ประกันภัย
คปภ.คลอดประกันรถอีวี บังคับใช้มกราคม 2567 ชี้ต้นแบบของการประกันภัยรถยนต์ในอนาคต ยึดหลักเกณฑ์ “ระบุชื่อผู้ขับขี่” พร้อมวางโครงสร้างความคุ้มครอง “แบตเตอรี่” ตามระยะเวลาใช้งาน กำหนดส่วนลดเบี้ย “คนขับ” ประวัติดีสูงสุด 40% ด้านสมาคมประกันวินาศภัยไทย คาดยอดขายประกันรถอีวีปีหน้าโตก้าวกระโดด มีเบี้ยหลายพันล้านบาท ประเมินรถอีวีจดทะเบียนสะสมปีนี้ 7 หมื่นคัน “เมืองไทยประกันภัย” ตั้งเป้ารับประกันรถอีวีปีหน้า 5,000 คัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเทรนด์การใช้รถยนต์อีวีของประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย. 66) มียอดจดทะเบียนรถอีวีใหม่ 31,515 คัน คิดเป็นกว่า 9% ของยอดจดทะเบียนรถยนต์ทั่วประเทศ โดยคาดว่าทั้งปีจะมียอดจดทะเบียนใหม่ถึง 6 หมื่นคัน เรียกว่าพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยให้การตอบรับกับการใช้รถอีวีอย่างดี
ประกอบกับรัฐบาลมีมาตรการลดภาษีและเงินอุดหนุนสำหรับซื้อรถอีวี ทำให้ตลาดรถอีวีมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างอุตสาหกรรมประกันรถยนต์ก็ต้องมีการออกกรมธรรม์แบบใหม่ เพื่อให้ความคุ้มครองที่สอดรับกับผลิตภัณฑ์รถอีวี ซึ่งชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าสูงสุดคือ “แบตเตอรี่”
คลอดแบบประกันรถอีวี
นายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในฐานะประธานคณะทำงานการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความคืบหน้าการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยรถอีวี ขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้วประมาณ 80-90% โดยจะเป็นกรมธรรม์ต้นแบบของการประกันภัยรถยนต์ในอนาคต
สาระสำคัญคือ 1. กำหนดกรมธรรม์แบบระบุชื่อผู้ขับขี่ทั้งหมด เพื่อจะเก็บสถิติประวัติของผู้ขับขี่ และสร้างแรงจูงใจให้ผู้เอาประกันที่ขับรถดี ได้แต้มต่อในการจ่ายเบี้ยประกันที่ต่ำลง ทั้งยังจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุได้ด้วย
2. วางโครงสร้างกรมธรรม์ระบุความรับผิดต่อตัวแบตเตอรี่ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งปัจจุบันการรับประกันของผู้ผลิต ตัวแบตเตอรี่อยู่ที่ประมาณ 8 ปี จึงพยายามยึดตัวนี้มาเป็นหลักการคิดคำนวณค่าเสื่อมของอายุแบตเตอรี่ เนื่องจากตามหลักการประกันภัยจะเป็นการชดใช้ความเสียหายตามมูลค่า ณ การเกิดเหตุ
“แน่นอนว่าเวลาเกิดเหตุในปีแรกกับการเกิดเหตุในปีที่ 5 ตัวมูลค่าความรับผิด แบตเตอรี่ไม่เท่ากันอยู่แล้ว แต่กรมธรรม์จะมีทางเลือกให้ผู้เอาประกันมีโอกาสได้รับการชดใช้เต็มราคา หรือเปลี่ยนของใหม่ทดแทนได้ โดยจะมีเอกสารแนบท้ายที่สามารถซื้อประกันเพิ่มเติมตามสมัครใจได้”
3. เรื่องหลักการอื่น ๆ ยังยึดโครงจากกรมธรรม์ประกันรถยนต์เดิม แต่จะมีการปรับรายละเอียดเพื่อตีความให้ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าพบการซ่อมหรือดัดแปลงแบตเตอรี่ โดยช่างที่ไม่ได้รับการรับรองจากผู้จำหน่ายหรือผู้ผลิตรถนั้น ๆ ความเสียหายที่เกิดขึ้น กรมธรรม์จะไม่คุ้มครอง รวมถึงหากมีการดัดแปลงซอฟต์แวร์ ทำให้ตัวรถทำงานผิดพลาดแล้วไปเกิดอุบัติเหตุ เบื้องต้นกรมธรรม์จะให้ความคุ้มครองไปก่อน แต่จะให้สิทธิบริษัทประกันเรียกคืนค่าเสียหายได้
บังคับใช้ 1 ม.ค. 67
นายอาภากรกล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้นำเสนอหลักการต่อ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ.ไปเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสรุปออกเป็นประกาศคำสั่งนายทะเบียนได้ช่วงเดือนกันยายนนี้ โดยจะให้เริ่มใช้กรมธรรม์ประกันภัยรถอีวี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
“เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ จะมีความเกี่ยวพันในระบบ ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ผู้ผลิต ดีลเลอร์ ช่องทางการขาย บริษัทประกันภัย และสำนักงาน คปภ. จึงต้องทำความเข้าใจกันใหม่หมด ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน”
สำหรับรถอีวีเก่าที่มีการต่ออายุ อยากให้บริษัทประกันอธิบายให้ผู้เอาประกันเข้าใจให้ชัดเจนด้วย เพราะเกณฑ์จะแตกต่างจากเดิม คือต้องมีการระบุชื่อผู้ขับขี่้ ส่วนกรณีรถที่ต่ออายุไปก่อนมีผลบังคับใช้ก็จะอนุโลมให้ได้
“ปัจจุบันพบสถิติอัตราส่วนค่าสินไหมทดแทน (loss ratio) จากรถอีวีอยู่ประมาณกว่า 60% ซึ่งถือว่าใกล้เต็มสตรีมแล้ว เพราะโครงสร้าง loss ratio จะมีค่าคอมมิชชั่น 18% กำไร 5% และค่าบริหารจัดการ 15%”
เพิ่มส่วนลดประวัติ “คนขับ”
นายวาสิต ล่ำซำ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.เมืองไทยประกันภัย (MTI) ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับส่วนลดเบี้ยประกันรถอีวีเบื้องต้น วางแนวทางส่วนลดประวัติดี (no claim bonus) ไว้ 2 แบบคือ
1. ส่วนลดประวัติของ “ตัวรถ” ซึ่งกรมธรรม์รถยนต์สันดาปปัจจุบันมีอยู่แล้ว ตั้งต้นที่ 10-50% แต่กรมธรรม์ประกันรถอีวีอาจจะให้ส่วนลดเบี้ยแค่สูงสุดไม่เกิน 20-30% แต่จะเพิ่ม 2. ส่วนลดประวัติของตัวผู้ขับขี่ ซึ่งจะสามารถเก็บข้อมูลได้จากที่กรมธรรม์กำหนดให้ต้องระบุชื่อผู้ขับขี่ ซึ่งในส่วนนี้จะได้รับส่วนลดสูงสุด 10-40% ซึ่งที่กรมธรรม์รถยนต์แบบเดิมไม่มี
แบ่งอัตราเบี้ย 5 กลุ่ม
นายวาสิตกล่าวว่า ช่วงต้นเดือน ก.ย. 2566 จะมีการประชุมหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับพิกัดอัตราเบี้ย (tariff rate) ว่าจะระบุยี่ห้อรถหรือรุ่นรถหรือไม่ แต่เบื้องต้นจะวางราคารถเป็นตัวตั้ง เช่น ราคารถไม่เกิน 1 ล้านบาท อาจจะจัดเป็นรถกลุ่ม 5 (รถเอเชียขนาดเล็ก), ราคารถ 1-2 ล้านบาท จัดเป็นรถกลุ่ม 4 (รถเอเชียขนาดกลาง), ราคารถ 2-3 ล้านบาท จัดเป็นรถกลุ่ม 3 (รถเอเชียขนาดใหญ่) และมากกว่า 3-5 ล้านบาท จัดเป็นรถกลุ่ม 2 (กลุ่มรถยุโรปที่เป็นที่รู้จักทั่วไป) แต่ถ้าเป็นรถสปอร์ตหรือรถนำเข้าจะเพิ่มขึ้นไปอีกขั้น
“ตอนนี้คนชอบเทียบค่าเบี้ยรถอีวีแพงกว่ารถยนต์สันดาป โดยเฉพาะรถกลุ่ม 5 แต่ตัวหนึ่งที่คนไม่ได้มองคือ วิธีการซ่อมกับมูลค่าการซ่อม ซึ่งรถสันดาปเป็นอะไหล่ประกอบและผลิตภายในประเทศ แต่อะไหล่รถอีวีส่วนใหญ่ยังเป็นรถนำเข้า ซึ่งราคาแพงกว่า ดังนั้นต้นทุนการซ่อมแพงกว่า เบี้ยไม่สามารถถูกกว่าได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเมื่อมีบริษัทผู้ผลิตรถในประเทศมากขึ้น ค่าเบี้ยประกันน่าจะลดลงได้”
ลุ้นต่อมาตรการภาษีอีวี
นายวาสิตกล่าวต่อว่า ในปี 2567 ประเทศไทยจะมีผู้ผลิตรถอีวีภายในประเทศอย่างน้อย 2-3 ยี่ห้อ ประกอบด้วย BYD, NETA และ AION ที่กำลังจะสร้างโรงงาน จำนวนการผลิตต่อปีรวมเป็นแสนคัน ดังนั้นยอดขายรถอีวีน่าจะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ปัจจัยที่สำคัญมากซึ่งยังไม่มีข้อสรุปคือ การต่อมาตรการสนับสนุนด้านภาษีจากกรมสรรพสามิต หากผลักดันต่อได้ก็จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในราคาที่เหมาะสมที่ประชาชนจะซื้อรถอีวีได้มาก
ทั้งนี้คาดว่าปิดสิ้นปี 2566 จะมีรถอีวีจดทะเบียนสะสมประมาณ 7-8 หมื่นคัน เป็นรถป้ายแดงกว่า 4 หมื่นคัน และคาดการณ์ยอดขายประกันรถอีวีในปี 2567 จะมีเบี้ยหลายพันล้านบาท ประเมินจากรถอีวีจดทะเบียนสะสมปีนี้ 7 หมื่นคัน บวกกับยอดขายรถอีวีป้ายแดงปีหน้าประมาณ 5 หมื่นคัน รวมกันเป็น 1.2 แสนคัน แต่หากกรณีรัฐบาลสนับสนุนนโยบายภาษีต่อเนื่อง ยอดขายรถอีวีป้ายแดงปีหน้าอาจจะมีโอกาสขยับขึ้นมาแตะ 7 หมื่นคัน จนถึง 1 แสนคันได้
สำหรับเป้าหมายของเมืองไทยประกันภัย ตั้งเป้าการรับประกันภัยรถอีวีในปีหน้าอย่างน้อยประมาณ 5,000 คัน
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
08/10/2024
30/04/2024
30/04/2024
10/06/2024
30/04/2024