ห้องแสดงนิทรรศการ

“Bangkok Design Week 2024” สัมผัสกรุงเทพฯ มุมใหม่ในธีม “คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี”


ชวนสัมผัสกรุงเทพฯ มุมใหม่ ใน “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567” ที่จัดขึ้นในวันที่ 27 ม.ค.-4 ก.พ.67 ภายใต้ธีม “Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี” ภายในงานพบกับงานออกแบบสุดครีเอตและกิจกรรมน่าสนใจต่าง ๆ ใน 15 พื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ


กลับมาอีกครั้งสำหรับ “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ” หรือ “Bangkok Design Week” อีกหนึ่งอีเวนต์ใหญ่แห่งปี ที่จัดขึ้นโดย “สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)” หรือ CEA และพันธมิตร เพื่อผลักดันกรุงเทพมหานครให้เติบโตและโดดเด่นในฐานะเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UNESCO Creative City Network: UCCN) สาขาการออกแบบ (Bangkok City of Design)



นายกฯร่วมงานวันเปิด Bangkok Design Week 2024


สำหรับ “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567” หรือ “Bangkok Design Week 2024” (BKKDW2024) ปีนี้ จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 27 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2567 ภายใต้แนวคิด “Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี” ภายในงานพบกับงานออกแบบสุดครีเอตใน 15 พื้นที่หลักทั่วกรุงเทพฯ โดยมีกิจกรรมน่าสนใจต่าง ๆ รวมกว่า 500 โปรแกรม


นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ในปีที่ 7 นี้ ทำให้เราได้เห็นภาพของการใช้เทศกาลงานออกแบบสร้างสรรค์ เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมอุตสาหกรรมและผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เติบโตและขยายไปสู่ต่างประเทศ อันจะช่วยสนับสนุนกระบวนการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ทำให้ผู้บริโภคในตลาดโลกมีความสนใจและต้องการซื้อสินค้าและบริการสร้างสรรค์ของไทยมากขึ้น ฉะนั้นงานนี้จะเป็นพลังให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยต่อไป



สีสัน Siam piwat ไปรษณีย์กลาง (ภาพ : เพจ Bangkok Design Week)


ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ทำหน้าที่เป็น 'แพลตฟอร์ม' ที่สื่อสารเรื่อง ‘คน ธุรกิจ ย่าน และเมืองสร้างสรรค์ ไม่ใช่ 'อีเวนต์' ที่จัดขึ้นแล้วจบไป แต่มีการนำเสนอความคิดและการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ โดยรวมไอเดียจากนักสร้างสรรค์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในปีนี้ CEA ได้พัฒนาขึ้นร่วมกับกรุงเทพมหานคร กับการมอบโจทย์จริง ‘HACK BKK’ เพื่อให้กลุ่มนักสร้างสรรค์ได้ทดลองออกไอเดียแก้ปัญหาเมืองจากโจทย์ที่มีอยู่จริง โดยหวังว่าแนวทางแก้ปัญหาเหล่านี้จะถูกนำไปต่อยอดและปรับใช้งานจริงในเมืองต่อไป


สำหรับไฮไลต์เด่น ๆ ในพื้นที่จัดงานทั้ง 15 แห่งมีดังนี้



งานออกแบบย่านพระนคร (ภาพ : เพจ Bangkok Design Week)


1. “เจริญกรุง – ตลาดน้อย” ปีนี้มีการเปิดพื้นที่ให้ผลงานใหม่ได้เข้ามาจัดแสดง อย่างเช่น Pocket Oasis Garden งานออกแบบเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวขนาดเล็ก และ Street Furniture ที่เคลื่อนย้ายได้สะดวก เหมาะกับพื้นที่ย่านที่มีพื้นที่สีเขียวค่อนข้างน้อย และโปรเจ็กต์ที่ตอบโจทย์ HACK BKK เช่น ระบบป้ายนำทางจักรยานและจุดจอดที่อาจจะนำมาสู่โมเดลทดลองที่ถูกนำไปมาใช้งานจริงในอนาคต


2. “พระนคร” ผสานความเก่าเข้ากับความล้ำสมัย เพื่อสร้างพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของย่านเมืองเก่า อย่างเช่น การเพิ่มประสบการณ์การใช้งานและการเดินทางในพื้นที่สาธารณะ นอกจากนี้ย่านยังนำเสนอกิจกรรม Projection Mapping และ Moving Image ที่จะมาสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ในพื้นที่ทางประวัติศาสตร์



งานออกแบบย่านปากคลองตลาด (ภาพ : เพจ Bangkok Design Week)


3. “ปากคลองตลาด” ต่อยอดอัตลักษณ์ “ตลาดดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย” ผ่านการสร้างประสบการณ์ใหม่ด้วยงานออกแบบ เช่น ต้นแบบขยายพื้นที่ Display หน้าร้านของแม่ค้าปากคลองฯ บนทางเท้าให้ดูมีเสน่ห์น่าเดิน การปรับอาคารเก่าที่เป็นโรงงานน้ำตาลปี๊บ ‘โล้วเฮียบเส็ง’ ให้กลายเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ เป็นต้น


4. “นางเลิ้ง” ต่อยอดภูมิปัญญาในย่านวัฒนธรรมมีชีวิต ผ่านความร่วมมือระหว่างผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมกับนักออกแบบผู้ย้ายเข้ามาใหม่ ที่สื่อสารความเป็นนางเลิ้งในมุมมองใหม่ผ่านงานออกแบบ ให้นางเลิ้งเป็นย่านที่ ‘บันเทิงทุกวัน’ ย่านมีพื้นที่จัดแสดงหลักคือ ‘โรงเรียนสตรีจุลนาค’ และ ‘บ้านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี’ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)



กิจกรรมที่ย่านนางเลิ้ง (ภาพ : เพจ Bangkok Design Week)


5. “เยาวราช” สานต่อตำนานย่านสตรีทฟู้ดระดับโลกที่โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมจีนจากรุ่นสู่รุ่น พร้อมขยายเรื่องราวไปสู่เจเนอเรชันที่หลากหลาย ร่วมด้วยโปรเจ็กต์ Go Go Bus! ที่พัฒนาระบบขนส่งขนาดเล็กเพื่อเชื่อมต่อย่าน และเพื่อลดภาระของการจราจรบนถนนเส้นหลัก จากโจทย์ HACK BKK ที่มีแผนจะปรับใช้กับพื้นที่ของทางกรุงเทพมหานคร


6. “หัวลำโพง” มีโครงการ ‘Made in Hua Lamphong’ ที่สร้าง Branding ภาพจำใหม่ของหัวลำโพง โปรแกรมทัวร์สำรวจย่าน และนิทรรศการปาจื้อ: คน/ดวง/เมือง การสื่อสารเรื่องธาตุประจำตัวจากโหราศาสตร์จีน เพื่อให้เกิดการรับรู้ของผู้ชมและทดลองสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ฯลฯ



งานออกแบบสร้างสีสันให้อาคาร (ภาพ : เพจ Bangkok Design Week)


7. “อารีย์ – ประดิพัทธ์” ถักทอสายสัมพันธ์ในย่าน ผ่านพื้นที่สาธารณะที่ทําให้ผู้คนได้มาอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออารี


8. “บางโพ – เกียกกาย” สร้างคุณค่าใหม่ให้ถนนสายไม้กลายเป็นย่านสร้างสรรค์ ผ่านการออกแบบและไอเดียของคนในพื้นที่ พร้อมขยายพื้นที่ไปยัง ‘เกียกกาย’ โดยทดลองเปิดพื้นที่กองทัพบกให้เป็นพื้นที่สันทนาการและจำหน่ายสินค้าสำหรับชุมชน


9. “วงเวียนใหญ่ - ตลาดพลู” เชื่อมโยงคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่เพื่อต่อยอดวัฒนธรรมฝั่งธนฯ บนพื้นที่สองย่านที่เชื่อมโยงกันโดยเส้นทางรถไฟ พร้อมนำสินทรัพย์ในพื้นที่มานำเสนอในรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ทั้งการจัดแสดง ทัวร์ลงรถไฟ เป็นต้น


งานออกหลากสีสัน (ภาพ : เพจ Bangkok Design Week


10. “เกษตรฯ – บางบัว” มีการสร้างสรรค์ย่านให้น่าอยู่และเป็นมิตรต่อคนทุกกลุ่ม นอกจากนี้พื้นที่บริเวณคลองบางบัวและริมถนนพหลโยธิน จะถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทดลองสำหรับฉายภาพยนตร์ ตลาด การแสดงดนตรี Projection Mapping ฯลฯ


11. “พร้อมพงษ์” พัฒนาย่านเศรษฐกิจใจกลางเมืองให้กลายเป็นพื้นที่ที่ดีต่อกายดีต่อใจ สําหรับผู้มาอยู่และผู้มาเยือน โดยในซอยสุขุมวิท 26 ที่เป็นแหล่งรวมนักสร้างสรรค์สาขาสถาปัตยกรรม การตกแต่งภายใน บริษัทเฟอร์นิเจอร์ และวัสดุ แบบครบวงจร โดยมีไฮไลต์เป็น ‘บ้านนก บ้านกระรอก’ ส่วนหนึ่งของระบบนิเวศบนต้นไม้ริมทาง ที่นักออกแบบในย่านต้องการให้เกิดความรื่นรมย์ในระหว่างการเดินเท้า



งานออกแบบสร้างสีสันให้อาคาร (ภาพ : เพจ Bangkok Design Week)



12. “สยาม – ราชเทวี” เปิดประตูสู่การรับรู้เรื่องราวของชุมชนประวัติศาสตร์สร้างสรรค์ที่ถูกซุกซ่อนไว้ใจกลางกรุงเทพฯ ผ่านการส่งเสริมวัฒนธรรมอาหารในชุมชนบ้านครัว ชุมชนมุสลิมเก่าแก่ โดยนักสร้างสรรค์นำเสนอเรื่องราวผ่านสำรับอาหาร และกิจกรรมต่าง ๆ


13. “บางกอกใหญ่ – วังเดิม” มีการหยิบต้นทุนทางวัฒนธรรมเดิมมาเพิ่มเติมความหมายใหม่ เพื่อฟื้นคืนชีวิตให้พื้นที่ประวัติศาสตร์ริมคลองบางกอกใหญ่ เช่น แลนด์มาร์กสำคัญอย่างวัดอรุณและชุมชนรอบด้าน



งานออกแบบโมเดล



14. “พระโขนง – บางนา” ผสานความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ผ่านการรวมกลุ่มของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่และสตูดิโอนักสร้างสรรค์ในพื้นที่ โปรแกรมที่น่าสนใจ เช่น การทดลองพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะภายในย่านให้เป็น ‘สวนเคลื่อนที่’ (Pop-Up Park) และแหล่งการเรียนรู้


15. “บางมด” นำเสนอเรื่องราวการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลของธรรมชาติ ผู้คน ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่ไหลไปพร้อมกับกระแสน้ำของคลองบางมด



จุดจอดจักรยาน



นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อื่น ๆ ทั่วกรุงเทพฯ ที่ ‘คน’ ในย่านได้เริ่มลงมือ ‘ทำ’เพื่อสร้างสรรค์ให้เมืองยิ่งดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ศรีนครรินทร์ - ห้างซีคอนสแควร์ ที่ร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) และ Happening เปิดพื้นที่สำหรับการแสดงและตลาดนัดศิลปะ และบางกะปิ ซอยโยธินพัฒนา ที่เริ่มต้นรวมกลุ่มผู้ประกอบการด้านคอนเทนต์ โดยมีทีวีบูรพาเป็นผู้ริเริ่ม ฯลฯ



แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับผู้จัดการออนไลน์
https://mgronline.com/travel/detail/9670000008244
X