยุทรานซิสเตอร์วางอยู่บนแคร่ไม้ไผ่ เหมือนกำลังฟังเรื่องผีผ่านวิทยุ ย้อมบรรยากาศให้ชวนหลอนยิ่งขึ้นด้วยแสงไฟสีแดงสลัวราวกับเป็นเวลาดึกดื่น เอ๊ะ..หรือว่ากำลังอยู่ในนรก
นั่งลงแล้วฟังเรื่อง ผีหลังกลวง ผีโขมด ผีม้าบ้อง ผีปกกะโหล้ง และ ผีกองกอย
ฟังเรื่องผีผ่านหูฟัง
ประชันภาพวาดผีท้องถิ่นไทยที่ยังไม่เคยถูกเล่าในจินตนาการ
ถัดเข้าไปอีกห้อง นิทรรศการอุ่นเครื่องต่อด้วยการจัดให้ฟังเรื่อง ผีท้องถิ่นไทย อีกมากมายผ่านหูฟัง แล้วให้ผู้เข้าชมนิทรรศการลองจินตนาการวาดรูปผีที่ได้ฟังลงบนกระดาษที่จัดเตรียมไว้ แล้วนำไปติดไว้บนผนัง แบ่งปันกันว่าใครจินตนาการเป็นอย่างไร
• โซนที่ 2: สวัสดีผีใหม่
ผีสม่อยดง (คล้ายลิง) และผีปู่พึ้ม (ขวาสุด)
เขย่าวงการ ผีท้องถิ่นไทย ให้ฟื้นกลับมาอีกครั้ง ผ่านการตีความภาพลักษณ์ของผีใหม่โดยไม่จำกัดเพียงความน่ากลัว แต่ยังเปลี่ยนให้เป็นพลังในการขับเคลื่อนจินตนาการ โดยนำเสนอเรื่องราวของมุมมองต่อผีไทยที่มีเสน่ห์และเป็นมิตรกับผู้คนมากยิ่งขึ้น
พบกับภาพเขียน ‘ผีท้องถิ่น’ กว่า 30 ตน เช่น ผีม้าบ้อง (ผีภาคเหนือ) ที่สามารถแปลงกายได้ทั้งในรูปแบบของม้าตัวใหญ่ ดวงตาสีแดง ปากแสยะ ลักษณะดุร้าย ดูน่ากลัว บ้างปรากฏในลักษณะครึ่งคนครึ่งม้า
โบราณว่าผีม้าบ้องจะคอยลักพาตัวเด็กน้อยที่หนีเที่ยวเล่นตอนดึก หรือไม่ก็หลอกล่อคนไปเมืองผีแล้วเข้าสิงร่าง ทำให้อวัยวะผิดแปลกไป
ผีกะ (ภาพสตรี) และผีปกกะโหล้ง (ภาพชายชรา)
ผีปกกะโหล้ง (ผีภาคเหนือ) เป็นผีที่อาศัยอยู่ในป่าทึบ ความเชื่อและนิทานในวัฒนธรรมล้านนาสามารถปรากฏกายได้ทั้งในรูปแบบพายุ สัตว์ และชายชราน่ากลัวหรือมีผมเผ้าหนวดเครารุงรัง ในหนวดเครามีสัตว์ร้ายต่างๆ จุดเด่นคือมีเสียงร้องเป็นเอกลักษณ์ว่า “ป๊กกะโหล้ง”
ผีกะ เป็นผีที่ชาวล้านนาเลี้ยงไว้เพื่อช่วยเหลือด้านสุขภาพ ทำมาค้าขายและคุ้มครองครอบครัว เชื่อว่าหากนักแสดงต้องการให้สวยจับใจคนก็ให้ผีกะเลียหน้า ถ้าเจ้าของเลี้ยงดีก็ให้คุณ ถ้าเลี้ยงไม่ดีจะให้โทษและเข้าสิงเพื่อร้องขออาหาร
ผีเชอเยาะ
ผีเชอเยาะ เป็นผีที่ชาวบ้านมองไม่เห็นตัว ขี่เหยี่ยวเป็นพาหนะ เข้าสิงคนได้และกัดกินคนจากภายในร่างกาย การเป็นเชอเยาะสืบทอดกันทางสายเลือด ป้องกันได้ด้วยการใส่สายสิญจน์ปลุกเสกหรือปลูกต้นระกำหน้าบ้าน
ผีมะเร็ญก็องเวียล (ผีภาคอีสาน) ผีอารักษ์ประจำป่า ปรากฏตัวได้ทั้งในรูปแบบดวงไฟลอยไปมาช่วงพลบค่ำ หรือในรูปแบบคนแคระในช่วงกลางวัน พรานล่าสัตว์ในป่าลึกมักเห็นกลุ่มคนแคระตัวเล็กๆ เดินต้อนฝูงสัตว์
‘ก็องเวียล’ แปลว่าผู้เลี้ยงสัตว์ ชาวเขมรชาวส่วยนิยมประกอบพิธีเซ่นสรวงมะเร็ญก็องเวียลเมื่อเข้าป่าล่าสัตว์ เชื่อว่าช่วยให้พบและล่าสัตว์ได้
ผีตากะลายายกะลี
ผีญาเงาะ (ผีภาคใต้) เป็นผีป่าตามความเชื่อของชาวซาไก อาศัยอยู่ในเทือกเขาบรรทัด จังหวัดตรัง เชื่อว่าเป็นผู้ให้กำเนิดสิ่งมีชีวิต คือ คน สัตว์ ต้นไม้ เป็นเจ้าของต้นน้ำลำธาร
ผีตากะลายายกะลี เป็นผีชราชายหญิงมีฐานะเป็นเจ้าป่าช้าผู้คุ้มครองและคุมผีในป่าช้าแห่งนั้น การบูชาเรียก ‘การซื้อที่’ หากไม่ทำ จะส่งผลเสียกับผู้เสียชีวิต ผีสองตนนี้มีที่มาจากในอดีตป่าช้าไม่ได้อยู่ในบริเวณวัด เชื่อกันว่ามีเจ้าที่ดูแล จึงต้องขออนุญาตในการปลงศพแต่ละครั้ง
ผีหลังกลวง
ผีจะแกขเมา
ในนิทรรศการฯ ยังมีผีตะมอย ผีโขมด ผีอ๊าบ ผีมนายสโนน ผีจะแกขเมา ผีสม่อยดง ผีปู่พึ้ม ผีไก่น้อย ผีตาพุก ผีกล้วยพังลา ผีไผ่ขาคีม ผีหลังกลวง ฯลฯ รอทำความรู้จักอีกเพียบ
พร้อมชมผลงานการออกแบบคาแรคเตอร์ผีร่วมสมัย กว่า 90 แบบ จากศิลปินไทยรุ่นใหม่ อาทิ Autumnberry, Linghokkalom, MarkSuttipong, Ployjaploen, Tiicha, Twofeetcat ทำให้ ‘ผีท้องถิ่นไทยที่ยังไม่เคยถูกเล่า’ ดูจะคลายความขนพองสยองเกล้าลงไปอยู่พอสมควร
• โซนที่ 3: เตรียมเดบิวต์
พาไปสำรวจภาพรวมข้อมูลถิ่นที่อยู่ของผีท้องถิ่นไทยในแต่ละภูมิภาค พร้อมชี้ให้เห็นว่าตำนานและเรื่องเล่าท้องถิ่นที่เคยเป็นเพียงเรื่องเล่าปากต่อปาก สามารถกลายเป็นขุมทรัพย์แห่งจินตนาการ ที่พร้อมส่งต่อสู่การยกระดับและต่อยอดในโลกของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้ต่อไป
โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมนิทรรศการเขียน ‘ชื่อผี’ และ ‘โลเคชั่น’ ลงบนแผ่นกระดาษโพสต์อิท แล้วแปะบนแผนที่ประเทศไทยที่เตรียมไว้ให้ เพื่อจัดเก็บเป็นข้อมูลสำหรับศึกษาเพิ่มเติม
The Untold Story เรื่องผีท้องถิ่นที่ไม่เคยถูกเล่า
เทศกาลฮัลโลวีนปีนี้เข้าบรรยากาศพอดี ตรงไปร่วมสัมผัสประสบการณ์เห็น ‘ผี’ ได้ใน นิทรรศการ “The Untold Story เรื่องผีท้องถิ่นที่ไม่เคยถูกเล่า” ปลุกเรื่องเล่าจากตำนานท้องถิ่น ให้กลายเป็นขุมทรัพย์แห่งจินตนาการที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและต่อยอดความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย
จัดแสดงระหว่างวันที่ 17 กันยายน - 22 พฤศจิกายน 2567 ตั้งแต่เวลา 10.30 - 19.00 น. (ปิดวันจันทร์) ณ TCDC กรุงเทพฯ (อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก) ห้อง Gallery ชั้น 1 เข้าชมฟรี