ประกันภัย
บริษัทประกันภัยทั่วโลก ครึ่งปีแรกจ่ายเคลมภัยธรรมชาติ 2 ล้านล้านบาท
บริษัทประกันภัยทั่วโลก ในครึ่งปีแรก 2567 จ่ายเคลมภัยพิบัติทางธรรมชาติ 2 ล้านล้านบาท “สหรัฐ” เพียงประเทศเดียว ประสบกับพายุรุนแรง 12 ลูก ความสูญเสียต่อครั้งมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ในช่วงครึ่งปีแรก 2567 ความสูญเสียที่บริษัทประกันภัยทั่วโลก ต้องจ่ายเคลมสินไหมจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ มีมูลค่าสูงถึง 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2 ล้านล้านบาท) ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับแรงกดดันจากเหตุการณ์ขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่มีความถี่สูง ตามการประมาณการของ Swiss Re Institute
Balz Grollimund หัวหน้าฝ่ายภัยพิบัติของ Swiss Re กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พายุฝนฟ้าคะนองรุนแรง ได้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการสูญเสียที่เอาประกันภัยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ ซึ่งเป็นเพราะประชากรที่เพิ่มขึ้นและมูลค่าทรัพย์สินที่สูงขึ้นในเขตเมือง ควบคู่ไปกับทรัพย์สินที่เอาประกันภัยมีความเสี่ยงต่อความเสียหายจากลูกเห็บมากขึ้น
โดยผลกระทบจากพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรงในสหรัฐอเมริกา คิดเป็น 70% ของการสูญเสียทั่วโลก หรือคิดเป็นมูลค่าราว 42,000 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากสหรัฐเพียงประเทศเดียวประสบกับพายุรุนแรง 12 ลูก ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ซึ่งแต่ละครั้งทําให้เกิดความสูญเสียมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ตามรายงานของ Swiss Re Institute ความสูญเสียที่เอาประกันภัยจากพายุรุนแรงในสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นในอัตราปีละประมาณ 8% นับตั้งแต่ปี 2008
ขณะที่ภัยน้ำท่วมยังส่งผลให้เกิดความสูญเสียที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงครึ่งปีแรก 2567 หรือคิดเป็น 14% ของการสูญเสียที่เอาประกันภัยทั่วโลก โดยเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งสําคัญในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เยอรมนี และบราซิล มีค่าใช้จ่ายสูงเป็นพิเศษ
โดยในเดือน เม.ย. พายุฝนฟ้าคะนองรุนแรง นําไปสู่น้ำท่วมฉับพลันในคาบสมุทรอาหรับ ทําให้เกิดความสูญเสียที่ประกันไว้ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่แพงที่สุดของประเทศเป็นประวัติการณ์
ซึ่งมาปัจจัยต่าง ๆ เช่น การเติบโตของเมืองอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน ระบบระบายน้ำที่ไม่เพียงพอ และดินแห้งทําให้ความรุนแรงของการสูญเสียเหล่านี้รุนแรงขึ้น
“ความสูญเสียที่เอาประกันภัยจากพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการก่อสร้างสูงขึ้น ความเสี่ยงโดยรวมจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นเป็นเหตุผลที่การลงทุนในมาตรการป้องกัน เช่น การปกป้องชุมชนที่เปราะบางจากน้ำท่วม หรือการปรับปรุงอาคารเพื่อปกป้องบ้านเรือนจากพายุลูกเห็บรุนแรง จึงมีความสําคัญ” Jérôme Jean Haegeli หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์กลุ่มของ Swiss Re กล่าวเสริม
X