ข่าวทั่วไป
“การเติบโตของภาวะผู้นำที่แท้จริง
ต้องพัฒนาจากภายในสู่ภายนอก
ถ้าปราศจากคุณสมบัติภายในของภาวะผู้นำส่วนบุคคลที่แข็งแรงแล้ว
ภาวะผู้นำที่เป็นทางการที่มีประสิทธิภาพก็เกิดขึ้นไม่ได้”
ปัจจุบันมีคนเก่งที่ก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำตั้งแต่อายุยังน้อยๆ
นับว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับคนรุ่นใหม่
แต่อุปสรรคที่มักจะกีดขวางความสำเร็จก็คือ
ภาวะผู้นำในตนเองยังไม่แข็งแรงพอที่จะเป็นผู้นำผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภาวะผู้นำก็เปรียบเสมือนต้นไม้ “ภาวะผู้นำที่เป็นทางการ”
คือลำต้น กิ่งก้าน และใบ ที่ปรากฏให้เห็นจากภายนอก
ซึ่งการที่ต้นไม้จะเจริญงอกงามได้
ก็ต่อเมื่อมันสามารถพัฒนาระบบรากที่อยู่ใต้ดินให้แข็งแรงเสียก่อน
“ภาวะผู้นำส่วนบุคคล” ก็คือ
เครือข่ายของรากที่ให้อาหารและบำรุงภาวะผู้นำที่เป็นทางการ ทำนองเดียวกัน
การเติบโตของภาวะผู้นำที่แท้จริง ต้องพัฒนาจากภายในสู่ภายนอก ถ้าปราศจากคุณสมบัติภายในของภาวะผู้นำส่วนบุคคลที่แข็งแรงแล้ว ภาวะผู้นำที่เป็นทางการที่มีประสิทธิภาพก็เกิดขึ้นไม่ได้
การรู้จักตนเอง เป็นพื้นฐานในการนำตนเอง ภาวะผู้นำส่วนบุคคลที่แท้จริง
ไม่ใช่การเดินตามแนวทางที่ผู้อื่นสร้างไว้
หรือการเรียนรู้วิธีประสบความสำเร็จจากคนอื่น
แต่หมายถึงการรู้จักตนเองอย่างลึกซึ้งว่า ตนเองเป็นใคร มีจุดยืนอะไร
เข้าใจถึงพรสวรรค์และความสามารถเฉพาะตัวที่มี
และสามารถดึงจุดแข็งของตัวเองออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การรู้จักตนเองจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะคนเรามีบุคลิกที่ซับซ้อนอันเกิดจากความต้องการ
และแรงกระตุ้นบางอย่างที่ส่งอิทธิพลจากภายใน และยังมีแรงกดดันจากภายนอก
ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว สังคม และสภาพแวดล้อม
การพัฒนาภาวะผู้นำส่วนบุคคล
เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องอาศัยความเข้าใจและลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง
จึงใคร่ขอนำเนื้อหาบางส่วนจากหลักสูตร Effective Personal Leadership ของ
LMI International Inc. มาแบ่งปัน และขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ :
หลักสำคัญ 6 ประการของการพัฒนาภาวะผู้นำส่วนบุคคล
1. การมีความรับผิดชอบส่วนบุคคล Personal Responsibility : หมายถึงมีความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจ
ทัศนคติ การกระทำ และคำพูดของตัวเอง รวมทั้งผลที่จะตามมา ไม่ว่าดีหรือร้าย
ไม่กล่าวโทษคนอื่น
ตระหนักว่ามีแต่ตัวเองเท่านั้นที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงหรือทำให้เกิดผลที่ดีกว่าเดิมได้
ก่อให้เกิดการสร้างแรงจูงใจจากทัศนคติในทางบวก
แทนที่จะสร้างแรงจูงใจจากความกลัว หรือจากสิ่งตอบแทนภายนอกที่ไม่ยั่งยืน
2. การมีเป้าหมาย Purpose : การคิดให้ตกผลึกว่า
อะไรคือเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงที่เราต้องการ
และตอนนี้เราอยู่ที่ไหนเมื่อเทียบกับเป้าหมายนั้น
ซึ่งต้องอาศัยการรู้จักตนเอง มีความฝันและความปรารถนา
และเมื่อได้ตกลงเลือกทางใดแล้ว ก็ต้องยึดมั่นต่อการตัดสินใจนั้น
ด้วยความกล้าหาญและเชื่อมั่นในตนเองเป้าประสงค์ที่เรามีความปรารถนามากที่สุด
ควรจะอยู่ในลำดับความสำคัญสูงสุด
3. การวางแผน Plan : การลงมือเขียนแผนเพื่อวางแนวทางปฏิบัติและกำหนดเวลาในการทำให้เป้าประสงค์สำเร็จเป็นจริง
จะช่วยลดการผัดวันประกันพรุ่ง และติดตามความก้าวหน้าได้อย่างกระตือรือร้น
4. การมีความหลงใหล Passion : ความปรารถนาทะยานอยากกระตุ้นให้ลงมือทำ
การสร้างความปรารถนาเป็นความรู้สึกจากข้างใน
เราสามารถกระตุ้นอารมณ์อยากได้เหมือนความอยากทางกายภาพ
โดยการสร้างภาพเสมือนจริงในจินตนาการอย่างมีสมาธิจดจ่อและเชื่อมั่น
ยิ่งเราสร้างมโนภาพของเป้าประสงค์และผลตอบแทนความสำเร็จได้ชัดเจนมากเท่าใด
เราก็จะยิ่งรู้สึกมีความทะยานอยากมากเท่านั้น
5. การมีความคาดหวังในเชิงบวก Positive Expectancy : เราสามารถเปลี่ยนทัศนคติและอุปนิสัยที่มีอยู่เดิมได้ด้วยการป้อนข้อมูลเชิงบวกและความมั่นใจเข้าไป
จิตก็จะมีปฏิกิริยาโต้ตอบในแบบนั้น
การสร้างทัศนคติของความคาดหวังในเชิงบวก
จะทำให้เกิดความกระตือรือร้นในการทำความฝันให้เป็นจริง
ซึ่งสามารถทำได้ด้วยสามขั้นตอนคือ ก)
รู้ว่าตัวเองยืนอยู่ที่จุดใดในปัจจุบัน ข) เติมใจด้วยความคิดเชิงบวก ค)
สร้างมโนภาพชีวิตใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิมในแบบที่วางแผนไว้
6. การมีความแน่วแน่เพียรพยายาม Persistence : มีความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะทำให้เป้าประสงค์บรรลุผลสำเร็จ
ไม่ว่าคนอื่นจะมีความเห็น หรือทำ หรือพูด อย่างไรก็ตาม
การสร้างความมุ่งมั่นให้กล้าแกร่ง สามารถทำได้โดย ก)
รักษาทัศนคติให้มั่นคงหนักแน่น ข) มีความมุ่งมั่นอดทน ค)
สามารถจัดลำดับความสำคัญ
นอกจากนี้ การพัฒนาภาวะผู้นำที่มีประสิทธิภาพ
ยังต้องอาศัยการฝึกให้มีความฉลาดทางอารมณ์ โดยที่สามารถตระหนักรู้ว่า
ตนเองมีความรู้สึกอย่างไร และความรู้สึกนั้นส่งผลต่อพฤติกรรมของตนอย่างไร
ขณะเดียวกัน
ก็สามารถควบคุมความคิดและการกระทำที่เป็นผลมาจากการตอบสนองทางอารมณ์นั้นได้
ซึ่งจะส่งผลให้เป็นคนที่สามารถควบคุมสติได้ดี
ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบใดก็ตาม
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับการเงินการธนาคาร
http://https//www.prachachat.net/finance/news-1296342
29/04/2024
13/06/2024
30/04/2024
30/04/2024
29/04/2024