ประกันชีวิต
ประกันชีวิตสะสมทรัพย์ : ออมเงินพร้อมประหยัดภาษี ยุคตลาดทุนผันผวน
เข้าสู่ช่วงโค้งของปีกันแล้ว และหลายคนอาจกำลังมองหาเครื่องมือทางการเงินที่จะมาช่วยลดหย่อนภาษี ซึ่ง 2 คู่หูกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ยังคงเป็นทางเลือกในอันดับต้น ๆ ในใจของหลายคน แต่ในช่วงที่ตลาดทุนผันผวนแบบนี้ และพอร์ตลงทุนของหลายคนแดงฉ่ำ ก็ทำเอาแทบไม่มีแรงเดินกันเลยทีเดียว
ใครที่รู้ตัวว่า ‘ใจบาง’ รับความเสี่ยงได้น้อย ก็คงต้องมองหาทางเลือกใหม่ ๆ ซึ่งบทความนี้ beartaiBRIEF ชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ ‘ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์’ ทางเลือกในการออมเพื่อประหยัดภาษีที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในหุ้น
ประกันชีวิตสะสมทรัพย์คืออะไร ?
แม้ขึ้นชื่อว่า ‘ประกัน’ แต่ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์นั้นให้ความสำคัญกับการออมเป็นหลัก และได้สิทธิ์คุ้มครองชีวิตด้วย ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์จะมีระยะเวลาคุ้มครองตลอดชีพ หรือมากกว่า 10 ปีขึ้นไป โดยสามารถนำเบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด
ซึ่งประกันตัวนี้นอกจากช่วยเราประหยัดภาษีแล้ว ก็ยังเป็นตัวสร้างวินัยการออมให้กับเราด้วยการกำหนดระยะเวลาชำระเบี้ยที่ชัดเจน เช่น 3 เดือน 6 เดือน หรือรายปี นอกจากนี้ ยังมีจุดเด่นอีกเรื่องคือ การได้รับเงินคืนระหว่างปี ที่เราจะได้เป็นรายปีไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งครบกำหนดสัญญา ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นผู้เอาประกันก็จะได้รับเงินก้อนอีกจำนวนหนึ่ง
แต่!! ไม่ใช่ว่าประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์จะมีเงินคืนระหว่างปีทั้งหมด เพราะมีแบบที่ไม่มีเงินคืนระหว่างสัญญาด้วย ดังนั้น เราจึงต้องทำความเข้าใจเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจซื้อ ว่าผลิตภัณฑ์ประกันตัวนี้ตรงกับความต้องการของเราหรือไม่
ต้องพิจารณาเรื่องอะไรบ้าง ?
1. วงเงินคุ้มครอง : ส่วนใหญ่ประกันชีวิตที่มีวงเงินคุ้มครองสูง ผลตอบแทนที่ได้รับจะค่อนข้างน้อย เพราะค่าเบี้ยประกันบางส่วนจะถูกนำไปหักจ่ายเป็นค่าความคุ้มครอง เราจึงควรเลือกความคุ้มครองแบบประกันที่ต้องการ
2. ระยะเวลาชำระเบี้ย : ควรเลือกให้เหมาะกับอายุและความสามารถในการหารายได้ เช่น ถ้าเป็นแบบประกันระยะยาว 10 – 20 ปี เหมาะกับวัยเริ่มต้นทำงานหรือวัยทำงานมากกว่าวัยใกล้เกษียณ
3. งวดการชำระเบี้ย : ส่วนใหญ่จะกำหนดชำระเบี้ยรายปี หากต้องการชำระเป็นรายเดือน ราย 3 เดือน หรือราย 6 เดือน ก็สามารถทำได้ แต่ค่าเบี้ยรวมต่อปีจะสูงขึ้นราว 2 – 9% ซึ่งอาจทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับจากการออมเงินในประกันชีวิตลดลง
4. การจ่ายเงินคืน : บริษัทประกันแต่ละแห่งมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ดังนั้น หากผู้เอาประกันยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน ก็ควรฝากไว้ในกรมธรรม์ เพราะจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าเงินฝากทั่วไป และที่สำคัญคือไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย
5. สภาพคล่อง : ตามปกติแล้ว บริษัทประกันจะนำเบี้ยประกันที่ได้รับจากลูกค้าไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน หากผู้เอาประกันต้องการยกเลิกสัญญาก่อนกำหนดก็อาจได้รับเงินคืนสูงหรือต่ำกว่าที่ชำระเบี้ยไว้ก็ได้ เราจึงควรศึกษารายละเอียดกรมธรรม์อย่างรอบคอบ
แบบไหนถึงใช่ ?
ประกันชีวิตสะสมทรัพย์จะมีตัวเลขสองตัว XX/X เป็นสัญลักษณ์ เช่น 10/5, 20/5 ซึ่งเลขตัวหน้า หมายถึง ระยะเวลาความคุ้มครอง และตัวหลัง หมายถึง ระยะเวลาการชำระเบี้ย เราจึงสามารถแบ่งประกันชีวิตสะสมทรัพย์ได้ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้
1. ชอบจ่ายสั้น แต่คุ้มครองได้ยาว ๆ : ควรเลือกระยะเวลาความคุ้มครองเป็นหลัก เช่น ผลิตภัณฑ์แบบ 20/5 หมายถึง ชำระเบี้ย 5 ปี คุ้มครอง 20 ปี โดยจะมีเงินคืนตามเงื่อนไขของแผนความคุ้มครอง
2. ได้เงินก้อนเร็ว : ควรเลือกแบบระยะสั้น เช่น 10/5 หมายถึง จ่ายเบี้ย 5 ปี คุ้มครอง 10 ปี หรือ 14/5 จ่ายเบี้ย 5 ปี คุ้มครอง 14 ปี และมีเงินคืนตามเงื่อนไขของแต่ละแผนที่แตกต่างกันออกไป
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการออมและบริหารภาษีเป็นหลัก ดังนั้น ผลตอบแทนอาจไม่มากเท่าการลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ นอกจากนี้ การออมเงินผ่านผลิตภัณฑ์ประกันดังกล่าว ก็มีสภาพคล่องค่อนข้างต่ำ ไม่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ทันที จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการออมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว
ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, Krungsri The COACH
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส
X