ประกันสุขภาพ

ไฟเขียว “ประกันสุขภาพ” ใหม่ กรมธรรม์คุ้มครองมะเร็งที่โรคสงบแล้ว


คปภ.ไฟเขียวกรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพ คุ้มครองการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ-ค่ารักษาพยาบาลจากโรคมะเร็งส่วนบุคคล สำหรับผู้ที่เคยป่วยเป็นมะเร็งมาก่อนทำประกันภัย และอยู่ในภาวะโรคสงบแล้ว ขณะที่ “ไทยวิวัฒน์” ยอมรับสนใจรับประกัน ชี้ค่าเบี้ยอาจต้องแพง ตามความเสี่ยงลูกค้า


นายอาภากร ปานเลิศ รองเลขาธิการด้านกำกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล่าสุด คปภ.ได้ออกคำสั่งนายทะเบียน เรื่อง กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากโรคมะเร็งส่วนบุคคล สำหรับผู้ที่เคยป่วยเป็นมะเร็งมาก่อนทำประกันภัย และอยู่ในภาวะโรคสงบแล้ว



อาภากร ปานเลิศ


สืบเนื่องจาก 1. ปัจจุบันสถิติผู้ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย และมีแนวโน้มการป่วยด้วยโรคมะเร็งกับคนที่มีอายุน้อยเพิ่มสูงขึ้น 2. กรณีที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งมาแล้ว และต้องการขอเอาประกันภัยสุขภาพ พบว่าส่วนใหญ่จะถูกบริษัทประกันภัยปฏิเสธการรับประกัน เนื่องจากมีประวัติโรคที่เป็นมาก่อนการทำประกันภัย


3. เนื่องจากปัจจุบันมีวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่พัฒนาวิธีการรักษาหลากหลายวิธี ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง เช่น ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ค่าใช้จ่ายประมาณ 92,000-144,400 บาท การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง (Targeted Therapy) ค่าใช้จ่ายประมาณ 2.7-4.6 ล้านบาท และยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ค่าใช้จ่ายประมาณ 3-15 ล้านบาท


4. ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ให้ความคุ้มครองโรคมะเร็งส่วนใหญ่เป็นแบบจ่ายเงินก้อน (เจอ-จ่าย-จบ) และไม่ได้มีการออกแบบเพื่อให้ความคุ้มครองที่เป็นแบบค่ารักษาพยาบาล


และ 5. เนื่องจากมีผู้เอาประกันภัยที่ทำประกันภัยสุขภาพ (สัญญาแบบเดิม ที่ไม่ใช่ New Health Standard) เมื่อป่วยเป็นโรคร้ายแรงและมีการเคลมค่ารักษาที่ค่อนข้างสูงต่อเนื่อง และบริษัทปฏิเสธการต่ออายุสัญญา ส่งผลให้ผู้เอาประกันภัยกลุ่มนี้ ไม่สามารถเข้าถึงการประกันภัยสุขภาพได้อีก (เนื่องจากจะสมัครใหม่ก็จะถูกปฏิเสธ จากโรคที่เป็นมาก่อน)


นายอาภากรกล่าวว่า คำสั่งฉบับดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ให้ครอบคลุมผู้เอาประกันภัยที่เคยป่วยด้วยโรคมะเร็งมาก่อนการทำประกันภัย และมีหลักฐานทางการแพทย์ว่ารักษาหายแล้ว หรือโรคอยู่ในภาวะสงบแล้ว โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่ครอบคลุมทุกช่วงอายุ


2. ลดข้อกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาลของผู้เอาประกันภัย หากผู้เอาประกันภัยกลับมาป่วยเป็นโรคมะเร็งซ้ำอีกครั้ง หลังจากที่โรคมะเร็งอยู่ในภาวะโรคสงบแล้ว


3. แก้ไขปัญหาผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคร้ายแรงอื่น ๆ และถูกปฏิเสธการรับประกันภัยสุขภาพ รวมไปถึงกลุ่มที่เคยถูกปฏิเสธการต่ออายุสัญญาประกันภัยสุขภาพ


4. นำไปเป็นต้นแบบพัฒนาต่อยอดกับกลุ่มคนที่เคยป่วยเป็นโรคร้ายแรงอื่น ๆ (ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง) ให้สามารถรับประกันภัยกลุ่มนี้ได้


“คปภ.ต้องการรองรับกลุ่มคนที่เคยป่วยเป็นโรคมะเร็งมาก่อน และอยู่ในภาวะโรคสงบแล้ว ที่มีความต้องการทำประกันภัยสุขภาพ ให้สามารถทำประกันภัยสุขภาพได้ โดยที่ผ่านมา ได้มีการประชุมหารือร่วมกับ สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย และคณะที่ปรึกษาทางการแพทย์ของสำนักงาน คปภ. เพื่อพิจารณากำหนดแบบและข้อความมาตรฐาน”


อย่างไรก็ตาม มีตัวอย่างการปรับปรุงแบบและข้อความให้มีความเหมาะสม เช่น 1) เพิ่มคำนิยาม “ภาวะโรคสงบ” หมายถึง ภาวะโรคมะเร็งที่ไม่ใช่ระยะแพร่กระจาย (Metastasis) ซึ่งได้รับการรักษาครั้งสุดท้าย ตามการรักษาของแพทย์และต้องไม่มีอาการกำเริบหรือเป็นมะเร็งที่อวัยวะอื่นอีก โดยมีกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้


1.1) มีผลตรวจสุขภาพว่า ไม่มีผลเลือดผิดปกติจาก Tumor Marker ไม่มีส่วนของเซลล์มะเร็งในกระแสเลือด ปัสสาวะ หรือน้ำคัดหลั่ง และไม่พบการเกิดของมะเร็งจากการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือภาพถ่ายทางรังสี หรือการตรวจทางรังสีวินิจฉัย และมีความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาพยาบาลยืนยันว่าไม่มีเซลล์มะเร็งหรือไม่มีอาการกำเริบ หรือ 1.2) มีผลตรวจสุขภาพตามข้อ 1. เป็นระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย X ปีขึ้นไป (ไม่เกิน 10 ปี)


2) ปรับเงื่อนไข โรคที่เป็นมาก่อนการทำประกันภัย (Preexisting) เนื่องจากป่วยมาก่อนทำประกัน จึงไม่มีเงื่อนไขข้อนี้ และ 3) กำหนดระยะเวลาไม่คุ้มครอง (Waiting Period) ได้ไม่เกิน 90 วัน นับแต่วันที่เริ่มมีผลคุ้มครองปีแรก


นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ กล่าวว่า เบื้องต้นก็สนใจจะเข้าไปร่วมรับประกัน แต่ค่าเบี้ยประกันจะต้องแพง เพราะลูกค้าที่เคยป่วยเป็นมะเร็งมาแล้ว ความเสี่ยงจะมีมากกว่าคนที่ไม่เคยเป็น เพราะแทบจะเรียกว่ามีโอกาสที่จะกลับมาลุกลามได้ใหม่ หรือพฤติกรรมของการใช้ชีวิตที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งต่างจากคนที่ไม่ได้เป็นมาก่อน


โดยการรับประกันจะขึ้นอยู่กับค่าเบี้ยประกันและทุนประกันภัย ตัวอย่างเช่น ซื้อทุนประกันภัย 100,000 บาท ค่าเบี้ยอาจจะอยู่หลักพัน แต่ถ้าซื้อทุนประกันภัย 500,000 บาท ค่าเบี้ยอาจจะอยู่หลักหมื่น


“เราคงต้องวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมก่อน และดูว่าอัตราเบี้ยประกันมีจำกัดเพดานสูงสุดที่รับได้ไว้เท่าไหร่ คือเราเป็นธุรกิจ เพราะฉะนั้นค่าเบี้ยที่เราคิด ต้องตามความเสี่ยงของลูกค้า ถึงจะไม่ขาดทุน เหมือนกับการรับประกัน พ.ร.บ.มอเตอร์ไซค์ ที่วันนี้ไม่มีบริษัทประกันไหนขาย เพราะเบี้ยไม่สะท้อนถึงความเสี่ยง ซึ่งใช้หลักการเดียวกันเลย ถ้าเปิดช่องให้เบี้ยขึ้นได้พอก็รับประกันได้” นายจีรพันธ์กล่าว


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/finance/news-1605667
X