ข่าวการเงิน
เปิด 5 เรื่องหลักสำคัญ ในการจัดทำพินัยกรรมให้สุขใจ
บทความโดย "บุณยนุช ยุทธ์ประทุม"
นักวางแผนการเงิน CFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
การจัดทำพินัยกรรม เป็นการแสดงความประสงค์และเจตนารมณ์ของเจ้ามรดกที่ต้องการให้ทรัพย์สินและสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมายแก่ผู้รับพินัยกรรม ไม่ว่าผู้รับพินัยกรรมจะเป็นทายาทโดยธรรม บุคคลอื่น ๆ มูลนิธิ หรือองค์กรการกุศล เพื่อให้ผู้รับมรดกนั้นสามารถนำไปจัดการและดำเนินกิจการต่อให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป
ดังนั้น การจัดทำพินัยกรรมให้สุขใจทั้งผู้ให้และผู้รับนั้น จะต้องทำให้ “ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม” “ถูกใจผู้ให้และผู้รับ” และ”ถูกต้องตามกฎหมาย” ตามแบบของพินัยกรรมที่กฎหมายกำหนดไว้ และที่ดียิ่งไปกว่านั้น หากเจ้ามรดกเป็นผู้กำหนดและมีการเตรียมความพร้อมให้รอบคอบและมีความสมบูรณ์ทุกด้าน ก็จะทำให้เกิดความสบายใจและหมดห่วงว่าทรัพย์สินและสิทธิต่าง ๆ ของตนที่จะส่งต่อให้มีผู้รับผิดชอบไปนั้น ผู้รับจะได้ดูแลสืบทอดตามเจตนารมณ์ให้เป็นประโยชน์ต่อครอบครัว และ/หรือสังคมต่อไปได้ โดย 5 เรื่องหลักสำคัญในการจัดทำพินัยกรรมที่จะทำให้เจ้ามรดกสุขใจนั้น มีดังต่อไปนี้
1. วันที่และสถานที่ทำพินัยกรรม วันเวลาที่ผ่านไปหลังทำพินัยกรรม เจ้ามรดกอาจมีการเปลี่ยนแปลงรายการของมูลค่าทรัพย์สินหรือสิทธิต่าง ๆ การทำพินัยกรรมจะต้องมีการปรับให้เป็นข้อมูลปัจจุบัน หรือใกล้เคียงกับปัจจุบันมากที่สุด และหากมีการจัดทำพินัยกรรมฉบับใหม่ในวันที่เป็นปัจจุบันแล้ว พินัยกรรมฉบับใหม่นั้นจะมีผลบังคับแทนที่ฉบับเดิม ซึ่งเจ้ามรดกต้องจัดทำพินัยกรรมในขณะที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่อยู่ในภาวะไร้ความสามารถในการรับรู้ เช่น มีอาการมึนเมา มีภาวะเจ็บป่วยจนไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจได้ เป็นต้น ในกรณีที่เจ้ามรดกมีอายุมาก หรืออยู่ในภาวะเจ็บป่วยควรต้องมีใบรับรองแพทย์ว่ามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ด้วย
2. บัญชีเครือญาติ แม้ว่าเจ้ามรดกสามารถระบุในพินัยกรรมว่าได้มอบทรัพย์สินและสิทธิต่าง ๆ ให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นทายาท บุคคลในครอบครัว, บุคคลอื่น ๆ, มูลนิธิ หรือองค์กรการกุศล แต่การจัดทำบัญชีเครือญาติก็เป็นการรวบรวมสมาชิกในครอบครัวและสามารถนำไปยื่นต่อศาล เพื่อจัดตั้งผู้จัดการมรดกให้ดำเนินการจัดการมรดกได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น เป็นการช่วยลดความวุ่นวาย ลดความเสี่ยงด้านภาษีในการถูกเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มจากการยื่นแบบที่ไม่ตรงตามช่วงเวลาที่สรรพากรกำหนดให้ยื่น
อีกทั้งในกรณีที่ผู้รับมรดกเป็นทายาทโดยธรรมเสียชีวิตก่อนเจ้ามรดก ผู้จัดการมรดกสามารถส่งต่อทรัพย์สินและสิทธิต่าง ๆ ให้กับผู้สืบสันดานได้รวดเร็ว ซึ่งเป็นการรับมรดกแทนที่ หรือรายการทรัพย์สินนั้นอาจตกทอดเป็นของแผ่นดินแล้วแต่กรณี
3. บัญชีทรัพย์สิน เป็นการเตรียมรายการทรัพย์สินทั้งหมดอย่างครบถ้วน เพื่อไม่ให้ตกค้างตามหน่วยงานรัฐ หรือค้างเลขที่บัญชีตามสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่อาจถูกค่าธรรมเนียมหักโดยอัตโนมัติจนเงินหมดบัญชี ในการจัดทำบัญชีทรัพย์สินนี้จะต้องรวมรายการทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี หรือไม่เสียภาษีการรับมรดก โดยจะต้องคำนึงถึงการเตรียมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในกองมรดกด้วย
อาทิ ภาษีมรดก (Estate Tax) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (Land and Building Tax) ของทรัพย์สินประเภทที่ดินและอาคารต่าง ๆ เพื่อลดความขัดแย้งของผู้รับพินัยกรรม โดยเฉพาะส่วนที่มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เงินจากกองมรดกจึงต้องมีมากพอที่จะชำระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความสามารถของผู้รับพินัยกรรมให้ดูแลทรัพย์สินมรดกต่อได้เป็นอย่างดี ในการเตรียมรายการทรัพย์สินทั้งหมดนี้รวมถึงภาษีการโอนที่ดินมรดก (0.5%-2%) และภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) ซึ่งจะต้องถูกจัดเก็บจากผู้รับทรัพย์มรดกด้วย
4. ผู้จัดการมรดกและผู้รับพินัยกรรม ผู้จัดการมรดกจะต้องมีคุณสมบัติที่ดีพร้อมในการดำเนินการ ได้แก่ บรรลุนิติภาวะ (มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์) ไม่เป็นคนวิกลจริต ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ และไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ทั้งนี้เพราะผู้จัดการมรดกจะต้องเป็นผู้มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และมีเวลาจัดการมรดกเพื่อส่งต่อให้ผู้รับพินัยกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับผู้รับพินัยกรรมไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือองค์กรก็จะต้องมีคุณสมบัติที่ดีพร้อมในการรับเช่นกัน ได้แก่ มีความสามารถให้การจัดการและดูแลทรัพย์สินเพื่อสืบทอดตามเจตนารมณ์ของเจ้ามรดก และ/หรือดำเนินกิจการของครอบครัวให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป
5. การลงนามของเจ้ามรดกและพยาน โดยเฉพาะการทำพินัยกรรมแบบธรรมดา ซึ่งเป็นแบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เจ้ามรดกจะต้องลงนามต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน ซึ่งผู้ที่มาเป็นพยานจะต้องลงนามต่อหน้าเจ้ามรดกนั้นต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ไม่เป็นคนหูหนวก เป็นใบ้ หรือตาบอดทั้ง สองข้าง พยานต้องลงลายมือชื่อเท่านั้น จะพิมพ์ลายนิ้วมือ หรือลงตราประทับไม่ได้ และต้องไม่เป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมนั้นด้วย
ในการส่งต่อทรัพย์สินและสิทธิต่าง ๆ ของเจ้ามรดกเพื่อให้ตรงตามเจตนารมณ์และสุขใจนั้น จำเป็นต้องทำให้ถูกต้องและถูกกฎหมาย ผ่านการจัดทำพินัยกรรมที่มีการปรับให้เป็นข้อมูลปัจจุบันมากที่สุด และเป็นไปตาม เวลาที่เหมาะสม โดยเจ้ามรดกต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ มีการจัดเตรียมบัญชีเครือญาติ บัญชีทรัพย์สินที่ครบถ้วน เลือกผู้จัดการมรดกที่มีคุณสมบัติดีพร้อมและไว้วางใจได้ มอบทรัพย์สินและสิทธิต่าง ๆ ให้แก่ผู้รับพินัยกรรมที่เจ้ามรดกต้องการให้ และมีพยานที่มีคุณสมบัติถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด
การจัดทำพินัยกรรมให้ครบถ้วนสมบูรณ์ จะช่วยให้เจ้ามรดกมีความสุขใจมากขึ้น เพิ่มความมั่นใจว่าทรัพย์สินมรดกที่หามาได้ส่งมอบให้ผู้รับเป็นไปตามความประสงค์และเจตนารมณ์ที่เจ้ามรดกต้องการจริง ๆ ก็จะทำให้ได้รับความสุขใจทั้งผู้ให้และผู้รับ อีกทั้งสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ครอบครัวและสังคมได้อีกทางหนึ่ง
X