ข่าวการเงิน

กฎ 9 ข้อ ที่ทำให้คุณมีเงินเก็บ 1 ล้านเหรียญฯ แม้ไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทอง


วันที่ 23 ธันวาคม 2016 เป็นวันที่อยู่ในความทรงจำของ Steve Adcock ไปตลอดชีวิต เพราะเป็นวันสุดท้ายของเจ้าตัวที่จะได้ทำงานเต็มเวลา เนื่องจากเจ้าตัว และภรรยาได้เกษียณก่อนกำหนดเมื่ออายุเดินทางมาถึง 33 ปี และ 35 ปี ตามลำดับ ด้วยเงินเก็บที่ทำให้มีอิสรภาพทางการเงิน

นี่คือวิธีที่เขาจัดการจนสามารถมีเงินเก็บ ที่ใครๆ ก็สามารถทำได้

1. มองข้าม passion ตัวคุณเอง

แน่นอนว่าความหลงใหลมีแนวโน้มไปในทางสร้างสรรค์ แต่ไม่สามารถสร้างเงินให้กับเราได้เสมอไป โดยความหลงใหลของผมคือการถ่ายภาพ แต่จุดแข็งของผม คือวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่สามารถทำเงินได้มากกว่า ซึ่งในปี 2004 เงินเดือนเริ่มต้นในฐานะวิศกรซอฟต์แวร์ของผม คือ 55,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และในปี 2016 ผมสามารถทำเงินได้มากกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ผมอาจไม่มีเงินมากกว่านี้หากเลือกทำตาม passion

2. เรียนรู้จากมหาเศรษฐี

ตลอดชีวิตการทำงานของผม ผมทำงานกับคนร่ำรวยมากมาย แทนที่จะอิจฉาพวกเขา ผมกลับจดบันทึก

ผมไม่มีวันลืมเรื่องราวของ Brian ที่ผมทำงานด้วยหลังเลิกงาน แม้ว่าเขาจะเป็นมหาเศรษฐี แต่เขาก็ใส่นาฬิกา Casio ราคาถูก และไม่ได้สวมเสื้อผ้าแบรนด์เนมแต่อย่างใด โดย Brian เป็นคนที่มีความรับผิดชอบ เขาไม่ได้มาจากคนที่ฐานะร่ำรวย แต่เขาหาความมั่งคั่งด้วยการลงทุน และควบคุทการใช้จ่าย

3. ตัดคนขี้แพ้ออกจากชีวิต

หากคุณออกไปเที่ยวกับคนที่ชอบดื่มตามบาร์ และใช้เงินเป็นจำนวนมาก จึงไม่แปลกที่คุณจะมีนิสัยการใช้เงินแบบเดียวกัน ดังนั้น คุณสามารถยกระดับตัวเองด้วยการอยู่กับคนที่ประสบความสำเร็จ โดยภารกิจของผมคือการสร้างความสัมพันธ์กับพวกเขา

หลังจากนั้น ผมรู้สึกว่าการตัดสินใจเรื่องเงินดีขึ้น และลดแอลกอฮอล์ รวมถึงตั้งใจทำงานจนได้เลื่อนตำแหน่ง

4. เรียนรู้การใช้สิทธิ์ลดหย่อน

ผมลงทุนในกองทุนที่นายจ้างสนับสนุน โดยบริษัทบางแห่งมีบัญชี Health Savings (HSA) เพื่อช่วยให้พนักงานประหยัดเงินก่อนหักภาษี ตลอดจนการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี เหล่านี้จะช่วยในเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นอย่างดี

5. เปลี่ยนบริษัท 5 ครั้ง ในรอบ 14 ปี

การหางานมักเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการขอขึ้นเงินเดือน เพราะการต่อรองเงินเดือนที่สูงขึ้นถือเป็นเรื่องปกติของกระบวนการนี้ โดยผมได้รับเงินเพิ่ม 15-20% ทุกครั้งที่เปลี่ยนบริษัท ซึ่งสูงกว่าค่าครองชีพทั่วไป 3% ที่นายจ้างจำนวนมากเสนอให้พนักงาน

อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังคืออย่าเปลี่ยนบริษัทบ่อย ควรทำงานอย่างน้อย 1 ปี เพราะนายจ้างบางคนจะไม่ชอบจ้างพนักงานที่เปลี่ยนงานบ่อย

6. ใช้ระบบอัตโนมัติกับเรื่องเงิน

ผมหักเงินอัตโนมัติเข้าบัญชีเกษียณอายุ การจ่ายค่าสาธารณูปโภค ต่าง ๆ เพื่อให้เป็นระบบ และไม่ต้องมานั่งเสียดอกเบี้ยภายหลัง

7. ไม่สนใจผู้ที่เกลียดชัง

ส่วนที่น่าเสียดายของการทำอะไรที่สำคัญ คือคุณจะโดนเกลียด บางครั้งก็เยอะ โดยผู้คนจะวิพากษ์วิจารณ์การใช้จ่ายเงินที่แตกต่างกัน คุณอาจต้องเสียเพื่อนไป หากคุณปฏิเสธชั่วโมงแห่งความสุขประจำสัปดาห์ที่บาร์ใกล้บ้านคุณ

มันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ความเกลียดชังเป็นเรื่องที่ควรมองข้าม หากคุณจะสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง

8. ให้ความสำคัญกับการสื่อสาร

บ่อยครั้งที่คู่สมรสมีความคิดที่แตกต่างกันเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่าย เป้าหมาย และความฝัน หากปล่อยไว้โดยไม่ทำอะไร ความแตกต่างเหล่านี้อาจทำให้เกิดข้อโต้แย้ง และปัญหาอื่น ๆ ในความสัมพันธ์ที่ขัดขวางไม่ให้คุณบรรลุเป้าหมายทางการเงิน

ดังนั้น ความสัมพันธ์ขึ้นอยู่กับการสื่อสารอย่างเปิดเผยกับคู่ครองของคุณ เพื่อให้คุณสามารถกำหนดเป้าหมาย และสิ่งที่ทำให้คุณมีความสุขได้

9. ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ

ชีวิตมีค่ามากกว่าเงิน เหนือสิ่งอื่นใด สุขภาพเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การมีสุขภาพที่ดีทำให้คุณมีความสุข และมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังลดโอกาสค่ารักษาพยาบาลที่ไม่คาดคิดอีกด้วย

ที่มา:
cnbc

แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับsmartsme
https://www.smartsme.co.th/content/248777
X