• สุธี คุณาวิชยานนท์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2508 กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาทัศนศิลป์ เอกภาพพิมพ์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และปริญญาโท สาขาทัศนศิลป์จาก Sydney College of the Arts, the University of Sydney ออสเตรเลีย ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
• แนวผลงานที่สร้างชื่อเสียง ล้วนเป็นงานศิลปะที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม เช่น การบริจาคลมหายใจต่ออายุให้แก่ประติมากรรมยางรูปคน ช้าง ควาย และเสือ กิจกรรมทางศิลปะที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนในการ ‘เขียน’ ‘พิมพ์’ และ ‘เป็นเจ้าของ’ ประวัติศาสตร์การเมืองของไทย ในผลงานชุด ‘ห้องเรียนประวัติศาสตร์’ ที่ดำเนินมาตั้งแต่ พ.ศ. 2543
• “พราง” เป็นผลงานล่าสุดที่จะนำผู้ชมย้อนกลับไปทบทวนบรรยากาศของสงครามเย็นครั้งแรกที่เริ่มขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และตรวจสอบสงครามเย็นครั้งที่ 2 ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ผ่านแผนที่ในรูปลายพรางที่สะท้อนความตึงเครียดทางด้านทหาร ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตลอดจนการซ่อนเร้นอำพรางในมิติของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
พราง : CONCEAL เป็นนิทรรศการจัดแสดงผลงานศิลปะสื่อผสมของ สุธี คุณาวิชยานนท์ ศิลปินและศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาทฤษฎีศิลป์ ม.ศิลปากร ณ ละลานตา ไฟน์อาร์ต ระหว่างวันที่ 9 พฤษภาคม – 19 มิถุนายน 2567 โดยมี ชลิต นาคพะวัน รับหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์
ชลิต นาคพะวัน ภัณฑารักษ์ นิทรรศการพราง : CONCEAL
ชลิต กล่าวว่า ‘พราง’ เป็นนิทรรศการที่มีเนื้อสอดคล้องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย หากยังเกิดขึ้นในประเทศต่างๆทั่วโลก อันส่งผลกระทบโยงใยถึงกันไปหมด
“ผลงานของศิลปิน สะท้อนถึงความคลุมเครือที่ชัดเจน ผ่านลวดลายพรางที่มาจากเครื่องแบบของทหาร นำเสนอผ่านแผนที่ประเทศไทยและแผนที่โลกในรูปแบบใหม่ที่ชวนให้ผู้ชมฉุกคิด ตีความ ผ่านประสบการณ์ของแต่ละคน ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่มีทั้งสงครามทางทหาร การเมือง เศรษฐกิจ รวมไปถึงความคิดที่แตกต่าง ตลอดจนจุดยืนบนเวทีโลกของไทยบนความขัดแย้ง ความคลุมเครือที่ไม่ชัดเจนในบางครั้งก็เป็นเรื่องที่จำเป็น
เราต้องการนำเสนอผลงานศิลปะที่มีความลึกซึ้ง ชวนคิดเป็นอาหารสมองที่สร้างสรรค์ประเทืองปัญญา ได้ทั้งสุนทรียะและประเด็นให้ขบคิดไปพร้อมกัน”
(จากซ้าย) ผลงานไทยประดิษฐ์,2557 ลายพราง (ประเทศไทยและเพื่อนบ้าน) หมายเลข 2,2566 และแผ่นดินแม่ ,2557
นิทรรศการ ‘พราง’ แบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็น 1 ห้องใหญ่และอีก 2 ห้องเล็ก สุธี นำเราไปที่ห้องเล็กอันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ผลงานในรูปแผนที่ประเทศไทย ภายในห้องนี้จัดแสดผลงาน 3 ชิ้น ได้แก่ ไทยประดิษฐ์,2557 แผ่นดินแม่ ,2557 และ ลายพราง (ประเทศไทยและเพื่อนบ้าน) หมายเลข 2, 2566
รายละเอียดในแผนที่ไทยประดิษฐ์
“เริ่มทำแผนที่ประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2555 ในช่วงแรกเป็นการสื่อถึงประวัติศาสตร์การสร้างชาติหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. 2475 ไทยประดิษฐ์ เป็นผลงานภาพพิมพ์จากแม่พิมพ์โลหะ ทำขึ้นเมื่อปี 2557 ภายในแผนที่ประเทศไทย ประกอบไปด้วยมรดกจาก ‘ยุคสร้างชาติไทยใหม่’ หลายอย่าง
ทั้งการปฏิวัติไปสู่ระบอบการปกครองใหม่ เปลี่ยนชื่อประเทศ เปลี่ยนเพลงชาติ ประดิษฐ์สร้างประเพณีและธรรมเนียมใหม่ ๆ ยกเลิกจารีตเก่า ๆ และเป็นยุคบุกเบิกของการนำสื่อสมัยใหม่มารับใช้รัฐในการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างครบวงจร อาทิ เพลง ละคร วรรณกรรมและรายการวิทยุปลุกใจ สื่อสิ่งพิมพ์ช่วยประโคมข่าว งานออกแบบกราฟิก ภาพวาด ประติมากรรม และอนุสาวรีย์ ที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้รัฐและผู้นำ
ส่วน แผ่นดินแม่ แสดงภาพแผนที่กลับด้านหรือคว่ำหน้าได้รับแรงบันดาลใจจากความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงปี 2553 จนถึงปีที่สร้างงาน คือ 2557 ประเทศไทยในแบบเดิมถูกท้าทายจากฝ่ายเสื้อแดง” ศิลปินกล่าวถึงที่มาของผลงานแผนที่ประเทศไทยที่พัฒนาไปสู่แผนที่ประเทศไทยลายพราง ที่สร้างสรรค์ขึ้นในปี 2566 – 2567
“ลายพราง (ประเทศไทยและเพื่อนบ้าน) หมายเลข 2 ผลงานชิ้นนี้แสดงภาพแผนที่ประเทศไทยที่ล้อมรอบไปด้วยประเทศเพื่อนบ้าน เป็นองค์ประกอบที่คนไทยเราคุ้นเคยกันแต่คนต่างชาติหลายคนที่เข้ามาดูแล้วเขาดูไม่ออกว่าเป็นตรงไหนเป็นแผนที่ของประเทศไทย เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา หรือ มาเลเซีย
ลายพรางในที่นี้จึงทำงานทั้งในมิติของการพรางที่มองเห็นไม่ชัดเจน รวมไปถึงพรางในมิติของสงครามเย็นที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงเวลาที่ประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านต้องต่อสู้ดิ้นรนอยู่ท่ามกลางสมรภูมิความขัดแย้งระหว่าง 2 ขั้วมหาอำนาจ นั่นคือ ขั้วทุนนิยม เสรีประชาธิปไตย กับขั้วสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ โดยที่ไทยเข้าร่วมกับฝ่ายทุนนิยม เสรีประชาธิปไตยนำโดยสหรัฐอเมริกา”
สุธี คุณาวิชยานนท์ กับแผนที่ประเทศไทยลายพราง จาก ERDL Pattern
ด้วยเหตุนี้ศิลปินจึงนำ ‘ลายพราง’ ERDL Pattern สำหรับชุดทหารที่สหรัฐอเมริกาออกแบบและนำมาใช้ครั้งแรกในสงครามเวียดนาม โดยต่อมาทางการทหารอเมริกันได้มอบให้แก่ทหารไทย มาใช้เป็นสื่อในงานศิลปะ
“ลายพราง ชื่อ ERDL Pattern ยังใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน ที่เพิ่มเติมคือ ลายพรางของทหารได้แพร่หลายออกจากกรมกองมาสู่สตรีทแฟชั่น เสื้อผ้าลายพรางมีขายกันตั้งแต่ตลาดนัดไปจนถึงตลาดไฮเอนด์ ทุกวันที่ออกจากบ้านเราจะเห็นคนใส่ลายพราง ถ้าไม่ใช่เสื้อก็จะเป็นกางเกง ERDL Pattern ถือได้ว่าเป็นหลักฐานอีกอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมอเมริกัน ที่เผยแพร่ไปทั่วโลก”
จากแผนที่ประเทศไทยลายพราง ศิลปินพาเราย้อนกลับมาชมผลงานในห้องจัดแสดงหลักที่ประกอบไปด้วยแผนที่ประเทศไทยลายพรางหลากสี ได้แก่ ส้ม เหลือง แดง และเขียว
“เป็นผลงานที่ตั้งคำถามว่า คุณอยากจะได้ประเทศไทยสีอะไร ?”
(จากซ้าย) ผลงานประเทศไทยลายพรางสีส้ม ประเทศไทยลายพรางสีเหลือง ประเทศไทยลายพรางสีแดง ประเทศไทยลายอีอาร์ดีแอล (สงครามเย็น) และ ระเบียบโลกใหม่
ศิลปินตั้งคำถาม โดยการเขียนแผนที่ลายพรางหลากหลายสี ที่มีทั้งการทับซ้อน พรางตา คลุมเครือ บ้างก็เปิดเผย และบ้างก็แอบแฝงอย่างมิดชิด สะท้อนยุทธวิธีการต่อสู้ทางแนวคิดที่มีทั้งการหลบซ่อนรอซุ่มโจมตี และรอเวลาเพื่อแย่งชิงพื้นที่ให้เป็นของตน
จากสถานการณ์ในบ้านเรา ศิลปินพาเราออกไปมองความขัดแย้งในระดับโลกผ่านแผนที่โลกลายพรางที่ไม่เพียงแสดงขอบเขตที่คลุมเครือด้วยแพทเทิร์นลายพรางแล้ว ศิลปินยังเปลี่ยนตำแหน่งของแผนที่แต่ละประเทศในโลกให้กระจัดกระจายออกไปในผลงานที่มีชื่อว่า ระเบียบโลกใหม่,2567
ผลงาน ระเบียบโลกใหม่, 2567
“แผนที่โลกในรูปของลายพรางทางการทหาร แสดงถึงสภาวะตึงเครียดทางการเมืองและการทหารระหว่าง 2 ขั้วตรงข้ามในทางภูมิรัฐศาสตร์ นั่นคือ ระหว่างขั้วที่นำโดย จีนและรัสเซีย กับ สหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศในตะวันตก
ผลงานชื่อ ระเบียบโลกใหม่ แต่ดูเหมือนว่าจะเต็มไปด้วยความไร้ระเบียบ เต็มไปด้วยความอลหม่าน วุ่นวาย รุนแรง เป็นการนำแผนที่ของประเทศต่างๆที่เป็นทั้งพันธมิตรและคู่ขัดแย้งทางเศรษฐกิจการค้า ตลอดจนคู่สงครามระหว่าง 2 ขั้วมาจัดวางตำแหน่งใหม่ สะท้อนสภาวะการตึงเครียดของโลกที่เป็นอยู่ในขณะนี้” สุธีอธิบายถึงที่มาและความคิดในการสร้างผลงาน “ระเบียบโลกใหม่” ก่อนพามาถึงนิทรรศการในห้องสุดท้าย
ห้องจัดแสดงแม่พิมพ์ลายที่แยกออกมาจากลายพราง ERDL Pattern
ในพื้นที่เล็กๆ นี้จัดแสดงแม่พิมพ์พลาสติกที่แกะลายมาจาก ‘ลายพราง’ ERDL Pattern ที่ชวนให้คิดถึงรูปร่างของแผนที่ พื้นที่ของภูเขา แม่น้ำ ซึ่งเมื่อมารวมกันแล้วกลายเป็นลายพรางในเครื่องแบบทหารที่ช่วยในการอำพราง ซ่อนเร้น ดักรอโอกาสในการโจมตี
“ลายพราง เวลาที่อยู่ในป่ามันกลมกลืนไปกับธรรมชาตินะ แต่พอมาอยู่ในเมืองมันกลับเป็นลายที่โดดเด่นกลายเป็นแฟชั่นที่สะดุดตาเลยทีเดียว
ในนิทรรศการ ‘พราง’ จึงมีทั้งความพรางที่มองเห็นได้ชัดเจน ในความชัดเจนก็แอบแฝงไปด้วยอันตราย ในขณะเดียวกันความพรางที่แสดงความไม่ชัดเจน แสดงให้เห็นถึงสัญชาตญานของการอยู่รอด ความพยายามในการรักษาสมดุล ตลอดจนผลประโยชน์ที่ได้รับ
‘พราง’ จึงมีทั้งความชัดเจนในความไม่ชัดเจน และความไม่ชัดเจนที่แอบแฝงอยู่ และ เป็นสิ่งที่เราอยากชวนให้ผู้ชมสนุกไปกับการฉุกคิดและตีความไปกับผลงานในนิทรรศการชุดนี้”
ภาพ : ละลานตา ไฟน์อาร์ต
นิทรรศการ ‘พราง’ โดย สุธี คุณาวิชยานนท์ จัดแสดงระหว่างวันที่ 9 พฤษภาคม ถึง 19 มิถุนายน 2567
• ณ ละลานตา ไฟน์อาร์ต ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 22 แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ
• อังคาร - เสาร์ เวลา 10.00 น. - 19.00 น.โทร. 0 2050 7882