สุขภาพ

หมอเล่าเคสมะเร็งตับคร่าคนไข้วัย 37 ใน 2 เดือน ออกกำลังกาย ไม่ดื่ม มีประวัติติดเชื้อไวรัสตับ


มะเร็งตับคร่าชีวิตผู้ป่วย อายุ 37 ใน 2 เดือน หมอเผยออกกำลังกาย ไม่ดื่ม มีประวัติ ‘ติดเชื้อไวรัสตับ’ แต่ไม่ติดตามอาการต่อ แนะคนทั่วไปตรวจไวรัสตับ-แพทย์หมั่นอัพเดตความรู้


เคสผู้ป่วยอายุ 37 ปี เสียชีวิตด้วย “มะเร็งตับ” ที่เพจ เรื่องเล่าจากโรงพยาบาล เปิดเผยเมื่อวันก่อน ได้รับความสนใจอย่างมากมาย เนื่องจากคนไข้ออกกำลังกาย ไม่ดื่มเหล้า ทว่ามีประวัติตรวจพบการติดเชื้อไวรัสตับเมื่อนานมาแล้ว กระทั่งนำมาสู่โรคร้าย ก่อนจากไปในเวลา 2 เดือนหลังตรวจพบ โดยเคสนี้แพทย์เจ้าของเพจระบุว่า เป็นคนไข้ของตนเอง


เพจ เรื่องเล่าจากโรงพยาบาล เปิดเผยว่า #ทำความรู้จัก #หน้าตามัจจุราช สองภาพนี้เป็นของคนไข้ของผมเอง เป็นภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT scan จากบริเวณช่องท้องส่วนบน ส่วนใหญ่ของนั่นคือตับที่โตผิดปกติ


เนื้อตับปกติ หน้าตาจะประมาณมุมซ้ายล่าง ออกสีขาวเป็นเนื้อเดียวกัน ส่วนที่เหลือเกินครึ่ง ที่มีสีดำ กระจายแทรกไปทั่วๆ ใหญ่บ้างเล็กบ้าง นั่นคือสิ่งผิดปกติ ในที่นี้คือ มะเร็ง (ใช้คำว่า ในที่นี้ เพราะบางกรณีจุดดำๆ มันก็เป็นอย่างอื่นได้นะครับ เช่น ถุงน้ำ หนอง)



ภาพจากเพจ เรื่องเล่าจากโรงพยาบาล


เป็นมะเร็งตับที่ทำให้คนไข้ปวดท้อง กินไม่ได้ ตัว ตาเหลือง ประมาณ 1 อาทิตย์ก่อนมา รพ. ความน่าตกใจของมันก็คือแสดงอาการแค่ 1 อาทิตย์ ก็โผล่มาในระยะที่รักษาไม่ได้แล้ว


ความน่าตกใจข้อที่สองก็คือ คนไข้อายุเพียงแค่ 37 ปี


ความน่าตกใจข้อที่สามคือ คนไข้เป็นคนออกกำลังกาย ไม่ดื่มเหล้า


ความน่ากลัวก็คือ คนไข้เสียชีวิตในเวลาแค่ 2 เดือน หลังตรวจเจอ ครอบครัวพาไปปรึกษาอาจารย์แพทย์ที่โรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งก็เห็นว่าร่างกายไม่แข็งแรงพอที่จะรับยาใดๆ ได้แล้ว


ในความน่าตกใต ความน่ากลัว มันยังมีความน่าเสียดายซ่อนอยู่ เคสนี้คือตัวอย่างของคนที่เป็นมะเร็งตับจากการติดเชื้อไวรัสตับ โดยที่ไม่เคยมีอาการใดๆ ทางตับ ไม่มีความเสี่ยงเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์


ไวรัสตับที่ก่อให้เป็นมะเร็งตับหลักๆ ก็คือ ไวรัสตับบี และ ไวรัสตับซี


คนไข้บอกว่า “เคยตรวจเจอเมื่อนานมาแล้ว (> 10 ปี) แต่ตอนนั้นหมอบอกว่ายังไม่เป็นอะไร”


ความน่าเสียดายมันอยู่ที่ตรงนี้ ไวรัสตับบี ไวรัสตับซี ปัจจุบันรักษาได้ เมื่อรักษาแล้วก็จะลดโอกาส หรือป้องกันการเกิดมะเร็งตับได้ แต่คนส่วนหนึ่งเสียโอกาสนี้ไป



ภาพจากเพจ เรื่องเล่าจากโรงพยาบาล


ทำไม?


1. กรณีของคนไข้ผม ตรวจเจอ แต่ไม่ได้มีการติดตาม จนพลาดโอกาสไป ต้องปูพื้นฐานนิดนึง กรณีคนที่มีเชื้อไวรัสตับ ณ ปัจจุบัน ไม่ใช่ทุกคนต้องรักษา ส่วนหนึ่งมันอยู่ในภาวะสงบ ไม่มีอาการ ค่าการทำงานของตับปกติ ปริมาณเชื้อในร่างกายน้อย แบบนี้มันก็อยู่กับเราแบบเงียบๆ ไปตลอดชีวิตของเรา ก็ไม่จำเป็นต้องกินยารักษาใดๆ การตรวจติดตาม จึงเป็นสิ่งสำคัญ มากกกก


ผมเองต้องย้ำคนไข้ทุกครั้งที่เจอกันว่า ตอนนี้ไม่มีอะไร แต่หมอนัด มาเรื่อยๆ อย่าเพิ่งเบื่อกันนะครับ (3 เดือน 6 เดือน ก็ว่ากันไป)


2. หลายคนไม่เคยตรวจเลย จึงไม่รู้ และการตรวจสุขภาพทั่วไป หลายกรณีไม่มีการตรวจหาไวรัสตับ (หากจำไม่ผิด ตรวจสุขภาพของบัตรทอง หรือของประกันสังคมก็ไม่มี) คนไม่เคยเฉียด รพ. ไม่เคยตรวจเป็นเรื่องหนึ่ง แต่บางคนที่เคยตรวจสุขภาพ แล้วหมอบอกว่าผลตรวจเลือดปกติ บางคนก็เข้าใจว่านั่นแปลว่าเคยตรวจทุกอย่างแล้ว ซึ่งหลายครั้งมันไม่ใช่


ส่วนตัว อยากให้ทุกคนได้ตรวจหาไวรัสตับบี ซี สักครั้งในชีวิต มันราคาไม่สูง และได้ประโยชน์จริง


3. ยังมีข้อที่สาม องค์ความรู้มันเปลี่ยน แต่หมอเรายังไม่เปลี่ยน ไม่ตามความรู้ใหม่ๆ เมื่อ 20 ปีก่อน เจอ ไวรัสตับบี หมออาจจะบอกแค่ว่าไม่เป็นไร ไม่ต้องรักษา เพราะตอนนั้นความรู้มันแค่นั้น ไวรัสตับซี ไม่ต้องทำอะไร เลิกกินเหล้าก็พอ อะไรทำนองนั้น แต่ปัจจุบันมันไม่ได้แล้ว


ผมเองก็ต้อง เติมความรู้เรื่อยๆ ตอนนี้บางกรณียังไม่ต้องรักษา แต่ต่อไปการรักษาอาจจะเร็วขึ้นก็ได้


สรุป


สำหรับคนทั่วไป
– ใครไม่เคยตรวจ ตรวจสักครั้งในชีวิต ต้องบอกด้วยว่าขอตรวจไวรัสตับ ไม่ใช่แค่ตรวจสุขภาพทั่วไป
– ใครเคยตรวจเจอ หมอบอกไม่ต้องทำอะไร ควรไปปรึกษาหมอใหม่อีกครั้ง ยังไงต้องมีการนัดติดตามผลเลือดเป็นระยะ
– ใครเคยตรวจเจอและหมอนัดติดตาม แต่เราไม่ได้ไปเพราะขี้เกียจ หรือไม่มีเวลา ให้กลับไปหาหมอ ตรวจเป็นระยะๆ เถอะครับ ส่วนใหญ่ไม่เป็นอะไร แต่ถ้ามีอะไรขึ้นมา รักษาได้ทันดีกว่าจะเสียใจภายหลัง


– สำหรับหมอ อัพเดตความรู้
– สำหรับระบบส่งเสริมการตรวจสุขภาพ ให้ตรวจกันมากขึ้นจะดีมาก


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับมติชนออนไลน์
https://www.matichon.co.th/social/news_4382421
X