ท่องเที่ยว

“ภูกระดึง อินทนนท์ เบตง” ไม่ธรรมดา นำทัพจุดถ่ายรูปคู่ป้ายมีอัตลักษณ์ นักท่องเที่ยวนิยมเช็กอิน


แหล่งท่องเที่ยวหลาย ๆ แห่ง ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ นอกจากความสวยงาม แปลกตา น่าทึ่ง ของตัวแหล่งท่องเที่ยว สถานที่ที่ไปเยือน บรรยากาศ และเรื่องราวระหว่างทางแล้ว “ป้าย” ตามแหล่งท่องเที่ยวนั้น ๆ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งแม่เหล็กดึงดูดให้คนไปถ่ายรูปคู่กับป้ายเป็นที่ระลึกกันไม่น้อย


ยิ่งเป็นป้ายประเภทมีความสวยงาม มีเรื่องราว มีอัตลักษณ์โดดเด่น ก็ยิ่งกลายเป็นอีกหนึ่งจุดเช็กอินสำคัญเคียงคู่แหล่งท่องเที่ยวนั้น ๆ



ป้ายสูงสุดแดนสยาม ดอยอินทนนท์


และนี่ก็คือ 3 แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังในบ้านเราที่มีจุดถ่ายรูปคู่กับป้ายอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ที่นักท่องเที่ยวนิยมไปถ่ายรูป-เช็กอิน ยามเมื่อมีโอกาสไปเยือนแหล่งท่องเที่ยวนั้น ๆ


ป้ายจุดสูงสุดแดนสยาม ดอยอินทนนท์


ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นขุนเขาที่มียอดสูงที่สุดในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ทางอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ผู้ดูแลพื้นที่จึงได้จัดสร้างป้าย “สูงสุดแดนสยาม” ไปติดตั้งไว้บริเวณยอดดอยสูงสุด เพื่อให้เป็นจุดถ่ายรูปเช็กอิน เมื่อขึ้นไปเยือนดอยอินทนนท์



ป้ายสูงสุดแดนสยาม อีกหนึ่งจุดเช็กอินยอดฮิตของนักท่องเที่ยว


ป้ายสูงสุดแดนสยามเป็นป้ายไม้ที่มีทั้งภาษาไทย-อังกฤษ ระบุข้อมูลบริเวณนี้ว่า มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2,565.3341 เมตร ถือเป็นหนึ่งในบ้ายของฮิตของแหล่งท่องเที่ยวป้ายเรา เพราะคนส่วนใหญ่ที่มาเที่ยวดอยอินทนนท์ มักจะไม่พลาดการมาถ่ายรูปกับป้ายแห่งนี้


จากป้ายสูงสุดแดนสยามจะมีเส้นทางเดินไปยัง “สถูปของพระเจ้าอินทรวิชยานนท์” เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ บุคคลสำคัญที่ทำให้ดอยแห่งนี้เปลี่ยนจากชื่อเดิมคือ “ดอยหลวง” และ “ดอยอ่างกา” มาเป็น “ดอยอินทนนท์”



เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา


ส่วนถ้าเดินต่อไปจะไปออกที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว แล้วข้ามถนนไปจะเป็น “เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา” ที่มีบรรยากาศดูคล้าย “ป่าโบราณ” หรือ “ป่าดึกดำบรรพ์” ที่ดูสวยงามแปลกตาด้วย “ต้นไม้ใส่เสื้อผ้า” ซึ่งมีมอสเฟินปกคลุมลำต้นกิ่งก้านอย่างหนาแน่น รวมถึงมี “ข้าวตอกฤาษี” มอสที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทยให้ชมกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งนี่ถือเป็นเส้นทางเดินป่าอันสวยงามและน่าทึ่งแห่งหนึ่งของเมืองไทย


ป้ายใต้สุดสยาม เบตง



ป้ายใต้สุดสยาม เบตง


อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ใต้สุดของประเทศไทย ทางภาครัฐจึงสร้างป้าย “ใต้สุดสยาม” ไว้บริเวณด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย (รัฐเปรัค) ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองเบตงไปราว 7 กิโลเมตร


ป้ายใต้สุดสยามสร้างจากหินอ่อน มีตัวหนังสือและรูปแผนที่ประเทศไทยเป็นสีทอง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งจุดถ่ายรูปเช็กอินยอดนิยมของผู้ที่ล่องใต้ไปเที่ยวเบตง โดยมีคำกล่าวว่า “ถ้าไม่ได้มาถ่ายรูปคู่กับป้ายใต้สุดสยาม ถือได้ว่ามาไม่ถึงเบตง”



ป้ายใต้สุดสยาม อีกหนึ่งจุดถ่ายรูปยอดนิยมขอิงนักท่องเที่ยว


อย่างไรก็ดีบริเวณที่ตั้งป้ายใต้สุดสยามนั้น ไม่ใช่ตำแหน่งที่อยู่ใต้สุดของเมืองไทย แต่จุดที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทยหรือจุดใต้สุดสยามจริง ๆ คือที่จุดสิ้นสุดประเทศไทย หมู่ 1 ต.ธารน้ำทิพย์ อ.เบตง ซึ่งมีการสร้าง หลักเขต 54 A ไว้เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเบตง



ป้ายอักษร OK BETONG


นอกจากนี้ในอำเภอเบตงยังมีจุดถ่ายรูปคู่กับป้ายเด่น ๆ ที่นักท่องเที่ยวนิยมไปถ่ายรูปด้วยอีกหลายจุด อย่างเช่น ป้ายเบตงใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน หน้าอุโมงเบตงมงคลฤทธิ์ (ฝั่งสนามกีฬา) ที่มีประติมากรรมพี่ตูนยืนอยู่เคียงข้าง, ป้ายอักษรไทย-อังกฤษตัวโตของสกายวอล์คทะเลหมอกอัยเยอร์เวง, ป้ายอักษรโอเคเบตง (OK BETONG) ที่อยู่ริมทางฝั่ง (จากยะลา) ขาเข้าเมืองเบตงที่นำมาจากชื่อภาพยนตร์ รวมถึงป้ายรถยนต์ “ทะเบียนเบตง” ที่เป็นป้ายรถยนต์ให้ทะเบียนเป็นชื่ออำเภอหนึ่งเดียวในเมืองไทย เป็นต้น


ป้ายผู้พิชิตภูกระดึง



ผาหล่มสัก สัญลักษณ์แห่งภูกระดึง


ภูกระดึง อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวเดินป่าขึ้นเขาระดับตำนานดาวค้างฟ้าที่ยังคงได้รับความนิยมนับจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน


ภูกระดึง เป็นภูเขายอดตัดราบรูป (คล้าย) “หัวใจ” หรือ “ใบบอน”


มีพื้นที่ราว 60 ตารางกิโลเมตร มีความสูงเฉลี่ยอยู่ที่ 400-1,200 เมตร โดยมียอดสูงสุด ตั้งอยู่บนความสูง 1,288 เมตรจากระดับน้ำทะเล



เดินเท้าขึ้นสู่ยอดภูกระดึง


บนยอดภูกระดึง มีการเปิดพื้นที่บางส่วนเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยมีสถานที่ท่องเที่ยวเด่น ๆ อาทิ ผาหล่มสัก ผานกแอ่น ผาหมากดูก ป่าสน สระอโนดาต น้ำตกต่าง ๆ เช่น น้ำตกโผนพบ เพ็ญพบ ถ้ำสอเหนือ เป็นต้น


อย่างไรก็ดีการจะขึ้นสู่ยอดภูกระดึงปัจจุบันต้องเดินเท้าขึ้นเขาอย่างเดียว โดยจากจุดเริ่มต้นที่ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว บ้านศรีฐาน มีระยะทางประมาณ 5.5 กิโลเมตร เดินขึ้นเขาชันผ่านซำต่าง ๆ สู่ “หลังแป” ที่เป็นจุดเหยียบสัมผัสแรกบนภูกระดึง ซึ่งต้อนรับเราด้วยป้าย “ครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง”



ป้ายครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง ที่หลังแป


ป้ายผู้พิชิตภูกระดึงป้ายนี้ที่หลังแป แม้ว่าจะเป็นป้ายธรรมดา ๆ ตามมาตรฐานทั่ว ๆ ไปของกรมอุทยานแห่งชาติฯ แต่นี่ถือเป็นอีกหนึ่งป้ายในตำนานการท่องเที่ยวของบ้านเรา ทั้งยังเป็นป้ายที่มีคุณค่าทางจิตใจต่อนักท่องเที่ยวหลาย ๆ คน เพราะกว่าจะดั้นด้นเดินขึ้นเขาจากด้านล่างมาถึงหลังแปนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย



ป้ายครั้งหนึ่งในชีวิต เราคือผู้พิชิตภูกระดึง ที่มีคุณค่าทางจิตใจของเหล่าผู้พิชิตภูกระดึง


และนี่ก็คือตัวอย่างเพียงส่วนน้อยนิดของป้ายแหล่งท่องเที่ยวในบ้านเราที่นักท่องเที่ยวนิยมไปถ่ายรูปคู่ด้วย ซึ่งในบรรดาป้ายชื่อตามสถานที่หรือแหล่งท่องต่าง ๆ ป้ายหลาย ๆ แห่งมีมากกว่าฟังก์ชั่นในการบอกชื่อสถานที่หรือบอกตำแหน่ง แต่มันยังเป็นจุดถ่ายรูปเช็กอินของนักท่องเที่ยว เป็นแลนด์มาร์ก เป็นเอกลักษณ์คู่เมือง บางป้ายก็มีคุณค่าทางจิตใจ


ดังนั้นการจะเปลี่ยนป้ายต่าง ๆ ต้องทำด้วยความรอบคอบ อย่าทำชุ่ย ๆ และไม่ทำสนองความโว้ค หรือทำเพื่อหาเรื่องกินงบประมาณ เพราะสุดท้ายแล้วก็จะถูกสังคมก่นด่าเละเทะ แม้กระทั่งผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีก็ยังมิอาจต้านทาน


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับผู้จัดการออนไลน์
https://mgronline.com/travel/detail/9670000046620
X