ข่าวการเงิน

งานแบงก์จำเป็น แต่แบงก์อาจจะไม่ แล้วคนแบงก์จำเป็นไหม


คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยคิด
ผู้เขียน : ดร.นครินทร์ อมเรศ
ผอ.ฝ่ายยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างองค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์

“งานแบงก์จำเป็น แบงก์ไม่จำเป็น” (Banking is Necessary, But Banks are Not.) เป็นคำกล่าวตั้งแต่ปี 2537 ของคุณ Bill Gates มหาเศรษฐีผู้ปลุกปั้นบริษัทไมโครซอฟท์ ก่อนจะผันตัวเองมาเป็นนักการกุศลเต็มเวลาในปัจจุบัน ซึ่งนับว่าสะท้อนวิสัยทัศน์อันกว้างไกล และแยกส่วนที่สำคัญ คือบทบาทหน้าที่ในการให้บริการและเป็นตัวกลางทางการเงินออกจากองค์กรหรือหน่วยงานที่ให้บริการนั้น

โดยมีนัยว่าเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดดจะนำมาซึ่งยุคสมัยที่ผู้ใช้บริการทางการเงินยังจะได้รับบริการ “งานแบงก์” อยู่ เพียงแต่ผู้ให้บริการอาจจะเป็นผู้ประกอบการรายอื่น หรืออาจจะเป็นการทำธุรกรรมระหว่างผู้ใช้บริการด้วยกัน เพียงแค่ผ่านเทคโนโลยีตัวกลางที่ไม่จำเป็นต้องเป็นธนาคารเช่นเดียวกับในอดีต ในการนี้แล้ว “คนแบงก์” จะยังจำเป็นหรือไม่ หากไม่มีแบงก์เสียแล้ว ?

ในฐานะที่ได้ใช้เวลาเป็น “คนแบงก์” ถึงสามในสี่ของเส้นทางอาชีพที่ผ่านมา จึงอยากจะขอแลกเปลี่ยนมุมมอง โดยเริ่มจากว่า คนแบงก์เป็นใคร ทำอะไร อย่างไร... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/columns/news-1553501

โดยแบบสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติแสดงว่า ในไตรมาสที่สามปี 2566 นั้น มีคนแบงก์อยู่ประมาณ 225,000 คน โดยร้อยละ 76 จบการศึกษาสายสังคมศาสตร์ ธุรกิจ และกฎหมาย และน่าสังเกตว่าเกือบ 1 ใน 5 ของคนแบงก์เป็นผู้จัดการและผู้บริหาร และมีอีกกว่าร้อยละ 40 เป็นผู้ประกอบวิชาชีพ หรือเจ้าหน้าที่เทคนิค

จึงอาจกล่าวได้ว่า “คนแบงก์” ส่วนใหญ่ต้องใช้ทักษะ ความชำนาญ และมีความรู้ ความสามารถในการบริหารจัดการ และอาจเป็นเหตุให้คนแบงก์มีเส้นทางอาชีพค่อนข้างยาว เพราะเมื่อต้องใช้เวลาบ่มเพาะประสบการณ์อย่างยาวนาน ก็ต้องทำงานให้คุ้มกับการเรียนรู้

ประเด็นหนึ่งที่ธุรกิจธนาคารอาจจะแตกต่างจากธุรกิจอื่น ๆ คือ บริการทางการเงินนับเป็นสินค้าที่สร้างความแตกต่างได้ไม่ง่ายนัก อีกทั้งแนวทาง วิธีการ และเทคโนโลยีที่ให้บริการก็มีความโปร่งใสและเรียนรู้ได้อย่างเปิดเผย จึงทำให้ผู้นำกระแสต้องหมั่นสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ

ขณะที่คู่ค้าคู่แข่งก็ปรับตัวตามกันมาไม่ลำบาก จึงมีการแข่งขันสูง ทั้งในส่วนธุรกิจ และในส่วนของการสรรหาบุคลากรที่สามารถถ่ายโอนไหลเวียนกันได้คล่อง โดยมีกลไกหนึ่งที่ทำให้ตลาดแรงงานของคนแบงก์เลื่อนไหลไม่ติดขัด คือการมีชมรมต่าง ๆ ภายใต้สมาคมธนาคารไทย เป็นการรวมตัวกันของบุคลากรภาคการเงินการธนาคารในสายวิชาชีพเฉพาะเดียวกัน

โดยปกติแล้วชมรมเป็นการรวมตัวกันทำงานอดิเรก ซึ่งตรงกันข้ามกับชมรมภายใต้สมาคมธนาคารไทย ที่เป็น Coworking Space ของคนแบงก์ในกลุ่มทักษะเดียวกัน แต่อยู่ต่างองค์กรกัน โดยอาจแบ่งออกเป็นสามกลุ่มคร่าว ๆ คือ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์ อาทิ ชมรมกำกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ชมรมตรวจสอบและป้องกันการทุจริต และชมรมนักกฎหมาย หรือชมรมที่เกี่ยวกับการประกอบการ ได้แก่ ชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล ชมรมธุรกิจบัตรเครดิต และชมรมธุรกิจต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มชมรมรากฐานสำคัญ เช่น ชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศธนาคาร ชมรมนักบริหารงานประเมินราคา และชมรมนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ

เมื่อคนพื้นฐานใกล้เคียงกันมารวมตัวกัน แลกเปลี่ยนความรู้ และร่วมกันทำงานส่วนกลางของอุตสาหกรรม กิจกรรมชมรมจึงมีความเหนียวแน่น โดยที่ไม่ได้ขึ้นกับงบประมาณสนับสนุน แต่อยู่ที่การบริหารจัดการของผู้นำ และการสร้างสรรค์คุณค่าร่วมกันในการยกระดับทักษะอาชีพ จึงไม่น่าแปลกใจที่คนในวงการเดียวกันจะต่อยอดสายอาชีพความเป็นคนแบงก์ ไม่ว่าจะอยู่ในแบงก์เดิม หรือเดินหน้าไปแบงก์อื่น

อย่างไรก็ดี ความเป็นกลุ่มก้อนนี้ก็อาจมีส่วนสร้างความท้าทายในการตอบโจทย์ในยุคที่ชุดทักษะแบบเดียวกันไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ ต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนกันระหว่างชมรมภายในอุตสาหกรรมธนาคาร ต้องทำงานร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการและผู้กำกับดูแล ต้องสร้างความร่วมมือระหว่างภายในและภายนอกอุตสาหกรรมการเงิน ตลอดจนต้องมีการสนับสนุนส่งเสริมกันระหว่างผู้ให้และผู้ใช้บริการ โจทย์จึงยากขึ้นมาก

สุดท้ายนี้ ขอกลับไปที่คำถามตั้งต้นที่ล้อคำกล่าวของคุณ Bill Gates ว่า งานแบงก์จำเป็น แบงก์อาจจะไม่ แล้วคนแบงก์จำเป็นไหม ? คนแบงก์เองก็เป็นเช่นเดียวกับคนในสังคมที่ต้องอยู่รอดปรับตัวรับทักษะใหม่ เหมือนชมรมที่มีเก่าไปใหม่มา หมุนเวียนกันไปตามยุคสมัยแห่งกิจกรรมและกิจการ ดังนั้น ตราบใดที่คนแบงก์จะยังประโยชน์สร้างคุณค่าให้กับเศรษฐกิจและสังคม ผ่านการทำงานแบงก์ที่เอื้อให้การจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจเป็นไปด้วยความราบรื่น สร้างโอกาสให้กับทั้งธุรกิจและประชาชน ตลอดจน ยกระดับการพัฒนานวัตกรรมให้กับประเทศ คนแบงก์จะยังรักษาคุณค่าให้งานแบงก์เป็นสายอาชีพที่จำเป็นต่อประเทศได้ตราบนั้น


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์

https://www.prachachat.net/columns/news-1553501

X