ข่าวการเงิน

เงินเกษียณใครว่าไม่สำคัญ?


ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวสลดที่น่าสะเทือนใจในสังคมประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหลายคนอาจจะคาดไม่ถึง เมื่อมีรายงานข่าวว่า คุณตาวัย 81 ปีชาวญี่ปุ่น ผลักภรรยาของตนเองตกทะเลพร้อมวีลแชร์ โดยอ้างว่า “เหนื่อยเพราะดูแลมาตลอด 40 ปี” โดยทาง สำนักข่าวเดอะไทเกอร์ รายงานว่า ข่าวดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกให้กับชาวญี่ปุ่น หลายคนบอกว่าเป็นการสะท้อนถึงสถานการณ์ที่ผู้สูงอายุต้องเผชิญในญี่ปุ่น เนื่องจากผู้สูงอายุหลายคนไม่ได้รับความช่วยเหลือ พวกเขาจึงต้องดูแลทั้งตัวเองและคนรักที่มีอายุมากเช่นกัน

ย้อนกลับมายังประเทศไทย ซึ่งกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยเช่นกัน ซึ่งเป็นการก้าวมาแบบไม่ค่อยพร้อมนัก สำหรับกลุ่มคนที่ไม่มีเงินออมสำหรับวัยเกษียณ แม้ว่าบางครอบครัวยังยึดติดกับวัฒนธรรมเดิมๆ คือ การให้ลูกหลานช่วยดูแล แต่ทว่าด้วยโลกเปลี่ยนไปความคิดของคนรุ่นใหม่ อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ปั้นปลายชีวิตของหลายๆ คนได้

ดังนั้น เพื่อให้ก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างมั่นคง เราอาจต้องหันมาใส่ใจสุขภาพร่างกายและสุขภาพทางการเงินมากขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายยามชราในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้าอาจไม่เหมือนเดิม สำหรับเคล็ดลับดีๆ เพื่อให้การวางแผนเกษียณอายุได้ตามเป้าหมาย ผู้เชี่ยวชาญจาก บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด ได้มี 5 เครื่องมือเพื่อการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ มาช่วยวางแผน โดยเริ่มจาก

1. ออมหุ้น – ออมกองทุน โดยการวางแผนเกษียณอายุ โดยไม่กังวลเรื่องภาษีเงินได้หรือมีการวางแผนภาษีไว้ดีแล้ว อาจเลือกการออมหุ้นหรือออมกองทุนได้ โดยเน้นเลือกหุ้นหรือกองทุนที่ดี แล้วทำการทยอยซื้อสม่ำเสมอด้วยเงินเท่าๆกัน หรือที่เรียกว่า Dollar Cost Average (DCA) ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการจับจังหวะการลงทุน และได้ราคาหุ้นหรือกองทุนในค่าเฉลี่ย สำหรับการลงทุนระยะยาวเพื่อเกษียณ ควรเลือกประเภทสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มจะเติบโตระยะยาวด้วย แต่DCAก็มีความเสี่ยง เพราะถ้าเกิดช่วงที่เราเกษียณอายุแล้วเกิดเหตุการณ์สภาวะตลาดผันผวนหนักทำให้หุ้นลงพอดี ผลตอบแทนเราก็จะลดลงตามไปด้วย ดังนั้น DCA ทำได้ แต่ต้องนานพอ ซึ่งก็สอดคล้องกับการออมเพื่อการเกษียณอายุพอดี

2. Super Saving Fund (SSF) ซึ่งกองทุนSSF เป็นกองทุนรวมที่มีสิทธิทางภาษี สามารถเลือกลงทุนได้ทรัพย์สินที่หลากหลาย ตั้งแต่ตราสารเงิน ตราสารหนี้ ตราสารทุน และสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ โดยสามารถซื้อได้สูงสุด 200,000 บาท แต่ต้องไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และต้องถืออย่างน้อย 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ ข้อดีของการใช้ SSF ออมเพื่อเกษียณอายุ คือสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี ส่วนข้อเสียคือ เมื่อครบ 10 ปี แทนที่เราจะเอาเงินไปลงทุนต่อ เราอาจเอาเงินไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นแทน ทำให้เก็บเงินเกษียณได้ต่ำกว่าเป้าหมาย



3. Retirement Mutual Fund (RMF) กองทุนRMF มีลักษณะคล้ายๆ SSF แต่ต้องถือยาวนานกว่า คือ ต้องถือไปจนอายุ 55 ปี ซึ่งถ้าใครถอนก่อนจะมีโทษในลักษณะการคืนภาษีที่ได้รับลดหย่อนมา หรือการเสียภาษีในเงินส่วน Capital Gain เว้นแต่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ

4. ประกันบำนาญ หลักของประกันบำนาญ คือ การชำระเบี้ย จนถึงอายุที่กำหนดไว้ตามสัญญา และหลังจากอายุเกษียณประกันบำนาญจะจ่ายเงินให้เราเป็นงวดๆ เช่น ชำระเบี้ยถึงอายุ 60 ปี หลังจากนั้น เริ่มรับบำนาญจนถึงอายุ 85 ปี ซึ่งอันนี้ขึ้นอยู่กับสัญญาที่ทำไว้ มีหลายแบบ หลายอายุเลยทีเดียว สำหรับทางเลือกการออมอันนี้ นอกจากได้บำนาญแล้วยังลดหย่อนภาษีได้ด้วย

5. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข) สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถเลือกสะสมได้ตั้งแต่ 2-15% ของเงินเดือน แล้วนายจ้างสมทบ 2-15% ขึ้นกับเงื่อนไขของนายจ้าง ส่วน กบข.สามารถเลือกสะสมได้ตั้งแต่ 3-15% ของเงินเดือน โดยรัฐจะสมทบให้ 3% ของเงินเดือน แต่ในส่วนของ กบข. จะมีเรื่องเงินชดเชยที่รัฐให้เพิ่ม สำหรับคนที่ได้บำนาญน้อยลงด้วย

อย่างไรก็ตาม แผนการเงินเพื่อวัยเกษียณจะเป็นไปตามเป้าหมายได้ อาจจะต้องวางแผนกันตั้งแต่เนิ่นๆ อย่าปล่อยให้อายุมากไปจนออมเงินเกษียณกันไม่ไหว เริ่ม ณ ตอนนี้ยังทัน!!


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับซีเคว้ล ออนไลน์
https://www.sequelonline.com/?p=136769
X