ข่าวการเงิน

Gen Z Gen Y อาจผิดหวัง เมื่อพ่อแม่รุ่นบูมเมอร์ส่วนใหญ่ จะไม่ทิ้งมรดกไว้ให้


  •  คนรุ่นมิลเลนเนียล และ Gen Z ในสหรัฐอเมริกา ที่คาดหวังว่าตนเองจะได้รับมรดกจากพ่อแม่รุ่นบูมเมอร์ พวกเขาอาจผิดหวัง! เพราะบูมเมอร์ส่วนใหญ่ไม่มีแผนที่จะทิ้งมรดกใดๆ ไว้เลย
  •  มีเทรนด์การใช้ชีวิตแบบใหม่ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ การเพลิดเพลินไปกับทรัพย์สมบัติทั้งหมดขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ และตายไปโดยมีเงินในบัญชีธนาคารเป็นศูนย์
  •  ค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตวัยชรานั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่คนรุ่นบูมเมอร์ ไม่มีแผนที่จะส่งต่อมรดกให้ลูกหลาน แต่มีแผนสำหรับค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลและบ้านพักคนชรา


ก่อนหน้านี้มีรายงานระบุว่าในอนาคตอีก 10-20 ปีจากนี้ ประชากรชาว Gen Y หรือรุ่นมิลเลนเนียล กำลังจะขึ้นแท่นเป็นคนรุ่นที่ร่ำรวยที่สุด เนื่องจากจะได้รับมรดกตกทอดจากรุ่นพ่อแม่ โดยมูลค่าทรัพย์สินมรดกรวมแล้วสูงถึง 90 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3,080 ล้านล้านบาท) ขณะที่รายงานอีกชิ้นจาก NielsenIQ ชี้ว่า ภายในปี 2573 ชาว Gen Z อาจกลายเป็นรุ่นที่มีความร่ำรวยมากที่สุดในโลก ด้วยค่านิยมไม่มีลูกและมีกำลังซื้อสูงกว่าคนรุ่นก่อนๆ 


แต่ล่าสุด..(ว่าที่)คนรวยชาว Gen Z และ Gen Y อาจฝันสลาย เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ นิตยสารฟอร์จูน รายงานอ้างถึงผลสำรวจของ Northwestern Mutual ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการทางการเงิน ระบุว่า ทายาทรุ่นมิลเลนเนียล และ Gen Z ในสหรัฐอเมริกา ที่คาดหวังอย่างกระตือรือร้นว่าตนเองจะได้รับการโอนมรดกจากพ่อแม่ ซึ่งเป็นทรัพย์สินมหาศาล มูลค่ารวมถึง 90 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ นั้น พวกเขาส่วนใหญ่อาจต้องผิดหวัง! 


เนื่องจากมีเพียง 1 ใน 5 ของคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์เท่านั้นที่ตั้งใจว่าจะทิ้งมรดกไว้ให้ลูกหลาน แปลว่าที่เหลืออีกส่วนใหญ่อาจไม่ต้องการทิ้งมรดกใดๆ ไว้เลย


  •  ประชากรรุ่นเบบี้บูมเมอร์ คือ รุ่นที่ร่ำรวยที่สุดในยุคปัจจุบัน


ผลสำรวจของบริษัท Northwestern Mutual ครั้งนี้ ทีมวิจัยได้ทำการสำรวจข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนทำงานวัยผู้ใหญ่จำนวนกว่า 4,500 คนในสหรัฐอเมริกา และพบว่ามีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่คาดว่าจะได้รับเงินสดก้อนโตหลังจากพ่อแม่ของพวกเขาเสียชีวิตลง


ขณะที่ข้อมูลจาก Visual Capitalist เผยว่า ความมั่งคั่งของผู้คนในอเมริกามากกว่าครึ่งหนึ่ง เป็นของประชากรรุ่นเบบี้บูมเมอร์ โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินที่ผูกติดกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น การมีบ้านหลังใหญ่ หรือมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ เป็นหลัก นอกจากนั้นก็เป็นความมั่งคั่งที่งอกเงยมาจากหุ้น กองทุนรวม เงินบำนาญ ฯลฯ 


นี่อาจเป็นสาเหตุที่คนรุ่น Gen Z มากกว่า 50% และคนรุ่น Millennial เกือบ 60% รายงานว่า พวกเขาหวังพึ่งพามรดกของพ่อแม่ในอนาคต เพื่อให้ตนเองมีความมั่นคงทางการเงินและใช้ชีวิตเกษียณอย่างสุขสบาย


อย่างไรก็ตาม ชาว Gen Z Gen Y ที่เคยจับจ้องทรัพย์สินของพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายเอาไว้ อาจจะต้องตกใจอย่างมาก เนื่องจากผลสำรวจดังกล่าว พบว่า มีคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์เพียง 20% เท่านั้นที่วางแผนว่าจะทิ้งมรดกไว้ให้ลูกหลาน ส่วนที่เหลืออีก 50-80% ต่างบอกตรงกันว่า พวกเขาตั้งใจที่จะไม่ทิ้งมรดกใดๆ ไว้ให้คนข้างหลังเลย ยิ่งไปกว่านั้น มีเพียง 11% ของกลุ่มเบบี้บูมเมอร์เท่านั้น ที่บอกว่าการทิ้งมรดกไว้ให้ลูกๆ เป็นเป้าหมายทางการเงินสูงสุดของพวกเขา


นอกจากนี้ ผลสำรวจเผยข้อมูลอีกว่า 60% ของชาวบูมเมอร์ได้ทำพินัยกรรมเอาไว้ให้ลูกหลานแล้ว แต่ในพินัยกรรมนั้นอาจมีเนื้อหาเกี่ยวกับความต้องการในการจัดงานศพของพวกเขา มากกว่าจะระบุถึงการแจกแจงเงินสด บ้าน หรือทรัพย์สินอื่นๆ ให้แก่ลูกหลานในครอบครัว


  •  ค่านิยมชาวบูมเมอร์ย้ำชัด “หากมีเงิน จงใช้มันเพื่อตัวเองตอนนี้ อย่ารอจนตาย”


ทั้งนี้ผลสำรวจข้างต้น ไม่ได้เจาะลึกถึงเหตุผลที่แท้จริงว่าทำไมคนรุ่นบูมเมอร์ถึงไม่อยากส่งต่อมรดกใดๆ ให้ลูกหลาน อย่างไรก็ตาม มีเทรนด์การใช้ชีวิตแบบใหม่ของคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่พยายามจะเสียชีวิตโดยไม่มีเงินติดตัวเลย หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เพลิดเพลินไปกับทรัพย์สมบัติทั้งหมดขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ และตายไปโดยมีเงินในบัญชีธนาคารเป็นศูนย์ดอลลาร์


คนวัยเกษียณบางคนบอกกับนิตยสารฟอร์จูน ว่า แทนที่จะทิ้งเงินก้อนโตไว้ให้คนรุ่นต่อไป พวกเขาเลือกที่จะพาคนที่พวกเขารักไปเที่ยวในวันหยุดในขณะที่พวกเขายังมีชีวิต เพื่อสัมผัสถึงความสุขที่เงินของพวกเขาสามารถซื้อได้


“หากคุณมีเงินตอนนี้ จงใช้มันเพื่อตัวเองตอนนี้ อย่ารอจนตาย” เอเลนา นูเญซ คูเปอร์ (Elena Nuñez Cooper) หนึ่งในคนรุ่นบูมเมอร์กล่าว โดยเธอวางแผนจะจ่ายเงินค่าทริปฮันนีมูนให้เพื่อนของเธอ และทุ่มเงินเก็บของตนเองบางส่วนให้กับองค์กรการกุศล


นอกจากนี้คนวัยเกษียณอีกหลายคน ก็ยอมรับว่า หลังจากทำงานหนักมานานหลายสิบปี พวกเขาอยากใช้เงินที่หามาอย่างยากลำบาก เพื่อเพลิดเพลินไปกับชีวิตบั้นปลายอย่างเต็มที่ รวมถึงการเดินทางไปเม็กซิโกและเทศกาลดนตรี Glastonbury แทนที่จะใช้ชีวิตโดยยึดติดหรือกังวลกับความตายที่ใกล้เข้ามา 


นอกจากนี้ รายงานของ Northwestern Mutual ยังเน้นย้ำว่า ค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตวัยชรานั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2020 ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า พวกเขาต้องการเงิน 951,000 ดอลลาร์เพื่อใช้ชีวิตเกษียณอย่างสบาย แต่ปัจจุบัน ตัวเลขดังกล่าวพุ่งสูงถึง 1.46 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่จะพบว่า คนรุ่นบูมเมอร์ไม่มีแผนที่จะส่งต่อมรดกให้ลูกหลาน แต่พวกเขามีแผนสำหรับจัดการค่ารักษาพยาบาลในช่วงวัยเกษียณอายุ และใช้จ่ายไปกับโรงพยาบาลและบ้านพักคนชรามากกว่า


  •  คนรุ่นใหม่สมัยนี้ใช้เงินในบัญชีธนาคารของพ่อกับแม่กันเป็นปกติอยู่แล้ว


แม้ว่าคนรุ่น Gen Z และ Millennials ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับประโยชน์จาก Great Wealth Transfer หรือ ‘การส่งต่อความมั่งคั่งระหว่างรุ่นครั้งใหญ่' แต่ก็มีคนจำนวนมากในประชากรกลุ่มนี้ ที่ได้รับมรดกไปแล้วในขณะที่พ่อแม่ของพวกเขายังอยู่


การวิจัยข้างต้นยังแสดงให้เห็นว่า มากกว่า 1 ใน 3 ของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่กำลังวางแผนซื้อบ้าน คาดหวังว่าพ่อแม่หรือครอบครัวของตนจะช่วยจ่ายเงินดาวน์ในรูปแบบของเงินสดเป็นของขวัญ นอกจากนี้ ตามรายงานยังแสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียลมีแนวโน้มที่จะใช้เงินฝากจากธนาคารของพ่อและแม่เพื่อซื้อบ้านมากกว่าคนรุ่นก่อนหน้า


ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่าคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์บางส่วน ยังคงให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ลูกๆ ในวัยทำงานแล้ว และไม่ใช่การช่วยเหลือในเรื่องใหญ่ๆ อย่างการดาวน์บ้าน ดาวน์รถยนต์ หรือช่วยซื้อสินทรัพย์อื่นๆ เท่านั้น


แต่จากข้อมูลของ ศูนย์วิจัย PEW รายงานไว้ด้วยว่า คนรุ่นมิลเลนเนียลหนึ่งในสามที่มีอายุ 30 ปีต้นๆ ยังคงได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากพ่อแม่ แม้จะเป็นค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือค่าสมาชิกบริการสตรีมมิ่งออนไลน์ เป็นต้น


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับกรุงเทพธุรกิจ
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1143088
X