เมื่ออายุมากขึ้น ความรับผิดชอบในเรื่องต่างๆ ก็มากขึ้นตาม สุขภาพอาจส่งสัญญาณเตือนในรูปแบบของโรคร้าย การทำ “ประกันโรคร้ายแรง” เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่สามารถเพิ่มความอุ่นใจเรื่องค่าใช้จ่ายการดูแลสุขภาพได้ แต่ก่อนที่จะเลือกประกันสุขภาพโรคร้ายแรงกับบริษัทใดก็ตาม วันนี้ขอพาทุกคนไปรู้จักกับ 3 เรื่องสำคัญเกี่ยวกับประกันประเภทนี้ที่หลายคนมองข้ามไป แต่จะมีอะไรบ้าง ตามมาเช็กรายละเอียดได้เลย
เรื่องควรรู้ที่ 1 : ความคุ้มครอง
เมื่อพูดถึงการทำ “ประกันโรคร้ายแรง” แล้ว คนส่วนใหญ่มักมีข้อสงสัยเรื่องความจำเป็นในการทำประกันโรคร้ายแรง รวมถึงความคุ้มครองเพิ่มเติมที่จะได้รับ ซึ่งการจะตอบข้อสงสัยในส่วนนี้ได้อย่างชัดเจน เราจะขออธิบายรายละเอียดเป็น 2 ส่วนหลัก ดังนี้
1. หากมี “ประกันสุขภาพ” อยู่แล้ว...ยังจำเป็นต้องทำประกันโรคร้ายแรงหรือไม่?
หลายคนมองว่า “ประกันโรคร้ายแรง” เป็นสิ่งฟุ่มเฟือย เพราะเชื่อว่า “ประกันสุขภาพ” เพียงอย่างเดียวสามารถครอบคลุมทุกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้ อีกทั้งในปัจจุบันบริษัทประกันหลายๆ แห่งออกผลิตภัณฑ์ประกันเฉพาะโรคอยู่แล้ว ประกันคุ้มครองโรคร้ายที่ครอบคลุมโรคร้ายแรงหลายๆ โรค ยิ่งไม่จำเป็นเข้าไปใหญ่
“แต่ในความเป็นจริงแล้ว ‘ประกันสุขภาพ’ นั้นไม่ได้ครอบคลุมทุกค่าใช้จ่ายเมื่อป่วย เพราะส่วนใหญ่จะคุ้มครองค่าใช้จ่ายแค่ในกรณีแอดมิท หรือหากมีการคุ้มครองแบบ OPD ด้วยก็มักจะมีวงเงินที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับเบี้ยที่ต้องจ่ายเพิ่มเติม หรือหากเป็น ‘ประกันเฉพาะโรค’ ก็จะให้ความคุ้มครองเฉพาะโรคที่ระบุไว้เท่านั้น”
อย่างไรก็ดี เวลาที่เปลี่ยนไปและอายุที่เพิ่มขึ้นก็นำพาโรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆ มาสู่ตัวเราได้ บางโรคอาจพัฒนาเป็น “โรคร้ายแรง” ที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงเครื่องมือพิเศษในการรักษา ใช้ระยะเวลาในการรักษาที่นานกว่า ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาจะอยู่ที่หลักแสนหรือหลักล้าน ซึ่งถือว่าสูงกว่าโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ อยู่มาก หลายๆ รายการไม่ได้เกิดขึ้นในโรงพยาบาล
“ด้วยเหตุนี้ การทำ ‘ประกันโรคร้ายแรง’ จึงเข้ามาตอบโจทย์ทั้งในเรื่องของค่าใช้จ่ายและการรักษาพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องนำเงินออมของตัวเองออกมาใช้จ่ายในการรักษา ลดผลกระทบที่จะเกิดกับสินทรัพย์ของเรา และลดโอกาสการเป็นหนี้ อีกทั้งประกันยังสามารถช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกโรงพยาบาลขณะรักษาตัว ทั้งค่าคนดูแล ค่าเดินทาง ค่าปรับปรุงบ้าน ไปจนถึงภาระหนี้สินต่างๆ ได้ ดังนั้นไม่เพียงแต่จะช่วยวางแผนและเตรียมความพร้อมให้กับการรักษาโรคเท่านั้น แต่การทำประกันตัวนี้ยังช่วยวางแผนทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
2. “ประกันสุขภาพโรคร้ายแรง” ให้ความคุ้มครองโรคร้ายใดบ้าง
ถึงจะมีเงื่อนไขในกรมธรรม์ที่แตกต่างกันออกไป แต่ “โรคร้ายแรง” ในประกันคุ้มครองโรคร้ายแรงส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มหลัก ประกอบไปด้วย
1. กลุ่มโรคมะเร็งและเนื้องอก เช่น มะเร็งระยะลุกลาม เนื้องอกชนิดที่ไม่ใช่มะเร็ง
2. กลุ่มโรคหัวใจ ระบบการหายใจ และระบบการไหลเวียนโลหิต เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจ
3. กลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง และระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น ภาวะโคม่า อัลไซเมอร์
4. กลุ่มโรคอวัยวะและระบบการทำงานที่สำคัญของร่างกาย เช่น ไตวายเรื้อรัง
5. กลุ่มโรคภาวะติดเชื้อ การบาดเจ็บร้ายแรงและภาวะทุพพลภาพ เช่น แผลไหม้ เบาหวานขึ้นตา
6. กลุ่มโรคร้ายแรงสำหรับผู้เยาว์อายุไม่เกิน 16 ปี เช่น โรคคาวาซากิ และ โรคเบาหวานชนิดที่ 1
“นอกจากนี้ ‘ประกันโรคร้ายแรง’ ยังให้ความคุ้มครองที่แตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงของโรคร้าย ตลอดจนอายุและโรคประจำตัวของผู้เอาประกัน ดังนั้น อย่าลืมศึกษาและทำความเข้าใจเอกสารเสนอขาย เงื่อนไขกรมธรรม์ และรายละเอียดให้ครบถ้วนเพื่อเลือกประกันสุขภาพโรคร้ายแรงที่สามารถคุ้มครองค่าใช้จ่ายได้อย่างเหมาะสม”
เรื่องควรรู้ที่ 2 : ผลประโยชน์ทางภาษี
“ประกันสุขภาพ” ไม่เพียงคุ้มครองกรณีโรคร้ายแรง แต่ยังได้ “ผลประโยชน์ทางภาษี” ด้วย โดย “ประกันโรคร้ายแรง” นั้นถูกจัดอยู่ในกลุ่มประกันสุขภาพที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 25,000 บาทต่อปี หรือตามเงื่อนไขทางภาษีในแต่ละปี ซึ่งเมื่อรวมเบี้ยประกันในส่วนนี้เข้ากับประกันสุขภาพตัวอื่นและประกันชีวิตแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท โดยเราจะได้รับประโยชน์ทางภาษีก็ต่อเมื่อเราทำประกันกับบริษัทประกันในประเทศไทยเท่านั้น
เรื่องควรรู้ที่ 3 : เลือกกรมธรรม์ตามต้องการได้
“ประกันโรคร้ายแรง” มาพร้อมกับกรมธรรม์ที่หลากหลาย ให้ความคุ้มครองแตกต่างกัน และมีรูปแบบการจ่ายเบี้ยที่เลือกได้ เช่น เบี้ยทิ้ง/เบี้ยไม่ทิ้ง เบี้ยเพิ่มขึ้น/เบี้ยคงที่ จ่ายทุกปีตลอดระยะเวลาคุ้มครอง/จ่ายสั้นคุ้มครองยาว ไม่มีมูลค่าเงินสด/มีมูลค่าเงินสด เป็นต้น โดยผู้เอาประกันสามารถเลือกพิจารณาให้เหมาะกับเงินเดือนและเงื่อนไขที่ตัวเองต้องการได้ นอกจากนี้แล้ว ผู้เอาประกันยังสามารถเลือกเงื่อนไขของค่าใช้จ่ายในการรักษาในประกันคุ้มครองโรคร้ายแรงได้เช่นกัน โดยจะแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ
1. แผนประกันแบบจ่ายเงินก้อน: ประกันจะจ่ายเงินเป็นก้อนให้ทันทีเมื่อตรวจพบเจอโรคร้ายแรง ทำให้ผู้เอาประกันมีเงินก้อนสำหรับรักษา และหากเหลือก็สามารถนำมาดูแลค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ได้
2. แผนประกันแบบจ่ายวงเงินรักษา: หากผู้เอาประกันเลือกแผนประกันนี้ ประกันจะจ่ายวงเงินสำหรับการรักษาให้ โดยค่าใช้จ่ายนี้จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง หรือตามระยะเวลาที่เข้ารับการรักษานั่นเอง
“นอกเหนือจากรายละเอียดข้างต้นนี้ การเลือกทำ ‘ประกันโรคร้ายแรง’ ยังมาพร้อมกับเงื่อนไขอีกมากมายที่แตกต่างไปตามความต้องการของบุคคล ซึ่งสำหรับใครที่ต้องการเลือกประกันประเภทต่างๆ ให้ตอบโจทย์กับความต้องการของตัวเองมากที่สุด ควรศึกษา รายละเอียดความคุ้มครองของกรมธรรม์ และสอบถามจากตัวแทนบริษัทประกัน หรือนักวางแผนทางการเงิน ให้ละเอียดก่อนตัดสินใจ”
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับwealthythai