ข่าวการเงิน
เมื่อประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ และจะมีคนที่เข้าสู่ 'วัยเกษียณ' เพิ่มมากขึ้น สิ่งที่ต้องเผชิญตามมา คือ เรื่องสุขภาพกาย สุขภาพใจ และการเงิน ทำอย่างไรที่จะเตรียมพร้อมทั้งกายและใจ เพื่อให้เกษียณอย่างมีคุณภาพ
● หลายคนมองว่าช่วงเวลาหลังเกษียณ เป็นช่วงที่มีความสุข แต่ความจริงแล้ว ผู้ที่เกษียณอายุต้องเผชิญกับรายได้ที่ลดลง รายจ่ายที่ยังเหมือเดิม รวมถึงสุขภาพที่เสื่อมลง
● ผู้เกษียณอายุ จึงต้องเตรียมความพร้อม 4 ด้านทั้ง ด้านสุขภาพ ด้านการปรับตัวทางสังคมและจิตใจ ด้านพฤติกรรมการออม และด้านที่อยู่อาศัย เพื่อเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ
● นอกจากนี้ การปรับตัวปรับใจของผู้สูงวัย เพื่อรับความสุขวัยเกษียณ ยังเป็นแนวทางสำคัญ เพื่อให้สู่วัยเกษียณอย่างมีคุณภาพ
การเกษียณอายุเปรียบเสมือนกับการก้าวไปสู่อีกขั้นหนึ่งของชีวิตและถือเป็นเหตุการณ์สำคัญในชีวิตที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้หลังจากนี้ผู้เกษียณมีเวลาว่างมากขึ้น หลายคนอาจจะยังปรับตัวไม่ทันเพราะช่วงชีวิตการทำงานที่ผ่านมาต้องพบปะเพื่อนร่วมงานทุกวัน และมีงานหรือกิจกรรมที่ต้องทำทุกวัน อาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจได้ ผู้เกษียณจึงต้องมีการเตรียมตัวหรือการวางแผน
วัยเกษียณ ต้องเผชิญอะไรบ้าง
ข้อมูลจากเว็บไซต์ ธนาคารไทยพาณิชย์ เผยถึงสิ่งที่วัยเกษียณต้องเผชิญ ว่า เมื่อถึงวัยเกษียณ อาจคิดว่าเป็นช่วงที่มีความสุข เพราะจะได้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น เดินทางท่องเที่ยวหรือทำในสิ่งที่อยากจะทำ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเผชิญหลายเรื่อง ซึ่งการเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ชีวิตมีความสุขมากที่สุด ในวัยเกษียณมี 3 เรื่องหลักๆ ดังนี้
1. รายได้ลดลง
เป็นปัญหาที่มีความสำคัญในช่วงวัยเกษียณ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการทำงานจากอายุ ทำให้รายได้ลดลง หรือมีโอกาสหารายได้ลดลงเมื่อเทียบกับตอนอยู่ในวัยทำงาน
2. ค่าใช้จ่ายยังมีเหมือนเดิม
เมื่อเกษียณอายุแล้ว หมายความว่าไม่มีงานทำ เมื่อไม่มีงานทำก็ไม่มีรายได้หลักเหมือนช่วงวัยทำงาน ซึ่งสวนทางกับค่าใช้จ่ายที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายจะมีสัดส่วนลดลงเมื่อเกษียณอายุแล้ว แต่ก็ยังเป็นค่าใช้จ่ายประจำและต่อเนื่องไปจนสิ้นอายุขัย
3. สุขภาพเสื่อมลง
ผู้สูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ไม่ดีเหมือนเดิม จึงเกิดอาการผิดปกติ ทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพไม่แข็งแรงหรือเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งหากพิจารณาถึงวิธีการดูแลและรักษาโรคเหล่านี้ต้องใช้เงินรักษาค่อนข้างสูง
4. เคล็ดลับ เตรียมพร้อมหลังเกษียณ
กรมอนามัย แนะผู้เกษียณอายุ เตรียมความพร้อม 4 ด้านทั้ง ด้านสุขภาพ ด้านการปรับตัวทางสังคมและจิตใจ ด้านพฤติกรรมการออม และด้านที่อยู่อาศัย เพื่อเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ ดังนี้
1) ด้านสุขภาพอนามัย
ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 6-8 ชั่วโมง หากิจกรรมที่สร้างรายได้ กิจกรรมการกุศลที่เสริมคุณค่าให้ตนเอง กิจกรรมการออกกำลังกายหรือกายบริหารทุกวันอย่างน้อย สัปดาห์ละ 5 วัน ครั้งละ 30 นาที ไม่ควรออกกำลังกายที่หนักเกินไป โดยเฉพาะข้อเข่าเพราะจะทำให้เข่ารับน้ำหนักมากขึ้นจนเป็นสาเหตุของข้อเข่าเสื่อม ทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมองเพื่อลดการเสื่อมต่าง ๆ ของร่างกาย ตรวจสุขภาพร่างกายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และฝึกจิตและสมาธิ เพื่อให้รู้จักปล่อยวาง มองโลกในแง่ดี เป็นการพัฒนาทางอารมณ์เพื่อไม่ให้แปรปรวนง่าย ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
2) ด้านการปรับตัวทางสังคมและจิตใจ
ควรศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ เพื่อให้ทันสมัย พูดคุยกับผู้อื่น รู้เรื่อง และอาจให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อลูกหลานได้ โดยเฉพาะลูกหลานและญาติควรให้ความสำคัญกับผู้เกษียณอายุ เพราะถือเป็นผู้สูงอายุประจำบ้าน ควรหาเวลาเพื่อพบปะหรือโทรศัพท์พูดคุยก็จะช่วยให้ผู้เกษียณไม่เหงาและเกิดภาวะซึมเศร้า
3) ด้านพฤติกรรมการออม
ต้องออมทรัพย์สำรองไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณให้เพียงพอในแต่ละเดือน จะช่วยลดปัญหาและภาวะเครียดจากค่าใช้จ่ายที่ไม่พอใช้ได้
4) ด้านที่อยู่อาศัย
ต้องวางแผนว่าจะพักอาศัยอยู่กับใคร หรืออยู่ตามลำพัง โดยควรจัดบ้านและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม คำนึงถึงความปลอดภัยเพื่อลดอุบัติเหตุและอันตรายต่าง ๆ เช่น ใช้วัสดุกันลื่นในห้องน้ำ มีราวจับ ใช้โถส้วมแบบนั่งราบ จัดบ้านให้โล่งและอากาศถ่ายเทได้สะดวก ดังนั้น ในช่วงวัยก่อนเกษียณจึงควรมีการเตรียมตัวหากลุ่มเพื่อน กลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ ไว้ หรืออาจหากลุ่มสมาชิกผู้สูงอายุใกล้ ๆ เพื่อจะได้ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เสริมคุณค่าให้กับชีวิต และเป็นการส่งเสริมสุขภาพกาย จิตใจ และลดความเสี่ยงภาวะซึมเศร้า เหงาและเครียดได้
ปรับตัว ปรับใจ สู่วัยเกษียณ
นพ.เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ (หมอเก่ง) อายุรแพทย์ประจำโรงพยาบาลผู้สูงอายุ Chersery home แนะนำ 3 เทคนิคในการปรับตัวปรับใจของผู้สูงวัย เพื่อรับความสุขวัยเกษียณ ดังนี้
1. เปิดใจความเห็นต่าง
การให้เกียรติผู้อื่น เป็นการให้ความเคารพนับถือ และยอมรับในความสามารถของผู้อื่น ด้วยการใช้กริยาวาจาสุภาพ อ่อนน้อม เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ฝึกเป็นคนที่รับฟังให้มาก ลองเปิดใจเพื่อให้เข้าใจผู้อื่นมากขึ้น และพร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ยอมรับความเปลี่ยนแปลงของสังคมวัฒนธรรมและเทคโนโลยี ความแตกต่างหลากหลายระหว่างช่วงวัย ประสบการณ์และการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้เข้ากับสังคม ครอบครัว และลูกหลาน เพื่อท่านจะสามารถเข้าใจคนสมัยใหม่ได้ดีขึ้น... พูดภาษาเดียวกันกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้สร้างบรรยากาศที่อบอุ่น และสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว
2. ปล่อยวางไม่ยึดติด
รับรู้แต่ไม่ยึดติด ไม่ว่าอารมณ์บวกหรืออารมณ์ลบ การรู้จักการปล่อยวางอารมณ์ โดยไม่ยึดมั่น ถือมั่นหรือยึดติดในตนเองกับอดีตที่ผ่านมา หมอคิดเสมอว่ากาลเวลาเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ความคิดก็จะเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย
ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าเด็กสมัยใหม่นั้นมีความรู้ความสามารถมาก และเรียนรู้ได้ค่อนข้างเร็วการที่ท่านเปิดใจกว้างปล่อยวางไม่ยึดติดกับประสบการณ์เดิม รับฟังสิ่งใหม่ อาจจะช่วยต่อยอด และประสบความสำเร็จได้ หากตัวท่านเองสามารถยอมรับได้ท่านจะมีความสุขขึ้นมาก ๆ เลยหล่ะครับ หากย้อนเวลาได้ ลองนึกถึงท่านเองว่าเมื่อสมัยวันรุ่น หรือวัยเด็ก ท่านอยากให้ผู้สูงวัยในสมัยท่านเปิดใจรับฟังความเห็นจากเราหรือไม่ ซึ่งตัวหมอเองก็คงมีความรู้สึกไม่ต่างกัน
3. เจริญจิต เจริญใจ
การหมั่นเจริญทางปัญญา ให้เห็นสภาพความเป็นจริงนั้น โดยการใช้เหตุและผลเข้ามาประกอบดังหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือศาสนาอื่น ๆ ก็ตาม หากเข้าใจหลักของความจริงที่ว่าทุกสิ่งบนโลกใบนี้ไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้และแน่นอน ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย สภาพจิตใจ สังคม วัฒนธรรม ซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นตามกลไกของธรรมชาติ สิ่งที่เราสามารถทำได้คือ ใจของเราต่างหากที่จะต้องปรับเปลี่ยน ปรับทัศนคติให้เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา
อีกทั้ง การหมั่นเจริญสติ ระลึกรู้อยู่กับปัจจุบัน ลมหายใจ การเคลื่อนไหว ผ่านการอบรม ฝึกฝน และนำมาปฏิบัติ แม้เพียง 3-5 นาที/ วัน ก็ทำให้จิตใจผ่องใสขึ้นแล้วนะครับ อีกทั้งยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การเล่นกีฬา ออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยให้หยุดหรือควบคุมอารมณ์และความคิดที่ทำให้ไม่มีความสุข ไม่ว่าจะเป็น อารมณ์โกรธความเครียด ความเหงา ความเศร้าก็ตาม
การปรับตัว ปรับใจพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุ จะช่วยให้ผู้สูงอายุ มีความสุข มีความภาคภูมิใจในตนเอง เห็นคุณค่าของตนเอง สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขแน่นอน
อ้างอิง : กรมอนามัย , ธนาคารไทยพาณิชย์ , Chersery home
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับกรุงเทพธุรกิจ
https://www.bangkokbiznews.com/health/well-being/1063118