ข่าวการเงิน
KBank Private Banking ชี้ “ผู้จัดการมรดก”
คีย์แมนคนสำคัญต่อการบริหารทรัพย์สินครอบครัว
เมื่อเกิดการสูญเสียสมาชิกในครอบครัว แจง “ทายาท-ผู้รับมรดก”
จำเป็นต้องรู้บทบาท-หน้าที่ของผู้จัดการมรดก
วันที่ 15 มิถุนายน 2566 นายพีระพัฒน์ เหรียญประยูร Managing Director,
Wealth Planning and Non Capital Market Head, Private Banking Group
ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เมื่อเกิดการสูญเสียสมาชิกในครอบครัว
หลังจากที่สมาชิกในครอบครัวต้องแจ้งการเสียชีวิตภายใน 24
ชั่วโมงต่อสำนักเขต หรือที่ว่าการอำเภอเพื่อออกใบมรณบัตรแล้ว
อีกสิ่งที่จำเป็นต้องทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่มีทรัพย์สินมาก
คือการตั้ง “ผู้จัดการมรดก” เพื่อดำเนินการ 4
เรื่องสำคัญต่อทรัพย์มรดกของผู้เสียชีวิต ได้แก่
1) รวบรวมทรัพย์สินและหนี้สิน : อสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์สินทางการเงิน เช่น
บัญชีเงินฝาก ยานพาหนะ และทรัพย์สินประเภทอื่น ๆ เช่น ทองคำ เครื่องประดับ
2) จัดการทรัพย์มรดก : ดูแล รักษา หรือจัดการทรัพย์มรดกตามที่จำเป็น หรือที่ระบุไว้ในพินัยกรรม
3) จัดแบ่งทรัพย์มรดก : แบ่งสินสมรส (ถ้ามี) และแบ่งทรัพย์มรดกให้ทายาท/ผู้รับพินัยกรรม
4) ยื่นภาษีเงินได้ : ในปีแรกที่เสียชีวิต ให้ยื่นภาษีเงินได้ในนามผู้ตาย
และในปีถัดจากปีที่เสียชีวิต หากยังไม่ดำเนินการแบ่งทรัพย์สินให้ทายาท
ให้ยื่นภาษีเงินได้ในนามกองมรดก (ต้องขอเลขผู้เสียภาษีต่างหาก)
ขั้นตอนในการตั้งผู้จัดการมรดก ให้ทายาท หรือผู้ร้อง
(อาจเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เช่น เจ้าหนี้)
ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ดำเนินการตั้งผู้จัดการมรดกโดยแบ่งออกเป็น 2
กรณีคือ
1. กรณีที่ไม่มีพินัยกรรม อาจขอให้ตั้งทายาท/คู่สมรส คนใดคนหนึ่ง
หรือร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดก
หรือตั้งบุคคลอื่นที่ไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามกฎหมาย
2. กรณีที่มีพินัยกรรมและมีการระบุผู้จัดการมรดกไว้แล้ว ให้ตั้งบุคคลที่ระบุไว้ในพินัยกรรมเป็นผู้จัดการมรดก
หลังจากศาลได้ประกาศเพื่อให้ทายาทคัดค้าน และไต่สวนคุณสมบัติผู้ร้อง
หากไม่มีการคัดค้าน ศาลจะมีคำสั่งให้ตั้งผู้จัดการมรดก ภายในระยะเวลา 2-3
เดือน จากนั้นผู้จัดการมรดกมีหน้าที่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน
และต้องเสร็จภายใน 1 เดือน หรือตามระยะเวลาที่ศาลขยายให้
รวมทั้งจะต้องดำเนินการทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งปันมรดกภายใน 1 ปี
หรือตามระยะเวลาที่ทายาท/ศาล กำหนดไว้ด้วย
หากผู้จัดการมรดกไม่ทำตามหน้าที่/ทุจริต ทายาท ผู้รับพินัยกรรม หรือผู้มีส่วนได้เสียในมรดก สามารถดำเนินการกับผู้จัดการมรดกได้ เช่น
ถอนผู้จัดการมรดก
ทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกสามารถยื่นร้องต่อศาลขอให้ถอนผู้จัดการมรดกคนเดิม
และตั้งคนใหม่ได้ หากผู้จัดการมรดกไม่ทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น
ไม่เริ่มทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน
หรือไม่แบ่งทรัพย์สินให้ทายาทให้เสร็จสิ้น
และไม่ทำรายงานบัญชีแบ่งทรัพย์มรดกยื่นต่อศาลภายใน 1 เดือน
ตามที่กฎหมายกำหนด
ฟ้องให้แบ่งทรัพย์มรดก
มักเกิดขึ้นในกรณีที่ทายาทขอให้ผู้จัดการมรดกแบ่งทรัพย์มรดกให้ทายาท
แต่ผู้จัดการมรดกไม่ยอมแบ่งทรัพย์มรดกให้ทายาทตามที่กฎหมายกำหนด เช่น
อ้างว่าเป็นทรัพย์กงสีห้ามแบ่ง หรือผัดผ่อนการแบ่งไปเรื่อย ๆ
หรือปฏิเสธไม่แบ่งด้วยเหตุผลอื่น ทายาทสามารถฟ้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้
ฟ้องเพิกถอนการโอนมรดก
ในกรณีที่ผู้จัดการมรดกขายทรัพย์มรดกไม่เป็นไปตามราคาท้องตลาด
ขายทรัพย์มรดกโดยไม่นำเงินมาแบ่งทายาท
โอนทรัพย์มรดกให้บุคคลอื่นโดยไม่มีค่าตอบแทน
รับโอนทรัพย์มรดกมาเป็นของตนเองคนเดียวไม่แบ่งทายาทคนอื่น
ดำเนินคดีอาญาความผิดฐานยักยอก
ในกรณีที่ผู้จัดการมรดก โอนทรัพย์มรดกให้ตนเองคนเดียว ไม่แบ่งทายาทอื่น
หรือแสดงเจตนาว่าจะเอาทรัพย์มรดกไว้คนเดียว ไม่แบ่งทายาทอื่น
โอนทรัพย์มรดกให้ทายาทคนหนึ่ง แต่ไม่แบ่งให้คนอื่น ทั้งที่มีทายาทหลายคน
จงใจขายทรัพย์มรดกในราคาที่ต่ำเกินสมควร ในลักษณะสมรู้ร่วมคิดกับผู้ซื้อ
เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่ไม่ควรได้
ในกรณีนี้ต้องชัดเจนว่าผู้จัดการมรดกกระทำการโดยไม่สุจริต
ยักย้ายถ่ายเทหรือโอนทรัพย์มรดก ทำให้เกิความเสียหายแก่ทายาท
ต้องแจ้งความภายใน 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องการกระทำความผิด
และรู้ตัวผู้กระทำความผิด
“จะเห็นได้ว่าผู้จัดการมรดก มีหน้าที่ในการจัดการมรดกโดยทั่วไป
ไม่ว่าจะเป็น การรวบรวมทรัพย์มรดก เพื่อแบ่งให้ทายาท
ตลอดจนชำระหนี้สินของเจ้ามรดกแก่เจ้าหนี้
ทำบัญชีทรัพย์มรดกและรายการแสดงบัญชีการจัดการ
ซึ่งหากผู้จัดการมรดกไม่ใช่ทายาท หรือผู้รับพินัยกรรมของเจ้าของมรดก
ผู้จัดการมรดกก็จะไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดก
จึงถือว่าไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก” นายพีระพัฒน์กล่าว
นอกจากนี้ หากผู้จัดการมรดกไม่ดำเนินการตามหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้
หรือทำการทุจริตต่อทรัพย์มรดก อาจถูกดำเนินการทางกฎหมายด้วย
ผู้จัดการมรดกจึงถือเป็นคีย์แมน
หรือบุคคลสำคัญในการบริหารจัดการและดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับมรดก
ทั้งทรัพย์สินที่ต้องส่งต่อแก่ทายาท หรือการจัดการเรื่องหนี้สิน
โดยหากเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมไว้ ผู้จัดการมรดกก็สามารถจัดการสิ่งต่าง ๆ
ได้ง่ายขึ้น แต่หากไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ต้องดำเนินการต่าง ๆ ตามขั้นตอน
“ดังนั้น
การทำพินัยกรรมกำหนดผู้จัดการมรดกที่มีความเป็นกลางหรือที่ทายาททุกคนยอมรับไว้ตั้งแต่ต้น
อาจไม่ใช่บุคคลที่เป็นทายาทก็ได้ อาจช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้”
นายพีระพัฒน์กล่าว
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
30/04/2024
30/04/2024
30/04/2024
29/04/2024
30/04/2024