ประกันชีวิต
ทำไมเราจึงต้องซื้อประกันชีวิต ?
คอลัมน์ : คุยฟุ้งเรื่องการเงิน
ผู้เขียน : Actuarial Business Solutions [ABS]
ทำไมเราจึงต้องซื้อประกันชีวิต ? อย่างแรก เป็นการสร้างนิสัยของการออมเงินที่เหมาะสม การซื้อประกันชีวิตช่วยให้เราออมเงินได้อย่างสม่ำเสมอ เป็นการสร้างลักษณะนิสัยของการออมเงินที่ดี และช่วยให้แต่ละคนสามารถสร้างโครงการออมทรัพย์ของตัวเองได้ ผู้ถือกรมธรรม์จะได้รับการแจ้งให้ทราบว่า เมื่อถึงกำหนดที่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกัน
และเมื่อไหร่ที่เขาจะได้เงินคืนในแต่ละช่วงเวลาจนกว่าจะสิ้นสุดสัญญาของกรมธรรม์ โดยจัดเป็นเรื่องที่แน่นอน เช่น จำนวนเงินที่ฝาก ระยะเวลาที่จะต้องฝาก และจำนวนเงินที่จะมีเหลืออยู่ตลอดเวลาในแต่ละปี ถ้าหากว่าเรามีการออมเงินอยู่ในบัญชีเงินฝากหลาย ๆ ที่
และในขณะเดียวกันก็มีกรมธรรม์ประกันชีวิตด้วย จะสังเกตได้ว่าเมื่อเราต้องการใช้เงิน การเลือกที่จะปิดหรือถอนเงินออกมาจากกรมธรรม์ประกันชีวิต ควรจะเป็นทางเลือกสุดท้าย เมื่อเทียบกับการถอนเงินจากบัญชีฝากออมทรัพย์
อย่างที่สอง เป็นการลงทุนระยะยาว อีกแบบหนึ่งที่หาไม่ได้จากพันธบัตร และหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทประกันชีวิตส่วนใหญ่จะมีแบบความคุ้มครองไปจนถึงเกษียณอายุหรือตลอดชีวิต ซึ่งนั่นก็ถือว่าเป็นการลงทุนระยะยาว
อีกทั้งผลประโยชน์ที่ระบุไว้ในสัญญาก็เป็นสิ่งที่การันตีไว้อย่างดี และแอ็กชัวรี่ (actuary) ก็จะต้องตั้งวงเงินสำรองกรมธรรม์เพื่อให้บริษัทมีเงินเพียงพอ กับผลประโยชน์จ่ายคืนในอนาคตตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์คืนกลับมาอย่างแน่นอน
อย่างที่สาม ข้อดีในด้านภาษี สำหรับคนที่ต้องเสียภาษี ก็จะทราบว่าการซื้อประกันชีวิตนั้นสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทันคิดว่า เงินคืน เงินปันผล หรือผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่ได้จากกรมธรรม์ประกันชีวิตนั้นก็ให้ประโยชน์ทางด้านภาษีด้วย
เพราะไม่ต้องถูกนำไปเสียภาษี พันธบัตรหรือหุ้นที่ซื้อขายในประเทศไทยนั้นจะต้องเสียภาษีไม่ตอนซื้อก็ตอนขาย หรือทั้งตอนซื้อ และตอนขาย ซึ่งรายละเอียดนั้นอาจจะสอบถามได้จากช่องทาง การจัดจำหน่ายของเครื่องมือการลงทุนในแต่ละประเภท นอกจากนี้ภาษีมรดกก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หลาย ๆ คนอาจจะมองข้ามไปหรือไม่เคยได้วางแผนเอาไว้เลย
ดังนั้น ด้วยเหตุผลที่กล่าวไว้ข้างต้น การซื้อประกันชีวิตนั้นถือได้ว่าเป็นมรดกที่ปลอดภาษี
อย่างสุดท้าย การซื้อประกันชีวิตเป็นการลงทุนเพียงอย่างเดียวที่ช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถบริหารความเสี่ยง หรือบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดจากความเจ็บป่วยหรือความตาย และคำนวณไว้ล่วงหน้าว่าความเจ็บป่วยหรือความตายที่มีโอกาสมาเยือนได้ตลอดเวลา ก่อนที่ผู้ลงทุนจะสามารถสะสมรายได้ในจำนวนมากเพียงพอให้กับคนข้างหลัง
เพราะฉะนั้นแล้ว คนเราซื้อประกันชีวิต เพราะรู้ดีว่าคนเรานั้นเมื่อเกิดสักวันหนึ่งก็ต้องแก่ เจ็บ และตาย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ “ทำลายพลังในการหาเงิน (earning power) ในภายภาคหน้า” ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ผู้ที่อยู่ข้างหลังได้รับความเดือดร้อนทางการเงิน
อย่างไรก็ดีคำถามที่เจออยู่บ่อย ๆ ก็คือ “แล้วคนเราควรจะทำประกันชีวิตไว้ซักเท่าไรถึงจะพอ” ซึ่งคำตอบนั้นก็คงต้องกลับไปที่ concept เดิมที่ว่าการประกันชีวิตเป็นความคุ้มครองที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องเวลา ซึ่งถ้าคิดว่าคนข้างหลังของคนที่เสียชีวิตไปนั้น จะใช้เวลา 3 ปีในการปรับตัวหลังจากการพลังในการหาเงิน (earning power) ได้หายไป
นั่นหมายความว่า คนคนนั้นควรจะทำประกันชีวิตที่มีวงเงินคุ้มครอง เท่ากับรายได้ของคนคนนั้นถึง 3 ปี ดังนั้นคำตอบจึงไม่ตายตัว เพราะขึ้นกับคนซื้อประกันชีวิตว่ามีมุมมองอย่างไรต่อการปรับตัวของคนข้างหลังที่อาจได้รับความเดือดร้อน หากคนที่ซื้อประกันชีวิตต้องมีอันจากไปก่อนเวลาอันควร
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
X