ห้องแสดงนิทรรศการ

เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม นิทรรศการที่หาชมได้ยาก เปิดให้ชมถึง 30 มิ.ย.67


หากใครยังไม่ไปชม นิทรรศการ เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม ขอบอกว่าเป็นนิทรรศการที่น่าชมมาก ยังเปิดให้ชมถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2567 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ


นิทรรศการ เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม ยังเปิดให้ชม ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถึงวันที่ 30 เดือนมิถุนายน 2567 สำหรับคนที่ยังไม่มีโอกาสแวะไปชมมรดกสยามตั้งแต่ยุคทวารวดี สุโขทัย และอยุธยา ขอแนะว่าเป็นนิทรรศการที่ดีและหาชมได้ยากสำหรับคนที่ชอบแนวประวัติศาสตร์


โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคดั้งเดิมสู่รัฐสมัยใหม่ มีการนำเสนอเอกสารต้นฉบับทั้งหมด 6 หมวด
อาทิ จารจารึก บันทึกสยาม,แผนภูมิของแผ่นดิน, นิติสารเมื่อเพรงกาล เล่าขานประวัติศาสตร์ไทย,เมื่อแรกมีการพิมพ์, ต้นร่างสร้างเมือง เรืองรองศิลปกรรม  และด้วยความทรงจำอันงดงามและความคิดถึงฯลฯ



เอกสารกลุ่มแรกๆ ในสมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์แบบตะวันตก


ก่อนจะชมทั้ง 6 หมวดหมู่ ในห้องนิทรรศการ ด้านนอกมีไทม์ไลน์ตั้งแต่ยุคก่อนพุทธศักราชจนถึงยุคปัจจุบัน เทียบเคียงให้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นๆ ของโลก เอเชีย และไทย ยกตัวอย่าง เมื่อ3,000-400 ปีก่อนพุทธศักราช บ้านเชียง จ. อุดรธานี เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งฝังศพในยุคก่อนประวัติศาสตร์


และช่วงเวลาใกล้เคียงกันในแถบเอเชียมีการค้นพบอักษรรูปลิ่ม โดยชาวสุเมเรียน เมโสโปเตเมียในตะวันออกกลาง ได้พัฒนาวิธีการบันทึกเป็นสัญลักษณ์รูปลิ่มแทนคำและพยางค์ใช้บันทึกทางการค้า


นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ในไทม์ไลน์ ยังมีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นหลายอย่าง  


นอกจากนี้หากใครยังไม่เคยเห็น ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง,คัมภีร์อัลกุรอาน ,แผนที่โบราณของไทย ,สนธิสัญญาเบาว์ริง จินดามณี และสามก๊ก ฯลฯในนิทรรศการครั้งนี้รวบรวมไว้หมด


ยกตัวอย่างในหมวดของจารจารึก บันทึกสยาม มีให้ชมตั้งแต่ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง จารึกเป็นภาษาไทยหลังแรก เมื่อปีพ.ศ. 1835 ค้นพบในปีพ.ศ. 2376 รัชสมัยรัชกาลที่ 4 ที่เมืองโบราณสุโขทัย


คัมภีร์อัลกุรอาน คัมภีร์สูงสุดในศาสนาอิสลาม รวบรวมพระวจนะของอัลลอฮ์ที่ประทานแก่นนบีมูฮัมมัด เพื่อให้ถ่ายทอดไปยังมวลมนุษย์ชาติ ในยุคแรกบันทึกไว้บนก้านอินทผลัม ก้อนหิน แผ่นหนังสัตว์หรือกระดูกสัตว์ขนาดใหญ่


จนเมื่อนบีมูฮัมมัดเสียชีวิตได้มีการคัดลอกและสำเนาแจกจ่ายไปเมืองต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1196 โดยใช้อักษรอาหรับ เขียนจากขวาไปซ้าย ฉบับที่รักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เป็นคัมภีร์ที่เขียนขึ้นในปีพ.ศ. 2297


สำหรับคนที่ไม่เคยเห็น จินดามณี หนังสือแบบเรียนไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับพุทธศักราช 2325เก็บรักษาไว้ในหอสมุดแห่งชาติ ในนิทรรศการที่นำมาจัดแสดงเป็นฉบับที่กรมพระอาลักษณ์ชำระและคัดลอกสมัยรัชกาลที่ 1






ส่วนสามก๊กฉบับดั้งเดิม วรรณกรรมแปล โดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นต้นฉบับหนังสือสมุดไทยดำ เล่ม 96 ส่วนต้นฉบับหนังสือสมุดไทยขาว เป็นสามก๊ก เล่ม 2 ในหมวดนี้ก็น่าสนใจ


หมวดแผนภูมิของแผ่นดิน ขอยกตัวอย่างแผนที่โบราณของไทย มีตั้งแต่แผนที่สมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงเปลี่ยนผ่านจากแผนที่โบราณมาสู่แผนที่สมัยใหม่ตามหลักวิชาการแบบยุโรป


ซึ่งจะได้เห็นเบื้องหลังการทำแผนที่แต่ละยุคสมัยตามคติความเชื่อ ค่านิยม และสภาพการเมืองการปกครองยุคนั้น ยกตัวอย่างแผนที่กัลปนาวัดบนคาบสมุทรสทิงพระในสมัยอยุธยาที่นำมาแสดงในหมวดนี้


และที่ไม่ควรพลาดคือ หมวดนิติสารเมื่อเพรงกาล เล่าขานประวัติศาสตร์ไทย รวบรวมเอกสารในยุคสมัยรัชกาลที่ 1 ผ่านมาถึงรัชกาลที่ 4 และการปฎิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5


กฎหมายตราสามดวง ประมวลกฎหมายไทยโบราณ รูปเล่มสมุดไทยขาว เส้นหมึก ลายมืออาลักษณ์สมัยรัชกาลที่ 1ชำระขึ้นใหม่ปี พ.ศ. 2348 เพื่อเป็นกฎหมายของแผ่นดิน


นอกจากนีี้ยังจัดแสดงให้เห็นถึง สนธิสัญญาเบาว์ริง สนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ระหว่างอังกฤษและสยาม ปีพ.ศ.2398 ผู้ลงนามฝ่ายอังกฤษคือ เซอร์จอห์น เบาว์ริง ส่วนฝ่ายสยามเป็นผู้แทนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ว่าด้วยการค้าขายและอัตราภาษีสินค้า


นิทรรศการเอกสารล้ำค่าจารึกสยาม ตั้งแต่วันนี้-30 ,มิถุนายน 2567 ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร



ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง จารึกเป็นภาษาไทยหลังแรก เมื่อปีพ.ศ. 1835



หน้ากลักไม้ขีดไฟ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับกรุงเทพธุรกิจ
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/art-living/1131972
X