สาระ ล่ำซำ ไม่กังวล “เศรษฐกิจชะลอ-ความไม่แน่นอนทางการเมือง-ภาวะเงินเฟ้อกระทบกำลังซื้อ” ย้ำไม่ใช่แฟกเตอร์ใหม่ ธุรกิจประกันชีวิตอยู่มานานกว่า 70-90 ปี ผ่านวัฏจักรเหล่านี้มาหมดแล้ว-ค่อนข้างอนุรักษนิยม มั่นใจสิ้นปี’66 เบี้ยรวมโต 2%
วันที่ 31 กรกฎาคม 2566 นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต (MTL) ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า
ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย. 2566) ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 300,005 ล้านบาท เติบโต 3.78% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) มาจากเบี้ยประกันชีวิตรายใหม่ 86,802 ล้านบาท เติบโต 8.93% แยกเป็นเบี้ยปีแรก 56,456 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.44% และเบี้ยซิงเกิลพรีเมี่ยม 30,346 ล้านบาท ลดลง 0.03% ขณะที่เบี้ยปีต่ออายุ 213,203 ล้านบาท เติบโต 1.82% โดยมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ 82%
โดยการเติบโตของเบี้ยปีแรก หลัก ๆ มาจากแบบประกันสะสมทรัพย์ เติบโต 24.97% แบบประกันตลอดชีพ เติบโต 23.71% สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพและโรคร้ายแรง เติบโต 7.8% ซึ่งถือเป็นตัวชูโรงของภาคธุรกิจในปัจจุบัน และแบบประกันบำนาญ เติบโต 48.89% ทั้งนี้แม้ดูเหมือนจะโตมาก แต่ยังมาจากฐานที่ต่ำ
ส่วนการลดลงของเบี้ยซิงเกิลพรีเมี่ยม จะมาจากแบบประกันชีวิตควบการลงทุน (unit-linked) ที่ติดลบ 81.55% ตามภาวะตลาดทุนที่มีความผันผวนสูง และจากแบบประกันสะสมทรัพย์ ที่ติดลบ 26.03% ภายใต้เส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve) ที่ลดลงมาตลอด กดดันแบบประกันสะสมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง (high yield) ลดลงไป
สำหรับเบี้ยต่ออายุถือว่ายังโตดีที่ 1.82% แต่อาจจะโดนกดดันจาก paid-up และ maturity (กรมธรรม์ครบกำหนด) จากแบบประกันตลอดชีพ ซึ่งติดลบ 4.56% อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการขอยกเลิกกรมธรรม์ (surrender) ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
“จนถึงสิ้นไตรมาส 2/2566 มีอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิต (penetration rate) คิดเป็นสัดส่วน 38-39% ของจำนวนประชากรไทย หรือมีค่าเบี้ยเฉลี่ยต่อหัวประมาณ 9,000 บาท ซึ่งอาจจะลดลงเล็กน้อยจากแบบประกันสะสมทรัพย์ที่หายไป
โดยถือว่ามีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตของ GDP กว่า 3% อย่างไรก็ตาม วันนี้การเข้าถึงและแบบประกันที่ใช่ และราคาที่ใช่ จะสำคัญมาก อาจจะมีบางกลุ่มเซ็กเมนต์ที่ต้องการเรื่องประกันชีวิตแต่ยังเข้าไม่ถึง” นายสาระกล่าว
ทั้งนี้คาดการณ์ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในปีนี้ จะมีเบี้ยรับรวมอยู่ที่ 612,500-623,500 ล้านบาท เติบโตกว่า 2% YOY โดยในช่วงครึ่งปีหลังภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวจากภาคท่องเที่ยว และคาดหวังแนวโน้มกระแสรักสุขภาพ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการผ่อนคลายกฎระเบียบ
ส่วนปัจจัยความท้าทายที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งจะส่งผลต่อระดับอัตราดอกเบี้ย ที่ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีทิศทางที่ปรับสูงขึ้น แต่ยังต้องมีความระมัดระวังในการเลือกลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท
และความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมือง ที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนได้ รวมถึงสงครามการค้าสหรัฐ-จีน และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อ-ราคาสินค้าแพง ซึ่งจะกดดันต่อกำลังซื้อ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยความท้าทายดังกล่าวไม่ใช่แฟกเตอร์ใหม่ในแง่การบริหารจัดการของธุรกิจประกันชีวิต เนื่องจากเคยผ่านวัฏจักรเศรษฐกิจและเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้มาหมดแล้ว หลายบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยมีอายุกว่า 70-90 ปี
ขณะเดียวกันธุรกิจประกันชีวิตเองก็ค่อนข้างอนุรักษนิยม (conservative) เพราะต้องผูกสัญญาระยะยาวกับผู้เอาประกัน และถูกควบคุมโดยสำนักงาน คปภ. ซึ่งกำหนดให้ลงทุนเน้นหนักในตราสารหนี้ ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ และลงทุนในบริษัทต้องอยู่ในระดับ investment grade
“เราเป็นคนที่บริหารเรื่องความเสี่ยง (risk) และเราเองก็ต้องบริหารความเสี่ยง (risk management) ให้ดีกับตัวเราด้วย” นายกสมาคมประกันชีวิตไทยกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2566 พบว่า 10 บริษัทประกันชีวิตมีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) รวมกัน 92.58% ของเบี้ยรับรวม จากทั้งหมด 22 บริษัท และเฉพาะ 5 บริษัทแรก มีมาร์เก็ตแชร์รวมกันสูงถึง 72.12% ของเบี้ยรับรวม
โดย 10 อันดับแรกที่มีเบี้ยรับรวมสูงสุด ประกอบด้วย 1.เอไอเอ 2.เอฟดับบลิวดีประกันชีวิต 2.ไทยประกันชีวิต 4.เมืองไทยประกันชีวิต 5.กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต 6.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต 7.กรุงเทพประกันชีวิต 8.พรูเด็นเชียลประกันชีวิต 9.ไทยสมุทรประกันชีวิต และ 10.โตเกียวมารีนประกันชีวิต
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์