หนึ่งปีมีครั้ง อช.ภูหินร่องกล้า เผยภาพซากุระเมืองไทยบน “ภูลมโล” กำลังออกดอกบานสะพรั่งสวยงามเกือบ 100% นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
เพจ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า - Phu Hin Rong Kla National Park เผยภาพดอกนางพญาเสือโคร่งที่กำลังเบ่งบานสวยงามบนภูลมโล พร้อมโพสต์ข้อความ ระบุว่า
‼️️Update!‼️ 🌸🌸🌸สถานการณ์การออกดอกของนางพญาเสือโคร่ง บน "ภูลมโล" ณ วันที่ 16 มกราคม 2567 ช่วงนี้ดอกนางพญาเสือโคร่งพร้อมใจกันผลิดอกสีชมพูบานสะพรั่งสวยงาม จนกลายเป็นภูเขาสีชมพูอ่อนหวาน ให้นักท่องเที่ยวได้ยลโฉมและบันทึกภาพความงดงามตระการตา ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป.... 👉ขอให้ติดตามการอัปเดตข้อมูลข่าวสารจากเพจของทางอุทยานฯในระยะต่อไป นะครับ......🌸🌸🌸🌸🌸🌸🌸🌸🌸
📷 ภาพถ่าย วันที่ 16 มกราาคม 2567
👉 อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เปิดบริการให้ท่องเที่ยว และพักค้างแรมทุกวันนะ📍📍
#ภูลมโล
#อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
ดอกนางพญาเสือโคร่งเบ่งบานที่ภูลมโล (ภาพ : เพจ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า/16 ม.ค.67)
รู้จักภูลมโล
ภูลมโล ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.กกสะทอน อ.ด่านซ้าย จ.เลย เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า บนรอยต่อของสามจังหวัดคือ เลย เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก
ชื่อของภูลมโลมีที่มา 2 ทางด้วยกัน คือ ทางชาวบ้านกกสะทอน(ทางฝั่งเลย) ให้ข้อมูลว่า ภูลมโล เป็นภาษาถิ่น หมายถึงภู(ยอดเขา)ที่มีลมพัดผ่านเยอะ พัดผ่านมาก โดยคำว่า “โล” ในภาษาถิ่น หมายถึง มาก หรือ เยอะ ซึ่งหากจะพูดรวมๆให้ฟังเข้าใจง่ายก็คือ “ภูลมโล เป็นภูที่มีลมแรงพัดผ่านอยู่ตลอด”(ทั้งปี)
ดอกนางพญาเสือโคร่งเบ่งบานที่ภูลมโล (ภาพ : เพจ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า/16 ม.ค.67)
ส่วนข้อมูลจากชาวม้งบ้านร่องกล้า(ทางฝั่งพิษณุโลก) ให้ข้อมูลไว้ว่า ภูลมโล มาจากชื่อที่สมัยก่อนชาวบ้านเรียกเขาลูกนี้ว่า “ภูลงรู” หรือที่ภาษาม้งเรียกว่า“ตร๊งลงรู” อันหมายถึง ภูเขาที่มีน้ำไหลลงรู ก่อนที่ภายหลังจะเรียกเพี้ยนเป็น “ภูลมโล” ซึ่งที่มาของชื่อนี้มาจากการที่ภูเขาลูกนี้(เคย)มีตาน้ำไหลหายลงไปในรู ชาวบ้านเมื่อเดินป่ามาถึงก็จะใช้ประโยชน์จากตาน้ำแห่งนี้
ในอดีตภูลมโลเคยเป็นพื้นที่สีแดงในช่วงยุคลัทธิคอมมิวนิสต์ ต่อมาเมื่อเหตุการณ์สงบได้กลายเป็นภูเขาหัวโล้น
ทางอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าจึงได้ทำการขอพื้นที่คืน โดยตกลงให้ผู้ที่หักล้างถางพงปลูกพืชไร่ควบคู่ไปกับต้นพญาเสือโคร่งในช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนออกจากพื้นที่
ดอกนางพญาเสือโคร่งเบ่งบานที่ภูลมโล (ภาพ : เพจ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า/16 ม.ค.67)
หุบเขาสีชมพู
ปัจจุบันภูลมโลถือเป็นแหล่งปลูกนางพญาเสือโคร่งที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย โดยมีเนื้อที่กว่า 1,200 ไร่ มีต้นนางพญาเสือโคร่งมากมายนับหลายหมื่นต้น ย้อมหุบเขาแห่งนี้ให้กลายเป็นสีชมพู จนได้รับฉายาว่า“ภูลมโล หุบเขาสีชมพู”
สำหรับนางพญาเสือโคร่งเป็นต้นไม้ในวงศ์เดียวกับต้นซากุระของประเทศญี่ปุ่น ยามเมื่อมันออกดอกจะดูคล้ายดอกซากุระของญี่ปุ่น หลาย ๆ คน จึงนิยมเรียกดอกนางพญาเสือโคร่งว่า “ซากุระเมืองไทย” ขณะที่ชื่อภาษาถิ่นนั้นจะเรียกกันว่า “ซากุระดอย”
ดอกนางพญาเสือโคร่งเบ่งบานที่ภูลมโล (ภาพ : เพจ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า/16 ม.ค.67)
บนภูลมโลมีจุดชมซากุระเมืองไทยเบ่งบาน อยู่ 3 แปลงหลัก ๆ ได้แก่
จุดชมดอกนางพญาเสือโคร่งที่ภูลมโลนั้น มีอยู่ 3 แปลงหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่
-“แปลงภูลมโล” แปลงนี้มีไฮไลท์สำคัญอยู่บริเวณ “คอกวัว” เพราะมีคอกวัวที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้อยู่ในบริเวณนี้ ที่แปลงภูลมโลเราสามารถมองเห็นดอกนางพญาเสือโคร่งได้อย่างงดงามทั่วเนินเขา
ดอกนางพญาเสือโคร่งเบ่งบานที่ภูลมโล (ภาพ : เพจ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า/16 ม.ค.67)
-“แปลงก้อนหินใหญ่” ที่มีทุ่งดอกนางพญาเสือโคร่งให้ชมกันควบคู่ไปกับก้อนหินใหญ่ 2 จุดเป็นพร็อพถ่ายรูปที่มีคนแวะเวียนไปโพสต์ท่าถ่ายรูปคู่กันระหว่างก้อนหินกับฉากสีชมพูของทุ่งดอกนางพญาเสือโคร่งกันไม่ได้ขาด
-“แปลงภูขี้เถ้า” ซึ่งส่วนใหญ่แล้วดอกนางพญาเสือโคร่งที่แปลงที่ภูขี้เถ้าจะบานทีหลังสุด
ปกติทุก ๆ ปีในช่วงกลางฤดูหนาวราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ต้นนางพญาเสือโคร่งทั่วเมืองไทยจะพร้อมใจกันออกดอกเบ่งบานชมพูสะพรั่งไล่เลี่ยกันไป แต่ก็มีบางปีที่บานก่อนหรือหลัง ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศปีนั้น ๆ
ดอกนางพญาเสือโคร่งเบ่งบานที่ภูลมโล (ภาพ : เพจ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า/16 ม.ค.67)
ในส่วนดอกนางพญาเสือโคร่งที่ภูลมโล ตามปกติจะบานไล่เรียงแปลงไป แต่บางปีก็ต่างพากันออกดอกบานพร้อมกันทั้ง 3 แปลง ย้อมทั้งหุบเขาเป็นสีชมพูกว้างใหญ่ดูสวยงามยิ่งนัก
นอกจากจะเป็นแหล่งชมนางพญาเสือโคร่งที่มีความสวยงามเป็นอันดับต้น ๆ ของเมืองไทยแล้ว พื้นที่ภูลมโลยังมีจุดชมวิวเลาะเลียบผาที่น่าสนใจในหลายจุดด้วยกัน นำโดย “ผาดรรชนี” ที่เป็นยอดสูงสุดของภูลมโล ตั้งอยู่บนความสูง 1,664 เมตร จากระดับน้ำทะเล ระยะทางเดิน 650 เมตร ด้านบนจะมีชะง่อนหินเป็นจุดถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามอีกด้วย
เส้นทางขึ้นภูลมโล
ดอกนางพญาเสือโคร่งเบ่งบานที่ภูลมโล (ภาพ : เพจ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า/16 ม.ค.67)
การขึ้นไปเที่ยวบนภูลมโลมี 2 เส้นทางหลัก คือ ขึ้นทางฝั่ง จ.พิษณุโลก และ ขึ้นทางฝั่ง จ.เลย แต่ทั้งสองเส้นทาง เป็นเส้นทางถนนลูกรังขึ้นเขาสูงที่คดเคี้ยวและค่อนข้างอันตราย จึงต้องขับรถด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ ทางอุทยานฯ จึงห้ามมิให้นักท่องเที่ยวขับรถขึ้นไปเอง
อย่างไรก็ดีปัจจุบันทาง อุทยานฯภูหินร่องกล้า ได้ร่วมมือกับชาวชุมชนในพื้นที่ จัดให้มีจุดบริการและอำนวยความสะดวกรถรับ – ส่งนักท่องเที่ยวขึ้นภูลมโลใน 2 ฝั่ง จังหวัด ดังนี้
ดอกนางพญาเสือโคร่งเบ่งบานที่ภูลมโล (ภาพ : เพจ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า/16 ม.ค.67)
ฝั่ง จังหวัดพิษณุโลก
-จุดที่ 1 ที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า (ห่างจากภูลมโล ประมาณ 15 กม.)
-จุดที่ 2 ชุมชนบ้านใหม่ร่องกล้า (ห่างจากภูลมโล ประมาณ 7 กม.)
ฝั่ง จังหวัดเลย
-จุดที่ 1 ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวกกสะทอน (ห่างจากภูลมโล ประมาณ 25 กม.)
-จุดที่ 2 ชมรมม้งอีสานนำเที่ยว บ้านตูบค้อ (ห่างจากภูลมโล ประมาณ 13 กม.)
ส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากจังหวัดเพชรบูรณ์ สามารถเดินทางจากเส้นทางฝั่งภูทับเบิก ผ่านด่านอุทยาน มายังจุดบริการรถนำเที่ยวของชมรมบ้านใหม่ร่องกล้า
ดอกนางพญาเสือโคร่งเบ่งบานที่ภูลมโล (ภาพ : เพจ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า/16 ม.ค.67)
ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถสอบถาม ข้อมูลการบานของนางพญาเสือโคร่ง ที่พัก จุดกางเต็นท์ บริการรถเช่า และการเดินทางสู่ภูลมโล ได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า โทร. 08 1596 5977, ททท.พิษณุโลก โทร. 055 252 742-3 / 097 072 1838 ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนกกสะทอน โทร. 062 557 0912 และ ททท.เลย โทร. 042 812 812