ข่าวทั่วไป
คอนเทนต์ ‘อวดหรู-ดูดีเกินจริง’ จากอินฟลูเอ็นเซอร์ อาจสร้างค่านิยมที่ผิด นำไปสู่การก่อหนี้ได้
ในรายงานภาวะสังคมฉบับล่าสุดของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ แนะภาครัฐเร่งกำกับดูแลอินฟลูเอ็นเซอร์ เนื่องจากคอนเทนต์ที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุมเหล่านี้ อาจสร้างผลกระทบ ‘ทางลบ’ ต่อสังคม เช่น คอนเทนต์ ‘อวดร่ำอวดรวย’ และการแต่งภาพบุคคลให้ ‘ดูดีเกินจริง’ อาจนำไปสู่การก่อหนี้เพื่อมาซื้อสินค้าและบริการได้
ทั้งนี้ อินฟลูเอ็นเซอร์ (Influencer) หมายถึงบุคคลทั่วไปที่มีอิทธิพลต่อความคิด และมีกลุ่มผู้ติดตาม (Follower) จำนวนมาก
โดยผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เกี่ยวกับ 10 อาชีพในฝันของเด็กรุ่นใหม่ในปี 2567 พบว่า อาชีพ Influencer, Streamer และ YouTuber เป็นอาชีพในฝันอันดับที่ 4 สูงกว่าทนายความ นักบิน และข้าราชการเสียอีก
ขณะที่ข้อมูลจาก Nielsen ระบุว่า ในปี 2565 ประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีจำนวนอินฟลูเอ็นเซอร์รวมกันมากถึง 13.5 ล้านคน โดยประเทศไทยมีจำนวนกว่า 2 ล้านคน เป็นอันดับ 2 รองจากประเทศอินโดนีเซีย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเป็นช่องทางสร้างรายได้
โดยมูลค่าทางการตลาดอินฟลูเอ็นเซอร์สูงถึง 19.01 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 140.33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 7.4 เท่า ภายใน 7 ปี
อินฟลูเอ็นเซอร์อาจสร้างคอนเทนต์ทางลบต่อสังคม
สภาพัฒน์ได้ออกมาเตือนว่า อินฟลูเอ็นเซอร์อาจผลิตคอนเทนต์ที่มีอิทธิพลทางลบต่อสังคมในด้านต่างๆ ตัวอย่างเช่น
• การนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง รวมไปถึงข่าวปลอม เช่น กรณีอินฟลูเอ็นเซอร์เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนว่า การดื่มน้ำต้มผสมข่า ตะไคร้ และใบเตย ติดต่อกัน 7 วัน และเว้น 7 วัน สามารถช่วยล้างไตและขับปัสสาวะ
• การชักจูงหรือชวนเชื่อที่ผิดกฎหมาย เช่น การโฆษณาเว็บพนันออนไลน์ผ่านอินฟลูเอ็นเซอร์
• การละเมิดสิทธิ เช่น การนำเสนอข่าวอาชญากรรมราวกับละคร เพื่อสร้างความตื่นเต้นเร้าใจ แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เสียหาย ครอบครัว หรือบุคคลใกล้ชิด และการนำภาพหรือวิดีโอของผู้อื่นมาตัดต่อลงคอนเทนต์โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่มีแหล่งที่มา เป็นต้น
• การสร้างค่านิยมที่ผิดต่อสังคม ตัวอย่างเช่น เนื้อหาการอวดความร่ำรวยเช่น แบรนด์เนม การบริการประทับใจ ไลฟ์สไตล์ รวมทั้งการแต่งภาพบุคคลให้ดูดีเกินจริง ซึ่งอาจสร้างค่านิยมที่ผิดให้แก่เยาวชน และอาจนำไปสู่การก่อหนี้ได้
ประเทศอื่นกำกับดูแลอินฟลูเอ็นเซอร์อย่างไร
ทั้งนี้ ในต่างประเทศเริ่มมีการออกกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลอินฟลูเอ็นเซอร์แล้ว โดยสภาพัฒน์แนะว่า รัฐบาลไทยอาจศึกษาแนวทางการกำกับหรือการควบคุมอินฟลูเอ็นเซอร์ของรัฐบาลต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทสังคมไทย ตัวอย่างเช่น
จีน
• สั่งห้ามเผยแพร่เนื้อหาอวดความร่ำรวย และการใช้ชีวิตแบบกินหรูอยู่สบายเกินจริง เช่น การโชว์เงินสด รถยนต์หรูหรา และการกินอาหารแบบทิ้งขว้าง เนื่องจากเป็นการสร้างค่านิยมในทางที่ผิดต่อสังคม
• โครงการรณรงค์ ‘Diligent and Thrifty’ เพื่อเน้นย้ำถึงความประหยัด และการใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล
• ยกเลิกการจัดอันดับความนิยมด้านชื่อเสียงเฉพาะบุคคล เพื่อให้ความสำคัญกับคุณภาพผลงานมากขึ้น
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)
• มีการออกกฎหมายให้ผู้ที่เป็นอินฟลูเอ็นเซอร์จะต้องจดทะเบียน และได้รับใบอนุญาตจากสภาสื่อแห่งชาติ (NMC) เพื่อป้องกันการโฆษณาเนื้อหา หรือกิจกรรมที่ผิดกฎหมายบนโซเชียลมีเดีย
นอร์เวย์
• ออกกฎหมายกำหนดให้อินฟลูเอ็นเซอร์ต้องแจ้งรายละเอียดภาพบุคคลที่ใช้สำหรับการขายและโฆษณาสินค้าบนโซเชียลมีเดียต่อหน่วยงานรัฐ
• แสดงเครื่องหมายกำกับลงบนภาพหากผ่านการปรับแต่ง เพื่อลดปัญหาความกดดันทางสังคมต่อมาตรฐานความงามที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน
สหราชอาณาจักร
• อยู่ระหว่างพิจารณาร่างกฎหมายสำหรับรูปภาพที่ผ่านการปรับแต่งดิจิทัล
• กำหนดให้ผู้โฆษณา ผู้ผลิตสิ่งพิมพ์ รวมถึงอินฟลูเอ็นเซอร์ต้องแสดงเครื่องหมายลงบนภาพที่มีการปรับแต่งส่วนหนึ่งส่วนใดบนร่างกาย
กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมอินฟลูเอ็นเซอร์ในไทย
สำหรับประเทศไทย แม้มีกฎหมายในการควบคุมอย่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522
รวมทั้งอยู่ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. ที่มีความพยายามปรับปรุงการกำกับดูแล การนำเสนอข้อมูลให้เท่าทันสื่อในปัจจุบัน
แต่ยังไม่มีการกำหนดกฎระเบียบสำหรับอินฟลูเอ็นเซอร์ที่ชัดเจน นอกจากนี้ แนวทางการกำกับดูแลส่วนใหญ่เน้นไปที่การตรวจสอบและเฝ้าระวังการนำเสนอ การตักเตือน และแก้ไข
สภาพัฒน์แนะว่า หากจะขยายขอบเขตการกำกับดูแลให้ครอบคลุม อาจต้องทบทวนการกำหนดนิยามของสื่อออนไลน์อย่างชัดเจน รวมถึงควรมีแนวทางการกำกับดูแลที่สอดคล้องกับการผลิตเนื้อหาของสื่อกลุ่มต่างๆ
เครดิตภาพปก: FG Trade / Getty Images
X