ท่องเที่ยว

วิจัยเผย แค่ 'วางแผนเที่ยว' ก็เพิ่มความสุขและบูสต์สมองให้กระฉับกระเฉงได้!


นักวิทยาศาสตร์เผย แค่ "วางแผน" ทริป "ท่องเที่ยว" ก็ช่วยเพิ่มความสุขและบูสต์สมองให้กระฉับกระเฉงได้ แม้ยังไม่ได้เที่ยวจริง แต่ถ้าได้เที่ยวจริงตามแผนก็ยิ่งดี เพราะเชื่อมโยงกับความพึงพอใจ ความเห็นอกเห็นใจ และเพิ่มความคิดสร้างสรรค์


   •  แค่คิด “วางแผนเที่ยว” ก็ทำให้คนเราแฮปปี้แล้ว! นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยถึงงานวิจัยหลายชิ้นที่บ่งชี้ถึงประโยชน์ของการวางแผนท่องเที่ยวต่อสุขภาพจิต 
   •  การจินตนาการถึงอนาคตสามารถเป็นแหล่งของความสุขได้ หากเรารู้ว่ามีสิ่งดีๆ กำลังมา และการเดินทางก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้รู้สึกดีอย่างยิ่ง
   •  นักจิตวิทยา ชี้ การค้นหาเที่ยวบิน โรงแรม การค้นคว้าจุดหมายปลายทางล่วงหน้า ฯลฯ สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยให้คนเรารู้สึกว่าควบคุมชีวิตตนเองได้ จึงช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล


รู้หรือไม่? แค่คิด “วางแผนเที่ยว” ก็เพิ่มความสุขให้ชีวิตได้มากขึ้น นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยถึงงานวิจัยหลายชิ้นที่บ่งชี้ถึงประโยชน์ของการวางแผนท่องเที่ยวต่อสุขภาพจิตใจของผู้คน พวกเขาค้นพบว่าการวางแผนและคาดการณ์การเดินทางนั้นเกือบจะสนุกพอๆ กับการไปเที่ยวจริง 


ยกตัวอย่างการศึกษาของมหาวิทยาลัย Cornell ที่เจาะลึกในหัวข้อ “การคาดหวังประสบการณ์การเดินทางจากการวางแผนท่องเที่ยว” ซึ่งมีผลวิจัยพบว่า การวางแผนเที่ยวสามารถเพิ่มความสุขของบุคคลได้มากกว่าการซื้อสิ่งของที่อยากได้เสียอีก


   •  การจดจ่อกับรายละเอียด 'วางแผนเที่ยว' ส่งผลดีต่อจิตใจ


“อามิต คูมาร์” อดีตหนึ่งในทีมวิจัยชิ้นดังกล่าว (ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส) อธิบายว่า การจดจ่ออยู่กับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของการวางแผนการเดินทาง มีประโยชน์ในแง่การสร้างและรับรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่งมีคุณค่าทางจิตใจมากกว่าประสบการณ์ของการซื้อและครอบครองสิ่งของต่างๆ 


ไม่เพียงเท่านั้น “แมทธิว คิลลิงส์เวิร์ธ” ผู้ร่วมวิจัยของคูมาร์ และปัจจุบันเป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ก็ได้ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การวางแผนทริปท่องเที่ยวสามารถส่งเสริมการมองโลกในแง่ดีให้คนเราได้ 


“มนุษย์เราส่วนใหญ่มักใช้ชีวิตไปกับจินตนาการถึงอนาคต การคำนึงถึงอนาคตของคนเราสามารถเป็นแหล่งของความสุขได้ หากเรารู้ว่ามีสิ่งดีๆ กำลังมา และการเดินทางก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้รู้สึกดีอย่างยิ่ง และทุกคนต่างตั้งหน้าตั้งตารอคอย” แมทธิว อธิบาย


มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้ แมทธิว มองว่าการวางแผนการเดินทางสามารถสร้างความสุขและสร้างประสบการณ์เชิงบวกให้คนเราได้ ประการแรก คือ การเดินทางท่องเที่ยวมักเป็นกิจกรรมที่ใช้เวลาสั้นๆ เพียงครั้งคราว เรารู้ดีว่าการเดินทางมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดที่กำหนดไว้ จิตใจของคนเราจึงมีแนวโน้มที่จะลิ้มรสมันได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่ก่อนที่มันจะเริ่มต้นขึ้น (แค่คิดถึงทริปนั้นก็มีความสุขแล้ว)


ส่วนเหตุผลประการที่สอง ก็คือ เมื่อเริ่มวางแผนเที่ยว คนเราจะค้นหาข้อมูลและเรียนรู้เกี่ยวกับการเดินทางในทริปนั้นๆ จนรู้มากพอที่จะจินตนาการและตั้งตารอทริปนั้น แต่ก็ยังมีความแปลกใหม่และความไม่แน่นอนที่ทำให้จิตใจของเราพะวงอยู่กับมัน จนกลายเป็นว่าเราเสพความสุขจากทริปนั้นได้ทันทีที่คิดถึงมัน ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มออกเดินทางจริงด้วยซ้ำ


“เมื่อเราจินตนาการถึงการกินเจลาโต้ในจัตุรัสกลางกรุงโรม หรือจินตนาการว่าได้ไปเล่นสกีน้ำกับเพื่อนๆ ที่เราไม่ค่อยได้เห็นในชีวิตประจำวันสักเท่าไหร่นัก เพียงแค่นึกถึงมันเราก็จะได้สัมผัสกับเหตุการณ์เหล่านั้นในเวอร์ชันที่เป็นภาพในใจของเราเอง ซึ่งก็สร้างความสุขได้ไม่น้อยเลย ” แมทธิว บอก


   •  ในเชิงจิตวิทยา "การวางแผนเที่ยว" ทำให้คนเรารู้สึกว่าควบคุมชีวิตตนเองได้ จึงช่วยลดความเครียดลง


ประเด็นนี้น่าเชื่อถือมากขึ้นไปอีกเมื่อ “ดร.เอริกา แซนบอร์น” นักจิตวิทยาคลินิกผู้เชี่ยวชาญด้านความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า ซึ่งทำงานในลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ย้ำชัดเจนว่า การวางแผนออกเดินทางท่องเที่ยวทำให้คนเรามีความสุขมากขึ้นจริง โดยในทางจิตวิทยาแล้ว การคิดวางแผนเที่ยวทำให้สมองของคนเราหลุดออกจากสภาพแวดล้อมที่ซ้ำซากจำเจของชีวิตประจำวันไปได้ชั่วขณะหนึ่ง มันจึงช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล


อีกทั้งการค้นหาเที่ยวบินและโรงแรม การค้นคว้าจุดหมายปลายทางล่วงหน้า การใช้ประโยชน์จากคะแนนการเดินทางที่สะสมไว้ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยให้คนเรารู้สึกว่าควบคุมชีวิตตนเองได้และทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย 


จากผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์และคำอธิบายจากนักจิตวิทยาข้างต้นทำให้สรุปได้ว่า การได้เริ่มค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวและวางแผนทริปสนุกๆ ให้ตนเอง ถือเป็นกิจกรรมที่ช่วงปรับปรุงสุขภาพจิตให้ดีขึ้นได้จริง แม้ในที่สุดแล้วอาจจะได้ไปหรือไม่ได้ไปทริปนั้นก็ตาม 


แต่ถ้าได้ออกเดินทางตามแผนที่วางไว้จริงๆ ก็ยิ่งดีมากขึ้นไปอีก เพราะมีงานวิจัยทางจิตวิทยาจำนวนมากเช่นกันที่ระบุถึงประโยชน์ของการได้พักร้อนและการออกไปท่องเที่ยวต่างเมืองหรือต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับอารมณ์และพฤติกรรมเชิงบวก ช่วยเพิ่มโฟกัส การเอาใจใส่ ความสนใจ และความกระตือรือร้นที่มากขึ้น รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมต่างเมืองหรือต่างประเทศ มีส่วนช่วยให้คนเรามีความคิดสร้างสรรค์ที่เพิ่มขึ้นได้เช่นกัน


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับกรุงเทพธุรกิจ
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1106004
X