การวางแผนทางการเงิน

แผนการเงินที่ดีต้องมีการทบทวน


บทความโดย “สมาคมนักวางแผนการเงินไทย”


วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ในการวางแผนการเงินไม่ว่าจะเพื่อเป้าหมายใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่จะทำให้สำเร็จนั้นคือการมีวินัยและทำให้ได้ตามแผน และมีสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการทำตามแผนคือการ “ทบทวน” และ “ปรับปรุง” แผนการเงินของตัวเองด้วย เพราะเมื่อเวลาผ่านไปสถานการณ์ชีวิตหรือเป้าหมายอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้


การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ที่ทำให้จำเป็นต้องทบทวนและปรับปรุงแผนการเงิน แบ่งได้เป็น 2 สถานการณ์ คือ


– การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ส่วนตัว เช่น ช่วงชีวิตที่เปลี่ยนไปอาจมีความต้องการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นจากแผนที่เคยวางไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง รถ บ้าน หรือแม้กระทั่ง การแต่งงานมีครอบครัว การมีบุตร การลาออกจากงาน การเจ็บป่วย ในบางครั้งการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ส่วนตัวอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนเป้าหมาย เช่น เปลี่ยนเวลาเกษียณจากเดิมตอนอายุ 60 ปีเป็นอายุ 50 ปี ซึ่งทำให้ต้องมีการทบทวนแผนเดิม


– การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ภายนอก ซึ่งอยู่เหนือการควบคุมของเรา เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลถึงการลงทุน การปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้ได้ผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น หลักเกณฑ์เกี่ยวข้องกับภาษี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับตราสารการเงิน


การทบทวนแผนจึงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง โดยทบทวนเป้าหมายเดิมว่ายังคงเป็นไปตามแผนที่เคยวางไว้หรือไม่ หรือเราอาจจะมีเป้าหมายใหม่ขึ้นมา ก็พิจารณาทบทวนกับแผนเก่าว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ เพื่อให้สอดคล้องตามสถานการณ์ต่าง ๆ โดยสิ่งที่ควรทบทวน ได้แก่


– ความเป็นไปของชีวิตและข้อมูลทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการงาน เรื่องสุขภาพ และเรื่องครอบครัวก็เช่นกัน ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพราะจะส่งผลต่อการใช้เงินทั้งหมด ส่วนเรื่องข้อมูลทางการเงิน เช่น สินทรัพย์ หนี้สิน ก็ควรอัปเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบันที่สุด


– ผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นการทบทวนผลตอบแทนในการลงทุนต่าง ๆ ว่าเป็นอย่างไร ต้องมีการปรับสัดส่วนการลงทุน (Portfolio Rebalancing) หรือไม่ เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้


– การคุ้มครองความเสี่ยง ประเมินว่าการคุ้มครองต่าง ๆ นั้นเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่หรือไม่ มีภาระการเงิน หรือความเสี่ยงอื่น ๆ เพิ่มเติมหรือไม่ หากประเมินแล้วว่าไม่เพียงพอ ก็อาจจะต้องพิจารณาทำประกันเพิ่ม หรือในทางตรงกันข้าม หากภาระการเงินลดลงมากแล้ว ก็อาจจะพิจารณาลดหรือหยุดความคุ้มครองของบางกรมธรรม์ เพื่อประหยัดรายจ่ายค่าเบี้ยประกัน


การทบทวนและปรับแผนการเงินจะทำให้มั่นใจได้ว่า เมื่อสถานการณ์ในชีวิตเปลี่ยนแปลงไป จะยังคงสามารถทำให้เป้าหมายและความต้องการเป็นจริงได้ในที่สุด


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/finance/news-1663445
X