การวางแผนทางการเงิน
เทคนิคลงทุนกองทุนรวม แบบสบายกระเป๋า-สบายใจ
บทความโดย "สมาคมนักวางแผนการเงินไทย"
วันที่ 24 กันยายน 2567 หากคุณรู้สึกว่าการลงทุนในกองทุนรวมเป็นเรื่องไกลตัว หรือยากเกินกว่าจะเข้าใจ ความจริงแล้วการลงทุนในกองทุนรวมเป็นเรื่องใกล้ตัวและเรียนรู้กันได้ แต่ต้องใช้ความเข้าใจและความอดทน แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นคุ้มค่าช่วยสร้างความมั่นคงทางการเงิน
รู้จักตัวเองก่อน เลือกกองทุนทีหลัง
ก่อนจะเริ่มลงทุนในกองทุนรวม ต้องรู้จักตัวเองให้ดีก่อน ลองถามตัวเองว่า “กล้าเสี่ยงแค่ไหน” หากชอบความตื่นเต้น กองทุนรวมหุ้นอาจเหมาะสม แต่หากชอบความมั่นคง กองทุนรวมตราสารหนี้อาจเป็นคำตอบที่ดีกว่า อีกทั้ง ถามตัวเองว่า “ต้องการได้ผลตอบแทนเท่าไร” ยิ่งต้องการผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงก็มักสูงตามไปด้วย และอย่าลืมถามว่า “มีเงินเท่าไรที่พร้อมลงทุน” ซึ่งต้องดูงบประมาณก่อนว่ามีเท่าไร แล้วค่อยเลือกลงทุนให้เหมาะสม
เริ่มจากกองทุนที่เข้าใจง่าย
การเริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวม ควรเริ่มจากกองทุนรวมที่เข้าใจง่าย ดังนั้น กองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะมีความเสี่ยงต่ำ ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าฝากเงินกับธนาคาร
นอกจากนี้ กองทุนรวมดังกล่าวยังมีสภาพคล่องสูง หมายความว่า สามารถถอนเงินออกมาใช้ได้เร็วเมื่อจำเป็น และเมื่อเริ่มคุ้นเคยและมั่นใจมากขึ้น ค่อยพิจารณากองทุนรวมที่มีความเสี่ยงและโอกาสผลตอบแทนสูงขึ้น เช่น กองทุนรวมผสม หรือกองทุนรวมหุ้น
กระจายความเสี่ยง
หลักสำคัญประการหนึ่งในการลงทุนกองทุนรวม คือ การกระจายความเสี่ยง โดยแทนที่จะนำเงินทั้งหมดไปลงทุนในกองทุนรวมกองเดียว ควรแบ่งเงินลงทุนในหลาย ๆ กองทุน เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมทองคำ หรือกอง REITs ซึ่งการกระจายความเสี่ยงจะช่วยให้พอร์ตลงทุนมีเสถียรภาพมากขึ้น หากกองทุนรวมไหนไม่ดี อีกกองทุนก็จะช่วยพยุงให้พอร์ตยังเติบโตได้
ดูผลงานย้อนหลัง แต่อย่ายึดติด
การเลือกกองทุนรวม ควรดูผลงานย้อนหลังโดยดูว่ากองทุนรวมว่าทำผลงานดีแค่ไหนในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับดัชนีอ้างอิง (Benchmark) และกองทุนรวมประเภทเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งรับประกันผลการดำเนินงานในอนาคต สิ่งสำคัญ คือ ดูแนวโน้มผลการดำเนินงานของกองทุนรวมในระยะยาว และพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น นโยบายการลงทุน ทีมผู้จัดการกองทุน ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ
อ่านหนังสือชี้ชวน
หนังสือชี้ชวนของกองทุนรวมจะบอกข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับกองทุนรวมนั้น ๆ เช่น นโยบายการลงทุน กองทุนรวมนี้เหมาะกับใคร ต้องระวังอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ คะแนนความเสี่ยง ปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญ ผลการดำเนินงานในอดีต สัดส่วนประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุน ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ เช่น ข้อมูลแสดงรายการที่เกี่ยวข้อง เช่น นโยบายการจ่ายเงินปันผล จำนวนขั้นต่ำในการซื้อขาย เวลาเปิดและปิดทำการ การทำรายการซื้อ ขาย สับเปลี่ยนหน่วยลงทุน รายชื่อผู้จัดการกองทุน และข้อมูลเพื่อติดต่อสอบถาม
ลงทุนแบบสม่ำเสมอ
วิธีการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาในการติดตามข้อมูลทุกวัน คือ การลงทุนแบบสม่ำเสมอ (DCA) โดยกำหนดจำนวนเงินที่จะลงทุนในแต่ละเดือน แล้วให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หักเงินจากบัญชีอัตโนมัติทุกเดือนเพื่อซื้อหน่วยลงทุน โดยข้อดี คือ ประหยัดเวลา ไม่ต้องคอยจับตาดูตลาดทุกวัน ลดความเสี่ยงจากการจับจังหวะตลาด และสร้างวินัยการลงทุน ซึ่งการลงทุนแบบนี้จะช่วยสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว
ทบทวนพอร์ตลงทุน
ควรทบทวนพอร์ตลงทุนอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยทุก 6 เดือนหรือ 1 ปี โดยให้ถามตัวเองว่า
• กองทุนรวมที่ลงทุนยังเหมาะกับเป้าหมายทางการเงินอยู่หรือไม่
• สัดส่วนการลงทุนยังสอดคล้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้หรือไม่
• ผลตอบแทนเป็นไปตามที่คาดหวังหรือไม่
หากพบว่ามีอะไรที่ไม่เป็นไปตามแผน ก็อย่าลังเลที่จะปรับเปลี่ยน ซึ่งการทบทวนพอร์ตสม่ำเสมอจะช่วยให้มั่นใจว่าการลงทุนยังเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
เรียนรู้สม่ำเสมอ
การลงทุนเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ยิ่งเรียนรู้ ยิ่งเก่ง ยิ่งมั่นใจ ลองหาเวลาว่างในแต่ละวันเพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุน ซึ่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจะช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป และสามารถปรับกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ เพราะไม่มีใครเก่งการลงทุนโดยไม่เรียนรู้ ดังนั้น ควรฝึกฝนสม่ำเสมอ ยิ่งเรียนรู้ ยิ่งเก่ง ยิ่งมั่นใจ และยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จในการสร้างความมั่งคั่ง
การลงทุนในกองทุนรวมไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด เพียงแค่เริ่มจากการรู้จักตัวเอง เลือกกองทุนที่เข้าใจง่าย กระจายความเสี่ยง ดูผลงานย้อนหลัง อ่านหนังสือชี้ชวน ลงทุนสม่ำเสมอ ทบทวนพอร์ตเป็นประจำ และเรียนรู้อยู่เสมอ ก็จะสามารถบริหารเงินลงทุนได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ
X