ประกันชีวิต

พี่ (ว่า) ดี...คู่ซี้ “ประกันชีวิต” !!!


“โห  โชคดีมากเลยนะพี่ ที่รอดมาได้” “คุณพระคุณเจ้าคุ้มครองนะพี่” “ถือว่าฟาดเคราะห์ไปนะครับ” ฯลฯ


หลากหลายประโยคที่ให้กำลังใจผู้ป่วย ผู้ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นวิกฤติรุนแรงในชีวิต ไม่ว่าจากอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย แม้โชคดีที่รอดชีวิตมาได้ แต่อาจโชคร้ายที่ต้องกลายเป็นบุคคลทุพพลภาพ และใช้ชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป  


ลองจินตนาการดูว่า หากต้องอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ จะรับมืออย่างไร เช่น การจัดสรรผู้ที่มาดูแลผู้ป่วย ค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งประเด็นเหล่านี้หลายคนอาจไม่เคยนึกถึง เพราะดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไกลตัว


“หลายท่านที่ทำ ‘ประกันชีวิต’ จดจำได้แต่เพียงว่ามีทุนประกันชีวิตเท่าไหร่ แต่ไม่คุ้นกับสัญญาเพิ่มเติมประกันทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ดังนั้น หากเปิดกรมธรรม์ แล้วพบสัญญาแนบท้ายกรมธรรม์นี้ อาจจะเป็นความหวังดีของตัวแทนขาย ที่แนบสัญญานี้เพิ่มเข้าไป เนื่องจากเบี้ยประกันไม่สูงมากนักหรือบางแบบประกัน แถมสัญญาเพิ่มเติมนี้ฟรีด้วย โดยสัญญาเพิ่มเติมต่างๆ ที่แนบกับประกันชีวิต จะเป็นสัญญาปีต่อปี สามารถแจ้งยกเลิกสัญญาเพิ่มเติมในภายหลังได้” 


“ทุพพลภาพ” อ่านว่า ทุบ-พน-ละ-พาบ ตามความหมายในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554  หมายถึง หย่อนกำลังความสามารถที่จะประกอบการงานได้ตามปรกติ


“ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง” คือ ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปรกติอย่างสิ้นเชิง


“ประกันภัยทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง” หรือ “TPD” (Total Permanent Disability) เป็นสัญญาประกันภัยเพิ่มเติม (Rider) ที่สามารถซื้อแนบกับสัญญาประกันชีวิต  ซึ่งผู้เอาประกันจะซื้อเพิ่มเติม หรือไม่ก็ได้


โดยบริษัทประกันจะจ่ายเงินตามจำนวนเงินเอาประกันของสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง  ให้แก่ผู้เอาประกันภัย แยกเป็น 2 กรณี คือ


1. กรณีผู้เอาประกันภัยตกเป็นบุคคลทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง อันเป็นผลมาจากการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วย ซึ่งการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วยนั้น ทำให้ผู้เอาประกันภัย ไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานในอาชีพใดๆ ได้โดยสิ้นเชิง และการทุพพลภาพนั้นต้องเป็นต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 180 วัน นับตั้งแต่วันที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นบุคคลทุพพลภาพ และการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วยนั้น ไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติและทำให้ผู้เอาประกันภัย ไม่สามารถประกอบหน้าที่การงานในอาชีพใดๆ ได้โดยสิ้นเชิงตลอดไป




2. กรณีผู้เอาประกันภัยสูญเสียอวัยวะ ตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้


1. สูญเสียสายตาทั้งสองข้าง และไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้


2. สูญเสียมือ สองข้าง หรือ เท้าสองข้าง หรือ มือหนึ่งข้างและ เท้าหนึ่งข้าง โดยการตัดออกตั้งแต่ข้อมือหรือข้อเท้า


3. สูญเสียสายตา หนึ่งข้าง และไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ และสูญเสียมือหรือเท้า ข้างหนึ่ง โดยการตัดออกตั้งแต่ข้อมือหรือข้อเท้า (ที่มา: บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต)


ตัวอย่าง นายเอ  ทำประกันชีวิตด้วยทุนประกัน  2 ล้านบาท และซื้อสัญญาเพิ่มเติมทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ด้วยทุนประกัน 2 ล้านบาท ต่อมานายเอ ประสบอุบัติเหตุ จนต้องสูญเสียมือทั้งสองข้างตั้งแต่ข้อมือ สามารถเคลมสินไหม ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงได้ 2 ล้านบาท


นาย บี  ทำประกันชีวิตด้วยทุนประกัน 1 ล้านบาท ซื้อประกันภัยโรคร้ายแรง 2 ล้านบาท ซื้อสัญญาเพิ่มเติมทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 1 ล้านบาท ต่อมานายบีตรวจพบว่าเป็นมะเร็งที่สมอง ระยะรุนแรง และได้ทำการผ่าตัดแล้ว แต่ผลจากการผ่าตัด ทำให้ต้องเป็น อัมพาต นอนติดเตียง เป็นระยะเวลาเกิน 180 วัน    


“กรณีของนายบี เคลมสินไหมโรคร้ายแรงได้ 2 ล้านบาท และต่อมา เคลมสินไหมทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงได้อีก 1 ล้านบาทสัญญาเพิ่มเติมโรคร้ายแรงและ สัญญาเพิ่มเติมทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ทั้งสองสัญญาเป็นอันยุติความคุ้มครอง ไม่ต้องชำระเบี้ยต่ออายุประกันอีกต่อไป เหลือเพียงเบี้ยประกันชีวิต ที่คนในครอบครัว ชำระเบี้ยต่ออายุประกันชีวิต หากนายบีเสียชีวิตในเวลาต่อมา สามารถเคลมสินไหมเสียชีวิตได้ 1 ล้านบาท”


(หากซื้อสัญญาเพิ่มเติม ยกเว้นเบี้ยประกันชีวิต (WP; wave premium) ก็ไม่ต้องชำระเบี้ยประกันชีวิต)


จะเห็นได้ว่า กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ ถ้าโชคดีที่ไม่เสียชีวิต แต่หากโชคร้าย ที่ต้องกลายเป็นบุคคลทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้  ต้องพึ่งพาบุคคลในครอบครัวช่วยเหลือดูแล หรือบางครอบครัว ต้องจ้างบุคคลภายนอกมาดูแล มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้ จะดำเนินต่อไปจนกว่าจะเสียชีวิตกันเลยทีเดียว หากมีโอกาสได้ตัดสินใจทำประกันชีวิตแล้ว แนะนำว่า ควรซื้อสัญญาเพิ่มเติมทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงแนบเข้าไปด้วย ซึ่งเบี้ยประกันภัยทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง (TPD) นั้นไม่ได้สูงมากนัก (ที่มา: บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต)


ดังตัวอย่างต่อไปนี้


เพศชาย อายุ 25 ปี เบี้ยประกันทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ทุนประกัน 2 ล้านบาท =960 บาทต่อปี


เพศชาย อายุ 35 ปี  เบี้ยประกันทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ทุนประกัน 2 ล้านบาท = 960 บาทต่อปี


เพศชาย อายุ 45 ปี  เบี้ยประกันทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ทุนประกัน 2 ล้านบาท =1,280 บาทต่อปี


เพศชาย อายุ 55 ปี เบี้ยประกันทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ทุนประกัน  2 ล้านบาท =2,400 บาทต่อปี


เพศหญิง อายุ 25 ปี เบี้ยประกันทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ทุนประกัน 2 ล้านบาท =260 บาทต่อปี


เพศหญิง อายุ 35 ปี เบี้ยประกันทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ทุนประกัน  2 ล้านบาท = 360 บาทต่อปี


เพศหญิง อายุ 45 ปี เบี้ยประกันทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ทุนประกัน  2 ล้านบาท =640 บาทต่อปี


เพศหญิง อายุ 55 ปี เบี้ยประกันทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ทุนประกัน 2 ล้านบาท =1,540 บาทต่อปี


สำหรับ “ความคุ้มครอง” และ “ข้อยกเว้นความคุ้มครอง” ของแต่ละบริษัทประกันก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกัน ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดก่อนทำประกัน กับ “นักวางแผนประกันชีวิต” ได้ ดังนั้น หากมีโอกาส “วางแผนทำประกันชีวิต” อย่าลืมเพิ่มสัญญาเพิ่มเติม “ประกันภัยทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง” (TPD) ด้วย


แหล่งที่มาข่าวและภาพต้นฉบับ wealthythai
https://www.wealthythai.com/en/updates/wealth-management/wealth-ez/23469
X