คลังความรู้

Everyday knowledge for you

ข่าวการเงิน

ความเสี่ยงจากการลงทุนต่อ (Reinvestment Risk)

30/04/2024

คอลัมน์ : คุยฟุ้งเรื่องการเงิน ผู้เขียน : Actuarial Business Solutions [ABS] Reinvestment Risk หรือความเสี่ยงจากการลงทุนต่อ ความเสี่ยงตัวนี้เป็นความเสี่ยงที่เห็นได้ชัดกันง่าย ๆ แต่บางคนนึกกันไม่ถึง ลองคิดดูว่าถ้าเราลงทุนใน Fixed Income เช่น พันธบัตรแล้ว วันครบกำหนดสัญญา (Maturity Date) จะเป็นวันที่เราจะได้รับเงินต้น (Principal) คืนมา จากนั้นเราก็จะลงทุนใหม่อีกรอบ ซึ่งกระบวนการนี้เรียกว่า Reinvestment ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าผลตอบแทนจากการลงทุนใหม่อีกรอบนี่อาจจะได้น้อยลงกว่าเดิม เราจะเรียกความเสี่ยงนั้นว่า Reinvestment Risk ลองสมมุติว่ามีพันธบัตรให้เลือกอยู่ 2 ตัว ตัวแรกมีระยะเวลาแค่ 1 ปี (ดอกเบี้ย 5%) ส่วนตัวที่ 2 มีระยะเวลา 10 ปี (ดอกเบี้ย 5%) ถ้าเราต้องการลงทุน 10 ปี ให้ได้ผลตอบแทน 5% ต่อปี ก็จะมี Investment Strategy อยู่ 2 แบบ ดังนี้ – Investment Strategy I : ลงทุนในพันธบัตรตัวแรก แล้วก็วางแผนที่จะ Roll Over (ซื้อทีละปี ไปเรื่อย ๆ) จนครบสิบปี – Investment Strategy II : ลงทุนในพันธบัตรตัวที่สอง แล้วล็อกอัตราผลตอบแทนไป 10 ปี เดาออกใช่หรือไม่ครับว่า Investment Strategy แบบแรกจะมี Reinvestment Risk สูงกว่า (ซึ่งอย่าลืมนะครับว่า Risk นั้นคือสิ่งที่ผันผวนออกจากการประมาณการของเราไว้ ไม่ว่าจะมากกว่าหรือน้อยกว่าสิ่งที่เราคาดหวังไว้ เราก็เรียกว่าเป็น Risk นะครับ) โดยในทางกลับกัน ถ้ายังจำได้อยู่ว่า Interest Rate Risk จะมีมากกว่าใน Investment Strategy แบบที่สอง (ทั้งนี้ทั้งนั้น เวลาดู Investment Strategy จะต้องดู Risk ทุก ๆ ตัวพร้อมกัน การดูแค่ตัวใดตัวหนึ่งจะทำให้บิดเบือนความเป็นจริง ยังเป็นผลให้ตัดสินใจผิดได้) สินทรัพย์ที่มีระยะการลงทุน (Asset Duration) สั้นกว่าระยะเวลาของการชำระหนี้สิน (Liability Duration) จำต้อง Roll Over (รับเงินต้นมา แล้วก็ลงทุนใหม่ไปเรื่อย ๆ) แล้วถ้าเกิดตอนที่ได้รับเงินต้นคืนมานั้น อัตราดอกเบี้ยเกิดตกลงมา เมื่อเอาไปลงทุนใหม่ก็จะทำให้ได้ผลตอบแทนน้อยลงกว่าเดิม พันธบัตรที่จ่ายคูปอง (Coupon) บ่อย ๆ หรือมาก ๆ ก็มี Reinvestment Risk สูงกว่า พันธบัตรที่ไม่จ่ายคูปอง (Coupon) เนื่องจากตอนที่ได้รับคูปองมาแล้ว ถ้า Reinvestment ได้อัตราผลตอบแทนไม่เท่ากับ Yield To Maturity (IRR ของกระแสเงินสดจากพันธบัตร) ก็คงเสียใจไม่น้อย (แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่รู้ตัว เอาคูปองไปฝากแบงก์ไว้เฉย ๆ) ซึ่งเมื่อกล่าวถึง IRR แล้ว ทราบหรือไม่ว่าในการคำนวณ IRR นั้นจะถือว่า Reinvestment Return เท่ากับตัว IRR เอง กลับมาที่บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันชีวิตส่วนใหญ่จะรับฝาก เงินคืน (Coupon) กับเงินปันผล (Dividend) จากกรมธรรม์ได้ ซึ่งนิยมระบุคำว่า “การันตี” กันไว้ในสัญญา (แปลว่า ผู้ถือกรมธรรม์มี Reinvestment Risk น้อยลง) แล้ววิธีการคำนวณอัตราผลตอบแทนของกรมธรรม์จากลูกค้าก็เช่นกัน ถ้าใช้สูตรหา IRR เลย จะแปลว่าเรากำลังสมมุติให้ ลูกค้าสามารถ Reinvestment กับเงินก้อนนั้นได้เท่ากับ IRR แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ลูกค้าจะเอาเงินไปฝากธนาคารหรือไม่ก็เอาไปใช้เลยเสียมากกว่า ซึ่งจะทำให้ IRR ที่หามาได้ไม่ตรงกับความเป็นจริง เมื่อรู้จัก Investment Risk และ Reinvestment Risk กันแล้ว เราก็จะมาดูความเสี่ยงจากงบการเงินของบริษัทได้ และก็ทำ Risk Management ชั้นต้นได้ (แล้วถ้ามีการคาดการณ์เก็งกำไรจากความเสี่ยงที่ถืออยู่ บางคนจะเรียกว่า Earning Management แทน) ยกตัวอย่างเช่น บริษัทให้ความสนใจกับ Interest Rate Risk มากกว่า Reinvestment Risk โดยถ้าถึงเวลาที่ต้องชำระหนี้สินคืน บริษัทต้องขายสินทรัพย์ที่ยังไม่ครบกำหนดสัญญาไป แล้วถ้าช่วงเวลานั้นดอกเบี้ยในตลาดเกิดสูงขึ้น ก็จะทำให้มูลค่าของสินทรัพย์มีค่าลดลง และไม่พอที่จะชำระหนี้สินคืนได้ และก็เช่นเดียวกัน เมื่อ Interest Rate สูงขึ้นมา มันจะทำให้ค่า “การลดลงของสินทรัพย์” ของบริษัทสูงขึ้นกว่า ค่า “การลดลงของหนี้สิน” ของบริษัท ซึ่งถ้าเราใช้ Investment Strategy นี้ ก็ภาวนาขอให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดไม่สูงขึ้นไปด้วย แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์https://www.prachachat.net/finance/news-1434877

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ประกันสุขภาพ

“เก็บเงินไว้รักษาตัวเอง” หรือ “ซื้อประกันสุขภาพ” ?

30/04/2024

อาจเป็นคำถามในใจใครหลายคนสำหรับการเลือกตัดสินใจระหว่างสองวิธีนี้ ว่าจะ “เก็บเงินสำรองไว้เพื่อรักษาตัวเอง” หรือ “ซื้อประกันสุขภาพ” เพื่อโอนย้ายความเสี่ยง อย่างไรก็ดีทั้งสองวิธีนี้มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุผลประกอบดังนี้การเก็บเงินไว้รักษาตนเองกรณี “เก็บเงินไว้เพื่อรักษาตัวเอง” ข้อแรกที่ควรคำนึงถึงคือ งบประมาณที่ต้องการเก็บของแต่ละคนคือเท่าไร บางคน 1 ล้านบาทรู้สึกเพียงพอ บางคนต้องมี 5 ล้านบาท หรือบางคนต้องมี 30 ล้านบาทถึงจะอุ่นใจ และเพียงพอกับการรักษาที่ตัวเองต้องการตัวอย่าง น.ส.เอ ต้องการเก็บเงินไว้เพื่อรักษาตนเอง 5 ล้านบาท ปัจจุบันน.ส.เอ อายุ 35 ปี ทยอยเก็บเงินจนได้ครบ 5 ล้านบาท อายุ 45 ปีเกิดเหตุไม่คาดฝัน ตรวจพบมะเร็งเต้านมระยะที่ 2 ต้องใช้ค่ารักษาพยาบาล เป็นค่าผ่าตัด 200,000 บาท เคมีบำบัด 445,788 บาท รังสีรักษา 200,000 บาท Target Therapy(ใช้ 1 ชนิด) 1,766,000 บาท(1) รวมค่าใช้จ่าย 2,611,788 บาท“หลังจากใช้ไป ถ้า น.ส.เอต้องการเติมเงินค่ารักษาพยาบาลให้ครบ 5 ล้านบาท น.ส.เอ ต้องเริ่มทยอยเก็บเงินอีกครั้ง ซึ่งถ้าต่อมามีการรักษาซ้ำหรือเป็นโรคร้ายแรงด้านอื่น 5 ล้านบาทที่เตรียมไว้อาจจะไม่เพียงพอจำเป็นต้องขายสินทรัพย์อื่นที่มีอยู่เพื่อมาดูแลรักษาตนเองในอนาคต”การซื้อ “ประกันสุขภาพ”ปัจจุบันสัญญา “ประกันสุขภาพ” มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบค่ารักษาพยาบาลต่อการรักษาตัวหนึ่งครั้ง ไม่จำกัดจำนวนครั้งต่อปี หรือค่ารักษาพยาบาลแบบวงเงินเหมาจ่ายต่อปี เริ่มต้นตั้งแต่ 200,000 บาท จนถึง 120 ล้านบาทต่อปี  การเลือกแผนใดจะอยู่ที่การวางแผนการรักษาในโรงพยาบาลที่มีค่ารักษาอยู่ในระดับใด ความสามารถในการชำระเบี้ยต่อปี และจำนวนปีที่ต้องการได้รับความคุ้มครองปัจจุบันคุ้มครองสูงสุดอยู่ที่ 99 ปีตัวอย่าง ถ้า น.ส.เอ อายุ  35 ปี มีความประสงค์ทำประกันสุขภาพ ณ ปัจจุบันจนถึงอายุ 99 ปีค่าเบี้ยประกันรวมทั้งสัญญาคือ 7,658,800 บาท(2)  ถ้าเกิดเหตุต้องใช้ค่ารักษาพยาบาลตามตัวอย่างข้างต้นจะครอบคลุมวงเงินค่ารักษาและในปีต่อไปวงเงินก็จะกลับมาเต็มใหม่ที่ 5 ล้านบาทเสมอทุกปี ทำให้วางแผนค่าใช้จ่ายด้านค่ารักษาพยาบาลได้จากตัวอย่างถ้า น.ส.เอ ทำประกันสุขภาพวงเงิน 5 ล้านบาทต่อปี ตรวจพบมะเร็งเต้านมระยะที่ 2 จะสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลรักษาพยาบาลได้ดังนี้“การเก็บเงินสำรองไว้เพื่อรักษาตัวเอง” หรือ “ซื้อประกันสุขภาพ” นั้น จะมี “ข้อดี-ข้อเสีย” ที่แตกต่างกันตามที่กล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตามการวางแผนประกันสุขภาพเป็นหนึ่งในการวางแผนทางการเงิน เพราะจะทราบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นและวางแผนในการเก็บเงินได้ การจัดสรรเงินเพื่อแผนประกันสุขภาพควรอยู่ในงบประมาณที่เหมาะสม เพียงพอกับการรักษาแบบที่เราต้องการ และคำนึงถึงเบี้ยประกันที่มีการปรับเพิ่มตามอายุ หนึ่งแผนการเงินที่สำเร็จจะสามารถต่อยอดไปยังแผนการวางแผนทางการเงินด้านอื่นๆ ได้ที่มา:(1) https://www.bangkoklife.com/th/articles/0/124(2) เบี้ยประกันค่ารักษาพยาบาลเหมาจ่ายสุขภาพ หญิง อายุ 35-99 ปี (เฉพาะเบี้ยสุขภาพ)(3) https://thaicancersociety.com/rights-to-health-care/(4) https://thaicancersociety.com/rights-to-health-care/cancer-anywhere/แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับwealthythaihttps://www.wealthythai.com/en/updates/wealth-management/wealth-ez/19207

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

อสังหาริมทรัพย์

ผลสำรวจชี้ 'คนไทยอยากมีบ้าน' แต่รายได้ไม่พอ ซื้อไม่ไหว

30/04/2024

ผลสำรวจชี้ คนไทยส่วนใหญ่ยังอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง แต่รายได้ไม่พอซื้อ – ผ่อนระยะยาว ยอมจ่ายค่าเช่าเท่าราคาซื้อ กลัวอนาคตไม่มั่นคง การมี “บ้าน” ของตัวเองคงเป็นความฝันของคนส่วนใหญ่ แต่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเป็นเจ้าของได้ ยิ่งในยุคปัจจุบันที่เศรษฐกิจมีความผันผวนตลอดเวลา ล่าสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้เปิดเผยบทวิเคราะห์ “กำลังซื้อที่อยู่อาศัย” ในกลุ่มรายได้ปานกลางลงมา ในเดือน มี.ค. 2566จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 1,479 คน พบว่า ค่านิยมในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยยังมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง แต่ “งบประมาณที่ไม่เพียงพอ” เป็นข้อจำกัดให้ต้องเช่าแทนการซื้อ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ระดับปานกลางลงมา พบกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาท/เดือน มีกำลังไม่พอซื้อบ้านต้องเช่าอยู่ เมื่อย้อนไปดูข้อมูลจากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (2560-2579) พบว่า จากจำนวนครัวเรือนในประเทศไทย 21.32 ล้านครัวเรือน มีมากถึง 5.87 ล้านครัวเรือน ที่ “ไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง”ในจำนวนนี้เป็นครัวเรือนรายได้สูง 0.8670 ล้านครัวเรือน รายได้ปานกลาง 1.4112 ล้านครัวเรือน และรายได้น้อยมากเกือบ 3.6 ล้านครัวเรือน นอกนั้นเป็นครัวเรือนไร้ที่พึ่ง 0.06612 ล้านครัวเรือน ค่าใช้จ่ายครัวเรือนพุ่งเกิน 79% ของรายได้ ต้นตอไม่มีเงินออม ซื้อบ้านไม่ไหว สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าในปี 2564 ครัวเรือนไทยที่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาท/เดือน คิดเป็นสัดส่วนใหญ่ 89% ของจำนวนครัวเรือนไทยโดยรวม ขณะที่สัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 79% จนไปกดดันการออมอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ปานกลาง และกลุ่มเปราะบางทางการเงิน ทั้งนี้ หากพิจารณาผู้เช่าที่อยู่อาศัยแทนการซื้อ จะพบว่าส่วนใหญ่ 73% มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาท/เดือน หรือเป็นกลุ่มที่มีรายได้ระดับปานกลางลงมา 72% ของผู้เช่าที่อยู่อาศัยแทนการซื้อ มองหาที่พักที่มีค่าเช่าไม่เกิน 10,000 บาท/เดือน รองลงมา 21% มองหาที่พักค่าเช่า 10,001-20,000 บาท/เดือน ซึ่งเป็นระดับค่าเช่าที่สามารถผ่อนบ้านราคาปานกลางลงมาได้ แต่ส่วนใหญ่ยังไม่พร้อม โดยเฉพาะเงินออมไม่พอสำหรับดาวน์บ้าน ความมั่นใจทางด้านรายในอนาคต และสภาพคล่องที่จะสามารถผ่อนในระยะยาวได้ แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับข่าวสดออนไลน์https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_7940894#google_vignette

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ประกันภัย

ข้อดีของการทำ ประกันเดินทาง หมดห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายเมื่อตกอยู่ในเหตุการณ์ฉุกเฉิน

30/04/2024

การเดินทางในแต่ละทริปนั้น สิ่งที่สำคัญคือความปลอดภัยและการทำ ประกันเดินทาง เพราะอุบัติเหตุอาจเกิดได้โดยไม่ทันคาดคิด ไม่ว่าจะเป็นเวลาหรือสถานที่ใด คนแปลกหน้าหรือมิจฉาชีพเข้ามาทำร้าย ความผิดพลาดทางเทคนิคของยานพาหนะที่พาเราไปในทริปนั้น ๆ ตลอดจนสภาพแวดล้อมในเส้นทางที่เราไป ภัยธรรมชาติและภัยจากสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่ไม่มีใครตอบได้ว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ รูปแบบของประกันการเดินทางมีทั้งสำหรับการเดินทางในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจุดหมายของคุณจะเป็นที่ไหนก็ตาม การทำประกันสำหรับทุกทริปมีข้อดีที่ควรให้ความสำคัญ เป็นประโยชน์ที่คุ้มค่าอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับค่าเบี้ยประกันที่ไม่แพง1. การเดินทางไปต่างบ้านต่างเมือง ผู้เดินทางประสบอุบัติเหตุหรือเกิดเจ็บป่วยกระทันหันต้องเข้าโรงพยาบาลในต่างประเทศ คงไม่ใช่เรื่องง่าย ไหนจะค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าบ้านเรา ถ้าไม่มี ประกันการเดินทางต่างประเทศ ก็ต้องจ่ายเอง แต่ถ้ามีประกัน บริษัทประกันจะรับผิดชอบแทนให้ จึงหมดห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายไปได้ หรือแม้แต่กรณีที่ของหายในต่างแดน ถูกโจรกรรม ชิงทรัพย์ กระเป๋าเดินทางเสียหายหรือสูญสาย ฯลฯ ผู้ทำประกันสามารถเรียกเคลมได้ตามเงื่อนไขของบริษัทประกัน การเดินทางในประเทศก็สามารถเคลมได้เช่นเดียวกัน2. กรมธรรม์ประกันการเดินทางใช้เป็นเอกสารประกอบยื่นขอวีซ่าเชงเก้น ซึ่งเป็นวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่ต้องการเดินทางไปพำนักในประเทศโซนเชงเก้น (ประเทศในเขตพื้นที่ยุโรปที่ร่วมลงนามในข้อตกลงเชงเก้น) เพียงแค่ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ หรือไม่เกิน 90 วัน การขอวีซ่าไปประเทศเหล่านี้ค่อนข้างยากและจะต้องมีกรมธรรม์ประกันการเดินทาง3. ไม่ต้องรอให้ออกเดินทางก็คุ้มครองแล้ว สำหรับ ประกันการเดินทางในประเทศ และประกันเดินทางไปต่างประเทศจะให้ความคุ้มครองนับตั้งแต่ก่อนออกเดินทาง ดังนั้นหากเกิดกรณีไฟล์ทบินล่าช้า หรือไฟลท์ยกเลิก ไม่ว่าจะเป็นไฟลท์บินในประเทศหรือต่างประเทศ โดยบริษัทประกันจะรับผิดชอบค่าที่พักแทน และบางบริษัทอาจให้ความคุ้มครองไปถึงการซื้อตั๋วใหม่ด้วย4. ค่าประกันการเดินทางจัดว่ามีอัตราที่ต่ำกว่าประกันอื่น ๆ บางกรมธรรม์มีราคาแค่หลักร้อยเท่านั้นแต่ความคุ้มครองครอบคลุมตลอดการเดินทาง ถือว่าคุ้มค่ามาก นอกจากนี้ยังมีให้เลือกทำประกันแบบเป็นรายเที่ยวสำหรับคนที่ไม่ได้เดินทางบ่อยและไม่อยากจ่ายแพง 5. กรมธรรม์ ประกันเดินทาง เป็นเสมือนเพื่อนร่วมทาง ที่คอยดูแลคุณในทุก ๆ เส้นทาง จะเดินทางในไทยหรือไปต่างประเทศที่อยู่ไกลคนละทวีป กรมธรรม์ฉบับนี้ก็พร้อมจะไปกับคุณทุกที่ เมื่อคุณได้รับอันตราย หรือประสบปัญหาเจ็บป่วย อุบัติเหตุ สามารถติดต่อประกันได้ทุกสถานการณ์ และติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง ถึงแม้จะเดินทางคนเดียวก็ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีใครคอยช่วยเหลือ เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ต้องมีค่าใช้จ่าย ประกันเคลียร์ให้อย่างไรบ้างกรณีที่คุณได้ทำ ประกันเดินทางในประเทศ และต่างประเทศไว้แล้วนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ต้องเข้าโรงพยาบาลโดยไม่ทันตั้งตัว ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายใด ๆ เพียงแค่ติดต่อกับเจ้าหน้าที่บริษัทประกันเพื่อทำการเคลม โดยทั่วไปการเคลมทำได้สองแบบㆍผู้ทำประกันสำรองจ่ายไปก่อน เป็นวิธีที่แนะนำเพราะหน้างานคุณจะได้รับความสะดวกรวดเร็วกว่าแล้วเก็บเอกสารการรักษา เช่น ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล ใบรับรองแพทย์ พร้อมใบรับรองแพทย์ นำกลับมาเคลมค่าสินไหมกับบริษัทประกันที่ทำไว้ สามารถแจ้งเคลมทางอีเมลก็ได้ เคลมออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทประกัน เคลมด้วยการส่งเอกสารทางไปรษณีย์ไปที่บริษัท หรือช่องทางการเคลมตามที่บริษัทประกันได้ระบุไว้ แต่ถ้าหากไม่สะดวกสำรองจ่าย ก็สามารถเคลมได้โดยการให้ทางบริษัทประกันชำระโดยตรงㆍติดต่อให้ทางบริษัทประกันจ่ายค่ารักษาพยาบาล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละกรมธรรม์ บางครั้งอาจต้องใช้เวลารอเคลมนาน ขึ้นอยู่กับบริการของบริษัทแต่ละแห่งเมื่อกลับจากการเดินทางแล้วควรรีบติดต่อกับทางบริษัทประกันเพื่อเคลียร์ค่าใช้จ่าย และอย่าลืมเตรียมเอกสารที่ใช้ในการเคลม สำหรับกรณีที่จะเบิกค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล สิ่งที่ต้องเตรียมคือ ใบเสร็จค่ารักษา ใบรับรองแพทย์ กรมธรรม์ประกันเดินทาง พร้อมสำเนาหน้าสมุดบัญชี หรือเช็กกับทางบริษัทก่อนว่ามีเอกสารอื่นใดต้องเตรียมบ้างส่วนอีกเหตุการณ์หนึ่งที่มักเกิดบ่อยคือ ถูกยกเลิกเที่ยวบิน สามารถเคลม ประกันเดินทาง ตามเงื่อนไขความคุ้มครองที่กำหนดในกรมธรรม์ได้เลย แต่ละกรมธรรม์จะมีเงื่อนไขไม่เหมือนกัน หากไม่แน่ใจก็ให้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่บริษัทประกันเพื่อความแน่ใจ ส่วนใหญ่แล้วกรณีที่เคลมได้มักจะเป็นการยกเลิกเที่ยวบินด้วยสาเหตุของสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินทาง ความขัดข้องของอุปกรณ์การบิน หรือเหตุการณ์ฉุกเฉินของสายการบินที่ทำให้ไม่สามารถเดินทางได้ ไม่ว่าเงื่อนไขของกรมธรรม์จะเป็นอย่างไร อย่างน้อยที่สุดผู้ที่มีประกันการเดินทางก็ยังอุ่นใจและไม่ต้องเดือดร้อนกับเหตุการณ์ฉุกเฉินเหล่านี้ เพราะมีบริษัทประกันคอยดูแลเป็นธุระจัดการให้แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับสยามรัฐออนไลน์https://siamrath.co.th/n/489771

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

หุ้น

ดร.นิเวศน์ เปิด 5 กลุ่มหุ้นที่เกลียด ไม่คิดลงทุน

30/04/2024

ดร.นิเวศน์ กูรูนักลงทุนวีไอ เปิดประสบการณ์ 5 กลุ่มหุ้นที่เกลียด ไม่คิดลงทุน ทั้ง “หุ้นโฮลดิ้งกงสี-สินค้าโภคภัณฑ์-ถูกดิสรัปจากเทคโนโลยี-หุ้นไม่มีเจ้าของ-มีเจ้ามือ”วันที่ 12 พฤศจิกายน 2566 ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนรายใหญ่สายเน้นคุณค่า (Value Investor) สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า คนที่ลงทุนหรือเล่นหุ้นมานานมากนั้น ส่วนใหญ่ผมเชื่อว่ามักจะมีความคิดที่ “ฝังใจ” กับหุ้นบางประเภทที่ตนเองเคยประสบ และมีประสบการณ์ที่ “ไม่ดี” ซ้ำอยู่หลายหนจนทำให้ “เข็ด” และหลังจากนั้นก็จะไม่อยากเข้าไปยุ่งด้วย แม้ว่าหุ้น “ตัวใหม่” อาจจะกำลัง “ดูดี” น่าลงทุนเหตุผลรวบยอดที่ใช้ก็คือ เขา “เกลียด” หุ้นที่มีลักษณะแบบนั้น เพราะลงทุนหรือเล่นแล้วก็มักจะขาดทุนหรือหุ้นไม่ไปไหน ตัวอย่างที่เห็นบ่อย ๆ ในเว็บบอร์ดสาธารณะเกี่ยวกับหุ้น เช่น “กลุ่มหุ้นปันผล” ที่จ่ายหรือกำลังจะจ่ายปันผลงดงามที่มักจะพบคอมเม้นท์ที่ว่า “อยากเอาปันผลไปคืน” หลังจากวัน X-Dividend หรือวันที่ได้รับสิทธิในปันผลไปแล้ว และราคาหุ้นตกลงมามากกว่าเงินปันผลที่ได้พอสมควร ซึ่งทำให้ซื้อแล้ว “ขาดทุน”หุ้นที่ซื้อแล้ว “ขาดทุน” หรือ “ไม่ได้อะไรเลย” แม้ว่าจะวิเคราะห์ดีแล้ว และผลประกอบการก็ออกมา “ดีตามคาด” เป็นหุ้นที่มักทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะ VI รู้สึกผิดหวังมากกว่าปกติและนั่นก็อาจจะไม่ใช่ครั้งเดียว แต่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ จนถึงจุดหนึ่งเราก็จะ “เกลียด” และจะหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับหุ้นแบบนั้น ซึ่งก็มีหลายแบบมากดังตัวอย่างต่อไปนี้หุ้นโฮลดิ้ง-กงสีกลุ่มแรกก็คือ หุ้นที่ผู้ถือหุ้นใหญ่หรือเจ้าของเป็นกลุ่มที่ไม่ใคร่จะสนใจนักลงทุนที่เข้ามาซื้อขายหุ้น อาจจะเพราะพวกเขาไม่เห็นประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยเลยเพราะเขาไม่สนใจหรือไม่มีความจำเป็นที่จะต้องระดมเงินอีกต่อไปแล้ว เช่นเดียวกับการที่ไม่คิดจะขายหุ้น ซึ่งอาจจะอยู่ในบริษัทโฮลดิ้งหรือกงสีที่เป็นแหล่งของความมั่งคั่งของคนในกลุ่มของตนเองที่เป็นเจ้าของร่วมกันดังนั้นพวกเขาก็อาจจะไม่สนใจที่จะทำให้ราคาหรือมูลค่าของบริษัทเพิ่มขึ้น หรือถ้ากิจการของบริษัทมีกำไรดี เขาก็จะจ่ายปันผลน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะเงินอยู่กับบริษัทที่เขาควบคุมนั้น ดีกว่าต้องจ่ายออกไปให้กับนักลงทุนที่เป็น “คนนอก” หุ้นจึงมักจะไม่ค่อยไปไหนคนที่เป็น VI รวมถึงผมก็เลยเกลียดหรือไม่ชอบหุ้นที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่สนใจผู้ถือหุ้นรายย่อย และผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มาจากต่างชาติบางประเทศที่มักจะมีประวัติดังกล่าวอย่างไรก็ตาม นาน ๆ เราก็อาจจะ “เผลอ” เหมือนกันเวลาเจอหุ้นหรือบริษัทที่ “ดี” และน่าสนใจมาก เราก็อาจจะเข้าไปซื้อหรือเก็งกำไร และก็อาจจะพบว่า “ผิดหวังอีกแล้ว ไม่รู้จักจำ” ว่าเจ้าของบริษัทหรือผู้บริหารเป็นใครหุ้นสินค้าโภคภัณฑ์หุ้นที่ผม “เกลียด” กลุ่มที่สองก็คือ หุ้นที่มีความเป็นสินค้าโภคภัณฑ์สูงมาก ราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงได้มากเวลาที่อุปสงค์และอุปทานไม่สอดคล้องกันรุนแรง ตัวอย่างเช่น เหล็ก น้ำมัน ยาง ปิโตรเคมี หรือสินค้าบริการอย่างค่าระวางเรือเป็นต้นอย่างไรก็ตาม ระดับของการไม่ชอบและการหลีกเลี่ยงที่จะไม่เข้าไปลงทุนซื้อขายก็แตกต่างกันบ้างตามความผันผวนของราคาสินค้าและระดับของมาร์จินหรือส่วนต่างราคาซื้อและขายของบริษัทในอุตสาหกรรมแต่ละอย่างธุรกิจที่เกี่ยวกับเหล็กนั้น ผมคิดว่าลำบากมากที่จะทำผลตอบแทนระยะยาวไม่ว่าบริษัทจะดีแค่ไหน ดังนั้น หุ้นเหล็กตัวหนึ่ง ที่แม้ว่าจะ “ยิ่งใหญ่” มากในตลาดหุ้นเวียตนามและทำกำไรได้ดีมากในปัจจุบันผมเองก็จะหลีกเลี่ยง ผมคิดว่า ในระยะยาวแล้ว การถือหุ้นเหล็กคงทำกำไรได้ยาก และถ้าระยะยาว 4-5 ปี ถือไม่ได้ ระยะสั้นแค่ 4-5 นาทีผมก็ไม่ถืออย่างไรก็ตาม หุ้นโภคภัณฑ์นั้น บ่อยครั้งก็ให้ผลตอบแทนแบบ “ทะลุฟ้า 4-5 เด้ง” ได้ง่าย ๆ และนี่ก็ทำให้เรา “เผลอ” เข้าไปเล่นได้ ผมเองเคยคิดอยู่บ้างเหมือนกันในหุ้นบางตัว แต่ก็ไม่ได้ทำและก็พลาดโอกาสทำเงินไป อย่างไรก็ตาม ผมก็พยายาม “ไม่เสียดาย” เพราะเราไม่อยากรับความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูงและประเมินไม่ได้ผมจะเล่นต่อเมื่อบริษัทหรือหุ้นที่ทำกิจการโภคภัณฑ์นั้น มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไม่ได้มีความสัมพันธ์ของราคาสินค้าในทางเดียวกันหมด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงรวมของบริษัทได้มากและที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ หุ้นมีราคาที่ “ถูกมาก ๆ” และต่อให้ปีนั้นจะเป็นปีที่เลวร้ายที่สุด มันก็ยังถูกอยู่ดี เพราะมันจะ “ไม่เจ๊ง” และในไม่ช้ากำไรก็จะกลับมาตามราคาโภคภัณฑ์ที่จะต้องดีขึ้น ตัวอย่างก็เช่น ราคาน้ำมัน เป็นต้นหุ้นถูกดิสรัปจากเทคโนโลยีหุ้นกลุ่มที่ 3 ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานก็คือ กิจการที่อาจจะถูก Disrupt หรือทำลายล้างโดยเทคโนโลยีโดยเฉพาะดิจิทัล ตัวอย่างอาจจะรวมถึงธุรกิจหนังสือ สิ่งพิมพ์ ทีวี และโรงภาพยนตร์ ที่ผมพยายามหลีกเลี่ยง นอกจากนั้นธุรกิจอย่างเช่นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ก็อาจจะกำลังโดนรถไฟฟ้าที่กำลังเข้ามาตีตลาดอย่างรุนแรงทั้งหมดนั้น จริง ๆ ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะถูกทำลายอย่างสิ้นเชิงหรือแค่บางส่วน นอกจากนั้น บริษัทก็อาจจะสามารถปรับตัวและหาตลาดใหม่โดยใช้เทคโนโลยีเองก็ได้ ดังนั้น ถึงผมจะยังไม่ลงทุน ก็จะคอยติดตามว่าพัฒนาการของธุรกิจเป็นอย่างไร ผลประกอบการแย่ลงเรื่อย ๆ หรือเริ่มดีขึ้น ที่สำคัญ ราคาหุ้นตกลงมาถึงจุดไหนแล้ว ทั้งหมดนั้นก็อาจจะเป็นโอกาสที่จะลงทุนและทำกำไรได้หุ้นไม่มีเจ้าของหุ้นหรือบริษัทกลุ่มที่ 4 ที่ผมคิดว่านักเล่นหุ้นจำนวนมากอาจจะ “เกลียด” แต่ผมเองคิดว่าน่าสนใจก็คือ หุ้นที่ “ไม่มีเจ้าของ” ซึ่งก็มักจะเป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่มีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนมาก และผู้ถือหุ้นที่ถือจำนวนมากก็จะเป็นสถาบันที่ลงทุนโดยมืออาชีพ เช่นเดียวกับผู้บริหารบริษัทก็จะเป็นมืออาชีพที่จะต้องถูกประเมินโดยผู้ถือหุ้นสำหรับผลงานของตนเองประเด็นที่นักเล่นหุ้นเกลียดหุ้นกลุ่มนี้ก็คือ การที่หุ้นเหล่านี้มีขนาดใหญ่และมีคนที่พร้อมซื้อขายหุ้นมากเกินไป นอกจากนั้น จำนวนมากก็เป็นนักลงทุนจากต่างประเทศที่มักตัดสินใจซื้อขายหุ้นโดยอิงกับภาวะการเงินและเศรษฐกิจทั่วโลกนั่นทำให้หุ้นใหญ่ ๆ ของไทยปรับตัวขึ้นลงน้อยในแต่ละวันหรือแม้แต่สัปดาห์ เหตุผลก็เพราะว่าคนที่ซื้อขายก็ตัดสินใจโดยอาศัยพื้นฐานกิจการของบริษัทที่มักจะมีการเปลี่ยนแปลงช้า ข่าวดีหรือข่าวร้ายของบริษัทที่เข้ามากระทบนั้น ก็มักจะมีผลไม่มากต่อผลประกอบการโดยรวมดังนั้นราคาหุ้นจึงไม่ใคร่หวือหวา นักเล่นหุ้นที่เน้นการเก็งกำไรเร็ว ๆ จึงมักจะผิดหวังและ “ไม่อยากรอ” พวกเขาจึงมักจะหลีกเลี่ยงหุ้นเหล่านั้นแต่ผมเองกลับชอบ เพราะราคาของหุ้นจะ “ไม่แพง” โดยเฉพาะในยามที่ภาวะเศรษฐกิจไทยไม่ได้เติบโตเร็ว ซึ่งทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่สนใจลงทุนมากนัก และก็อาจจะไม่อยากที่จะถือหุ้นยาวด้วย เพราะมองว่ามีตลาดอื่นที่โตเร็วและเหมาะกับการลงทุนระยะยาวมากกว่าแต่สำหรับผมแล้ว นี่คือกลุ่มที่มีความมั่นคงของผลประกอบการ มีความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ กิจการยังสามารถเติบโตได้บ้าง มีค่า PE ปกติไม่เกิน 10 เท่า และสามารถจ่ายปันผลในอัตราที่สูงมากเช่น 4-5% ต่อปีขึ้นไปได้ต่อเนื่องยาวนาน ผมก็คิดว่าน่าลงทุนและหวังผลตอบแทนได้อย่างน้อย 6-7% ต่อปีขึ้นไป ซึ่งน่าจะดีกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดในอนาคตหุ้นที่มีเจ้ามือหุ้นกลุ่มสุดท้ายที่ผมเกลียดก็คือ “หุ้นที่มีเจ้ามือ” หรือคนที่คอยดูแลทำราคาหรือเรียกว่าเป็น “Market Maker” หรือในกรณีที่รุนแรงก็คือปั่นหุ้นหรือ “คอร์เนอร์หุ้น” ที่ทำให้ราคาหุ้นผิดธรรมชาติมาก อาจจะสูงกว่าพื้นฐานเป็นเท่าตัวหรือหลายเท่าตัวได้ในระยะเวลาสั้น ๆสิ่งที่จะต้องระวังมากสำหรับหุ้นกลุ่มนี้ก็คือ หลาย ๆ ตัวเป็นหุ้นที่อาจจะมีพื้นฐานที่ดี มีสตอรี่หรือเรื่องราวของหุ้นที่น่าสนใจมาก นอกจากนั้นก็อาจจะมีผลประกอบการที่ดูเหมือนจะมีการเติบโตสูงมากและบริษัทเป็น “ผู้ชนะ” คล้าย ๆ กับ “ซุปเปอร์สต็อก”แต่ถ้าวิเคราะห์ดูอย่างรอบคอบและไม่ถูกอิทธิพลของการ “เล่าเรื่อง” ประกอบกับผลประกอบการที่กำลังดีขึ้นมาก และราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นราวกับติดจรวด ก็อาจจะพบว่าบริษัทอาจจะไม่ได้ดีขนาดนั้นในระยะยาว ซึ่งก็จะทำให้ในที่สุด ราคาหุ้นที่ขึ้นไปก็จะตกลงมาอย่างแรงจนทำให้คนที่เข้าไปเล่นขาดทุนได้ทั้ง ๆ ที่เคยได้กำไรมโหฬารแต่ไม่ยอมขายเพราะยังเชื่อในตัวหุ้นอยู่ผมเองพยายามและก็มักจะหลีกเลี่ยงหุ้นเหล่านั้นได้สำเร็จ เพราะเป็นคนที่ยึดมั่นในหลักการสำคัญที่สุดของการลงทุนนั่นก็คือ ถ้าหุ้นมีราคาแพงมากเกินไปมาก ผมไม่ซื้อ อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ผมไม่เชื่อสตอรี่ที่ดีเกินไป และก็ไม่ชอบผู้บริหารที่ “โม้” มากเกินไปดังนั้น เมื่อพบว่าบริษัทมีอาการแบบนั้น ผมก็มักจะหลีกเลี่ยงหุ้น ผมพลาดหุ้นแนวนี้เยอะมากในช่วงอย่างน้อย 6-7 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้ก็เห็นแล้วว่า คนที่เข้าไปเล่นหุ้นเหล่านั้นเจ็บตัวกันหนัก หลายคน “คืนเงินกลับไปหมดแล้ว” หลังจากคอร์เนอร์ “แตก” กันเป็นระลอกกล่าวโดยสรุปทั้งหมดก็คือ โดยปกติแล้ว ผมจะหลีกเลี่ยงหุ้นที่เกลียด และจะซื้อก็ต่อเมื่อหุ้นมีราคาถูกถึงถูกมาก และต้องดูแล้วว่ามันก็ไม่ถึงกับเกลียดมากจนซื้อไม่ได้เลยแหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์https://www.prachachat.net/finance/news-1435260

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ประกันชีวิต

ประกันชีวิตสะสมทรัพย์ : ออมเงินพร้อมประหยัดภาษี ยุคตลาดทุนผันผวน

30/04/2024

เข้าสู่ช่วงโค้งของปีกันแล้ว และหลายคนอาจกำลังมองหาเครื่องมือทางการเงินที่จะมาช่วยลดหย่อนภาษี ซึ่ง 2 คู่หูกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ยังคงเป็นทางเลือกในอันดับต้น ๆ ในใจของหลายคน แต่ในช่วงที่ตลาดทุนผันผวนแบบนี้ และพอร์ตลงทุนของหลายคนแดงฉ่ำ ก็ทำเอาแทบไม่มีแรงเดินกันเลยทีเดียวใครที่รู้ตัวว่า ‘ใจบาง’ รับความเสี่ยงได้น้อย ก็คงต้องมองหาทางเลือกใหม่ ๆ ซึ่งบทความนี้ beartaiBRIEF ชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ ‘ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์’ ทางเลือกในการออมเพื่อประหยัดภาษีที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในหุ้นประกันชีวิตสะสมทรัพย์คืออะไร ?แม้ขึ้นชื่อว่า ‘ประกัน’ แต่ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์นั้นให้ความสำคัญกับการออมเป็นหลัก และได้สิทธิ์คุ้มครองชีวิตด้วย ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์จะมีระยะเวลาคุ้มครองตลอดชีพ หรือมากกว่า 10 ปีขึ้นไป โดยสามารถนำเบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนดซึ่งประกันตัวนี้นอกจากช่วยเราประหยัดภาษีแล้ว ก็ยังเป็นตัวสร้างวินัยการออมให้กับเราด้วยการกำหนดระยะเวลาชำระเบี้ยที่ชัดเจน เช่น 3 เดือน 6 เดือน หรือรายปี นอกจากนี้ ยังมีจุดเด่นอีกเรื่องคือ การได้รับเงินคืนระหว่างปี ที่เราจะได้เป็นรายปีไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งครบกำหนดสัญญา ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นผู้เอาประกันก็จะได้รับเงินก้อนอีกจำนวนหนึ่งแต่!! ไม่ใช่ว่าประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์จะมีเงินคืนระหว่างปีทั้งหมด เพราะมีแบบที่ไม่มีเงินคืนระหว่างสัญญาด้วย ดังนั้น เราจึงต้องทำความเข้าใจเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์ให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจซื้อ ว่าผลิตภัณฑ์ประกันตัวนี้ตรงกับความต้องการของเราหรือไม่ต้องพิจารณาเรื่องอะไรบ้าง ?1. วงเงินคุ้มครอง : ส่วนใหญ่ประกันชีวิตที่มีวงเงินคุ้มครองสูง ผลตอบแทนที่ได้รับจะค่อนข้างน้อย เพราะค่าเบี้ยประกันบางส่วนจะถูกนำไปหักจ่ายเป็นค่าความคุ้มครอง เราจึงควรเลือกความคุ้มครองแบบประกันที่ต้องการ2. ระยะเวลาชำระเบี้ย : ควรเลือกให้เหมาะกับอายุและความสามารถในการหารายได้ เช่น ถ้าเป็นแบบประกันระยะยาว 10 – 20 ปี เหมาะกับวัยเริ่มต้นทำงานหรือวัยทำงานมากกว่าวัยใกล้เกษียณ3. งวดการชำระเบี้ย : ส่วนใหญ่จะกำหนดชำระเบี้ยรายปี หากต้องการชำระเป็นรายเดือน ราย 3 เดือน หรือราย 6 เดือน ก็สามารถทำได้ แต่ค่าเบี้ยรวมต่อปีจะสูงขึ้นราว 2 – 9% ซึ่งอาจทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับจากการออมเงินในประกันชีวิตลดลง4. การจ่ายเงินคืน : บริษัทประกันแต่ละแห่งมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ดังนั้น หากผู้เอาประกันยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน ก็ควรฝากไว้ในกรมธรรม์ เพราะจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าเงินฝากทั่วไป และที่สำคัญคือไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย5. สภาพคล่อง : ตามปกติแล้ว บริษัทประกันจะนำเบี้ยประกันที่ได้รับจากลูกค้าไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน หากผู้เอาประกันต้องการยกเลิกสัญญาก่อนกำหนดก็อาจได้รับเงินคืนสูงหรือต่ำกว่าที่ชำระเบี้ยไว้ก็ได้ เราจึงควรศึกษารายละเอียดกรมธรรม์อย่างรอบคอบแบบไหนถึงใช่ ?ประกันชีวิตสะสมทรัพย์จะมีตัวเลขสองตัว XX/X เป็นสัญลักษณ์ เช่น 10/5, 20/5 ซึ่งเลขตัวหน้า หมายถึง ระยะเวลาความคุ้มครอง และตัวหลัง หมายถึง ระยะเวลาการชำระเบี้ย เราจึงสามารถแบ่งประกันชีวิตสะสมทรัพย์ได้ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้1. ชอบจ่ายสั้น แต่คุ้มครองได้ยาว ๆ : ควรเลือกระยะเวลาความคุ้มครองเป็นหลัก เช่น ผลิตภัณฑ์แบบ 20/5 หมายถึง ชำระเบี้ย 5 ปี คุ้มครอง 20 ปี โดยจะมีเงินคืนตามเงื่อนไขของแผนความคุ้มครอง2. ได้เงินก้อนเร็ว : ควรเลือกแบบระยะสั้น เช่น 10/5 หมายถึง จ่ายเบี้ย 5 ปี คุ้มครอง 10 ปี หรือ 14/5 จ่ายเบี้ย 5 ปี คุ้มครอง 14 ปี และมีเงินคืนตามเงื่อนไขของแต่ละแผนที่แตกต่างกันออกไปประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการออมและบริหารภาษีเป็นหลัก ดังนั้น ผลตอบแทนอาจไม่มากเท่าการลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ นอกจากนี้ การออมเงินผ่านผลิตภัณฑ์ประกันดังกล่าว ก็มีสภาพคล่องค่อนข้างต่ำ ไม่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ทันที จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการออมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, Krungsri The COACHพิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัสแหล่งที่มาข่าวต้นฉบับbeartaihttps://www.beartai.com/brief/1327436

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

พึงระวัง “ทุกขลาภ” มรดก รู้จักวางแผนภาษีส่งต่อทรัพย์สินให้กับทายาท

30/04/2024

บทความโดย "ปีย์วรงค์ เชี่ยววณิชชา"  นักวางแผนการเงิน CFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทย วันที่ 24 ตุลาคม 2566 แม้ว่าการพรากจากบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัว จะนำมาซึ่งความเศร้าโศก แต่บางครั้งการได้รับมรดกจากผู้ล่วงลับ อาจสร้างความทุกข์ใจได้ จึงควรศึกษาข้อกฎหมาย เพื่อเตรียมส่งต่อทรัพย์สินให้กับทายาทหรือผู้สืบสันดานไปพร้อมกับความสุขและความสบายใจ มรดก อ้างอิงความหมายตามมาตรา 1599-1600 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมายถึง “ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ด้วย ซึ่งทายาทของผู้ตายต้องรับสืบทอดหนี้สินของผู้ตายไปพร้อมกับทรัพย์สิน เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้” ซึ่งสามารถเป็นทรัพย์สินในรูปแบบใดก็ได้ เช่น เงินฝาก หลักทรัพย์ ยานพาหนะ อสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา ในพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558 กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า “ผู้รับมรดกมีหน้าที่เสียภาษีหากได้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละรายหักด้วยภาระหนี้สินอันตกทอดมาจากการรับมรดกนั้น ในส่วนที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ในอัตราสูงสุดร้อยละ 10 ของมูลค่ามรดกในส่วนที่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าผู้รับมรดกเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดาน ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 และได้รับยกเว้นภาษีมรดกสำหรับคู่สมรสจดทะเบียนตามกฎหมาย โดยผู้รับมรดกจะต้องชำระภาษีภายใน 150 วันนับจากวันที่ได้รับมรดก และสามารถเลือกผ่อนจ่ายได้สูงสุด 5 ปี โดยมีภาระเงินเพิ่มร้อยละ 0.5 ต่อเดือน สำหรับการผ่อนตั้งแต่ปีที่ 3 ขึ้นไป หากไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภายในเวลาที่กำหนด ให้เสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระ หรือหากยื่นแบบแสดงรายการไม่ครบถ้วน ให้เสียเบี้ยปรับอีก 0.5 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระ” ตัวอย่าง ทายาทได้รับมรดกเป็นเงินสดมูลค่า 200 ล้านบาท จะคิดเป็นภาษีที่ต้องชำระในอัตราสูงสุด 5 ล้านบาท ภายใน 150 วัน หรือผ่อนจ่ายได้สูงสุด 5 ปี พร้อมเงินเพิ่มประมาณ 1.5 ล้านบาท หากไม่สามารถชำระภาษีทั้งหมดได้ใน 2 ปีแรก และหากไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภายในเวลาที่กำหนด จะเสียเบี้ยปรับ 5 ล้านบาท หรือหากยื่นแบบแสดงรายการไม่ครบถ้วน จะเสียเบี้ยปรับอีก 2.5 ล้านบาท ซึ่งกรณีนี้นับว่าโชคดีที่ได้รับมาเป็นเงินสด สามารถนำเงินสดที่เป็นมรดกนั้นไปชำระภาษีได้ทันที แต่ทายาทก็จะไม่ได้รับมรดกเท่ากับที่เจ้ามรดกได้ตั้งใจส่งต่อไว้ให้แต่แรก หากผู้รับมรดกไม่ได้เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดาน แต่เป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรม ได้รับเป็นบ้านและที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงแต่แปลงเป็นเงินสดได้ยาก เช่น ที่ดินราคาประเมิน 200 ล้านบาท เพียงอย่างเดียว ผู้รับมรดกจะต้องมีภาระนำเงินสดจำนวน 10 ล้านบาท มาชำระภาษีภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ได้รับมรดก ไม่รวมถึงค่าธรรมเนียมการโอนร้อยละ 2 ของราคาประเมิน หรือ 4 ล้านบาท ซึ่งผู้รับมรดกอาจจะไม่ได้มีเงินสดมากพอ หรือเป็นไปได้ยากที่จะสามารถขายที่ดินดังกล่าว เพื่อแปลงเป็นเงินสดมาชำระภาษีได้ทันก่อนมีเบี้ยปรับตามเวลาที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น หากเจ้ามรดกไม่อยากให้ทรัพย์มรดกของตนเป็นทุกขลาภแก่บุพการี ทายาทผู้สืบสันดาน หรือผู้รับพินัยกรรม ควรวางแผนการจัดการทรัพย์สิน ดังนี้ ผ่องถ่ายทรัพย์สินบางอย่างให้ทายาท 1. เจ้ามรดกควรพิจารณาผ่องถ่ายทรัพย์สินบางอย่างให้กับทายาท โดยอาศัยข้อกำหนดในมาตรา 48 เรื่องภาษีการรับให้ว่า “บุพการีสามารถยกหรือโอนทรัพย์สินของตนให้กับผู้สืบสันดานได้ โดยผู้สืบสันดานนั้นจะได้รับการยกเว้นภาษีการรับให้ในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี หากมีมูลค่าเกินกว่านั้น ผู้สืบสันดานต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5” เพราะฉะนั้นก่อนเสียชีวิต บุพการีที่ตั้งใจจะยกที่ดินราคาประเมิน 200 ล้านบาท ให้กับทายาทคนหนึ่ง สามารถจัดสรรที่ดินออกเป็นแปลงย่อย แล้วทยอยโอนให้กับทายาทที่ตั้งใจไว้ โดยมีมูลค่ารวมไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปี จนกว่าที่ดินผืนดังกล่าวจะเหลือมูลค่าไม่เกิน 100 ล้านบาท จึงทิ้งไว้เป็นมรดกได้ พร้อมดูแลค่าธรรมเนียมการโอนในอัตราร้อยละ 0.5 ในแต่ละครั้งให้กับทายาทด้วย สำหรับเจ้ามรดกที่มีทรัพย์สินมากกว่า 100 ล้านบาท และต้องการมอบให้กับผู้รับมรดกตามพินัยกรรม สมควรอย่างยิ่งที่จะวางแผนผ่องถ่ายทรัพย์สินต่าง ๆ ให้เหลือมูลค่าเป็นมรดกน้อยกว่า 100 ล้านบาท เพื่อไม่ให้เสียภาษีมรดกร้อยละ 10 ในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทนั้น โดยในการโอนทรัพย์สิน เจ้ามรดกต้องพึงระวังว่า การให้โดยเสน่หากับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่บุพการี ทายาทหรือผู้สืบสันดาน จะได้รับยกเว้นภาษีการรับให้ในส่วนที่ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี ถ้าเกินกว่านั้นจะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5  ซึ่งก็ยังน้อยกว่าอัตราภาษีมรดกในกรณีนี้อยู่ดี ทำพินัยกรรมโดยละเอียดถี่ถ้วน 2. เจ้ามรดก ควรพิจารณาทำพินัยกรรมโดยละเอียดถี่ถ้วน หากตั้งใจมอบทรัพย์สินมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท ให้กับผู้รับมรดกรายใดรายหนึ่ง ควรเพิ่มมรดกในส่วนที่เป็นเงินสดอีกร้อยละ 5-10 ของมูลค่าทรัพย์สินดังกล่าว เพื่อเพิ่มเงินสดสภาพคล่องให้ผู้รับมรดกใช้เสียภาษีและเสียค่าธรรมเนียมดำเนินการต่าง ๆ เป็นการลดภาระของผู้รับมรดกในอนาคตได้ หรือหากเจ้ามรดกไม่ได้เตรียมเงินสดไว้ตั้งแต่แรก การทำประกันชีวิต แล้วกำหนดทุนชีวิตให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ผู้รับมรดกที่ได้ถูกระบุชื่อเป็นผู้รับผลประโยชน์ในกรมธรรม์ จะได้รับเงินค่าสินไหมมรณกรรมโดยตรงทันทีที่เจ้ามรดกผู้เอาประกันเสียชีวิต ก็จะสามารถประหยัดเงินมรดกที่ต้องเตรียมล่วงหน้าไว้ได้ ดังจะเห็นได้ว่า เจ้ามรดกที่มีทรัพย์สินมาก อาจสร้างปัญหาให้กับผู้รับมรดกในอนาคตได้ หากไม่มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายภาษีมรดกและการรับให้ รวมถึงหากไม่มีการทำพินัยกรรมที่ละเอียดถี่ถ้วนรองรับไว้ด้วย ดังนั้น เพื่อให้ผู้เป็นที่รักได้ส่งต่อทรัพย์สินตามที่ตั้งใจและมีความสงบสุขในสัมปรายภพ การวางแผนภาษีและมรดก เป็นเรื่องที่ควรพิจารณาจัดทำขึ้นร่วมกับทนายวิชาชีพ หรือที่ปรึกษาการเงินที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิจากสมาคมนักวางแผนการเงินก่อนที่จะสายเกินไป แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์https://www.prachachat.net/finance/news-1417306

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ประกันภัย

คปภ. เพิกถอนไลเซนส์ตัวแทนขายข้อมูลลูกค้า นาน 5 ปี ฝ่าฝืนโทษติดคุก

30/04/2024

คปภ. ลงดาบเพิกถอนใบอนุญาต “ตัวแทนประกันชีวิต” ถูกตำรวจไซเบอร์จับกุม กรณีลักลอบนำข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าไปขายให้กับกลุ่มมิจฉาชีพ เป็นเวลา 5 ปี ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) รายงานว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้แถลงผลการจับกุมนายพศิน (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 41 ปี มีอาชีพเป็นนายหน้าประกันภัยโดยมีพฤติกรรมลักลอบนำข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าไปขายให้กับกลุ่มมิจฉาชีพ ส่งผลทำให้ลูกค้าอาจได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าวนั้นสำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานของรัฐมีบทบาทหน้าที่ในการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย รวมถึงการให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยกับประชาชน เห็นว่ากระทำของบุคคลดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการนำระบบประกันภัยเข้าไปบริหารความเสี่ยงภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมากดังนั้น จึงได้สั่งการให้สายตรวจสอบคนกลางประกันภัย ร่วมกับสายกฎหมายและคดี สำนักงาน คปภ. บูรณาการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับใบอนุญาตของผู้ถูกจับกุมรายนี้ทันทีทั้งนี้ จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏ พบว่านายพศิน (ขอสงวนนามสกุล) เป็นตัวแทนประกันชีวิตของบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง ซึ่งกระทำความผิดจริง โดยนายพศินได้รับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกการตรวจค้น/ตรวจยึด/จับกุม ฉบับลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566โดยอาศัยประโยชน์จากการที่ตนเองเป็นตัวแทนประกันชีวิตที่สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เอาประกันภัย และมีการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยกล่าวคือ การใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล อันประกอบด้วย ชื่อ-สกุล เลขประจำตัวประชาชน และเบอร์โทรศัพท์ของผู้เอาประกันภัย เพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกจากวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งไว้กับบริษัทประกันชีวิตที่เป็นต้นสังกัด ด้วยการลักลอบนำข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวไปแลกเปลี่ยนกับบุคคลภายนอกเพื่อประโยชน์ส่วนตนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยแต่อย่างใด และจากการตรวจสอบข้อเท็จเพิ่มเติมพบว่าข้อมูลดังกล่าวได้มาจากการเสนอขายประกันภัยเพียงบางส่วนและบางส่วนนายพศินได้หามาจากตลาดมืด เพื่อประสงค์เอามาใช้ในการเสนอขายประกันภัย เพื่อประโยชน์ของตนเอง และได้นำข้อมูลมาขายให้แก่กลุ่มมิจฉาชีพ และจากการสอบข้อเท็จจริงจากบริษัทประกันภัย พบว่าตั้งแต่นายพศินเป็นตัวแทนของบริษัทถึงปัจจุบันได้มีการเสนอขายประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยเพียง 11 รายเท่านั้นการกระทำดังกล่าวของนายพศินจึงเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามประกาศที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยกำหนด ตามมาตรา 79/1 ในประการที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือประชาชนและเป็นการดำเนินงานที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือประชาชน อันเป็นความผิดตามมาตรา 81/1 (2) และ (6) แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบข้อ 37 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการออก และเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิตและการดำเนินการของตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต และธนาคาร พ.ศ. 2563 และมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562ประกอบกับกรณีดังกล่าวเป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากหากปล่อยให้ล่าช้าออกไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะได้ ตามมาตรา 30 (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติมจึงเห็นสมควรเพิกถอนใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตของนายพศิน พร้อมลงประกาศหรือโฆษณาการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิตของตัวแทนประกันชีวิตรายนี้ ในเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยรายอื่น หรือประชาชนในวงกว้างต่อไปโดยผู้ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตรายดังกล่าวจะไม่สามารถกระทำการเป็นตัวแทน/นายหน้าประกันภัย หรือขอรับใบอนุญาตใหม่ได้ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับดังนั้น จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าสำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย รวมถึงการให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยกับประชาชน จะไม่นิ่งเฉยต่อบุคคลใด ๆ ที่สร้างความเสียหายและบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบบประกันภัยไทย โดยสำนักงาน คปภ.จะดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัดในทุกมิติทั้งนี้ หากพบเห็นพฤติกรรมการหลอกลวงด้านประกันภัยให้รีบแจ้งข้อมูลไปยังสำนักงาน คปภ. โดยตรง ผ่านสายด่วน คปภ. 1186แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์https://www.prachachat.net/finance/news-1432456

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวการเงิน

เริ่มเก็บวันนี้ ดีกว่ารอวันพรุ่งนี้ หากช้าจะหนักกับเงินที่ต้องแบ่งมาออม

30/04/2024

บทความโดย "วิชาญ จันทร์สอน"  ที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM สมาคมนักวางแผนการเงินไทย ข้อมูลจากเว็บไซต์มิเตอร์ประเทศไทย (11 มกราคม 2566) รายงานว่า ประชากรประเทศไทยมีจำนวน 66,214,465 คน ในจำนวนนี้ประชากรสูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปี จำนวน 13,316,212 คน คิดเป็น 20.11% และหากดูจำนวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มีจำนวน 8,890,840 คน คิดเป็น 13.42% หมายความว่า โครงสร้างประชากรไทยอยู่ในช่วง Aged Society ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ 1. Aging Society ระดับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 10% ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่า 7% ของประชากรทั้งประเทศ 2. Aged Society ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่า 14% ของประชากรทั้งประเทศ 3. Super–Aged Society ระดับสังคมผู้สุงอายุอย่างเต็มที่ หมายถึง ประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ รวยกระจุก จนกระจาย ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ณ เดือนตุลาคม 2565 พบว่ายอดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ 97,667,954 บัญชี มียอดเงินฝาก 386,686 ล้านบาท มียอดเฉลี่ยต่อบัญชี 3,959 บาท ซึ่งคิดเป็น 89.13% ของบัญชีออมทรัพย์ สำหรับบัญชีที่มียอดเงินฝากเกิน 50,000 บาท มีจำนวน 11,907,318 บัญชี มียอดเงินฝาก รวม 10,755,105 ล้านบาท เฉลี่ยยอดเงินฝากต่อบัญชีสูงถึง 903,189 บาท เรียกได้ว่ารวยกระจุก จนกระจาย สำหรับผู้ที่วางแผนการเงินอย่างมีขั้นตอนคงไม่มีปัญหา แต่สำหรับผู้ที่กังวลว่าตัวเองเริ่มเก็บออมช้าและอาจมีเงินไม่เพียงตอกับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ อย่าเพิ่งตกใจ เพราะทุกปัญหามีทางแก้ 1. สำรวจค่าใช้จ่าย จดบันทึกค่าใช้จ่ายในแต่ละวันที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะจ่ายด้วยเงินสด ชำระด้วยบัตรเครดิต แล้วมาดูว่ามีรายการใดเป็นรายจ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีพ ไม่จ่ายไม่ได้ รายการใดเป็นรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อให้ละเอียดยิ่งขึ้น ให้แบ่งระดับความไม่จำเป็น เป็น 2 ระดับคือ ความไม่จำเป็นระดับที่ 1 ไม่จำเป็นมากที่สุด ไม่มีผลกระทบอะไรในชีวิต เป็นการใช้จ่ายเพื่อตอบสนองความต้องการส่วนตัว ความไม่จำเป็นระดับที่ 2 ไม่จำเป็น ใช้จ่ายได้บ้าง แต่ลดความถี่ลง และเลิกไปในที่สุด ภายในไม่กี่เดือน จะเห็นแล้วว่าเมื่อตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป ก็จะมีเงินออมขึ้นมาทันที 2. สำรวจหนี้สิน หากปราศจากหนี้ ก็จะสามารถก้าวไปสู่ความร่ำรวยได้อย่างรวดเร็ว แต่หากยังมีหนี้สินอยู่ก็ให้จัดทำสรุปรายการหนี้สินสินทั้งหมดและวางแผนการปลดหนี้ให้หมดโดยเร็ว โดยเฉพาะหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง เช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล หากมีหนี้บ้านปกติชำระเดือนละครั้งก็เพิ่มการชำระงวดกลางเดือนเข้าไปอีก จะสามารถลดดอกเบี้ยโดยรวมได้และหมดหนี้เร็วยิ่งขึ้น 3. สร้างรายได้เพิ่ม เก็บออมให้มากขึ้น ปัจจัยในการสร้างผลตอบแทนให้สูงประกอบด้วย จำนวนเงินต้น x ระยะเวลา x อัตราผลตอบแทน ดังนั้น ในเมื่อเริ่มเก็บออมช้าจึงต้องเพิ่มจำนวนให้ต้นให้มากพอ เพื่อจะได้ไปสู่เป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น และนอกจากเก็บออมให้มากขึ้นแล้ว หากมีความสามารถพิเศษก็ควรใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วยการหารายได้เสริม 4. ต่อยอดเงิน บริหารการเงินการลงทุนลงทุนสู่เป้าหมาย เมื่อมีเงินเหลือจากการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หนี้สินลดลง (และปราศจากหนี้สินในที่สุด) มีรายได้เพิ่มและเก็บเงินได้เพิ่ม ก็สามารถนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ตามที่วางแผนเอาไว้เพื่อต่อยอดผลตอบแทน ถึงแม้จะไม่มีคำว่า “สาย” กับการวางแผนการเงิน แต่หากเริ่ม “ช้า” ก็จะหนักกับเงินที่ต้องแบ่งมาออมในแต่ละเดือน เพราะยิ่งอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าต้องการมีเงินเก็บไว้ใช้หลังวัยเกษียณให้เพียงพอไปจนถึงวันสิ้นลมหายใจก็ต้องลงทุนในแต่ละเดือนไม่ใช่หลักร้อยหลักพันบาท แต่อาจเป็นหมื่นบาท ดังนั้น ควรเริ่มต้นกันตั้งแต่เนิ่น ๆ และลงมือทำทันที แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์https://www.prachachat.net/finance/news-1411074

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

ประกันชีวิต

เอไอเอ เติบโตในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ด้วยมูลค่าธุรกิจใหม่ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 35

30/04/2024

ฮ่องกง, 3 พฤศจิกายน 2566 - กลุ่มบริษัทเอไอเอ (“บริษัท”) ยินดีที่จะประกาศดัชนีชี้วัดความสำเร็จของธุรกิจใหม่ในช่วงไตรมาสที่ 3 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 สรุปมาตรวัดทางการเงินที่สำคัญ อัตราการเติบโตจัดทำโดยอัตราแลกเปลี่ยนคงที่   •  มูลค่าธุรกิจใหม่ (VONB) เติบโตขึ้นร้อยละ 35 มีมูลค่าอยู่ที่ 994 ล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาสที่ 3   •  ในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง อาเซียน และอินเดีย มีการเติบโตของมูลค่าธุรกิจใหม่เป็นตัวเลขสองหลัก   •  เบี้ยประกันภัยรับปีแรก (ANP) เพิ่มขึ้นร้อยละ 54 มีมูลค่า 1,938 ล้านเหรียญสหรัฐ   •  อัตรากำไรของมูลค่าธุรกิจใหม่ แข็งแกร่งอยู่ที่ร้อยละ 51.2 เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกของปี 2566นายหลี่ หยวน ชยอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทเอไอเอ กล่าวว่า “ความแข็งแกร่งและการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจในกลุ่มเอไอเอ ส่งมอบผลการดำเนินงานที่ยอดเยี่ยมในส่วนของมูลค่าธุรกิจใหม่อีกครั้งในไตรมาสที่ 3 ซึ่งนับเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาสำหรับมูลค่าธุรกิจใหม่ในช่วงไตรมาสที่ 3ของกลุ่มบริษัท ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการในผลิตภัณฑ์และบริการของเราหลังจากผ่านช่วงวิกฤตโรคระบาด เราได้สร้างผลประกอบการที่แข็งแกร่งอย่างมากในครึ่งปีแรกด้วยการเติบโตที่เพิ่มขึ้นเป็นตัวเลขสองหลัก โดยส่วนธุรกิจหลักที่เติบโตมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง อาเซียน และอินเดีย ซึ่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้มูลค่าธุรกิจใหม่ของกลุ่มบริษัทเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 “เราได้ทำการมุ่งเน้นดำเนินงามตามลำดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของเราอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยยกระดับความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับเอไอเอ ซึ่งเป็นส่วนสนับสนุนให้มูลค่าธุรกิจใหม่เติบโตอย่างยอดเยี่ยมในไตรมาสที่ 3 โดยมาจากทั้งช่องทางตัวแทนและช่องทางพันธมิตรธุรกิจของเรา โปรแกรมสรรหาบุคลากรที่มีคุณภาพภายในกลุ่มบริษัท ได้สร้างความแตกต่างให้กับพรีเมียร์ เอเจนซี่ และได้ช่วยให้เกิดการเติบโตไตรมาสต่อไตรมาสสำหรับการสรรหาตัวแทนรายใหม่ ตลอดจนการเพิ่มขึ้นปีต่อปีของจำนวนตัวแทนที่สร้างผลงาน อีกทั้งช่องทางพันธมิตรธุรกิจของเรายังได้สร้างการเติบโตของมูลค่าธุรกิจใหม่จากแต่ละส่วนธุรกิจที่มีการรายงาน“ในจีนแผ่นดินใหญ่ ผมยินดีอย่างยิ่งที่เราได้รับการอนุมัติจากหน่วยการกำกับดูแลให้อัพเกรดใบอนุญาตฉือเจียจวงของเราให้ครอบคลุมทั่วทั้งมณฑลเหอเป่ย “เอไอเอ อยู่ในตำแหน่งที่โดดเด่นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นในด้านความคุ้มครองและโซลูชันด้านการออมระยะยาว ซึ่งเรายังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนผู้คนหลายล้านคนให้มีสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมกับส่งมอบคุณค่าที่ยั่งยืนในระยะยาวให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของเราทุกฝ่าย” บทสรุปไตรมาสที่ 3 เอไอเอมีมูลค่าธุรกิจใหม่ (VONB) เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 คิดเป็นมูลค่า 994 ล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 โดยมีผลมาจากการดำเนินงานที่ยอดเยี่ยมจากทุกช่องทางการขาย ช่องทางตัวแทนอันเป็นเอกสิทธ์ของเรามีมูลค่าธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 ในขณะที่ช่องทางพันธมิตรธุรกิจเติบโตขึ้นร้อยละ 62 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 การเติบโตของมูลค่าธุรกิจใหม่ขยายเป็นวงกว้างโดยเพิ่มขึ้นในอัตราเลขสองหลักจากการดำเนินงานในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง อาเซียน และอินเดีย ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 มูลค่าธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 เมื่อเทียบแบบปีต่อปี คิดเป็นมูลค่า 3,023 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงกว่าผลประกอบการรวมทั้งปี 2565 เมื่อพิจารณาจากอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ เอไอเอ ประเทศจีน สร้างมูลค่าธุรกิจใหม่เติบโตมากกว่าร้อยละ 20 ในไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากครึ่งปีแรก อันเป็นผลต่อเนื่องจากการกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งของจีนแผ่นดินใหญ่หลังสถานการณ์โรคระบาด ในขณะที่ความต้องการผลิตภัณฑ์เพื่อการออมทรัพย์ระยะยาวยังคงมีมากอย่างต่อเนื่อง เรายังได้สร้างการเติบโตของมูลค่าธุรกิจใหม่จากผลิตภัณฑ์ประกันโรคร้ายแรงในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 อย่างดีเยี่ยมในอัตราเลขสองหลัก ตัวแทนคุณภาพสูงที่ได้สร้างความแตกต่างให้กับพรีเมียร์ เอเจนซี่ของเรานั้น ยังคงเป็นความมุ่งเน้นหลักและเป็นส่วนสำคัญของการเติบโตของมูลค่าธุรกิจใหม่ ส่วนในช่องทางพันธมิตรด้านประกันผ่านธนาคารนั้น มีการผสมผสานระหว่างการเติบโตที่แข็งแกร่งแบบไตรมาสต่อไตรมาสและอัตรากำไรของมูลค่าธุรกิจใหม่ที่ดีขึ้น ซึ่งส่งผลให้มูลค่าธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตรากำไรของมูลค่าธุรกิจใหม่จากช่องทางตัวแทนโดยรวมยังคงที่เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก และอัตรากำไรของมูลค่าธุรกิจใหม่โดยรวมดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3 โดยได้รับแรงหนุนจากแบบประกันการคุ้มครองแบบดั้งเดิม การปรับเปลี่ยนในทางที่ดีขึ้นของแบบประกันออมทรัพย์ระยะยาว และการปรับราคาผลิตภัณฑ์ ตัวแทนในพรีเมียร์ เอเจนซี่ของเอไอเอ ประเทศจีน ได้สร้างการเติบโตของมูลค่าธุรกิจใหม่ที่ยอดเยี่ยมทั้งในหน่วยงานที่มีอยู่ และในภูมิภาคใหม่ โดยมีผลมาจากจำนวนตัวแทนที่สร้างผลงานซึ่งมีเพิ่มขึ้นในอัตราเลขสองหลักเมื่อเทียบกับปีก่อน รวมถึงศักยภาพที่สูงขึ้นของตัวแทน โดยภูมิภาคใหม่ของจีนได้สร้างมูลค่าธุรกิจใหม่มากกว่าร้อยละ 5 ของมูลค่าธุรกิจใหม่จากตัวแทนในไตรมาสที่ 3 ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเปิดตัวสาขาใหม่ที่มณฑลเหอหนานในเดือนพฤษภาคมอย่างเป็นผลสำเร็จ การสรรหาบุคลากรตัวแทนยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องโดยการรับตัวแทนใหม่มีการเติบโตในอัตราเลขสองหลักเมื่อเทียบแบบปีต่อปี ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของจำนวนตัวแทนทั้งหมดในไตรมาสที่ 3 โปรแกรมพัฒนาศักยภาพตัวแทนฉบับปรับปรุงใหม่มีส่วนทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของตัวแทนสูงขึ้น ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยของตัวแทนใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เป็นระดับเดียวกับก่อนสถานการณ์โรคระบาด เรายังคงเดินหน้าด้วยดีกับการขยายพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของเอไอเอ ประเทศจีน อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้รับการอนุมัติให้อัพเกรดใบอนุญาตฉือเจียจวงให้ครอบคลุมมณฑลเหอเป่ยทั้งหมด เอไอเอ ฮ่องกง ประสบความสำเร็จในการเพิ่มมูลค่าธุรกิจใหม่อย่างยอดเยี่ยมเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 แม้ว่าธุรกิจในประเทศได้ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ยอดขายให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนแผ่นดินใหญ่ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าธุรกิจใหม่ของเอไอเอ ฮ่องกง ในไตรมาสนี้ ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับครึ่งแรกของปี 2566 แรงผลักดันในการสรรหาบุคลากรตัวแทนในพรีเมียร์ เอเจนซี่ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และประสิทธิภาพการทำงานของตัวแทนโดยรวมนั้นสูงกว่าในช่วงเวลาก่อนสถานการณ์โรคระบาด สำหรับช่องทางพันธมิตรธุรกิจนั้น มีการเติบโตอย่างดีเยี่ยมจากทั้งพันธมิตรธนาคารและช่องทางของที่ปรึกษาด้านประกันชีวิตและการเงิน (IFAs) เอไอเอ ประเทศไทย ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจในครึ่งปีแรกอย่างแข็งแกร่ง ด้วยการเติบโตของมูลค่าธุรกิจใหม่ที่โดดเด่นในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 มาจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นและส่วนผสมผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ตลอดจนจำนวนตัวแทนที่สร้างผลงานและผลผลิตของตัวแทนได้เพิ่มสูงขึ้นในอัตราเลขสองหลัก นอกจากนี้เรายังเห็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของจำนวนตัวแทนรายใหม่ ส่วนธุรกิจในสิงคโปร์และมาเลเซียนั้น มีรายงานว่ามูลค่าธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากช่องทางการขายทั้งตัวแทนและช่องทางพันธมิตรธุรกิจของเรา ตามที่ได้รายงานไปก่อนหน้านี้ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเชิงลบยังคงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประกันชีวิตในเวียดนาม หากไม่รวมเวียดนาม ตลาดอื่น ๆ มีการเติบโตของมูลค่าธุรกิจใหม่มาจากการเติบโตของมูลค่าธุรกิจใหม่ที่มีตัวเลขสองหลักอย่างแข็งแกร่งจากทั้งสองธุรกิจของเราในอินเดีย ซึ่งเป็นผู้สร้างมูลค่าธุรกิจใหม่ให้กับกลุ่มบริษัทเอไอเอได้มากที่สุดในกลุ่มตลาดนี้รวมถึงฟิลิปปินส์ สำหรับ Tata AIA Life ในอินเดียมีผลการดำเนินงานที่ยอดเยี่ยมจากตัวแทนอันเป็นเอกสิทธ์ที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทประกันชีวิตเอกชนรายใหญ่อันดับสามในอินเดีย โดยรวมแล้ว ธุรกิจในอาเซียนของเรามีการเติบโตของมูลค่าธุรกิจใหม่เป็นเลขสองหลัก โดยภาพรวม เบี้ยประกันภัยรับปีแรกสำหรับกลุ่มบริษัทเอไอเอเพิ่มขึ้นร้อยละ 54 เป็น 1,938 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตรากำไรจากมูลค่าธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.2 จากไตรมาสแรกของปี 2566 ตามแนวปฏิบัติของบริษัท สมมติฐานผลตอบแทนการลงทุนระยะยาวที่ใช้ในการคำนวณมูลค่าธุรกิจใหม่ ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากที่แสดงในรายงานประจำปี 2565 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 อัตรากำไรขั้นต้นที่รายงานตามมูลค่าปัจจุบันของเบี้ยประกันธุรกิจใหม่ (PVNBP) ยังคงทรงตัวที่ร้อยละ 10 ในขณะที่เบี้ยประกันภัยรับรวม (TWPI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เป็น 9,355 ล้านเหรียญสหรัฐ สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นพร้อมปรับตัวของเอไอเอเป็นตัวสร้างความแตกต่างที่สำคัญและความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างมาก โดยได้รับการสนับสนุนจากการจัดการพอร์ตโฟลิโอที่แข็งแกร่งของเรา และแนวทางการลงทุนที่พิจารณาจากภาระหนี้สินประกันภัยเป็นสำคัญ แนวโน้มอนาคต โอกาสในระยะยาวสำหรับธุรกิจของเอไอเอนั้นยอดเยี่ยมมาก เนื่องจากเรามีความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างมาก การกระจายความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ และตัวขับเคลื่อนการเติบโตเชิงโครงสร้างที่ทรงพลังสำหรับการประกันชีวิตและสุขภาพในเอเชีย การเพิ่มขึ้นของรายได้ การแทรกแซงจากบริษัทประกันเอกชนอยู่ในระดับต่ำ และการคุ้มครองสวัสดิการสังคมที่จำกัด ยังคงขับเคลื่อนความต้องการผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตของเอไอเอในตลาดของเราเรามั่นใจว่าการดำเนินการตามลำดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้เอไอเอสามารถคว้าโอกาสระยะยาวมหาศาลในตลาดประกันชีวิตและสุขภาพในเอเชีย และสามารถส่งมอบมูลค่าที่ยั่งยืนในระยะยาวให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายของเราต่อไป ความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เอไอเอได้รับเบี้ยประกันภัยส่วนใหญ่ในสกุลเงินท้องถิ่นและเราจับคู่สินทรัพย์และหนี้สินของเราอย่างใกล้ชิดเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เมื่อรายงานตัวเลขรวมของกลุ่มบริษัท จะมีผลการแปลงสกุลเงินเมื่อเรารายงานเป็นเหรียญสหรัฐ เราได้รายงานอัตราการเติบโตและใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ เว้นแต่จะระบุไว้เป็นอย่างอื่น เนื่องจากข้อมูลนี้ให้ภาพที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของธุรกิจ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

X