การทำงาน

ผลสำรวจเผย Gen Z น่ารำคาญที่สุดในที่ทำงาน แต่ก็คิดสร้างสรรค์กว่ารุ่นก่อน


  •  เพื่อนร่วมงาน 29% มองชาว Gen Z เป็นคนที่น่ารำคาญที่สุดในการทำงาน โดย 3 อันดับแรกของลักษณะที่น่ารำคาญของวัยทำงานรุ่นนี้คือ ขาดจรรยาบรรณ พฤติกรรมขี้บ่น และการเรียกร้องสิทธิ
  •  แต่ไม่ใช่ผู้ใหญ่ทุกคนที่มองวัยทำงานรุ่นใหม่เป็นแบบนั้น มีคนออกมาโต้แย้งว่า คนรุ่นใหม่ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป พวกเขาไม่ใช่คนเกียจคร้าน แต่มีวิสัยทัศน์มากกว่ารุ่นก่อนๆ
  •  โดยทั่วไปแล้ว คนรุ่นก่อนๆ มักจะมีแนวโน้มที่จะทำมากกว่าที่เจ้านายคาดหวังไว้ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความเหนื่อยล้าก็ตาม แต่คนรุ่น Gen Z ไม่ยอมทำงานหนักเกินไป


ทำไมวัยทำงานคนรุ่นใหม่มักถูกมองว่าแปลกประหลาดในที่ทำงาน โดยที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยและผลสำรวจจำนวนไม่น้อยที่ชี้ว่า Gen Z ซึ่งมีอายุระหว่าง 18-27 ปี (ในปี 2024) นั้น มักจะใช้วิธีสื่อสาร วิธีทำงานที่ต่างออกไป หรือแม้แต่นำพาวัฒนธรรมแปลกๆ มาสู่ที่ทำงาน 


ล่าสุดมีรายงานจาก New York Post อ้างถึงผลสำรวจอีกชิ้นหนึ่งของ LLC.org (ผู้ให้บริการดูแลโครงสร้างทางธุรกิจในสหรัฐฯ) ที่สำรวจเกี่ยวกับลักษณะของวัยทำงานชาว Gen Z เช่นกัน โดยเผยผลสำรวจพบว่า เพื่อนร่วมงาน 29% มองชาว Gen Z เป็นคนที่น่ารำคาญที่สุดในการทำงาน ทั้งนี้ นักวิจัยจาก LLC.org ระบุด้วยว่า 3 อันดับแรกของลักษณะที่น่ารำคาญของวัยทำงานรุ่นนี้ก็คือ การขาดจรรยาบรรณในการทำงาน พฤติกรรมขี้บ่น และการเรียกร้องสิทธิตลอดเวลา


ยิ่งไปกว่านั้น วัยทำงานคนรุ่นใหม่ยังจัดอยู่ในกลุ่มคนที่ “มีประสิทธิผลการทำงานน้อยที่สุด” เมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมงานในกลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียล (Gen Y), Gen X , Baby Boomer


แซม เทย์เลอร์ (Sam Taylor) ผู้เชี่ยวชาญของ LLC.org กล่าวในแถลงการณ์ว่า “คนทุกเจเนอเรชันต่างก็มีนิสัยและทัศนคติที่แตกต่างกันไปในสถานที่ทำงาน แต่สำหรับคนรุ่น Gen Z ความหงุดหงิดบ่อยๆ ของพวกเขา ดูเหมือนจะมาจากแนวทางการรักษาสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน รูปแบบการสื่อสาร และความรู้สึกว่าตนมีสิทธิ์ในสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ”


  •  พฤติกรรมของวัยทำงานคนรุ่นใหม่ ที่คนรุ่นก่อนไม่เข้าใจ-มองว่าแปลก

  

วัยทำงานชาว Gen Z เป็นกลุ่มเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ไม่กี่ปี พวกเขามักจะได้รับผลกระทบจากที่ทำงาน เช่น ความเครียด ความเหนื่อยหน่าย เนื่องจากแนวทางการทำงานที่แปลกใหม่ของพวกเขา อาจเข้ากันไม่ได้กับวัฒนธรรมองค์กรส่วนใหญ่ 


พวกเขาตกเป็นเป้าล้อเลียนในหลายๆ กรณี ยกตัวอย่างเช่น มีเด็กจบใหม่หลายคนที่พาพ่อแม่ไปสัมภาษณ์งานด้วย (เพื่อขอการสนับสนุน), พวกเขาขอออกจากงานก่อนเวลาเมื่อทำภารกิจทั้งหมดเสร็จแล้ว, พวกเขาอยากได้ความยืดหยุ่นในการทำงาน, พวกเขามีทัศนคติที่ไม่ใส่ใจ, ขาดประสบการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริง ฯลฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้คนรุ่นก่อนๆ บางคนมองว่าพวกเขาขี้เกียจ บริษัทบางแห่งถึงขั้นไล่พวกเขาออกจากงาน


แต่ไม่ใช่ผู้ใหญ่ทุกคนที่มองวัยทำงานรุ่นใหม่เป็นแบบนั้น มีคนเจนอื่นๆ ที่เป็นเพื่อนร่วมงานกับ Gen Z หลายคนออกมาโต้แย้งว่า คนรุ่นใหม่ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น แซม ฮาร์ต (Sam Hart) คอนเทนต์ครีเอเตอร์ด้านโลกการทำงานและองค์กร รุ่น Gen Y ยืนกรานว่า เพื่อนร่วมงานของเธอกลุ่มคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่คนเกียจคร้าน พวกเขามีวิสัยทัศน์มากกว่าเพื่อนร่วมงานรุ่นก่อนๆ แต่วัฒนธรรมการทำงานบางอย่างผลักให้พวกเขาไม่เข้ากับตลาดงาน 


“คนรุ่น Gen Z มีสิ่งสวยงามในตัว พวกเขาไม่ได้มีจรรยาบรรณในการทำงานที่แย่เสมอไป แต่เนื่องจากคนรุ่นนี้เกิดมาในยุคเศรษฐกิจตกต่ำและต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในชีวิตประจำวัน คนหนุ่มสาวเหล่านี้จึงเรียนรู้ว่าไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการดูแลตัวเอง” เธออธิบาย


  •  คนรุ่นก่อนทำงานหนักเกินไปในสายตาชาว Gen Z


ฮาร์ต ได้เปรียบเทียบวิธีคิดของคนรุ่น Gen Z กับกลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียล กลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 28-42 ปี ที่มุ่งมั่นทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักจะมีแนวโน้มที่จะทำมากกว่าที่เจ้านายคาดหวังไว้ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความเหนื่อยล้าก็ตาม 


“โลกการทำงานของยุคก่อน มันเป็นสถานที่ที่บ้าคลั่งที่สุดจริงๆ” ฮาร์ตกล่าว 


เอริก้า เบิร์กเก็ตต์ (Erica Burkett) วัย 27 ปี เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เธอเล่าว่า การที่ผู้ใหญ่หลายคนมองว่าคนรุ่นใหม่ขี้เกียจนั้นไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง แทนที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงทัศนคติที่แปลกประหลาด แต่คนรุ่นใหม่ควรได้รับการเคารพในแง่ของการแสวงหาชีวิตที่มีสุขภาพดี นอกเหนือจากการตรากตรำทำงานเพื่อเงินเพียงอย่างเดียว 


“เราไม่ได้ผูกมัดชีวิตของเราทั้งหมดไว้กับงานประจำ ที่นายจ้างไม่สนใจว่าเราจะอยู่หรือตาย คนรุ่นใหม่หลายคนก็ทำงานหนัก แถมมีความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ ซึ่งเป็นพวกคลั่งงานที่ทำงานหนักเกินไป คนรุ่นใหม่เพียงแค่พยายามก้าวออกจากกรอบชีวิตแบบนั้น” เธอ อธิบาย


  •  Gen Z เติบโตมาในโลกที่ต่างออกไป ไม่แปลกที่พวกเขามองโลกการทำงานเป็นอีกแบบ


เทย์เลอร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในโลกธุรกิจ มองตรงกันและบอกว่า วัยทำงานคนรุ่นใหม่เติบโตมาโดยเห็นคนรุ่นเก่าหมดไฟในการทำงาน ไม่แปลกที่พวกเขาจะต่อต้านความคิดแบบนั้น คนรุ่น Gen Z เติบโตมาในโลกที่แตกต่างออกไป และพวกเขากำลังนำค่านิยมและความคาดหวังใหม่ๆ มาสู่ที่ทำงาน ซึ่งทุกฝ่ายควรปรับตัวเข้าหากัน


หนึ่งในวิธีที่จะช่วยสร้างความกลมกลืนระหว่าง “วิถีการทำงานยุคใหม่” และ “วัฒนธรรมการทำงานดั้งเดิม” ให้ได้นั้น เทย์เลอร์แนะนำว่า นายจ้างต้องส่งเสริมให้เกิดการสนทนาเชิงบวกระหว่างพนักงานด้วยกัน รวมไปถึงการสนทนาที่น่ารำคาญด้วย ซึ่งทุกกลุ่มอายุต้องอดทนและพยายามเข้าใจกัน เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและส่งเสริมการเข้าใจกันให้มากขึ้น


แหล่งที่มาข่าวและภาพต้นฉบับกรุงเทพธุรกิจ
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1153078
X