คลังความรู้

Everyday knowledge for you

ข่าวการเงิน

สำรวจคนไทยเดอะแบก…แบกหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งหนี้ครัวเรือนและหนี้นอกระบบ

30/04/2024

สถานการณ์หนี้สินของคนไทยกลายเป็นกับดักความยากจนมานานนับ 10 ปี เฉพาะหนี้ครัวเรือน หรือหนี้ที่อยู่ในระบบก็สูงกว่า 80% ต่อ GDP มาตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งเป็นระดับที่น่าเป็นห่วงและส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย กำลังซื้อของประชาชนไม่มีพลังขับเคลื่อนเพราะปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว นี่ยังไม่นับรวมหนี้นอกระบบที่ล่าสุด นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ประกาศแก้หนี้นอกระบบให้คนไทยเพราะเชื่อว่า มีมูลค่าที่แท้จริงมากกว่า 50,000ล้านบาท ผู้จัดการบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ เครดิตบูโร ระบุว่า หากเรานับรวมหนี้ในระบบที่สูงถึง 16ล้านล้านบาทหรือ ราว 90.7% รวมกับหนี้นอกระบบ อีก 50,000 ล้านบาท จะพบว่าคนไทยเป็นหนี้เกือบ100% ของGDP แล้ว ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก  โดยหากย้อนไป 10ปีที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนไทยเร่งตัวขึ้นตั้งหลังวิกฤตน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 จากนั้นมา การให้กู้ยืมหรือสินเชื่อพุ่งขึ้นอย่างมาก เนื่องจากมีการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถูกกระทบจากน้ำท่วม จากปี 2555 หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 76.1%ต่อGDP กระโดดขึ้นมาทะลุ 80% โดยในปี2558 หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 85.9% ต่อ GDP  แม้จากนั้นมาจะมีความพยายามในการกดตัวหนี้ครัวเรือนให้ลดลงต่ำกว่า80% ให้ได้แต่ก็ไม่สำเร็จ ซ้ำร้ายมาเจอโควิด19 ระบาดในปี  2563 เป็นต้นมา หนี้ครัวเรือนไทยกระโดดขึ้นไปทะลุ 90%ต่อ GDP ตั้งแต่นั้น และสูงสุดคือปี 2564 ที่เศรษฐกิจไทยย่ำแย่ หนี้ครัวเรือนขึ้นไปแตะ 94.7% ต่อ GDP และ ไตรมาส 2 ของปี2566 อยู่ที่ 90.7% ต่อ GDPทั้งนี้หากดูข้อมูลจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งพบว่า จากจำนวนหนี้ครัวเรือน 16 ล้านล้านบาทนั้น ถูกแบ่งเป็น  ㆍ33.7% หนี้อสังหาฯ ㆍ27.1% สินเชื่ออุปโภคบริโภค (สินเชื่อบุคคล / บัตรเครดิต) ㆍ17.9% สินเชื่อประกอบธุรกิจ ㆍ11.4% สินเชื่อยานยนต์  ㆍ9.9% สินเชื่ออื่นๆ หนี้เสียในระบบ ไตรมาส 3/2023 มูลค่า 1.05 ล้านล้านบาท 1.สินเชื่อส่วนบุคคล 261,692  ล้านบาท   2.สินเชื่อยานยนต์ 207,441 ล้านบาท 3.สินเชื่ออสังหาฯ 181,683 ล้านบาท 4.สินเชื่อภาคเกษตร 67,008  ล้านบาท 5.สินเชื่อประกอบธุรกิจ 66,007 ล้านบาท หนี้เสียเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะหนี้ยานยนต์ จากข้อมูลหนี้เสียจากเครดิตบูโรในไตรมาส 3 / 2566 พบว่า  สินเชื่อส่วนบุคคล 261,692  ล้านบาท   และ สินเชื่อยานยนต์207,441 ล้านบาท  มีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหนี้เสียของสินเชื่อยายนต์ เพิ่มขึ้นราว 8.6% ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 4.9%  ขณะที่สภาพัฒน์ฯรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2566 พบว่า ประเภทสินเชื่อที่มีปัญหามากขึ้นคือ สินเชื่อยานยนต์ที่เริ่มเห็นหนี้ NPL เพิ่มขึ้น โดยหนี้เสียคงค้างของสินเชื่อยานยนต์ขยายตัวสูงถึง ร้อยละ 40.9 หรือมีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.05 เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 1.89 ของไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนดังกล่าว ของสินเชื่อประเภทอื่นกลับทรงตัวหรือลดลง นอกจากนี้ เมื่อพิจารณา หนี้ที่มีการค้างชำระ 1 - 3 เดือน (SML) พบว่า ภาพรวมสัดส่วน SML ต่อสินเชื่อรวมทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.7 แต่สินเชื่อยานยนต์ ยังเป็นสินเชื่อประเภทเดียวที่มีสัดส่วนดังกล่าวยังเพิ่มขึ้น โดยอยู่ที่ ร้อยละ 14.4 เพิ่มต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่เจ็ดติดต่อกัน นั่นหมายความว่า นอกจากหนี้เสียกลุ่มยานยนต์จะเพิ่มขึ้นแล้ว ยอดการค้างชำระไม่เกิน 90 วันก็ยังสูงขึ้นจนน่าเป็นห่วงอีกด้วย และอาจผันกลับไปเพิ่มหนี้เสียให้สูงขึ้นจากเดิมอีก  อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้ประกาศมาตรการแก้หนี้นอกระบบออกมาแล้ว และจะเปิดให้ผู้ที่มีปัญหาหนี้นอกระบบลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2566 เป็นต้นไป จากนั้นรัฐบาลจะเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยหนี้ โดยเจ้าหนี้ต้องมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามกฏหมายกำหนดไม่เกิน 15% ต่อปี หากลูกหนี้ชำระมาเกินแล้วถือว่าสิ้นสุดการชำระหนี้   ส่วนการแก้หนี้ในระบบ หรือ หนี้ครัวเรือนจะมีการแถลงรายละเอียดในวันที่ 12 ธันวาคม 2566  แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับamarintvhttps://www.amarintv.com/spotlight/economy/detail/55855

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ประกันภัย

สมาคมประกันชีวิตไทย แนะประกันแบบไหนลดหย่อนภาษีได้บ้าง

30/04/2024

30 พฤศจิกายน 2566 : นายพิชา สิริโยธิน ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปีเช่นนี้ นับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับการวางแผนภาษีของประชาชนผู้มีเงินได้ รวมถึงหลายๆ ภาคธุรกิจทางการเงินต่างก็ให้ความสำคัญนำเสนอสินค้าที่ใช้ในการลดหย่อนภาษีให้ประชาชนได้เลือกสรรอย่างเหมาะสมกับวิถีชีวิตและการลงทุนของแต่ละบุคคล ซึ่งธุรกิจประกันชีวิตเป็นหนึ่งในเครื่องมือบริหารความเสี่ยงของชีวิตและสุขภาพ ตลอดจนการเงิน การลงทุน รวมถึงเป็นเครื่องมือชดเชยรายได้ในยามชรา ผ่านผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตหลายประเภท อาทิประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา ประกันชีวิตควบการลงทุน ประกันภัยสุขภาพ ประกันชีวิตแบบบำนาญ ประกอบกับการที่ภาครัฐได้เล็งเห็นความสำคัญของการออมเงิน ระยะยาวเพื่อการสร้างความมั่นคงให้กับอนาคต อีกทั้งยังช่วยลดภาระให้ตนเองและครอบครัวรวมถึงสังคมโดยกรมสรรพกรกำหนดให้สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยที่มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป หากมีการจ่ายเงินคืนระหว่างสัญญา เงินคืนที่ได้รับจะต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี และสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ชำระดังกล่าวมาลดหย่อนภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท และสำหรับผู้มีเงินได้ที่มีประกันภัยสุขภาพสามารถนำเบี้ยที่ชำระแล้วมาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วจะต้องไม่เกิน 100,000 บาทส่วนผู้ที่มี ประกันชีวิตแบบบำนาญสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ชำระแล้วไปลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยทั้งนี้เงินลดหย่อนภาษีดังกล่าวเมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จะต้องไม่เกิน 500,000 บาทสำหรับผู้ที่มีประกันภัยสุขภาพของบิดามารดา สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าบิดามารดาของผู้มีเงินได้ จะต้องมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีขอเน้นย้ำทุกท่านว่าอย่าลืมว่าสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเป็นเพียงผลประโยชน์เพิ่มเติมเท่านั้น เพราะจุดเริ่มต้นของการมีประกันชีวิต ประกันภัยสุขภาพ หรือประกันชีวิตแบบบำนาญ คือเรื่องความคุ้มครองและบริหารความเสี่ยงเป็นหลักสำคัญนอกจากนี้ สำหรับผู้ที่มีการทำประกันดังกล่าวข้างต้นไว้แล้วอย่าลืมแจ้งความประสงค์และให้ความยินยอม (consent) แก่บริษัทประกันชีวิตเพื่อนำส่งข้อมูลการชำระเบี้ยประกันชีวิต ให้กรมสรรพากรตามแนวทางที่กรมสรรพากรกำหนด เพราะไม่เช่นนั้นผู้เอาประกันภัยจะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันชีวิตของกรมธรรม์นั้นได้ กรณีผู้ที่มีกรมธรรม์หลายฉบับ ก็ต้องให้ความยินยอม (consent) ทุกฉบับที่ผู้เอาประกันภัยจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวแหล่งที่ข่าวต้นฉบับกรุงเทพธุรกิจhttps://www.sequelonline.com/?p=156434

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

โจทย์แห่งอนาคต “แก่ดีมีออม” เก็บแบบไหนมีเงินใช้จนวันสุดท้าย

30/04/2024

คอลัมน์ : ระดมสมอง ผู้เขียน : วราวิชญ์ โปตระนันทน์, ธนิน ว่องวงศ์ ทีดีอาร์ไอ “แก่ไปไร้ออม” เป็นปรากฏการณ์ในสังคมไทย ที่มีสถิติบ่งชี้ว่าคนแก่ไทยปัจจุบันจำนวนมากไม่มีเงินออมเพียงพอกับการยังชีพระดับพื้นฐานโดยไม่ต้องพึ่งคนอื่นหรือรัฐบาล ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งหลายพรรคการเมืองก็ตอบสนองในนโยบายที่ใช้หาเสียง แต่ทว่าถือเป็นมาตรการ “เชิงรับ” คือมีปัญหาแล้วตามแก้ ในขณะเดียวกันมาตรการดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลเรื่องงบประมาณที่รัฐจะต้องใช้ จนทำให้รัฐบาลชุดที่ผ่านมาประกาศว่าจะให้เบี้ยยังชีพคนชรากับเฉพาะคนแก่ยากจนเท่านั้น จนถูกต่อต้านในวงกว้าง กลายเป็นภาวะพะว้าพะวังเชิงนโยบายว่าควรใช้แนวทางใดในการดูแลคนแก่ปัจจุบัน ความกังวลนี้ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า กลุ่มคนช่วงวัยอื่นที่ยังไม่แก่ในวันนี้ จะประสบปัญหา “แก่ไปไร้ออม” แบบเดียวกับคนแก่ในปัจจุบันหรือไม่ ? โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่มีแนวโน้มจะอายุยืนมากขึ้น หนึ่งในทางออกเรื่องนี้จะต้องเปลี่ยนไปใช้มาตรการ “เชิงรุก” ด้วยการส่งเสริมให้คนไทย “แก่ดีมีออม” และดูแลตนเองได้ยามเกษียณ สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้การออมไม่เพียงพอในการดูแลตัวเองยามเกษียณ มีหลายสาเหตุ เช่น การมีรายได้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้จ่าย การเข้าไม่ถึงช่องทางการออม การขาดทักษะหรือความรอบรู้ทางการเงิน แต่ทว่าปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลต่อคนรุ่นใหม่ที่มักมีรายได้มากพอตามระดับการศึกษาที่สูงกว่าคนรุ่นเก่าโดยเฉลี่ย อีกทั้งไม่ค่อยมีปัญหาการเข้าถึงช่องทางการออมหรือขาดความรอบรู้ทางการเงิน แต่ปมปัญหาสำคัญมาจากปัจจัยเสริมอื่น นั่นคือ “อคติเชิงพฤติกรรม” ซึ่งหมายถึงการมีพฤติกรรมที่ดูเหมือนไม่สมเหตุสมผลนัก ตัวอย่าง เช่น ชอบบริโภคเกินตัว ไม่วางแผนระยะยาว ยึดติดกับความคุ้นชินเดิม ๆ ในการออม ทั้งที่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า อคติเชิงพฤติกรรมมักเกิดจากการตัดสินใจแบบ “ด่วน” หรือใช้ “ทางลัด” ในการประมวลข้อมูลและพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ อคติเหล่านี้มีอิทธิพลต่อวิธีที่ผู้คนรับรู้และตีความข้อมูล ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจหรือพฤติกรรมที่ดูไม่เป็นเหตุเป็นผล อาทิ การไม่นำเอาข้อมูลที่มีอยู่มาพิจารณาอย่างรอบคอบ การเพิกเฉยต่อกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับตนเอง หรือการทำตามผู้คนรอบข้าง ทั้ง ๆ ที่อาจไม่มีประโยชน์ต่อตัวเอง เป็นต้น แท้จริงแล้วคนรุ่นใหม่มีอคติเชิงพฤติกรรมจริงหรือ ? ถ้ามีเป็นรูปแบบใด และอคติแบบไหนมากกว่า ? จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง “คนรุ่นใหม่” อายุ 20-40 ปี ที่มีรายได้ตั้งแต่ 8,000 บาทขึ้นไป จำนวน 1,043 คน ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใน “โครงการศึกษาอคติเชิงพฤติกรรมในประชากรไทย เพื่อเสาะหามาตรการที่ได้ผลในการส่งเสริมการวางแผนทางการเงินของประชากรไทยสำหรับสังคมอายุยืน” โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่มีอคติเชิงพฤติกรรมอย่างน้อย 4 ประเภท ที่นำไปสู่ความไม่พร้อมทางการเงินยามเกษียณ ได้แก่ “อคติโลกแคบ” มองผลลัพธ์จากการกระทำเพียงระยะสั้น ๆ แคบ ๆ, “อคติชอบปัจจุบัน” คือการใช้จ่ายเพื่อความสุขในวันนี้มากกว่าออมเพื่อความสุขวันหน้า, “อคติละเลยอัตราทบต้น” คือการออมน้อย กู้เยอะ เพราะละเลยพลังของดอกเบี้ยทบต้นที่สามารถทำให้ผลประโยชน์ในตอนท้ายสูงมากหากออมต่อเนื่องนาน ๆ และอคติยึดติดสภาวะปัจจุบัน คือการไม่ยอมเปลี่ยนแปลงไปสู่การออมหรือการลงทุนที่ไม่คุ้นเคยแม้จะได้ผลตอบแทนมากกว่า คำถามต่อมา มาตรการส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณในรูปแบบใดที่สามารถปรับพฤติกรรมการออมภายใต้อคติเชิงพฤติกรรมเหล่านี้ได้ จากการทบทวนงานวิจัยในอดีตหลายชิ้นพบว่า มี 4 มาตรการที่คาดว่าจะส่งเสริมการออมโดยคำนึงถึงหรือใช้ประโยชน์ จากอคติเชิงพฤติกรรมข้างต้น โดย 3 มาตรการแรก เป็นการจัดการกับการออมจากรายได้ (เรียงตามลำดับของสภาพบังคับจากน้อยไปมาก) ในขณะที่มาตรการสุดท้าย เชื่อมโยงการออมกับพฤติกรรมการใช้จ่าย ได้แก่ “การสะกิดด้วยข้อมูล” คือการ “สะกิด” ด้วยข้อความ, รูปภาพที่เข้าใจง่าย โดยมุ่งเน้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการออม และพลังของอัตราดอกเบี้ยทบต้นจากการออมอย่างต่อเนื่องยาวนาน “การตั้งอัตราการออมเริ่มต้น” คือการ “ช่วย” เสนอว่า ผู้คนควรจะออมเท่าใดต่อรายได้ที่ได้รับ เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายในยามเกษียณ ซึ่งอัตราการออมเริ่มต้นจะกำหนดไว้สูงกว่าอัตราการออมที่เจ้าตัวมักจะเลือกเอง โดยคาดหวังว่าผู้ออมจะไม่ปรับลดอัตราตั้งต้นนี้เพราะไม่อยาก “คิดมาก” กำหนดไว้อย่างไรก็ใช้อย่างนั้น “การออมกึ่งบังคับ” คือ โครงการที่ “บังคับ” ให้เก็บออมในอัตราที่กำหนดขึ้น แต่เป็น “กึ่งบังคับ” เพราะอาจไม่ออมในอัตรานั้นก็ได้ แต่ระบบจะทำให้ผู้เก็บออมเผชิญกับความยุ่งยากในการทำเรื่องออกจากโครงการเพื่อเปลี่ยนแปลงอัตราการออม เช่น ต้องยื่นเรื่อง ทำเอกสาร ต้องไปติดต่อหน่วยงานหรือธนาคารเจ้าของโครงการ “การออมผ่านการใช้จ่าย” หรือการหักเงินมาออมทุกครั้งที่มีการใช้จ่าย เช่น ถ้ามีการใช้จ่ายซื้อสินค้าราคา 95 บาท แต่หักเงินเป็น 100 บาท โดยส่วนเกิน 5 บาทจะโอนเข้าบัญชีออม ซึ่งธนาคารบางแห่งในไทยเริ่มใช้มาตรการลักษณะนี้แล้ว และพบว่าได้ผลพอควร โดยเฉพาะในกลุ่มคนอายุไม่มาก นอกจากนี้ยังมีการทดสอบประสิทธิผลของมาตรการส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณ 4 มาตรการดังกล่าวกับกลุ่มตัวอย่างในวัยทำงานช่วงต้นที่มีเวลาเพียงพอในการออมเพื่อการเกษียณ คือช่วงอายุ 20-35 ปี และมีรายได้ตั้งแต่ 8,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป ในกรุงเทพฯ และจังหวัดขอนแก่น จำนวน 316 คน โดยผลการทดลองพบว่ามี 2 มาตรการที่ช่วยเพิ่มอัตราการออมต่อรายได้อย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ การตั้งอัตราการออมเริ่มต้น ซึ่งเพิ่มอัตราการออมได้ร้อยละ 1.4 และการออมกึ่งบังคับ เพิ่มอัตราการออมได้ร้อยละ 0.9 ของรายได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ขาดวินัยทางการเงินมาก ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ยังไม่ลงมือออมในปัจจุบัน การที่มาตรการทั้ง 2 ได้ผลกับคนกลุ่มนี้น่าจะเพราะเป็นมาตรการที่ใช้ประโยชน์จากตัวอคติเอง คืออคติยึดติดสภาวะปัจจุบัน อีกทั้งยังมีลักษณะกึ่งบังคับซึ่งเหมาะกับผู้ที่ไม่ค่อยมีวินัย ในกรณีนี้งานวิจัยได้เสนอให้มีการขยายการดำเนินการมาตรการออม “กึ่งบังคับ” ไปยังกลุ่มแรงงานนอกระบบประกันสังคม ที่การออมภาคสมัครใจที่มีให้ยังไม่สามารถชักจูงให้เขาเข้าร่วมได้มากเพียงพอ ขณะที่มาตรการที่ไม่พบว่ามีส่วนช่วยเพิ่มเงินออมของกลุ่มตัวอย่างในภาพรวม แต่ได้ผลดีในกลุ่มย่อย ได้แก่ การสะกิดด้วยข้อมูล ซึ่งได้ผลสำหรับผู้อยู่ในระบบประกันสังคมที่มีรายได้ประจำและมีความพร้อมในการออม ดังนั้นหากต้องการให้การสะกิดได้ผลในการเพิ่มการออมได้ดียิ่งขึ้น อาจต้องใช้ข้อความสะกิดที่หลากหลาย สะกิดใจ เร้าอารมณ์ของผู้คนมากขึ้นกว่าการอธิบายประโยชน์ปกติของการออมเรื่องการได้รับดอกเบี้ย ส่วนการออมผ่านการใช้จ่าย ซึ่งใช้ได้ผลดีกับผู้มีรายได้น้อย ออมน้อย และคนรุ่นใหม่ที่ใช้จ่ายเป็นประจำ เนื่องจากเป็นการทำให้เกิดการออมผ่านการปัดเศษในขณะใช้จ่าย เจ้าตัวไม่ต้องชั่งใจมากนักว่าจะออมหรือไม่ ในขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังไม่ให้มาตรการนี้กลายเป็น “ดาบสองคม” ที่ไปเพิ่มความชะล่าใจในการใช้จ่ายของผู้คน เพราะรู้สึกว่ามีการออมรองรับทุกการใช้จ่ายอยู่แล้ว และคำนึงเสมอว่าการออมลักษณะนี้อาจจะไม่มากพอสำหรับการเกษียณ เพียงแต่ช่วยเปิดประตูให้คนรุ่นใหม่เริ่มต้นการออมเท่านั้น สิ่งสำคัญควบคู่ไปกับมาตรการเหล่านี้ คือจะต้องมีการออกแบบระบบบัญชีเพื่อการเกษียณส่วนบุคคล (individual retirement account หรือ IRA) เพื่อรองรับเงินออมที่มาจากมาตรการเหล่านี้ ซึ่งควรมีลักษณะพิเศษเช่นไม่สามารถถอนได้ง่ายเท่ากับบัญชีปกติ เมื่อบุคคลเริ่มมีเงินออมในระบบบัญชีลักษณะดังกล่าวแล้ว ควรมีการจัดทำระบบสรุปข้อมูลการออมเพื่อการเกษียณจากทุกบัญชีในที่เดียว ซึ่งอาจรวมถึงข้อมูลสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นจากการเก็บออม เช่น บ้าน ที่ดิน หลักทรัพย์ เป็นต้น มาตรการลักษณะนี้น่าจะได้ผลในการยกระดับสำนึกต่อการออมของผู้ออมที่ได้กระทำอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ออมรู้ถึงสถานการณ์ความเพียงพอของเงินออมตัวเองได้อย่างครบถ้วน และน่าจะกระตุ้นให้ผู้ออมอยากเพิ่มการออมของตนเองให้เพียงพอมากยิ่งขึ้น อันจะส่งเสริมให้มาตรการส่งเสริมการออมตั้งต้นมีโอกาสประสบความสำเร็จในการเพิ่มเงินออมมากยิ่งขึ้น โดยข้อเสนอเหล่านี้คาดหวังว่าจะได้รับการพิจารณาจากหน่วยงานภาครัฐในการกำหนดนโยบายและมาตรการส่งเสริมการออม และจากหน่วยงานภาคเอกชนเพื่อปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้ตอบโจทย์อคติและจูงใจในการออม อันจะเป็นจุดเริ่มต้นของหนทางในการเตรียมการไปสู่ “แก่ดีมีออม” ของประชากรไทยให้เป็นรูปธรรมและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับชีวิตของประชาชนท่ามกลางสังคมอายุยืนให้มีคุณภาพและศักดิ์ศรี แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์https://www.prachachat.net/columns/news-1429630#google_vignette

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ประกันชีวิต

เอไอเอ ประเทศไทย จัดพิธีมอบรางวัลเกียรติยศ “AIA Hospital Awards 2023” แก่สุดยอดโรงพยาบาลคู่สัญญาทั่วประเทศ

30/04/2024

กรุงเทพฯ, 30 พฤศจิกายน 2566 – เอไอเอ ประเทศไทย จัดพิธีมอบรางวัลแห่งเกียรติยศ “AIA Hospital Awards 2023” ภายใต้ธีม Thai Night แก่สุดยอดโรงพยาบาลคู่สัญญาทั่วประเทศซึ่งมีความเป็นเลิศในด้านการบริการ การสนับสนุนธุรกิจประกันภัย ตลอดจนการบริการจัดการสินไหมประกันสุขภาพยอดเยี่ยม เพื่อมุ่งส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยมีคณะผู้บริหาร แพทย์ และพยาบาลจากกว่า 30 โรงพยาบาลทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทยเข้าร่วมงาน ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล โดยมีคณะผู้บริหารเอไอเอ ประเทศไทย ให้การต้อนรับ นำโดย นายนิคฮิล แอดวานี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นางอลิสา สิมะโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ นายเอกรัตน์ ฐิติมั่น ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด นายแพทย์ประมุกข์ ทรงจักรแก้ว ที่ปรึกษาอาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการ นางสาวรพีพร วงศ์ทองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและภาพลักษณ์ พญ.นุสรา อรรฆศิลป์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ นพ.สมสกุล ศรีพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการแพทย์ ฝ่ายประกันสุขภาพ 1 และนางสาวญดา วงศ์ทองคำ รองผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารสิทธิพิเศษและกิจกรรมลูกค้า พร้อมกับร่วมขึ้นมอบรางวัลบนเวที เพื่อสนับสนุนคำมั่นสัญญาของเอไอเอ ‘Healthier, Longer, Better Lives - เพื่อสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้น’ ซึ่งพิธีมอบรางวัล AIA Hospital Awards 2023 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท  นายนิคฮิล แอดวานี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอ ประเทศไทย กล่าวว่า “ในนามของเอไอเอ ประเทศไทย ขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งกับโรงพยาบาลทั้งกว่า 30 แห่งจากทั่วประเทศ ที่ได้รับรางวัลเกียรติยศ AIA Hospital Awards 2023 และขอขอบคุณทุก ๆ โรงพยาบาลที่ให้การดูแลลูกค้าเอไอเออย่างยอดเยี่ยมมาโดยตลอด ซึ่งเอไอเอ ถือเป็นผู้นำในตลาดประกันสุขภาพ โดยเรามีลูกค้าผู้ถือสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพมากที่สุดจำนวนกว่า 2 ล้านรายทั่วประเทศ* และให้การบริการเคลมสินไหมสุขภาพมากกว่า 9,000 เคสต่อวัน เราได้รับความร่วมมืออย่างดีจากโรงพยาบาลคู่สัญญาที่มีอยู่ทั้งหมด 885 โรงพยาบาล รวมถึงคลินิกอีก 304 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งได้มอบการรักษาพยาบาลและดูแลด้านสุขภาพให้กับลูกค้าเอไอเอ ประกอบกับการให้ความร่วมมือกับเอไอเออย่างดีมาตลอด เพื่อร่วมกันยกระดับธุรกิจประกันชีวิตและสุขภาพ ซึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดคือคนไทยทั่วประเทศ”สำหรับรางวัล AIA Hospital Awards 2023 ครั้งนี้ ได้จัดขึ้นในคอนเซ็ปต์ Thai Night เพื่อถ่ายทอดถึงความเป็นไทยผ่านเอกลักษณ์ของผ้าไทยที่มีความงดงาม แสดงถึงความมุ่งมั่นที่เอไอเอต้องการสนับสนุนให้คนไทยทั่วทุกภูมิภาคได้มีสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งทุกรางวัลได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยแบ่งรางวัลออกเป็นแต่ละภูมิภาคดังนี้  •  รางวัล โรงพยาบาลที่มีการสนับสนุนธุรกิจประกันภัยเพื่อการทำประกันภัยยอดเยี่ยม (Best Insurance Support)       •  กรุงเทพมหานคร ได้แก่ โรงพยาบาลพญาไท 3        • ภาคกลาง ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพสนามจันทร์       • ภาคใต้ ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่       • ภาคเหนือและภาคตะวันตก ได้แก่ โรงพยาบาลเชียงใหม่ ราม        • ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ โรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา   •  รางวัล โรงพยาบาลที่มีการบริหารทรัพยากรทางการแพทย์ยอดเยี่ยม (Best Medical Utilization)       •  กรุงเทพมหานคร ได้แก่ โรงพยาบาลพญาไท 1       •  ภาคกลาง ได้แก่ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1       •  ภาคใต้ ได้แก่ โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ตรัง       •  ภาคเหนือและภาคตะวันตก ได้แก่ ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่       •  ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา   •  รางวัล โรงพยาบาลที่มีการบริหารจัดการสินไหมยอดเยี่ยม (Best Claim Management)       •  กรุงเทพมหานคร ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์       •  ภาคกลาง ได้แก่ โรงพยาบาลนนทเวช       •  ภาคใต้ ได้แก่ โรงพยาบาลราษฎร์ยินดี       •  ภาคเหนือและภาคตะวันตก ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่       •  ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพอุดร   •  รางวัล โรงพยาบาลที่เปิดรับและตอบรับนวัตกรรมทางดิจิทัลยอดเยี่ยม (Best Digital Transformation)       •  กรุงเทพมหานคร ได้แก่ โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล       •  ภาคกลาง ได้แก่ โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ       •  ภาคใต้ ได้แก่ โรงพยาบาลทักษิณ       •  ภาคเหนือและภาคตะวันตก ได้แก่ โรงพยาบาลพะเยาราม       •  ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา   •  รางวัล โรงพยาบาลที่ลูกค้าและตัวแทนได้รับประสบการณ์การบริการสินไหมประกันสุขภาพยอดเยี่ยม (Best Claim Experience)       •  กรุงเทพมหานคร ได้แก่ โรงพยาบาลบางปะกอก 1       •  ภาคกลาง ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต       •  ภาคใต้ ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์       •  ภาคเหนือและภาคตะวันตก ได้แก่ โรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค       •  ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ โรงพยาบาลสมิติเวช ชลบุรี   •  รางวัล โรงพยาบาลที่มีการบริการกลุ่มลูกค้าเอไอเอ เพรสทีจ คลับ ยอดเยี่ยม (Best AIA Prestige Club Experience Awards)       •  รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์       •  รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ โรงพยาบาลเปาโลพหลโยธิน   •  รางวัล โรงพยาบาลที่มีการบริการด้านการประกันภัยและการบริการสินไหมประกันสุขภาพที่ยอดเยี่ยมที่สุด (Best AIA Healthcare Partner 2023)       •  ชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โรงพยาบาลศิครินทร์       •  รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพ       •  รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท หมายเหตุ: *ข้อมูล ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ภาษี

กองทุนลดหย่อนภาษี : ซื้อขายอย่างไร ไม่ให้ผิดเงื่อนไขกรมสรรพากร

30/04/2024

ปลายปีแบบนี้ หลายคนกำลังมองหาทางเลือกลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมกันอยู่ใช่ไหม ? ซึ่งทางเลือกที่ค่อนข้างได้รับความนิยมคือการซื้อกองทุนรวม RMF ซึ่งให้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี ยิ่งภาวะตลาดแบบนี้ก็น่าจะจูงใจให้หลายคนเลือกลดหย่อนภาษีจากกองทุนรวม เพราะเหมือนซื้อของถูกราวกับแปะป้ายเซลสีแดง ๆ ไว้ แต่อย่าลืม!! ข้อสำคัญของการลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีที่จะมีเงื่อนไขอยู่พอสมควร เพราะกรมสรรพากรเขาให้สิทธิประโยชน์นี้ก็เพื่อส่งเสริมให้คนไทยออมเพื่อเกษียณกันให้มากขึ้น บทความนี้เราจะมา BRIEF ให้ฟังว่า หากจะซื้อขายกองทุน RMF ต้องทำอย่างไรไม่ให้ผิดเงื่อนไขภาษี และหากเผลอทำผิดเงื่อนไขไปแล้ว เราจะต้องเจอกับอะไรบ้าง ไปดูกันเลย! รายละเอียดและเงื่อนไขของ RMF กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ Retirement Mutual Fund (RMF) สามารถลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยเงื่อนไขคือต้องถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปี ขายคืนได้เมื่ออายุ 55 ปีบริบูรณ์ และต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี ทั้งนี้ เมื่อคำนวณจำนวนลดหย่อนภาษีของ RMF รวมกับการออมเพื่อเกษียณอื่น ๆ  แล้วจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บาท ยกตัวอย่าง เรามีการลดหย่อนภาษีอื่น ๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและซื้อประกันบำนาญไปแล้วประมาณ 200,00 บาท เราก็อาจจะซื้อกองทุนรวม RMF ได้ที่ 300,000 บาท เพื่อให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ถ้าอยากลงทุนอยู่แล้ว โดยไม่ได้สนใจเรื่องการลดหย่อนภาษีมากนัก ก็สามารถซื้อเกินกว่าจำนวนดังกล่าวได้ จะเป็นอย่างไร ? เมื่อทำผิดเงื่อนไขของ RMF 1. ถือครองไม่ครบ 5 ปี และขายก่อนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ : เราจะต้องคืนเงินภาษีที่เคยได้รับการลดหย่อน 5 ปีย้อนหลัง และกำไรจากการลงทุนที่ต้องนำมาเสียภาษี 2. ถือครองมาเกิน 5 ปี แต่ขายคืนก่อนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ : เราจะต้องคืนเงินภาษีที่เคยได้รับการลดหย่อน 5 ปีย้อนหลัง ส่วนกำไรจากการลงทุนจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี 3. ซื้อ RMF เกินสิทธิ์ ไม่ว่าจะเกิน 30% ของเงินได้ หรือซื้อเกิน 500,000 บาท : ในส่วนของกำไรจากส่วนที่ซื้อเกินสิทธิ์ เราจะต้องเสียภาษีเมื่อขายคืน 4. ซื้อไม่ต่อเนื่อง เพราะ RMF มีเงื่อนไขซื้อต่อเนื่องทุกปี เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี หากขาดติดต่อกัน 2 ปี จะถือว่าผิดเงื่อนไข : เราจะต้องคืนเงินภาษีที่เคยได้รับการลดหย่อน 5 ปีย้อนหลัง    ㆍทั้งนี้ มีประเด็นหนึ่งที่อาจจะมีหลายคนเข้าใจผิดว่า การซื้อต่อเนื่องจะนับตามปีไปเรื่อย ๆ เช่น ในช่วง 5 ปี เราซื้อ 3 ครั้ง แล้วขายได้ เพราะถือมา 5 ปีแล้ว แต่ความจริงจะนับเฉพาะปีที่ซื้อเท่านั้น เช่น หากเริ่มซื้อตอนอายุ 50 ปี และพยายามซื้อต่อเนื่องทุกปี แต่ลืมซื้อไป 1 ปี ระบบจะนับให้เพียง 4 ปีเท่านั้น หากอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ แล้วขายออก เพราะคิดว่าซื้อต่อเนื่องมา 5 ปีแล้ว อาจจะผิดเงื่อนไขภาษีได้ 5. ไม่ได้แจ้งความประสงค์ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี    ㆍเงื่อนไขนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ที่กรมสรรพากรได้กำหนดให้ผู้ที่ซื้อ RMF และ SSF ที่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีต้องแจ้งความประสงค์ ไปยัง บลจ. ที่ซื้อหน่วยลงทุนให้ครบทุกแห่งภายในวันทำการสุดท้ายของปี เพื่อให้ บลจ. นำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรโดยตรง แทนการที่เราต้องยื่นเอกสารเอง ทั้งนี้ หากเราไม่แจ้งความประสงค์ก็อาจใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีไม่ได้ แต่เรื่องดีก็คือ เราแจ้งเพียงครั้งเดียวก็สามารถใช้ได้ตลอดไป ไม่ต้องแจ้งทุกปี อย่างไรก็ตาม การซื้อกองทุนรวม RMF มีประโยชน์เรื่องการลดหย่อนเป็นสิ่งที่เสริมเข้ามา แต่ประโยชน์ที่แท้จริงคือ เรากำลังเก็บเงินสำหรับไว้ใช้เมื่อเกษียณกันอยู่ ฉะนั้น แค่ซื้อเพื่อลดหย่อนยังไม่พอ โดยก่อนที่จะซื้อกองทุนรวม RMF อาจจะต้องเลือกกองทุนที่มีนโยบายที่ดี มีอนาคตที่จะเติบโต เพื่อให้มีโอกาสได้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อไว้ใช้ยามเกษียณได้แบบชิว ๆ ที่มา : ก.ล.ต. พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับbeartaihttps://www.beartai.com/brief/1335329

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

สร้างฝันวันเกษียณด้วยหลักการ 3 ป.

30/04/2024

บทความโดย “ศุทธวีร์ มงคลสินธุ์”  นักวางแผนการเงิน CFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทย วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 การเกษียณอายุเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชีวิต ซึ่งต้องมีการวางแผนและเตรียมการอย่างรอบคอบเพื่อให้แน่ใจว่า เมื่อเวลานั้นมาถึงเราจะได้มีความพร้อมอย่างรอบด้าน สำหรับการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ สำหรับด้านการลงทุนเพื่อการเกษียณแล้วนอกจากจะมี “แผนการ” ที่ดีแล้ว สิ่งที่ลืมไม่ได้เลยก็คือ “การลงมือปฏิบัติ” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการ คำว่าบรรลุเป้าหมายสำหรับการลงทุนเพื่อการเกษียณนั้น อาจหมายถึงการมีเงินเพียงพอ ที่จะใช้เพื่อดำรงชีพไปตลอด จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ซึ่งการวางแผนการเกษียณ และการลงมือทำอย่างมีหลักการจะช่วยให้เรามีความพร้อมทางด้านการเงิน ซึ่งมีส่วนสำคัญจะส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี วันนี้ผมจะขอนำหลักการ 3 ป. ซึ่งเป็นหลักการบริหารที่สามารถใช้ได้ทั้งในระดับองค์กรและระดับบุคคล มาประยุกต์ใช้กับการวางแผนการเกษียณ ซึ่งหลัก 3 ป. นั้น ประกอบไปด้วย ป.ประสิทธิผล ป.ประสิทธิภาพ และ ป.ประหยัด ซึ่งหลักการเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้าง ทำให้สามารถสร้างฝันวันเกษียณได้อย่าง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยมีรายละเอียดดังนี้ ป.ประสิทธิผล ประสิทธิผล (Effectiveness) นั้นหมายถึง การบรรลุผลหรือเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ เมื่อมามองในด้านการวางแผนเกษียณแล้ว ประสิทธิผลเกี่ยวข้องกับการกำหนดทิศทาง เพื่อให้มั่นใจว่า เมื่อถึงวันเกษียณควรจะต้องมีรายได้หลังเกษียณ (Retirement Income) และแหล่งการลงทุนต่าง ๆ เพียงพอที่จะดำรงชีวิตในช่วงเกษียณอายุ ขั้นตอนแรกสู่การบรรลุประสิทธิผล คือ การกำหนดเป้าหมายการเกษียณของตัวเอง โดยเป้าหมายจะเป็นทิศทาง (Direction) ให้เห็นแนวทางในการเริ่มต้นลงมือทำ และเริ่มจัดการกับอุปสรรคที่จะทำให้ความฝันวันเกษียณไม่ราบรื่น สำหรับเป้าหมายในด้านการเกษียณนั้น ผมจะขอแบ่งเป็นประเด็นสำคัญ 3 ประการ ที่จะทำให้เป้าหมายมีความชัดเจนมากขึ้น ดังนี้ ประเด็นแรก “เวลา” โดยคำถามสำคัญ คือ เราต้องการเกษียณในช่วงอายุใด และจะมีระยะเวลาหลังเกษียณอยู่อีกนานเท่าใด (อาจประมาณจากอายุเฉลี่ยของสมาชิกในครอบครัว) สำหรับความเสี่ยงจากประเด็นด้านเวลา คือ อายุยืนเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ (Longevity Risk) ทำให้เงินที่เตรียมไว้อาจไม่เพียงพอ ดังนั้นในการวางแผนเกษียณควรจะเผื่อเวลาให้อายุยืนยาวออกไปหน่อย ประเด็นที่สอง คือ “ค่าใช้จ่าย” คำถามประเด็นนี้ คือ ในช่วงเวลาหลังเกษียณเราจะใช้เงินทั้งหมดประมาณเท่าไร ซึ่งเป็นการประมาณค่าใช้จ่ายในช่วงวัยเกษียณควรจะต้องคำนึงถึง เงินเฟ้อ ภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่อาจคาดไม่ถึง เช่น ค่าซ่อมแซมบ้าน ดูแลรถยนต์ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่าง ๆ ประเด็นที่สาม “รายได้” แหล่งที่มาของรายได้หลังเกษียณของเรามีอะไรบ้าง ซึ่งอาจมีรายได้จาก เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ บำนาญจากประกันสังคม บำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินจาก กบข. และเงินออมส่วนบุคคลต่างๆ เป็นต้น สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ จะบริหารเงินลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนจากเงินเหล่านี้ได้อย่างไร และในกรณีที่ยังต้องการทำงานอยู่ อาจเลือกงานที่มีชั่วโมงทำงานลดน้อยลง เพื่อให้มรายได้จากการทำงานอย่างต่อเนื่อง สำหรับท่านใดที่ต้องการวางเป้าหมายการเงินอย่างครอบคลุม อาจพิจารณาปรึกษานักวางแผนการเงิน ร่วมกันกำหนดเป้าหมาย เพื่อเพิ่มโอกาสให้เป้าหมายได้มี ป.ประสิทธิผล ป.ประสิทธิภาพ ประสิทธิภาพ (Efficiency) หมายถึงการบรรลุผลตามที่ตั้งใจไว้โดยสิ้นเปลืองทรัพยากรน้อยและได้ผลกลับมามาก สำหรับด้านการวางแผนเกษียณ และการลงมือปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพนั้น เกี่ยวข้องกับการลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเกษียณอายุ และเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนให้มากขึ้น วิธีหนึ่งในการบรรลุประสิทธิภาพ คือ การบริหารภาษีโดยใช้สิทธิ การลงทุนที่สามารถนำมาเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งจะทำให้การลงทุนเพื่อการเกษียณอายุมีประสิทธิภาพ เช่น หากเป็นข้าราชการให้พิจารณาเลือกใช้ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) สำหรับพนักงานเอกชน แนะนำให้พิจารณากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เป็นลำดับต้น ๆ ซึ่งนอกจากจะลดหย่อนภาษีได้แล้ว การลงทุนเหล่านี้นับว่าเป็นการสร้างวินัยอัตโนมัติให้กับตัวเรา หลังจากนั้นหากมีเงินเหลือ พิจารณาลงทุนใน กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)โดยอาจปรึกษานักวางแผนทางการเงิน ในการเลือกแผนการลงทุน การเลือกใช้กลยุทธ์การลงทุนต่างๆ เช่น การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน (Asset Allocation) และการกระจายความเสี่ยง (Diversification) เพื่อลดความผันผวนและเพิ่มผลตอบแทนในระยะยาว ป.ประหยัด การประหยัด (Economy) หมายถึง การบรรลุผลตามที่ตั้งใจไว้โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีความยับยั้งชั่งใน ใช้จ่ายอย่างเหมาะสมกับฐานะ และหากมองในด้านการเกษียณ การประหยัดนั้นเกี่ยวข้องกับการลดค่าใช้จ่ายทั้งด้านการใช้ชีวิต โดยอาจจะถามตัวเองก่อนใช้จ่ายว่า สิ่งที่เราจะซื้อนี้เป็นสิ่งจำเป็นหรืออยากได้ แล้วถึงค่อยตัดสินใจซื้อสิ่งนั้น และในการประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านการลงทุน ซึ่งหมายถึง การเลือกผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีต้นทุนไม่สูงนัก กองทุนรวมที่มีค่าธรรมเนียมต่ำ เช่น กองทุนรวมดัชนี (Index Fund) และในกรณีซื้อขายหลักทรัพย์ก็ควรต้องระวังค่าธรรมเนียมด้วยเช่นกัน โดยสรุป หลักการทั้ง 3 ป. นั้น ได้แก่ ป. ประสิทธิผลเป็นหลักการที่มีนำหนักและสำคัญที่สุด เป็นเป้าหมายปลายทางที่ต้องเพียรพยายามเพื่อให้บรรลุผล นั่นคือการมีเงินเพียงพอที่จะใช้ดำรงชีวิตในยามเกษียณได้อย่างมีคุณภาพ สำหรับ ป.ประสิทธิภาพ คือ กระบวนการระหว่างทางที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมาย โดยหลัก ป.ประหยัดจะคอยเสริมสร้างความแข็งแกร่งแผนการเงินได้ในทุกช่วงวัย และเมื่อนำสามหลักการนี้มาประยุกต์ใช้ก็จะส่งเสริมให้ผู้ที่นำไปปฏิบัติประสบความสำเร็จในการเกษียณ เรียกได้ว่าจะเกษียณอย่างเกษมแน่นอน แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์https://www.prachachat.net/finance/news-1430680

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ประกันชีวิต

เอไอเอ ประเทศไทย รับรางวัลดีเด่นด้านกิจการเพื่อสังคม จากสภาหอการค้าอเมริกัน (AMCHAM Corporate Social Impact Award) เป็นปีที่ 12 ติดต่อกัน

30/04/2024

เอไอเอ ประเทศไทย นำโดย นายโยฮัน ดีทอย (ที่ 4 จากซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุน เป็นตัวแทนรับรางวัล “บริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมดีเด่น ประจำปี 2566” หรือ “2023 AMCHAM Corporate Social Impact Award” ระดับ Platinum จากสภาหอการค้าอเมริกันแห่งประเทศไทย (The American Chamber of Commerce in Thailand: AMCHAM) ซึ่ง นายโรเบิร์ต โกเดค เอกอัครราชทูตประจำสถานทูตอเมริกาในประเทศไทย เป็นประธานมอบรางวัล โดยมีนายสุวิรัช พงศ์เสาวภาคย์ (ที่ 3 จากซ้าย) ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการภายนอก และนางสาววิภากร โกมลกิติสกุล (ขวาสุด) รองผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและภาพลักษณ์ เอไอเอ ประเทศไทย ร่วมในพิธีรับมอบรางวัลดังกล่าว ซึ่งงานจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพ  สำหรับรางวัล “บริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมดีเด่น” (AMCHAM Corporate Social Impact Award) นับเป็นรางวัลอันทรงคุณค่า ซึ่งเอไอเอ ประเทศไทย ได้รับติดต่อกันต่อเนื่องมาเป็นเวลา 12 ปี จากการเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยยึดหลัก ESG ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล มาตลอดระยะเวลา 85 ปีในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ตลอดจนยังมีการส่งเสริมด้านกิจกรรมเพื่อตอบแทนสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นและความทุ่มเทในการสนับสนุนให้คนไทยมีสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้น ตามคำมั่นสัญญา “Healthier, Longer, Better Lives”

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

แนวคิดสุขนิยมกับการใช้บัตรเครดิต ย้ำต้องชำระคืนตรงเวลา-เต็มจำนวน

30/04/2024

บทความโดย “ณิชาภา เลี้ยงบุตร”  นักวางแผนการเงิน CFP®,IP สมาคมนักวางแผนการเงินไทย วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 สุขนิยม คือ ทฤษฎีทางจริยศาสตร์ที่มีแนวคิดว่า ความสุขเป็นสิ่งที่มนุษย์ควรแสวงหา เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าคือเรื่องจริง แต่ขณะเดียวกันถ้าเราลุ่มหลงและสำราญทางวัตถุมากไปอาจทำให้เกิดความทุกข์ได้ ความสุข (บางส่วน) เกิดจากการจับจ่ายใช้สอย ยิ่งยุคนี้เป็นสังคมไร้เงินสด เพราะนอกจากรูดบัตรเครดิตแล้ว เพียงแค่การสแกนมือถือผ่านแอปพลิเคชั่น ก็สามารถใช้จ่ายสะดวกและง่ายขึ้น รวมถึงหลายคนอาจติดกับดักทางการเงินด้วยการใช้บัตรเครดิต อีกทั้งยังมีโปรโมชั่นผ่อน 0% มีส่วนลด มีเงินคืน มีคะแนนสะสม เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจผู้บริโภค ทำให้การใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตมีความสุขมากกว่าจ่ายด้วยเงินสด ประการแรก : เป็นการสร้างความสุขเพราะได้สินค้ามาใช้โดยไม่ต้องรอให้มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายด้วยเงินสด เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเลต กระเป๋าแบรนด์เนม เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ประการที่สอง : การจ่ายเงินสดจะรู้สึกว่าเสียดายเงินมากกว่าจ่ายด้วยบัตรเครดิต เช่น ถ้าต้องถอนเงินสดซื้อแท๊บเล็ตมูลค่า 30,000 บาท ก็คงจะรู้สึกเสียดายเงิน แต่ถ้าจ่ายบัตรเครดิตแบบผ่อน 0% 10 เดือน จะทำให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายกว่า บัตรเครดิต คือ สินเชื่อบุคคลประเภทหนึ่งที่สถาบันการเงินออกให้ลูกค้า เพื่อใช้แทนเงินสด ซึ่งจะมีระยะเวลาที่ปลอดดอกเบี้ยประมาณ 45-55 วัน ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินผู้ออกบัตร หากชำระคืนไม่ตรงเวลาหรือไม่เต็มจำนวนจะต้องเสียดอกเบี้ย 16% ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 0.25% ถ้าใช้บัตรและสามารถชำระได้ตรงเวลาจะเกิดประโยชน์ทางอ้อมอีกด้วย เช่น ได้ส่วนลด, นำคะแนนสะสมไปแลกสินค้าต่าง ๆ เช่น แลกตั๋วเครื่องบิน เครื่องใช้ไฟฟ้า บัตรกำนัลร้านค้า เป็นต้น แต่ถ้าชำระไม่ตรงเวลาหรือชำระแค่บางส่วน ยอดค้างชำระจะกลายเป็นเงินกู้ที่ต้องนำมาคิดดอกเบี้ยทันที โดยธนาคารคิดดอกเบี้ยบัตรเครดิต ดังนี้ ตัวอย่าง วันที่ 1 มกราคม ซื้อแท็บเลตด้วยบัตรเครดิต มูลค่า 30,000 บาท ธนาคารสรุปยอดใช้จ่ายทุกวันที่ 25 ของเดือน กำหนดชำระทุกวันที่ 10 ของทุกเดือน อัตราดอกเบี้ย 16% กรณีที่จ่ายขั้นต่ำ 3,000 ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ดอกเบี้ยส่วนที่ 1 คิดจากค่าใช้จ่ายทั้งหมด (ตั้งแต่วันที่บันทึกรายการถึงวันที่สรุปยอด) = ค่าใช้จ่าย*อัตราดอกเบี้ยต่อปี*จำนวนวันที่ทำรายการถึงวันที่สรุปยอดบัญชี/จำนวนวันใน 1 ปี = (30,000*16%*25)/365 = 328.77 ดอกเบี้ยส่วนที่ 2 คิดคงค้าง ตั้งแต่วันที่ชำระขั้นต่ำถึงวันที่สรุปยอดเดือนถัดไป = ค่าคงค้าง*อัตราดอกเบี้ยต่อปี*จำนวนวันที่ทำรายการถึงวันที่สรุปยอดบัญชี/จำนวนวันใน 1 ปี = (27,000*16%*16)365 = 189.4 ดังนั้นในรอบบิลถัดไปจะถูกเรียกเก็บ = เงินคงค้าง + ดอกเบี้ยทั้ง 2 ส่วน = 27,000 + 328.77 + 189.40 = 27,518.17 กับดักที่หน้ากลัวที่สุด คือ โปรโมชั่นใช้เครดิตกรณีผ่อน 0% ซึ่งมีข้อแนะนำ คือ 1. ซื้อของที่จำเป็นเท่านั้น 2. มีบัญชีธนาคารไว้สำหรับชำระคืนบัตร ทุกครั้งที่ใช้บัตรให้โอนเงินมาไว้ที่บัญชีนี้เลย 3. ยอดผ่อน 0% ต่อเดือนไม่ควรเกิน 15-20% ของรายได้ อัตราส่วนแสดงการชำระคืนหนี้สินที่ไม่ใช่การจดจำนองจากรายได้ = การชำระหนี้สินไม่รวมภาระจดจำนองต่อเดือน/รายรับรวมต่อเดือน ดังนั้น ทุกครั้งที่ใช้บัตรเครดิตควรประเมินก่อนว่าสามารถชำระคืนได้ตรงเวลาและเต็มจำนวน มิฉะนั้นจะทำให้ผู้ใช้บัตรเข้าไปสู่วงจรดอกเบี้ยบัตรเครดิต ซึ่งเข้าง่ายแต่ออกยากเหลือเกิน เพราะดอกเบี้ยมหาโหด อ้างอิง : เว็บไซต์ KTC, หลักสูตรวางแผนการเงินชุดวิชาที่ 1 การวางแผนการเงิน แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์https://www.prachachat.net/finance/news-1446932

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ประกันชีวิต

เทคนิค ประกันชีวิต ที่ได้มากกว่า “สิทธิลดหย่อนภาษี”

30/04/2024

ใกล้โค้งสุดท้ายปลายปีเข้ามาทีไร “ประกันชีวิต” มักจะเป็นทางเลือกในการใช้สิทธิลดหย่อนที่ผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดาใช้ในการวางแผนภาษีในแต่ละปี เพราะในส่วนของเบี้ยประกันชีวิตสำหรับตัวผู้เสียภาษีสามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีได้ถึง 100,000 บาท โดยไม่รวมกับเบี้ยประกันบำนาญและเบี้ยประกันสุขภาพของพ่อแม่ เพราะการใช้สิทธิลดหย่อนไม่ต้องคำนวณตามสัดส่วนของรายได้ของเราจึงลดหย่อนได้เต็มที่ไม่ว่าจะมีเงินได้พึงประเมินอย่างไร ดังนั้น การวางแผนภาษีด้วย ประกันชีวิต จึงสามารถช่วยลดภาระภาษีตามขั้นภาษีสูงสุดที่คำนวณได้ หรือสูงสุดถึง 35,000 บาทเลยทีเดียวเปิดเทคนิควางแผนภาษีตรงตรงใจสำหรับแบบประกันชีวิตที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ประกอบด้วยแบบประกันที่มีระยะเวลาความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป หรือประกันสุขภาพ  แต่คนส่วนใหญ่มักจะเลือกทำแบบประกันโดยคำนวณถึงการลดหย่อนภาษีเป็นหลัก จึงเลือกแบบประกันระยะเวลาต่ำสุดตามหลักเกณฑ์ คือความคุ้มครอง 10 ปี แม้ว่าเราจะสามารถเลือกวางแผนลดหย่อนภาษีให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินของเราควบคู่ไป เพื่อให้เราสามารถบรรลุตามเป้าหมายการเงินโดยไม่มีภาระการชำระเบี้ยเกินความจำเป็น  ที่สำคัญยังเป็นการวางแผนการเงินระยะยาวให้กับตัวเราอีกด้วย ซึ่งจริง ๆ เป็นวัตถุประสงค์หลักที่รัฐมอบสิทธิประโยชน์ภาษีให้กับผู้เสียภาษี“เทคนิค” การทำประกันชีวิตเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเงินของเรานั้น ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่เราหาเป้าหมายการเงินระยะยาวของเราให้ได้  หลายคนมีเพียงเป้าหมายเดียว แต่บางคนมีหลายเป้าหมายก็ได้ การวางแผนเพื่อการเกษียณเป็นเป้าหมายสำคัญเป้าหมายหนึ่งเพราะการที่คนมีอายุยืนยาวขึ้น จำเป็นต้องใช้เงินช่วงเกษียณมากขึ้น หากปัจจุบันเรามีอายุ 35 ปี การวางแผนเพื่อการเกษียณจะมีระยะเวลาประมาณ 25 ปี เราสามารถเลือกแบบประกันสะสมทรัพย์เพื่อเสริมแผนการเกษียณของเราและได้ประโยชน์จากการลดหย่อนในหมวดประกันตัวอย่างเช่น คุณ บี ปัจจุบัน อายุ 50 ปี มีประกันสุขภาพในปัจจุบันเบี้ยฯ ปีละ 15,000 บาท สามารถวางแผนภาษีเพื่อการเกษียณเพิ่มเติมโดยใช้ประกันสะสมทรัพย์ ระยะเวลา 10 ปี ชำระเบี้ยฯ ครั้งเดียว ผลประโยชน์รวม 99,880 บาท เบี้ยฯ ปีละ 85,000 บาท เพื่อรับเงินก้อนหลังเกษียณปีละ 100,000 บาทขณะที่ เป้าหมายการเงินอีกเป้าหมายหนึ่งคือเป้าหมายการศึกษาของลูก เราสามารถวางแผนครอบครัวเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการศึกษาของลูกในระยะยาว หากลูกกำลังศึกษาอยู่ในชั้นอนุบาล แผนการศึกษาของลูกจะมีระยะเวลา 12 ปีโดยประมาณสำหรับระดับปริญญาตรี และ 16 ปี สำหรับระดับปริญญาโท  การเลือกทำประกันสะสมทรัพย์เพื่อลดหย่อนภาษีจึงไม่จำเป็นต้องเป็นแบบประกันที่มีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปี แต่อาจเลือกทำประกันในหลายรูปแบบเพื่อให้เหมาะสมกับเป้าหมายของเราตัวอย่างเช่น คุณใส่ใจ ปัจจุบันอายุ 35 ปี  มีลูกอายุ 5 ปี  ต้องการเลือกทำประกันเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเต็ม 100,000 บาท ประกันสุขภาพที่มีอยู่ในปัจจุบันเบี้ยฯ ปีละ 15,000 บาท  ต้องการใช้ประกันเพื่อเป็นเงินทุนการศึกษาปริญญาโทให้ลูก 2 ล้านบาท  แบบประกันเพื่อใช้สิทธิฯ ภาษีของคุณใส่ใจจะต่างกับของคุณบี  โดยแผนภาษีจากประกันสะสมทรัพย์ ระยะเวลา 10 ปี ชำระเบี้ยครั้งเดียวแม้จะใช้สิทธิภาษีได้เท่ากัน แต่ไม่สามารถตอบเป้าหมายเพื่อการศึกษาของลูกได้ การวางแผนการศึกษาให้ลูกจะมีภาระชำระเบี้ยเพิ่มขึ้นและไม่สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้  คุณใส่ใจจึงควรเลือกแบบประกันสะสมทรัพย์เพื่อทุนการศึกษาปริญญาโท   ระยะเวลาคุ้มครอง 15 ปี ระยะเวลาชำระเบี้ยฯ 10 ปี ผลประโยชน์รวมตลอดสัญญา 977,500 บาท จำนวนเงินประกันภัย 700,000 บาท  เบี้ยฯ ปีละ 85,000 บาท แทนอีกรูปแบบเป้าหมายที่สามารถนำมาประกอบการวางแผนภาษี สิ่งที่ต้องคำนึงถึง และรูปแบบของประกันชีวิตที่ตอบเป้าหมายต่างๆ อาจจะสรุปได้คร่าวๆ ตามตาราง ดังนี้ดังนั้น เมื่อเราจะวางแผนภาษีด้วยประกันทั้งที เราจึงควรวางแผนภาษีให้สอดคล้องไปกับเป้าหมายการเงินของเราด้วย เพื่อให้เราได้มากกว่าการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเพียงอย่างเดียว เพียงเท่านี้เราก็จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการทำประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษีประจำปีหมายเหตุㆍการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนดㆍโปรดทำความเข้าใจในรายละเอียดความคุ้มครองเงื่อนไข และข้อยกเว้นก่อนการตัดสินใจสมัครทำประกันภัยทุกครั้งที่มา : บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับการเงินธนาคารhttps://moneyandbanking.co.th/2023/73069/

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

10 ความผิดพลาด 'การลงทุน' ที่นักลงทุนทั่วโลก ทำบ่อยที่สุด

30/04/2024

เปิดลิสต์ “10 ความผิดพลาด” ที่นักลงทุนเป็นกันบ่อยที่สุดไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่ได้ฉายา “เซียน” หรือนักลงทุนที่ขึ้นชื่อว่า “เก่งที่สุดในโลก” ต่างต้องเคยผิดพลาดเรื่องเหล่านี้อย่างน้อย 1 ข้อ ความผิดพลาดในการลงทุนสามารถเป็นบทเรียนอันล้ำค่าเสมอ เพราะทำให้นักลงทุนมีโอกาสได้เรียนรู้ข้อมูลเชิงลึกในโลกการลงทุน และสร้างพอร์ตที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ข้อมูลจาก CFA Institute สถาบันให้ความรู้ด้านการเงินระดับโลก ระบุว่า "10 ความผิดพลาด"ที่พบบ่อยที่สุดในการลงทุน รวมไปถึงการตัดสินใจลงทุนโดยใช้แต่อารมณ์ไปจนถึงการจ่ายค่าธรรมเนียมมากเกินไป แบ่งเป็น 10 ข้อ ดังต่อไปนี้ 1. คาดหวังมากเกินไป การมีความคาดหวังที่สมเหตุสมผล ช่วยให้นักลงทุนยังโฟกัสเป้าหมายระยะยาวและไม่ตอบสนองตลาดด้วยอารมณ์ 2. ไม่มีเป้าหมายการลงทุน นักลงทุนมักโฟกัสกับผลตอบแทนระยะสั้นหรือกระแสการลงทุนล่าสุด มากกว่าวางเป้าหมายการลงทุนระยะยาว 3. ไม่กระจายความเสี่ยง การกระจายความเสี่ยงช่วยป้องกันไม่ให้หุ้นตัวเดียว มีผลกระทบต่อมูลค่าของทั้งพอร์ตลงทุน 4. โฟกัสระยะสั้น โฟกัสระยะสั้นเป็นเรื่องง่าย แต่ทำให้นักลงทุนวางกลยุทธ์มั่วและตัดสินใจไม่รอบคอบ 5. ซื้อแพง ขายถูก พฤติกรรมของนักลงทุนในช่วงตลาดแกว่งตัว มักทำให้ไม่เห็นผลงานโดยรวม 6. เทรดมากเกินไป ผลการศึกษาพบว่า นักลงทุนที่มีกิจกรรมซื้อขายมากที่สุด พอร์ตลงทุนมักมีผลงานย่ำแย่ 7. จ่ายค่าธรรมเนียมมากเกินไป ค่าธรรมเนียมมีผลต่อผลงานการลงทุนโดยรวม โดยเฉพาะเมื่อลงทุนในระยะยาว 8. โฟกัสเรื่องภาษีมากเกินไป แม้การประหยัดภาษีทำให้ได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น แต่การตัดสินใจโดยยึดเรื่องผลทางภาษีอย่างเดียว อาจไม่ส่งผลดีเสมอไป 9. ไม่ได้เช็กพอร์ตสม่ำเสมอ ควรเช็กพอร์ตลงทุนเป็นรายไตรมาสหรือรายปี เพื่อให้การลงทุนเป็นไปตามแผน หรือปรับสมดุลพอร์ตหากจำเป็น 10. ประเมินความเสี่ยงผิด “ความเสี่ยงสูงเกินไป” อาจทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับหรือถึงขั้นหมดตัว แต่ “ความเสี่ยงต่ำเกินไป” ก็อาจให้ผลตอบแทนน้อยลงจนไม่บรรลุเป้าหมายข้อควรระวังอื่นๆ : นอกเหนือจาก 10 ข้อข้างต้นแล้ว นักลงทุนหลายคนมักพลาดในเรื่องตอบสนองข่าวเชิงลบในระยะสั้น จนลืมมองแนวโน้มระยะยาว, ลืมคำนวณเงินเฟ้อที่ทำให้มูลค่าเงิน 100 บาทปีนี้ น้อยกว่า 100 บาทปีหน้า, เลือกไว้ใจที่ปรึกษาการลงทุนผิด ชีวิตเปลี่ยน และลงทุนด้วยอารมณ์มากกว่าใช้เหตุผล ในช่วงตลาดผันผวน อ้างอิง: Visual Capitalist แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับกรุงเทพธุรกิจhttps://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1099231

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

X