คลังความรู้

Everyday knowledge for you

หุ้น

นิสัย VI ผู้มุ่งมั่น

30/04/2024

นักลงทุนที่เป็น Value Investor หรือ VI นั้น มีหลาย “ระดับ” ของการเป็น “VI” ซึ่งมีนิยามอย่างสั้นที่สุดก็คือ “การลงทุนซื้อหุ้นจะซื้อเฉพาะหุ้นที่มี Intrinsic Value หรือมูลค่าที่แท้จริงสูงกว่าราคาตลาดของหุ้นมากพอที่จะทำให้มี Margin of Safety หรือส่วนเผื่อของความปลอดภัยในการลงทุน และขายหุ้นเมื่อราคาสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง” ส่วนรายละเอียดว่าอะไรคือมูลค่าที่แท้จริง ประเมินอย่างไรและมีความแน่ใจแค่ไหน และมาร์จินออฟเซฟตี้ควรจะประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกันและแต่ละคนก็จะคิดไม่เหมือนกัน นอกจากนั้น กลยุทธ์การถือหรือซื้อขายหุ้น เช่นถือหุ้นจำนวนมากน้อยแค่ไหนหรือจะถือยาวแค่ไหน เช่นเดียวกับวิธีการค้นหาข้อมูลและประเมินศักยภาพของกิจการและผู้บริหาร ก็เป็นเรื่องที่มีความแตกต่างกันมากในหมู่ของนักลงทุนที่เรียกตัวเองว่าเป็น “VI” จากการเป็น VI มายาวนานในตลาดหุ้นไทย และการศึกษา VI ที่ประสบความสำเร็จในระยะยาวที่มีชื่อเสียงระดับโลกรวมถึงวอเร็น บัฟเฟตต์ ผมเองรู้สึกว่า “VI ผู้มุ่งมั่น” หรือ VI ที่มีความทุ่มเทหรือยึดถือหลักการทาง VI “อย่างเคร่งครัด” นั้น มักจะตีตัวออกห่างจากสถานการณ์ของตลาดหลักทรัพย์ เช่นไม่รู้สึกตื่นเต้นกับราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นไปแบบ “ไร้เหตุผล” หรือ “บ้าคลั่ง” เช่นเดียวกับการที่ไม่ตกใจหรือไม่กลัวเวลาหุ้นตกลงไปอย่างแรง ไม่ว่าจะเป็นหุ้นรายตัวหรือดัชนีตลาดหลักทรัพย์ นอกจากนั้น พวกเขาก็ยังไม่ตื่นเต้นกับเรื่องราวหรือสตอรี่หรือ “ราคาคุย” ของผู้บริหาร รวมถึงนักวิเคราะห์และ “เซียน” หรือ “นักลงทุนรายใหญ่” ทั้งหลายที่อยู่ในตลาดหากมองและประเมินแล้วว่าไม่ได้มีตรรกะหรือเหตุผลที่เพียงพอ โดยปกติแล้ว “ความเป็น VI” ของนักลงทุนนั้น ก็คงคล้ายกับเรื่องอื่น ๆ ที่ว่า ต้องอาศัยการปฏิบัติและเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ เพื่อที่จะมีความเชี่ยวชาญ มีวินัย มีศรัทธาที่จะลงทุนในแบบหรือกลยุทธ์แบบ “VI ที่แท้จริง” มากขึ้นเรื่อย ๆ และมี “ข้อยกเว้น” น้อยลงเรื่อย ๆ และต่อไปนี้ก็เป็นนิสัยหรือความคิดและการกระทำของผมที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเวลาของการเป็น VI เพิ่มขึ้น ซึ่งก็ต้องขอบอกก่อนว่า ไม่ได้หมายความว่าผมจะลงทุนได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นเมื่อเปลี่ยนมาเป็น VI ที่มุ่งมั่นมากขึ้น บางทีอาจจะได้ผลตอบแทนน้อยลงด้วยซ้ำแต่ความเสี่ยงอาจจะลดลง หรือ “ชีวิตโดยรวม” ซึ่งไม่ได้คิดแต่เรื่องการลงทุนเพียงอย่างเดียวอาจจะดีขึ้น อะไรทำนองนี้ เรื่องแรกที่ผมเปลี่ยนไปจากในช่วงแรกที่เป็น VI ก็คือ เรื่องที่กำลังร้อนแรงมากในช่วงเร็ว ๆ นี้นั่นก็คือ การเล่นหรือจองซื้อหุ้น IPO ซึ่งดูเหมือนจะเป็น “ที่รัก” ของนักลงทุนในตลาดหุ้นทุกคน เพราะจากสถิติก็คือ กำไรจากหุ้น IPO ในวันแรกของการเทรดนั้นน่าจะสูงกว่าการขาดทุนมาก-ตลอดกาล ว่าที่จริง ผมเองเริ่มลงทุนในตลาดหลักทรัพย์โดยการจองซื้อหุ้น IPO ที่ได้รับการจัดสรรจากบริษัทที่เอาหุ้นเข้าตลาดเมื่อหลายสิบปีก่อน ดูเหมือนว่าน้อยครั้งที่คนจะปฏิเสธการจองหุ้น IPO มีแต่อยากจะได้มากที่สุด แต่ผมเองกลับเลิกจองหุ้น IPO มานานหลายปีแล้ว ทั้ง ๆ ที่บ่อยครั้งก็รู้สึกว่ากำไรมากแน่นอน เพราะดูจากอุตสาหกรรมที่กำลังร้อนแรง ตัวบริษัทที่เป็นผู้นำและมีขนาดของบริษัทที่เล็กมาก หุ้นมี Free Float ต่ำ ภาวะตลาดหลักทรัพย์มีการเก็งกำไรสูงมาก หุ้นมีโอกาสถูก “Corner” ตั้งแต่เทรดวันแรก แต่ผมก็ไม่จอง ผมคิดว่า IPO น่าจะเกือบทุกตัวนั้นมักมีราคาที่ตั้งไว้สูงกว่าพื้นฐานของหุ้น หรือที่เขาพูดกันว่า “It Probably Overpriced” และ “VI พันธุ์แท้” ไม่ควรซื้อหุ้นที่ราคาสูงกว่าพื้นฐานที่แท้จริง และก็ไม่ควรซื้อแม้ว่าในระยะเวลาอันสั้นราคาอาจจะสูงกว่าพื้นฐานมากขึ้นไปอีกมากซึ่งจะทำให้เราขายได้กำไรอย่างงดงาม เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ผมคิดว่าถึงได้กำไร มันก็ไม่เปลี่ยนแปลงสถานะของพอร์ตหุ้นเราเลย เราอาจจะได้เงิน แต่เราก็อาจจะเสียศรัทธาและความเชื่อของเราต่อหลักการแบบ VI ที่เราสร้างมานาน ช่วงการเป็น VI ใหม่ ๆ อาจจะเป็นกว่า 10 ปี เมื่อมองย้อนหลังกลับไป ผมน่าจะเป็นนักลงทุนที่เรียกว่า “Value Speculator” หรือนักเก็งกำไรโดยอาศัยหลักการเลือกและเล่นหุ้นที่เป็น “Value Stock” คือหุ้นที่มีราคาถูกกว่าพื้นฐานของกิจการ แต่จะเป็นการมองระยะสั้นและเน้นที่กำไรของบริษัทในระยะสั้น หุ้นเหล่านี้มักจะไม่ได้มีความเข้มแข็งมากนักแต่กำไรอาจจะกำลังเติบโตดี หุ้นมีขนาดเล็กที่ราคาอาจจะขึ้นไปได้เร็วเมื่อมีคนเข้ามาเล่น บางตัวก็ถูก Corner โดยนักลงทุนรายใหญ่ซึ่งทำให้ราคาวิ่งขึ้นไปมากมาย อย่างไรก็ตาม เวลาที่กำไรของบริษัทไม่เป็นไปตามคาดหรือเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ราคาก็ลงแรงพอกัน ในระยะหลัง ๆ โดยเฉพาะที่พอร์ตมีขนาดใหญ่ขึ้น ผมก็เปลี่ยนเป็นการลงทุนแบบ VI ระยะยาวขึ้นและยาวขึ้น ลงทุนในหุ้นของกิจการที่จะอยู่อย่างมั่นคงปลอดภัยและเติบโตเร็วหรืออย่างน้อยก็เติบโตบ้างแบบช้า ๆ โดยไม่ค่อยสนใจว่างวดนี้หรืองวดหน้าหรือปีนี้หรือปีหน้ากำไรบริษัทจะโตพรวดหรือเปล่า เป็นการลงทุนที่ซื้อแล้วไม่มีเวลาที่คิดจะขาย แต่จะขายต่อเมื่อสิ่งที่เราคิดไว้ทีแรกเปลี่ยนไปแล้ว เช่น ธุรกิจหมดความสามารถในการแข่งขันหรือถูก Disrupt โดยเทคโนโลยีหรือรูปแบบการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไป เป็นต้น การหาข้อมูลแบบ VI คือดูกิจการหรือเข้าไป Visit Company คุยกับผู้บริหารโดยตรงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เปลี่ยนไป ในอดีต บ่อยครั้ง ก่อนที่จะซื้อหุ้นผมมักจะอยากจะรู้จักหรือพูดคุยกับผู้บริหารรวมถึงการเข้าไปชมโรงงานหรือกิจการว่าเป็นอย่างไร ดูดีหรือไม่ นอกจากนั้น ถ้าบริษัทขายสินค้าให้กับผู้บริโภค ผมก็จะต้องวนเวียนคอยสังเกตดูว่ามีลูกค้าเข้าชมหรือซื้อสินค้าของบริษัทมากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็มักจะได้ผลดี ซื้อแล้วหุ้นก็มักจะขึ้น ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะมี VI คนอื่นก็เข้าไปพบบริษัทและผู้บริหารและก็ซื้อหุ้นด้วยเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ต่อมาผมพบว่า เวลาเข้าไปพบบริษัท ข่าวก็คงออกมาและทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไปก่อนที่เราจะซื้อ ทำให้ผมไม่อยากไป สุดท้าย ผมก็เลิกไปเลยเพราะดูแล้ว การเข้าไปเยี่ยมชมและฟังผู้บริหารก็อาจจะได้ข้อมูลที่ “ลำเอียง” ตอนหลังผมก็เลยดูจาก “ภายนอก” ดูจากข้อมูลทางตัวเลขและการวิเคราะห์ธุรกิจและอุตสาหกรรมซึ่ง “หลอกไม่ได้” การวิเคราะห์ “ผู้บริหาร” นั้น ในอดีตผมจะเน้นในเรื่องความซื่อสัตย์มีจรรยาบรรณเป็นประเด็นสำคัญ อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของฝีมือหรือความสามารถทางการบริหาร ซึ่งผมก็มักจะดูจากการตัดสินใจต่าง ๆ เช่น การลงทุนและการจัดสรรเงินที่ได้จากธุรกิจว่ามีความเหมาะสมแค่ไหน โดยเฉพาะการจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น ในส่วนของฝีมือในการบริหารนั้น บ่อยครั้งผมก็มักจะดูจากการพูดอธิบายกลยุทธ์ทางธุรกิจต่าง ๆ ของผู้บริหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายงานและการแข่งขันกับคู่แข่ง บ่อยครั้งผมมักจะประทับใจกับผู้บริหารที่มีโครงการและแผนงานเต็มไปหมดพร้อม ๆ กับการคาดการณ์ผลประกอบการที่น่าประทับใจ พูดง่าย ๆ ชอบผู้บริหารที่ “ขี้คุย” แต่ในระยะหลัง ๆ ความคิดผมก็เปลี่ยนไป ผมคิดว่าผู้บริหารที่ “โอ้อวดเกินความจริง” นั้น ส่วนใหญ่แล้วก็เพื่อกระตุ้นให้คนซื้อหุ้นมากกว่าความเป็นไปได้ของการเติบโตของธุรกิจ ดังนั้น ผมมักจะหลีกเลี่ยงหุ้นที่ผู้บริหารคุยโม้มากเกินไป กลยุทธ์การลงทุนของผมในอดีตนั้น เป็นแบบ “Bottom Up” หรือเน้นแต่การดูตัวบริษัทเป็นหลัก โดยที่ไม่ให้ความสนใจกับภาพใหญ่ทางธุรกิจเช่น ภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเลย นั่นอาจจะเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผลดีโดยเฉพาะในประเทศที่กำลังเติบโตระยะยาวไปเรื่อย ๆ อย่างในตลาดหุ้นสหรัฐหรือไทยในช่วงก่อนหน้านี้หลายปี อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง ผมก็เริ่มเปลี่ยน ผมคิดว่าหลักการแบบ VI ที่มีกำเนิดจากอเมริกาและประวัติศาสตร์การลงทุนที่เราเรียนรู้จากอเมริกานั้น ถึงปัจจุบันอาจจะใช้ไม่ได้กับตลาดหุ้นไทยที่เศรษฐกิจอาจจะเติบโตช้าลงมาก และถ้าเรายังคิดและวิเคราะห์เฉพาะตัวกิจการ เราอาจจะพลาดและติดหล่มอยู่ใน “หลุมทรายดูด” ได้ เพราะตัวบริษัทอาจจะไม่อยู่ในสภาวะที่จะเติบโตได้ดีแม้ว่าจะเก่งที่สุดแล้ว แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับstock2morrow https://stock2morrow.com/article/5230

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

เปิด 4 เทคนิคปิดหนี้ให้สำเร็จ เพราะการไม่มีหนี้…เป็นลาภอันประเสริฐ

30/04/2024

สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือ DPA เปิด 4 เทคนิคปิดหนี้ให้สำเร็จ ระบุ ต้องเริ่มวางแผนการชำระหนี้-คุมค่าใช้จ่าย-เจรจาต่อรองเจ้าหนี้-ไม่ก่อหนี้เพิ่ม แนะควรออมเงินหลังมีเงินเหลือจากใช้หนี้ วันที่ 5 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือ DPA เผยว่า การไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ แต่ในสภาวะปัจจุบันด้วยเศรษฐกิจแบบนี้ ทำให้เราต้องมาเจอกับปัญหาต่าง ๆ มากมายอาจสร้างปัญหาในการบริหารจัดการเงิน กลายเป็นว่าเราต้องกู้ยืม เป็นหนี้แบบไม่ทันตั้งตัว แต่เมื่อเป็นหนี้แล้ว สิ่งที่ควรทำให้เร็วที่สุดคือต้องวางแผนจัดการปลดหนี้อย่างจริงจัง แต่จะทำอย่างไรนั้น มีเทคนิค “การปิดหนี้ให้สำเร็จ” มาแนะนำ 4 วิธีด้วยกัน ดังนี้ 1. โดยเริ่มวางแผนชำระหนี้ ควบคุมค่าใช้จ่าย และรีบจัดการปลดหนี้ให้เร็วที่สุด โดยจ่ายหนี้ที่มีดอกเบี้ยแพงสุดก่อน เช่น หนี้บัตรเครดิต หรือจะเลือกจ่ายหนี้ที่ยอดค้างเหลือน้อยก่อนก็ได้ เพื่อลดจำนวนเจ้าหนี้ให้น้อยลง และพยายามหาเงินเพิ่ม อาจจะด้วยการหาอาชีพเสริมหรือขายทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์ที่ไม่จำเป็น มาช่วยจ่ายหนี้ให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อลดจำนวนดอกเบี้ยซึ่งอาจจะโป๊ะทีเดียวหมดเลยก็ได้ อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ไม่สามารถขายทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ ก็สามารถรีไฟแนนซ์ โดยขอกู้จากสถาบันการเงินอีกแห่งหนึ่งเพื่อมาปลดหนี้เก่า ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเดิม ลดภาระการจ่ายดอกเบี้ยทำให้เราสามารถเพิ่มการจ่ายเงินต้นในแต่ละงวดได้ 2. หาที่ปรึกษา พูดคุยกับคนในครอบครัวและปรึกษาผู้มีประสบการณ์ทางด้านกฎหมาย เข้ารับการช่วยเหลือเพื่อหาทางรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น จะได้แก้ไขได้อย่างถูกวิธี 3. เจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ เพื่อขอลดจำนวนเงินผ่อนต่อเดือน เช่น ขอลดยอดหนี้, ขอขยายเวลาการชำระหนี้ เป็นต้น 4. ไม่ก่อหนี้เพิ่ม ท้ายที่สุดหากเราสามารถปลดหนี้ หรือสามารถควบคุมบริหารจัดการกับเงินของเราให้อยู่ตัวได้แล้ว ก็ไม่ควรสร้างหนี้เพิ่มโดยไม่จำเป็น ทั้งหมดนี้ก็คือวิธีการชำระหนี้แบบง่าย ๆ ที่ไม่ว่าใครก็ทำได้ ถ้าตั้งใจอย่างจริงจัง และถ้าปิดหนี้หมดแล้ว อย่าลืมเปลี่ยนเงินที่ต้องใช้หนี้มาเป็นเงินเก็บ หรือศึกษาหาข้อมูลการลงทุนตามความเสี่ยงที่เหมาะสม หรือถ้ายังตัดสินใจไม่ได้ก็สามารถฝากเงินไว้กับธนาคารที่ได้รับการคุ้มครองจาก DPA ก็ได้ เพราะถือเป็นที่พักเงินที่ปลอดภัย ได้รับความคุ้มครอง แถมยังได้ดอกเบี้ยอีกด้วย แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์ https://www.prachachat.net/finance/news-1220562

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ประกันสังคม

เกษียณสุขสันต์จากประกันบำนาญ

30/04/2024

จากกระแสสภาวะเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงและมีความผันผวนสูง ทำให้การลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ อาจได้รับผลกระทบไปด้วยไม่มากก็น้อย หลาย ๆ ท่านอาจหวั่นใจว่าการเงินช่วงเกษียณในอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ควรมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบไหนที่จะช่วยในการวางแผนการเงินที่สามารถลดความกังวลใจนี้ลงได้ ในบรรดาผลิตภัณฑ์ทางการเงินทั้งหมด ประกันบำนาญเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ช่วยตอบโจทย์การมีรายรับหลังเกษียณที่ดีมากและมั่นคง ซึ่งผู้ทำประกันบำนาญจะได้รับผลประโยชน์ที่ทำให้มีความสุขหลังเกษียณหลายอย่าง ดังนี้ 1. มีรายได้หลังเกษียณที่แน่นอน โดยไม่ต้องกังวลกับสภาวะเศรษฐกิจว่าจะดีหรือไม่ดี การวางแผนการเงินทั้งในปัจจุบันและอนาคตมีหลักสำคัญ คือต้องมีกระแสเงินสดที่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายพื้นฐาน และมีการลงทุนเพิ่มเติมที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตในด้านอื่น ๆ ด้วย 2. สิทธิลดหย่อนภาษี นอกจากผลประโยชน์ที่ผู้ทำประกันบำนาญได้รับจากการได้รายได้ที่แน่นอนหลังเกษียณแล้ว ผู้มีเงินได้ยังสามารถนำค่าเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีภายใต้เงื่อนไขของเบี้ยที่นำไปลดหย่อนภาษีต้องไม่เกิน 15% ของรายได้ทั้งปี หรือไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี และเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/ กบข./ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และ/หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี การเลือกบริษัทที่รับประกันบำนาญจะต้องมีความมั่นคงสูง และมีความสามารถในการจ่ายคืนผลประโยชน์ตามสัญญาได้ 3. สร้างวินัยในการออมระหว่างวัยทำงาน หนึ่งในความเข้าใจผิดสำหรับผู้เริ่มต้นการวางแผนการเงินคือ คิดว่าจะเริ่มทำประกันเมื่อมีเงินมากหรือเหลือใช้ หรือเริ่มทำเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ตัวแปรที่สำคัญ คือ เวลา วินัย และความสม่ำเสมอในการออม ดังนั้น จึงต้องมีการเริ่มออมเพื่อการเกษียณ ซึ่งประกันบำนาญเป็นตัวเลือกหนึ่งที่จะช่วยสร้างวินัยการออมได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ การออมเมื่ออายุที่เริ่มต้นต่างกัน เงินตอบแทนที่จะได้รับก็ย่อมแตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ ยิ่งเริ่มทำประกันบำนาญเร็วเท่าไหร่ ผลประโยชน์และความมั่นคงที่ได้รับก็จะมากขึ้นเท่านั้น 4. ลดความเสี่ยง ลดความเครียด เมื่อรวมประกันบำนาญกับพอร์ตการลงทุนเพื่อการเกษียณ ในมุมมองของบางท่าน เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ของประกันบำนาญเพียงอย่างเดียวกับการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงในช่วงสภาวะเศรษฐกิจดี อาจจะคิดว่าได้ผลตอบแทนต่ำ แต่จุดสำคัญคือ ผู้ทำประกันที่มองหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จะมาตอบโจทย์เรื่องการันตีรายได้สำหรับค่าใช้จ่ายพื้นฐานหลังเกษียณเป็นหลัก ได้รับเงินทุกปีตามเงื่อนไขกรมธรรม์ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะไปทิศทางไหน และหากผู้ทำประกันมีการวางแผนประกันบำนาญร่วมกับการลงทุนเพื่อการเกษียณด้วย ก็จะทำให้ความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนเพื่อการเกษียณลดลง และมีความมั่นใจในแผนการเกษียณมากขึ้น 5.มีทุนประกันชีวิตระหว่างการชำระเบี้ย หากผู้ทำประกันเสียชีวิตระหว่างการชำระเบี้ย ผู้รับผลประโยชน์จะได้รับเงินตอบแทนมากกว่าเบี้ยที่ผู้ทำประกันชำระ คือได้รับเงินต้นที่ชำระไปบวกกับรับเงินทุนประกันชีวิตที่ผู้รับผลประโยชน์จะต้องได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการจัดตั้งผู้จัดการมรดก ซึ่งใช้เวลาในการรับเงินที่นานกว่า และอาจมีค่าใช้จ่ายด้วย ดังนั้น จากผลประโยชน์ที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าการวางแผนเกษียณที่รวมกับประกันบำนาญมีประโยชน์อย่างมาก จึงนับว่าเป็นสินค้าทางการเงินหลักที่ตอบโจทย์ทั้งตัวผู้วางแผนเกษียณและครอบครัวให้ได้รับความสุขหลังเกษียณได้เป็นอย่างดี ขอให้ท่านที่สนใจการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณ มาเติมเต็มเพื่อเพิ่มความมั่นใจในเกษียณสุขสันต์ อย่างมั่นคงด้วยประกันบำนาญกันนะคะ บทความโดย “บุณยนุช ยุทธ์ประทุม” นักวางแผนการเงิน CFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทย แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์ https://www.prachachat.net/finance/news-1202175

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

ทำการลงทุนให้เป็นธรรมชาติ

30/04/2024

จะมีการลงทุนบางแบบและบางหุ้น  ที่มีความเสี่ยงสูง พิเศษแบบใส่ไข่ เพิ่มเส้น  ที่เราสามารถเรียกได้ว่า "ลุกช้าจ่ายรอบวง" คือราคาดี(มาก)อยู่ช่วงนึง ขาขึ้น Higher High ราคาสูงขึ้นๆ อาจกินเวลาเป็นเดือน เป็นไตรมาส หรือเป็นปี หลายคนรู้ว่ามัน too good  หลายคนรู้ว่าวันนึงป้อมค่ายจักต้องแตกพ่าย ....แต่ก็ทำใจลงจากรถไม่ได้ เสียดายกำไร เพราะเมื่อเราพิจารณาเนื้อหาในพื้นฐานและเรื่องราวต่างๆอย่างละเอียด จะพบว่ามีข้อมูลที่ไม่สมเหตุสมผลมากมายเต็มไปหมด  ด้วยอายุและประสบการณ์เคยเจ็บ เคยโดนหลอกมาหลายครั้ง นักลงทุนสายปัจจัยพื้นฐานที่มีปสก.ในตลาดนานจะขี้ระแวง  ถือคติ "รวยช้าไม่ว่า แต่เงินข้าห้ามหาย" . . ในอดีตเราจะเห็นแพทเทิร์นเดิมๆ เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก หุ้นขยันออกข่าว ราคาขึ้นสวนกับงบ หรือบางตัวงบดี แต่หน้างานเรางงใจว่าใครมาซื้อ ใครมาใช้ ย้อนแย้งสุดประมาณ เครื่องสำอางค์ ไฟแนนซ์ โรงไฟฟ้า อสังหาฯ ฯลฯ บางตัวหายไปจากตลาดแล้ว บางตัวไร้วอลุ่ม บางตัวราคานอนก้น คนถือแทบนอนวัด . . ผมคิดว่าถ้าเราไม่มั่นใจในหุ้นตัวไหน  เราเลือกเอาตัวอื่นๆก็ได้  ตลาดหุ้นไทยมีให้ตั้ง 800 กว่าตัว การเลือกหุ้นที่จะได้โฮมรันปีละ 100%up นี่ มันไม่ง่ายเลยนะ เหมือนจะตีโฮลอินวันนั่นแหละ แต่การเลือกหุ้นกระจาย 5-7 ตัว เอาให้รวมๆได้ปีละ 10-15% ต่อปี มันง่ายกว่ามาก เหมือนตีหลุมพาร์สามให้ใกล้หลุมระยะ 1-2 คันธง มันจะมีบางปี บางหลุม ที่เราเราตีดีมาก ได้เกิน 30% โดยความเสี่ยงเท่าๆเดิม หุ้นชุดเดิมๆ แต่มันลงไปเปิดแกปปีนั้นให้มากๆ มันเป็นไปได้ครับ ตีไปเรื่อยๆ ไม่ไปต้องเครียด ไม่ต้องท้าเดิมพันเพื่อนเล่นแบบหมดตัว ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใช้มาร์จิ้น บางหลุมเราตีดี บางหลุมเราตีไม่ดี ไม่ต้องดราม่า ตีกอล์ฟให้สนุก เอาเซฟๆ ชมนกชมไม้  ทำการลงทุนให้เป็นธรรมชาติ แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับstock2morrow https://stock2morrow.com/article/5277

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

ทำไมผู้สูงอายุไทยต้องทำงาน เปิดจุดเปราะ หาทางออก สร้างรายได้ให้พอยาไส้

30/04/2024

ประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปในประเทศไทย เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และปี 2566 มีประชากรอายุเกิน 60 ปี มากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป คนโสดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีลูกน้อยลง ทำให้ผู้สูงอายุในอนาคตมีแนวโน้มอยู่ตามลำพัง จะต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น หากเงินออมไม่เพียงพอ หรือไม่มีเงินออม และยิ่งมีหนี้สินต้องชำระ จะเป็นปัญหาใหญ่ในเรื่องรายได้ไม่เพียงพอยังชีพในวัยสูงอายุ ไม่รวมถึงค่ารักษายามเจ็บป่วย ทำให้ต้องทำงานจนกว่าสภาพร่างกายจะไม่ไหว เพราะเงินช่วยเหลือจากสวัสดิการภาครัฐน่าจะไม่เพียงพอ ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า กลุ่มแรงงานสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เกือบ 90% เป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบ เป็นกลุ่มเปราะบางจะต้องมีนโยบายและมาตรการในการคุ้มครองการทำงานของแรงงานสูงอายุที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ และการสำรวจปี 2564 จากกลุ่มตัวอย่างแรงงานสูงอายุ 60-64 ปี ในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 418 คน มีประมาณ 1 ใน 5 เป็นแรงงานนอกระบบ เคยมีสถานภาพเป็นแรงงานในระบบมาก่อน ส่วนใหญ่เปลี่ยนสภาพการทำงานตั้งแต่ช่วงอายุ 50-51 ปี โดยสัดส่วนมากที่สุดอยู่ในช่วงอายุ 60-61 ปี ได้ชี้ให้เห็นว่าโอกาสการทำงานแบบมีนายจ้าง หรือได้รับการจ้างงานในสถานประกอบการของแรงงานสูงอายุ มีแนวโน้มลดลงตามอายุที่เพิ่มสูงขึ้น แรงงานสูงอายุส่วนหนึ่งจำเป็นต้องปรับตัวออกมาทำงานส่วนตัว โดยเฉพาะการขายของ หรือจำหน่ายสินค้า เช่น ขายอาหาร ขายของชำ ค้าขายทั่วไป ขายของเก่า คิดเป็นสัดส่วน 34.2% รองลงมาทำงานรับจ้างทั่วไปที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น รับจ้างเลี้ยงเด็ก ตัดเย็บเสื้อผ้า ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ขับแท็กซี่ ตัดผม ซักรีด ดูแลเลี้ยงเด็ก หรือดูแลผู้ป่วย คิดเป็นสัดส่วน 29.4% ส่วนหนึ่งทำงานเป็นลูกจ้าง เช่น แม่บ้านทำความสะอาด ก่อสร้าง ลูกจ้างในโรงงาน หรือโรงแรม คิดเป็น 22% ส่วนงานฝีมือ งานเครื่องจักร และการประกอบ คิดเป็นสัดส่วน 5% ขณะที่งานบริหารจัดการธุรกิจ ค้าขายกิจการของครอบครัว หรือธุรกิจส่วนตัว คิดเป็นสัดส่วน 3.6% งานระดับผู้จัดการ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่างๆ คิดเป็น 2.6% งานด้านการเกษตร 1.7% และอาสาสมัครภาครัฐ 1.4% ซึ่งแรงงานผู้สูงอายุเกือบทั้งหมดอยู่ในภาคนอกระบบ และส่วนใหญ่ทำงานในพื้นที่บริเวณที่อยู่อาศัยของตัวเอง ผู้สูงอายุแรงงานนอกระบบ ไม่มีหลักประกันคุ้มครอง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกำลังเป็นอีกปัญหาใหญ่ในสังคมไทยที่จะต้องเตรียมรับมือโดยเร็ว เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเป็นสิ่งที่ “รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์” ‪ผู้อํานวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงความกังวล เพราะในอนาคต 1 ใน 3 ของคนไทยจะเป็นผู้สูงอายุ และมีจำนวนไม่น้อยตกอยู่ในภาวะยากลำบาก ต้องทำงานหารายได้เป็นแรงงานนอกระบบ ไม่มีหลักประกันทางสังคม จากการทำงานเช่นเดียวกับแรงงานในระบบ “ผู้สูงอายุบ้านเราไม่มีรายได้เอาไว้ใช้สอย เพราะเป็นแรงงานนอกระบบมายาวนานมาก ทำงานแบบไม่มีวันเกษียณ ประมาณ 20 ล้านคน ส่วนใหญ่ก็เป็นชาวไร่ชาวนา และมีหนี้สินอีกต่างหาก หัวละประมาณ 2-3 แสนบาท เยอะมากๆ ต้องทำงานไปใช้หนี้ไป” การแก้ปัญหาต้องปรับเรื่องสวัสดิการสังคม ทำคล้ายๆ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ส่วนใหญ่คนจนก็เป็นผู้สูงอายุมีประมาณ 5-6 ล้านคน ซึ่งการช่วยเหลือไม่ได้ง่ายๆ หากผู้สูงอายุพอมีเงินออมคงพอไปได้ ขณะที่โครงการคนละครึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก เพราะฉะนั้นควรตั้งกองทุนประกันสังคมเพื่อผู้สูงอายุ ในรูปแบบสิทธิประโยชน์ประกันสังคมมาตรา 40 โดยรัฐอุดหนุนจ่ายเงินสมทบให้เฉพาะคนที่จ่ายไม่ได้ ตั้งแต่เป็นวัยทำงาน เพื่อจะได้มีเงินใช้จ่ายในวัยเกษียณ รวมไปถึงระบบสวัสดิการสังคมทุกระบบในบ้านเราล้าหลัง ต้องรื้อใหม่ทั้งหมด และต้องทำคู่ขนานกันไป คนแก่ในเมือง ทำงานแลกค่าจ้างน้อยนิด ดูแลลูกหลาน ปัจจุบันผู้สูงอายุซึ่งเป็นคนเมือง ต้องไปรับจ้างทำงานด้านบริการ เพราะก่อนหน้านั้นช่วงโควิดระบาดก็จนไม่มีรายได้กันไปแล้ว บางคนเมื่อขายของไม่ได้ก็ต้องไปกู้เงินนอกระบบหาเงินมาลงทุน กลายเป็นว่าผู้สูงอายุในเมืองจนดักดานจริง แตกต่างกับผู้สูงอายุในภาคเกษตร เมื่อไม่มีรายได้ก็สามารถเก็บผักมาทำเป็นอาหารได้ โดยช่วงโควิดคนลำบากเป็นจำนวนมาก เมื่อรัฐหยุดช่วยเหลือก็ยิ่งลำบากหนักกันไปใหญ่ ต้องพึ่งเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600-700-800 บาทเท่านั้น ถือว่าต่ำกว่าเส้นยากจน มันน้อยมากเหมือนจะให้กินข้าวเปล่ากับน้ำปลา และบ้านคนชราก็ไม่มีให้อยู่ หรือการให้นโยบายว่าแต่ละครอบครัวจะต้องใส่ใจดูแลผู้สูงอายุ แต่เมื่อครอบครัวยากจนไม่สามารถทำได้ สุดท้ายผู้สูงอายุต้องหารายได้ไปเลี้ยงลูกหลาน จากปัญหาการหย่าร้าง และการพัฒนาความเจริญในแต่ละพื้นที่ของภาครัฐก็กระจุกตัว ทำให้ที่ทำงานกับบ้านห่างไกลกันต้องมาทำงานกรุงเทพฯ ปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่เพียงลำพัง “ผู้สูงอายุในเมืองลำบากมากกว่า โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนต่างๆ 2 พันกว่าแห่งในกรุงเทพฯ ยังไม่รวมครอบครัวชายขอบอีกจำนวนมาก ส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่แย่มาก ก็ต้องไปรับจ้างรายวันหาเงินเลี้ยงลูกหลาน และแรงงานนอกระบบไม่มีเกณฑ์อะไรในการคุ้มครองดูแล ได้ค่าจ้าง 100 หรือ 200 บาท ก็เอา เพราะกฎหมายบังคับไม่ได้ แค่ขอให้มีกินในแต่ละวันก็พอ แต่ค่าครองชีพก็สูงขึ้นมาก ทำให้ชีวิตอยู่อย่างลำบาก” โรงเตี๊ยมชุมชน 1 อบต. 1 โรงทาน ดูแลผู้สูงอายุ ขณะนี้ผู้สูงอายุมีอายุยืนกันมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง และกลุ่มเจน y ช่วงต้นๆ เริ่มมีอายุมากขึ้น หรือประชากร 3 คนจะเป็นผู้สูงอายุ 1 คน หากเป็นชนชั้นกลางก็ยังพออยู่ได้ ไม่เป็นภาระของรัฐบาล ซึ่งการเตรียมพร้อมรับมือควรมีงานให้ทำสร้างรายได้ในละแวกที่อยู่อาศัย จะต้องดูแลแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้น เพราะหากรัฐมีภาระมากขึ้น อาจล่มจมเหมือนประเทศเวเนซุเอลา ข้อเสนอในการแก้ปัญหาจะต้องดึงผู้สูงอายุมาร่วมเพิ่มผลผลิตในภาคบริการ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุปสงค์เทียม ในการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ให้ชัดเจนกระจายไปตามแหล่งท่องเที่ยวให้มากขึ้น และให้คนท่องเที่ยวเมืองรองให้มากขึ้น เพื่อให้เงินกระจายไปในชนบท หรือทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตร แม้ได้มูลค่าไม่สูง แต่ให้ความปลอดภัย ทำให้ผู้สูงอายุในพื้นที่มีรายได้ อย่างชุมชนคุ้งบางกระเจ้า อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ มีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวจนประสบความสำเร็จ “ถ้ารัฐบาลมีวิชั่น ก็สามารถทำได้ ต้องทำให้ครอบครัวเข้มแข็งมีรายได้ ผ่านวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้าน มีการรวมตัวทำผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ และมีสถาบันการศึกษาในพื้นที่คอยให้คำปรึกษา ช่วยเหลือด้านการตลาดออนไลน์ สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ ทำให้คนในชุมชนมีฐานะที่ดีขึ้น จะได้ช่วยเหลือคนที่ยากลำบากได้ เพราะน้ำใจคนไทยยังมีอยู่ในการช่วยเหลือคนแก่ที่อยู่ตามลำพัง ให้มาช่วยงาน มีเงินให้บ้าง มีการทำโรงเตี๊ยมในชุมชน หรือ 1 อบต. 1 โรงทาน มีที่อยู่ มีอาหารให้กิน และคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ช่วงหนึ่งก็ต้องกลับบ้าน” ส่วนรายได้ต่อเดือนของผู้สูงอายุที่จะพออยู่ได้ ประมาณ 3 พันกว่าบาท และมีสวัสดิการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคอยดูแลยามเจ็บป่วย หากอาศัยรายได้จากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไม่พออย่างแน่นอน โดยสิ่งสำคัญอยู่ที่การช่วยเหลือของแต่ละหมู่บ้าน แต่ละชุมชน ตามหลักการ “ไม่ให้ใครอดอย่างเด็ดขาด” และค่อยๆ สร้างรายได้ให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ให้ผู้สูงอายุมีเงินเหลือบ้าง ในการไปทำบุญ หากช่วยตัวเองได้ ก็คงไม่อยากกินของฟรีไปตลอดชีวิต. แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับไทยรัฐออนไลน์ https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2639281

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ประกันภัย

เปิด 11 ข้อยกเว้นที่ประกันอุบัติเหตุไม่คุ้มครอง

30/04/2024

“ประกันอุบัติเหตุ” คือเครื่องมือที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือเราให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งลักษณะความคุ้มครองที่ประกันอุบัติเหตุมอบให้แก่เรานั้นอาจเรียกได้ว่าแทบจะครอบคลุมในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่ารักษา หรือมอบเงินชดเชยให้ในกรณีที่สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตหากดูจากที่เกริ่นมาในตอนต้นอาจทำให้หลายๆ คนเริ่มสนใจในทำประกันอุบัติเหตุมากขึ้น เพราะดูเหมือนว่าผลิตภัณฑ์นี้จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและตอบโจทย์ในหลายๆ ด้าน แต่อย่าเพิ่งรีบร้อนไป เพราะใช่ว่าประกันอุบัติเหตุจะคุ้มครองเราไปเสียหมดทุกกรณี วันนี้ noon จะมาเปิดให้หมดว่ามีกรณีไหน หรือข้อยกเว้นอะไรบ้างที่ประกันอุบัติเหตุไม่คุ้มครองเงื่อนไข และข้อยกเว้นพื้นฐานที่ประกันภัยอุบัติเหตุไม่คุ้มครอง1. อุบัติเหตุที่เกิดจากการกระทำของผู้เอาประกันภัยขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรา (มีแอลกฮอล์ในเลือดตั้งแต่ 150 มิลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป) หรือยาเสพติด อาทิเช่น เมาแล้วขับชนต้นไม้2. การฆ่าตัวตาย พยายามฆ่าตัวตาย หรือการทำร้ายร่างกายตนเอง3. การแท้งลูก4. อุบัติเหตุที่มีสาเหตุมาจากสงคราม การปฏิวัติ หรือการก่อกบฏ5. อุบัติเหตุที่มีสาเหตุมาจากการจลาจล การนัดหยุดงาน การที่ประชาชนก่อความวุ่นวายลุกฮือต่อต้านรัฐบาล6. อุบัติเหตุที่มีสาเหตุมาจากการแผ่รังสีหรือกัมมันตภาพรังสีจากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ อาวุธนิวเคลียร์7. อุบัติเหตุที่มีสาเหตุมาจากการเล่นหรือแข่งกีฬาอันตราย เช่น การดำน้ำ การเล่นบันจี้จั๊มพ์ เล่นสกี การแข่งรถ แข่งเรือ แข่งสเก็ต เป็นต้น8. อุบัติเหตุขณะขับขี่ หรือโดยสารรถจักรยานยนต์9. อุบัติเหตุขณะที่โดยสารอยู่ในเครื่องบินที่มิใช่สายการบินพาณิชย์ เช่น เฮลิคอปเตอร์10. อุบัติเหตุขณะที่เข้าร่วมการทะเลาะวิวาท ก่ออาชญากรรม หรือหลบหนีการจับกุม11. อุบัติเหตุขณะที่เข้าปราบปรามหรือปฏิบัติการทางสงครามหากผู้เอาประกันภัยเป็นทหาร ตำรวจ หรืออาสาสมัครแต่ในบางเงื่อนไข หรือบางข้อยกเว้นก็สามารถจ่ายเบี้ยประกันภัยเพิ่มเพื่อซื้อ หรือขยายความคุ้มครองได้ ซึ่งมีเพียง 5 กรณีเท่านั้น ได้แก่1. อุบัติเหตุจากการขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์2. อุบัติเหตุการจลาจล การนัดหยุดงาน3. อุบัติเหตุจากการสงคราม4. อุบัติเหตุจากการโดยสารอากาศยานที่มิได้ประกอบการโดยสายการบินพาณิชย์5. อุบัติเหตุจากการเล่นหรือแข่งกีฬาอันตรายสำหรับใครที่กำลังสนใจอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประกันอุบัติเหตุเพิ่มเติมก็สามารถเข้าไปอ่านได้ที่บทความ “ประกันอุบัติเหตุคืออะไร จำเป็นมากไหมที่ต้องมี”  ซึ่งความรู้ และความเข้าใจที่มากพอเกี่ยวกับรายละเอียดของประกันแต่ละประเภทจะช่วยให้เราลดโอกาสเสี่ยงในการทำประกันที่ไม่ตอบโจทย์ และไม่คุ้มค่าลงไปได้อีกหลายเท่าตัว ขอบคุณแหล่งที่มา : bangkoklife.com, oic.or.thแหล่งที่มาข่าวต้นฉบับnoonhttps://www.noon.in.th/blog/11-exception-pa-not-cover/

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ประกันชีวิต

สมาคมประกันชีวิตไทย ตั้งเป้าแนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตไทย ปี 66 เติบโต 0-2% มุ่งทำตลาดประกันสุขภาพ-โรคร้ายแรง และยูนิตลิงค์

30/04/2024

27 กุมภาพันธ์ 2566  : นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า สมาคมประกันชีวิตไทย คาดการณ์ว่าธุรกิจประกันชีวิตจะมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 612,500 – 623,500 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตระหว่างร้อยละ 0-2 มีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ ร้อยละ 81 – 82 ซึ่งการคาดการณ์ในครั้งนี้ก็ยังสอดคล้องกับการคาดการณ์ GDP ของประเทศที่มีการขยายตัว ร้อยละ 2.7 – 3.7 (ข้อมูลจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย ปี 2566)"ก่อนหน้านี้นานมากแล้วอุตสาหกรรมประกันชีวิต นำตัวเลขของ GDP มาตั้งเป็นธงนำว่าจะมีอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมเป็นสองเท่าของ GDP แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป เช่น แบบประกันสะสมทรัพย์ที่เคยเป็นสินค้าหลัก แต่วันนี้ขนาดของจำนวนกรมธรรม์นั้นไม่ได้ใหญ่เหมือนเดิม เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทำให้บริษัทประกันลดจำนวนการขายประกันแบบสะสมทรัพย์ลง เช่นแบบประกันชำระ 2 ปี คุ้มครอง 10 ปี หรือชำระเบี้ย 5,6,7 ปีคุ้มครอง 10 ปีเป็นต้น จึงลดน้อยลงไปโดยปริยาย ส่งผลให้ประกันสะสมทรัพย์ในปีที่ผ่านมามีอัตราเติบโต -2.3ถึงแม้ว่าประกันสุขภาพจะมีอัตราที่เติบโตมากขึ้นแต่ขนาดเบี้ยประกันก็ไม่สามารถมาทดแทนเบี้ยประกันสะสมทรัพย์ที่หายไปได้ ส่วนแบ่งทางการตลาดนั้นสำคัญแต่ไม่ใช่ทุกอย่าง บริษัทประกันต้องคำนึงถึงอายุของกรมธรรม์ในระยะยาวที่บริษัทประกันชีวิตต้องบริหารงานในภาวะผลตอบแทนน้อยมากๆ การขายเบี้ยใหม่เข้ามาสำคัญ แต่ต้องขายในแบบประกันที่มูลค่าตลอดสัญญาสอดคล้องกับการบริหารจัดการลงทุนด้วย ซึ่งความต้องการด้านประกันสุขภาพของคนไทยตอบโจทย์ด้านมิติของมูลค่าเบี้ยประกัน ถึงแม้ขนาดเบี้ยจะเล็ก บริษัทประกันต้องบริหารจัดการด้านสินไหมทดแทนให้ได้ ภายใต้ความพึงพอใจของลูกค้า" นายสาระ กล่าวส่วนทิศทางผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตนั้น ภาคธุรกิจมองว่าผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่จะได้รับความนิยมและมีศักยภาพในการเติบโตสูง คือ ผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health & CI) เนื่องจากมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และมีการบริการหลังการขายที่ครบวงจร (ทั้งระบบ online และ offline) เช่น telemedicine บริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน (SOS) ฯลฯ โดยได้เชื่อมต่อกับระบบของโรงพยาบาลทำให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบทุกความต้องการและทุกกลุ่มเป้าหมายรวมถึงผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Universal Life และ Unit Linked) เนื่องจากนักลงทุนเริ่มมองหาช่องทางการลงทุนใหม่ที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้นภายใต้ระดับความเสี่ยงที่พอรับได้ รวมถึงได้รับความคุ้มครองจากการประกันชีวิตรวมอยู่ด้วยอย่างไรก็ตาม ธุรกิจประกันชีวิตยังคงต้องติดตาม สถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย (Yield Curve) แต่ที่ผ่านมาภาคธุรกิจได้เตรียมความพร้อมในการปรับพอร์ตทั้งในส่วนของการลงทุนและ Product mix และทิศทางกลยุทธ์การดำเนินงานของบริษัทประกันชีวิตที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์อย่างทันท่วงที รวมทั้งการปฏิบัติตามมาตฐานกฎหมายสากล เช่น มาตรฐานการรายงานทางการเงิน TFRS กฏหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลดังนั้น สมาคมประกันชีวิตไทย  จึงมีแผนดำเนินงานเพื่อเตรียมพร้อมรับมือต่อปัจจัยท้าทายรอบด้าน เช่น การส่งเสริมให้มีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตรูปแบบใหม่ ผลักดันกระบวนการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์แบบอัตโนมัติ รวมถึงการผ่อนคลายการคำนวณอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมสนับสนุนการพัฒนากระบวนการขายให้ครบถ้วนทุกช่องทาง สนับสนุนให้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างครอบคลุม เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างบริษัทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งช่วยบริหารต้นทุนในระยะยาวอีกทั้ง การสร้างองค์ความรู้ให้แก่ประชาชนถึงการป้องกันและรู้เท่าทันเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างองค์ความรู้เพื่อป้องกันภัยจากกลุ่มผู้ไม่หวังดี ซึ่งจะเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย รวมถึงการดำเนินงานเชิงรุกในการขอปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เป็นปัจจุบัน ผลักดันระบบการจัดสอบความรู้ระบบออกใบอนุญาตในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์และระบบอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อให้บริษัทสมาชิกและบุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ขณะเดียวกัน ทางด้าน นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ อุปนายกฝ่ายการตลาด สมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวเสริมว่า ทิศทางการลงทุนในยุคนี้บอกได้ว่า ใครมือยาวสาวได้สาวเอา คาดเดาได้ลำบาก เนื่องจากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบสำคัญคือ ภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเคลนมีผลกระทบกับทั่วโลกอย่างรุนแรง ซึ่งแรกๆ หลายคนบอกไกลตัวแต่ที่ไหนได้หลายเรื่องเช่น ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นและมีผลกระทบอย่างทั่วถึงทั่วโลกดังนั้น การลงทุนยุคนี้ท้าทายอย่างมาก คงจะมุ่งเน้นลงทุนกับสิ่งที่รู้จัก หากต่างชาติเขาแนะนำให้ไปลงที่ไม่รู้จักจะไม่ลงทุน เช่น คริปโต ก็ปิดไปแล้ว เป็นต้น ซึ่งการลงทุนมีความเสี่ยง ฉะนั้นธุรกิจประกันชีวิตเมื่อนำเงินของผู้เอาประกันมาบริหารจัดการยิ่งต้องระวังความเสี่ยงมากกว่าเงินส่วนตัวของเราอีกนายสาระ กล่าวต่อไปถึง ภาพรวมผลงานของธุรกิจประกันชีวิตปี 2565 ระหว่าง มกราคม - ธันวาคม มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 611,374 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 0.45 เมื่อเทียบกับ ปี 2564 จำแนกเป็น เบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 169,878 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 0.49 และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 441,496 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 0.43 โดยมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ร้อยละ 82สำหรับเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ ประกอบด้วย1.) เบี้ยประกันภัยรับปีแรก 105,192 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.422.) เบี้ยประกันภัยจ่ายครั้งเดียว 64,686 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 14.27จำแนกเบี้ยประกันภัยรับรวมแยกตามช่องทางการจำหน่าย ดังนี้1. การขายผ่านช่องทางตัวแทนประกันชีวิต มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 325,227 ล้านบาท อัตราการเติบโตร้อยละ 1.43 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53.202. การขายผ่านช่องทางธนาคาร มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 235,788 ล้านบาทอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 3.39 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.573. การขายผ่านช่องทางนายหน้าประกันชีวิต มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 26,516 ล้านบาท อัตราการเติบโตร้อยละ 8.63 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.344. การขายผ่านช่องทางการตลาดแบบตรง มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 13,981 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 2.04 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.295. การขายผ่านช่องทางดิจิทัล มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 1,738 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 29.11 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.286. การขายผ่านช่องทางอื่น เช่น การขาย Worksite, การขายผ่านการออกบูธ, การขายผ่านร้านค้าสะดวกซื้อ เป็นต้น มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 8,124 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 13.44 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.33สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมในปี 2565 คือ สัญญาเพิ่มเติม (Riders) โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคุ้มครองสุขภาพและโรคร้ายแรง ที่มีเบี้ยประกันภัยรับรวมสูงถึง 103,635 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.85 หรือ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.95 มาจากการที่ประชาชนตระหนักถึงการดูแลและวางแผนเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น ทั้งยังสามารถเปรียบเทียบข้อมูลและเลือกแบบประกันได้ตรงตามความต้องการด้วยความสะดวกรวดเร็ว และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Pension) สามารถเติบโตได้ดีด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวม 15,741 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.72 หรือ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.57แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับซีเคว้ล ออนไลน์https://www.sequelonline.com/?p=142100

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ประกันภัย

โรคร้ายไม่หวั่น รู้วิธีป้องกันความเสี่ยง ‘มะเร็ง’ ลดผลกระทบการเงิน

30/04/2024

โรคมะเร็ง เป็นโรคร้ายแรงและมีผลกระทบต่อประชากรหลายล้านคนทั่วโลก จากข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สูงที่สุดของไทย โดยในปี 2564 มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 83,795 ราย หรือคิดเป็นชั่วโมงละเกือบ 10 คนนอกจากความเจ็บป่วยทางกาย ผลกระทบทางจิตใจต่อผู้ป่วยและคนใกล้ชิด หรือการเสียชีวิตแล้ว โรคมะเร็งยังส่งผลกระทบต่อด้านการเงินอย่างมาก ทั้งค่ารักษาพยาบาลโดยตรง ค่าใช้จ่ายทางอ้อม และการเสียโอกาสในการสร้างรายได้ซึ่งปัจจุบันแนวทางการรับมือกับโรคมะเร็งที่สามารถช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาหายขาด ทำได้ไม่ยุ่งยาก และค่าใช้จ่ายต่ำกว่าคือการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง เนื่องจากเมื่อตรวจพบโรคมะเร็งได้เร็ว การรักษามักจะได้ผลดีมากขึ้น และโอกาสการกลายเป็นมะเร็งระยะลุกลามลดลงนายแพทย์เพชร สมบูรณ์กุลวุฒิ ผู้บริหารศูนย์บริการการแพทย์ บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ BLA ได้ให้คำแนะนำและความรู้เกี่ยวกับเรื่องของการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ไว้อย่างน่าสนใจว่า“การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งด้วยวิธีต่าง ๆ จะขึ้นกับชนิดของมะเร็งที่ต้องการคัดกรอง นอกจากนี้ ยังควรคำนึงถึงปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น อายุ เพศ ประวัติครอบครัว ความเสี่ยง และความจำเป็นตามมาตรฐานทางการแพทย์ ดังนั้นจึงแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เมื่อต้องการตรวจ หรือเมื่อมีอาการผิดปกติ”นอกจากนี้ยังได้ให้ข้อมูลและคำแนะนำ สำหรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่พบบ่อยมีดังนี้1. มะเร็งลำไส้ใหญ่ แนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป หรือมีอาการผิดปกติ หรือหากมีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้แนะนำให้ตรวจเร็วขึ้น เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ทุก 5 ถึง 10 ปี ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงนอกจากนี้ ยังสามารถตรวจคัดกรองโดยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Colonoscopy) หรือการตรวจอุจจาระหาเลือดที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (Fecal Occult Blood Test) ได้เช่นกัน ขึ้นการความเหมาะสม2. มะเร็งเต้านม การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมแนะนำให้ตรวจด้วยหลายวิธีร่วมกันดังนี้ 1.การตรวจเต้านมด้วยตนเอง แนะนำให้ผู้หญิงตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 1 เดือน 2.การตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรม แนะนำให้ผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป พบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมอย่างน้อยทุก 3 ปี ส่วนสตรีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปให้ตรวจทุกปีและ 3.การตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram) แนะนำให้ตรวจเป็นประจำในผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือมีประวัติเสี่ยง เช่น ประวัติครอบครัว มีบุตรช้า ประจำเดือนมาเร็ว หรือใช้ยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมน แนะนำให้ตรวจเร็วขึ้น3. มะเร็งต่อมลูกหมาก การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากสามารถทำได้โดยการตรวจวัดระดับสารพีเอสเอ (PSA) ในเลือด ซึ่งแนะนำให้ผู้ชายอายุ 50 – 70 ปี หรือมีอาการผิดปกติ ตรวจเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ตรวจทางทวารหนัก (Digital rectal examination: DRE) ร่วมด้วยซึ่งช่วยให้การตรวจคัดกรองมีประสิทธิภาพมากขึ้นปัจจุบันยังมีการคัดกรองโรคมะเร็งวิธีอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยการตรวจ PAP Smear หรือการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดในกลุ่มผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่จัดโดยการตรวจ Low-Dose CT เป็นต้น ทั้งนี้ การเลือกตรวจคัดกรองแต่ละวิธีอาจขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาในการเลือกตรวจคัดกรองตามมาตรฐาน ความจำเป็นทางการแพทย์ และความเหมาะสมของแต่ละบุคคลแม้ว่าการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งบางวิธีมีราคาสูง แต่เมื่อเทียบกับการรักษาโรคมะเร็งแล้ว พบว่าการรักษาโรคมะเร็งมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ามาก ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อค่าใช้จ่าย ได้แก่ ชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค และ แนวทางการรักษา เป็นต้นในการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยการผ่าตัด และการให้ยาเคมีบำบัด อาจมีค่ารักษาสูงกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งอาจกระทบกับความมั่นคงทางการเงินของผู้ป่วยและครอบครัว ดังนั้น การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งจึงมีส่วนช่วยให้ตรวจพบโรคได้ในระยะเริ่มแรก และช่วยลดค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างไรก็ตาม แม้การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งยังไม่สามารถป้องกันโรคมะเร็งได้ แต่สามารถจัดการความเสี่ยงด้านการเงินที่เกิดจากโรคมะเร็งได้โดยกรุงเทพประกันชีวิตเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มประกันโรคร้ายแรง ซึ่งมีหลายรูปแบบ หลายความคุ้มครอง ตามความต้องการของผู้เอาประกัน ซึ่งเมื่อตรวจพบโรคมะเร็งแม้จะพบจากการตรวจคัดกรองก็ตาม ก็สามารถรับความคุ้มครองได้ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ที่กำหนด ช่วยผู้ป่วยและคนใกล้ชิดสามารถมุ่งมั่นกับกระบวนการรักษาได้อย่างเต็มที่ และประกันโรคร้ายแรงช่วยบรรเทาผลกระทบด้านการเงินผลิตภัณฑ์ล่าสุดในกลุ่มของประกันโรคร้ายแรง ที่กรุงเทพประกันชีวิตได้พัฒนาขึ้นมีชื่อว่า “แฮปปี้ ซีไอ” ซึ่งตอบโจทย์ผู้บริโภค เน้นความคุ้มครองที่มอบผลประโยชน์คุ้มค่า ครอบคลุมโรคร้ายแรงที่พบมากที่สุด 6 กลุ่มโรค อาทิ กลุ่มโรคมะเร็งและเนื้องอก หัวใจและหลอดเลือด เส้นเลือดสมองและระบบประสาท ไต การติดเชื้ออย่างรุนแรง และยังรวมไปถึงกลุ่มโรคผู้สูงอายุที่พบมากได้แก่ โรคสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน รวมทั้งหมด 14 โรคร้ายแรง ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะได้รับความสบายใจจากความคุ้มครองนี้ยาวถึงอายุ 99 ปี ด้วยเบี้ยประกันภัยคงที่ตลอดสัญญา ไม่เพิ่มตามอายุ และยังสามารถเลือกระยะเวลาชำระเบี้ยประกันภัยได้ทั้งแบบ 20 ปี หรือถึงอายุ 99 ปีนอกจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรคร้ายแรงระหว่างสัญญา หรือมีชีวิตอยู่จนครบกำหนดสัญญาก็รับเงินก้อน 100% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย หรือเบี้ยประกันภัยของสัญญาเพิ่มเติมโรคร้ายแรง แฮปปี้ ซีไอ สะสมตามจริง แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่าดังนั้นโดยสรุปแล้ว นอกเหนือจากการรับมือกับโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการหมั่นดูแลตรวจสอบสุขภาพร่างกายของเราโดยมีการตรวจคัดกรองโรงมะเร็งเพื่อให้พบความผิดปกติเร็วขึ้นและช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้นแล้ว การวางแผนด้านการเงิน ด้วยการมีแผนประกันความคุ้มครองที่เหมาะสม เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทางด้านการเงิน จะสามารถช่วยให้เราใช้ชีวิตได้อย่างอุ่นใจ เพื่อการมีชีวิตที่มั่นคงและยืนยาวได้อย่างมีคุณภาพแหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์https://www.prachachat.net/finance/news-1206963

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ประกันสุขภาพ

ประกันสุขภาพ แบบ Deductible-Copayment ฟีเจอร์ยอดฮิตที่ต้องระวัง

30/04/2024

ประกันภัยสุขภาพ แบบมีความผิดส่วนแรก ‘Deductible’ และมีส่วนร่วมจ่าย ‘Co-payment’ สองฟีเจอร์ยอดฮิตที่ต้องระวังก่อนทำวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ต้องยอมรับว่าปัจจุบันประกันสุขภาพเป็นหนึ่งในแบบประกันที่ได้รับความสนใจจากผู้ซื้อเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะตั้งแต่ที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นต้นมา เพราะนอกจากประกันสุขภาพจะให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยเมื่อต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน (นอนโรงพยาบาลมากกว่า 6 ชั่วโมง) จากอาการเจ็บป่วยจาก Covid-19 แล้ว ยังให้ความคุ้มครองครอบคลุมการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากโรคอื่น ๆ อีกด้วยอย่างไรก็ตาม ข้อกังวลใจสำคัญของผู้ซื้อหลาย ๆ คน ก็คือเรื่องของเบี้ยประกันภัยที่ต้องมีการชำระทุกปี หรือการมีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจากประกันกลุ่มของบริษัทที่ตนเองทำงานอยู่แล้ว ก็เลยทำให้ความสนใจในประกันสุขภาพลดน้อยถอยลงไป และหากจะกลับมาสนใจในการทำประกันสุขภาพอีกครั้ง ก็จะเป็นช่วงเวลาที่อาจจะไม่ได้รับสวัสดิการประกันกลุ่มจากบริษัทแล้ว หรือเมื่อป่วยเป็นโรคใดโรคหนึ่งแล้ว ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ก็อาจจะสายเกินไปที่จะมาซื้อประกันสุขภาพก็ได้บริษัทประกันหลาย ๆ บริษัท จึงได้ออกฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้ซื้อที่มีความหลากหลายเช่นกัน โดยเฉพาะฟีเจอร์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน คือความรับผิดส่วนแรก ‘Deductible’ และมีส่วนร่วมจ่าย ‘Co-payment’ ซึ่งจะช่วยทำให้การตัดสินใจของผู้ซื้อประกันสุขภาพง่ายขึ้น แต่ก็มีรายละเอียดที่ต้องระวัง มิฉะนั้นอาจจะทำให้ผู้ซื้อเสียประโยชน์ไปได้วันนี้ เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘Deductible’ และ ‘Co-payment’ กันให้มากขึ้นเริ่มต้นจาก ‘Deductible’ หรือ ความรับผิดชอบส่วนแรก ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบด้วยตนเองจนครบ ก่อนที่จะเคลมส่วนเกินจากบริษัทประกัน โดยความรับผิดชอบส่วนแรกนี้ ทางบริษัทประกันอาจจะมีการกำหนดที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับแบบประกัน และบริษัทประกันข้อดีของประกันสุขภาพที่มี Deductible ให้เลือกคือ ผู้เอาประกันภัยสามารถประหยัดค่าเบี้ยประกันภัยได้ 20-30% ของเบี้ยประกันภัยปกติ ซึ่งเหมาะกับผู้ที่มีประกันสุขภาพ หรือมีสวัสดิการประกันสุขภาพกลุ่มอยู่แล้ว เพราะความรับผิดชอบส่วนแรกนี้ สามารถใช้ประกันสุขภาพเดิมของตนเองหรือประกันสุขภาพกลุ่มมาจ่ายได้ ทำให้ไม่ต้องจ่ายด้วยตนเองตัวอย่างความรับผิดชอบส่วนแรกที่พบคือ “ความรับผิดชอบส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องมีส่วนรับผิดชอบทุกครั้ง” กล่าวคือ ประกันสุขภาพแบบนี้จะมีการกำหนดเงื่อนไขไว้ว่า ผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนเท่าไรในแต่ละครั้งก่อนที่จะนำค่ารักษาพยาบาลส่วนเกินมาเคลมบริษัทประกัน เช่น กำหนดค่ารับผิดชอบส่วนแรกไว้ที่ 30,000 บาท หากผู้เอาประกันภัยมีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาทต่อครั้ง ผู้เอาประกันภัยจะต้องเป็นคนจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเองทั้งหมดแต่หากมีค่าใช้จ่ายเกิน 30,000 บาท ภายหลังจากการจ่ายค่ารักษา 30,000 บาทแรกด้วยตนเองแล้ว ก็สามารถนำส่วนที่เกิน 30,000 บาท มาเคลมค่ารักษากับบริษัทประกันได้ (ผู้เอาประกันภัยสามารถใช้สิทธิ์ประกันสุขภาพเดิมของตนเองหรือประกันสุขภาพกลุ่มมาจ่ายความรับผิดชอบส่วนแรกได้) แสดงว่า หากค่ารักษาพยาบาลในครั้งนั้น ๆ ไม่ถึง 30,000 บาท ก็จะไม่สามารถเคลมบริษัทประกันได้อย่างแน่นอนนอกจากนี้ ยังมี “ความรับผิดชอบส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องมีส่วนรับผิดชอบเป็นรายปี” กล่าวคือ ประกันสุขภาพแบบนี้จะมีการกำหนดเงื่อนไขไว้ว่า ผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนเท่าไรต่อปีก่อนที่จะนำค่ารักษาพยาบาลส่วนเกินมาเคลมบริษัทประกัน เช่น กำหนดค่ารับผิดชอบส่วนแรกไว้ที่ 50,000 บาทต่อปี ดังนั้นผู้เอาประกันภัยจะต้องเป็นคนจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเองตั้งแต่บาทแรกจนครบจำนวนที่เงื่อนไขกำหนดไว้ที่ 50,000 บาท โดยนับทุกการรักษาของการเป็นผู้ป่วยใน และเมื่อใดที่มีค่าใช้จ่ายเกิน 50,000 บาทต่อปีแล้ว ก็สามารถนำส่วนที่เกิน 50,000 บาท มาเคลมค่ารักษากับบริษัทประกันได้ (ผู้เอาประกันภัยสามารถใช้สิทธิ์ประกันสุขภาพเดิมของตนเองหรือประกันสุขภาพกลุ่มมาจ่ายความรับผิดชอบส่วนแรกได้) แสดงว่าหากค่ารักษาพยาบาลในปีนั้น ๆ ไม่ถึง 50,000 บาท ก็จะไม่สามารถเคลมบริษัทประกันได้อย่างแน่นอนมาดูที่ ‘Co-payment’ กันต่อ ลักษณะการทำงานของ Co-payment จะเป็นการมีส่วนร่วมในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลในแต่ละครั้ง โดยมีการกำหนดสัดส่วนความรับผิดชอบเอาไว้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแบบประกันแต่ละแบบ และลักษณะ Co-payment ที่ผู้เอาประกันภัยได้เลือกเอาไว้เช่น ผู้เอาประกันภัยเลือก Co-payment 20% หมายความว่า ทุกการรักษาพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน เมื่อเกิดค่าใช้จ่ายขึ้นมา ผู้เอาประกันภัยจะต้องมีส่วนร่วมในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล 20% ขณะที่บริษัทประกันจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลอีก 80% ที่เหลือหรือ หากผู้เอาประกันภัยเลือก Co-payment 80% หมายความว่า ทุกการรักษาพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน เมื่อเกิดค่าใช้จ่ายขึ้นมา ผู้เอาประกันภัยจะต้องมีส่วนร่วมในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล 80% ขณะที่บริษัทประกันจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลอีก 20% ที่เหลือ เป็นต้นข้อดีของ Co-payment ก็คือ ผู้เอาประกันภัยสามารถประหยัดค่าเบี้ยประกันภัยได้ตามจำนวน Co-payment ที่ตนเองได้เลือกเอาไว้ เช่น หากเลือก Co-payment 20% ก็สามารถประหยัดค่าเบี้ยประกันภัยไปได้ 20% เช่นกัน หรือหากเลือก Co-payment 80% ก็สามารถประหยัดค่าเบี้ยประกันภัยไปได้ 80% เช่นกันซึ่งเหมาะกับผู้ที่มีประกันสุขภาพ หรือมีสวัสดิการประกันสุขภาพกลุ่มอยู่แล้ว ทั้งนี้ผู้เอาประกันสามารถใช้สิทธิ์ประกันสุขภาพเดิมของตนเองหรือประกันสุขภาพกลุ่มมาจ่ายความรับผิดชอบร่วมในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบได้จะเห็นได้ว่าทั้ง ‘Deductible’ และ ‘Co-payment’ เป็นฟีเจอร์ของประกันสุขภาพที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตที่ผู้เอาประกันภัยต้องระวัง คือ ลักษณะของ ‘Deductible’ และ ‘Co-payment’ นั้น ไม่เหมาะอย่างยิ่งที่จะทำเป็นประกันสุขภาพฉบับแรก และประกันฉบับเดียวของผู้เอาประกันภัย เพราะจะสร้างภาระด้านความรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นให้ผู้เอาประกันภัยเรียกได้ว่า จ่ายทั้งเบี้ยประกัน จ่ายทั้งค่ารักษา ไม่ได้ช่วยประหยัดเงินได้เลย และอีกข้อสังเกตหนึ่งก็คือหากต้องการยกเลิก ‘Deductible’ และ ‘Co-payment’ เพื่อมาใช้ประกันสุขภาพแบบ Full coverage (ให้บริษัทประกันรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องมีส่วนร่วมในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล) ผู้เอาประกันภัยจะต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพก่อนที่จะได้รับความคุ้มครองอีกด้วยซึ่งหากมีประวัติสุขภาพก็อาจจะไม่สามารถทำประกันสุขภาพแบบ Full Coverage ได้ ดังนั้นผู้เอาประกันภัยต้องตัดสินใจให้ดีว่า ‘Deductible’ และ ‘Co-payment’ เหมาะสมกับเราจริง ๆ หรือไม่ แล้วเรามีแผนสำรองในกรณีที่ไม่สามารถเปลี่ยนมาเป็นแบบ Full Coverage แล้วหรือไม่ซึ่งหากไม่มีแผนสำรอง และก็ไม่ได้มีความจำเป็นที่ต้องประหยัดค่าเบี้ยประกันภัย ก็ขอแนะนำให้เลือกซื้อแบบ Full Coverage ไปเลยตั้งแต่แรกดีกว่าบทความโดย โกเมศ สุพลภัค นักวางแผนการเงิน CFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทยแหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์https://www.prachachat.net/breaking-news/news-1208876

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ประกันชีวิต

วิธีเลือกซื้อประกันชีวิต แบบส่วนผสมของกาแฟ

30/04/2024

คอลัมน์ : คุยฟุ้งเรื่องการเงินผู้เขียน : พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่ แอคชัวรี)ด้วยภาวะการแข่งขันที่สูงในปัจจุบันส่งผลให้บริษัทประกันชีวิตแข่งกันนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ทำให้หลาย ๆ ครั้งผู้บริโภคสับสนว่าเวลาจะเลือกซื้อประกันชีวิตให้ได้ประโยชน์สูงสุดควรจะพิจารณาอย่างไรผมจึงอยากแนะนำวิธีการพิจารณาเลือกซื้อแบบการประกันชีวิต เพื่อให้ผู้ซื้อได้ประโยชน์สูงสุดควรพิจารณาจากปัจจัยหลัก 3 ข้อ ดังต่อไปนี้1. ตรวจเช็กสุขภาพทางการเงินของตนเองก่อน ว่ามีทุนประกันอยู่เพียงพอที่จะให้คนข้างหลังได้ใช้ชีวิตอยู่ต่อไปโดยที่ไม่เดือดร้อนทางการเงินได้นานกี่เดือนหรือกี่ปี2. มองหาแบบประกันที่ตรงกับช่วงจังหวะชีวิตของตนเอง เพราะแต่ละวัยย่อมมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน โดยให้มองถึงระยะเวลาของความคุ้มครองด้วย รวมถึงระยะเวลาในการชำระเบี้ย อีกทั้งให้วางแผนล่วงหน้าว่าแบบประกันชีวิตนี้สามารถเลือกซื้อสัญญาเพิ่มเติมอะไรได้บ้าง3. ต้องการการันตีมากน้อยแค่ไหน เพราะปัจจุบันมีให้เลือกตั้งแต่แบบประกันทั่วไป (ที่บริษัทประกันภัยรับความเสี่ยงไว้เอง) แบบประกันยูนิเวอร์ซอลไลฟ์ (ที่บริษัทประกันภัยคอยประกาศจ่ายให้ Crediting rate เป็นระยะ) หรือแบบประกันยูนิตลิงก์ (ที่รับความเสี่ยงจากการลงทุนเองทั้งหมด) เป็นต้นทั้งนี้ ประชาชนไม่ควรใช้อัตราผลตอบแทน (IRR) มาใช้ในการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตเพียงอย่างเดียว เนื่องจากแบบประกันชีวิตแต่ละแบบมีส่วนผสมของความคุ้มครองที่ไม่เหมือนกัน เวลาที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นจะคำนึงถึงสัดส่วนของการสะสมทรัพย์ กับความคุ้มครองชีวิตเป็นหลัก เช่น เบี้ยประกันชีวิต 100 บาทที่ได้รับมานั้นสำหรับแบบประกันชีวิตของบริษัทหนึ่งอาจจะเป็นการสะสมทรัพย์ 80 บาท และความคุ้มครองชีวิต 20 บาทส่วนสำหรับของอีกบริษัทหนึ่งอาจจะเป็นการสะสมทรัพย์ 70 บาท และความคุ้มครองชีวิต 30 บาท การที่ดูอัตราผลตอบแทน (IRR) เพียงอย่างเดียว จะบอกได้แค่ผลตอบแทนในส่วนของการสะสมทรัพย์เท่านั้น อีกทั้งผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตบางแบบอาจจะมีส่วนผสมของเบี้ยประกันภัยในส่วนของการสะสมทรัพย์เพียงแค่ 10 บาท และเบี้ยประกันภัยสำหรับความคุ้มครองชีวิตถึง 90 บาทก็เป็นได้ด้วยสัดส่วนที่แตกต่างกันเหล่านี้ จึงทำให้นำผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตต่างแบบมาเปรียบเทียบกันด้วย IRR อย่างเดียวไม่ได้ หรืออาจเทียบให้เห็นภาพเช่นเดียวกับกาแฟ ที่มีวิธีการปรุงหลายแบบ อาทิ ลาเต้ มอคค่า คาปูชิโน่ เอสเพรสโซ่ ต่างก็มีส่วนผสมของเนื้อกาแฟและนมที่แตกต่างกัน แต่ไม่สามารถบอกได้ว่ากาแฟที่ปรุงแบบไหนดีกว่ากันนอกจากนี้ เงินสดคืนของแต่ละแบบประกันชีวิตก็มีไม่เหมือนกัน บางแบบจ่ายก่อน บางแบบจ่ายหลัง บางแบบให้ฝากคืนกลับบริษัทได้ แต่บางแบบฝากคืนกลับไม่ได้ การคำนวณอัตราผลตอบแทน (IRR) นั้น มีข้อจำกัดตรงที่เป็นวิธีการที่สมมุติว่าเงินสดคืนนั้นสามารถฝากกลับกับบริษัทได้ด้วยอัตราผลตอบแทนที่สูงแบบ IRRดังนั้นการคำนวณอัตราผลตอบแทน (IRR) มาใช้เปรียบเทียบจึงเป็นการพยายามเอาแอปเปิลมาเปรียบเทียบกับส้ม ประชาชนไม่ควรลืมว่า การซื้อประกันชีวิตคือการสะสมทรัพย์ที่มีความคุ้มครองไปด้วย บ่อยนักที่เราจะเห็นแบบประกันชีวิตที่มีอัตราผลตอบแทน (IRR) สูง แต่ให้ประโยชน์กับผู้เอาประกันภัยบางกลุ่มสู้แบบประกันชีวิตที่มีอัตราผลตอบแทน (IRR) รองลงมาแต่มีทุนความคุ้มครองชีวิตที่คุ้มค่ากว่าไม่ได้ดังนั้น ในการเลือกซื้อประกันชีวิต ต้องพิจารณาปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน เพราะทุกคนมีความเสี่ยง มีความต้องการ มีความมุ่งหวังที่แตกต่างกัน การวางแผนทางการเงินจึงอาจแตกต่างกัน และทุกแบบประกันชีวิตก็มีส่วนผสมที่ออกแบบมาเพื่อให้ลงตัวในแบบของมันเองแหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชิธุรกิจออนไลน์https://www.prachachat.net/finance/news-1207288

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

X