ภาษี

อัปเดต ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2565 พร้อมแนะวิธีการคำนวณ


ขึ้นชื่อว่าภาษีก็เป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นะคะ โดยเฉพาะคนที่อยากสร้างบ้านบนที่ดินของตัวเอง ก็ต้องจ่าย “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ดังนั้นเจ้าของที่ดินจึงต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีดังกล่าวและอัปเดตข้อมูลใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ข้อบังคับได้อย่างถูกต้อง วันนี้เราจึงสรุปภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2565 พร้อมแนะนำวิธีการคำนวณภาษี เพื่อนๆ คนไหน อยากจะสร้างบ้าน ต้องอ่านเลยค่ะ


ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืออะไร


ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า ภาษีที่ดิน คือภาษีที่จัดเก็บรายปีตามมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ โดยมีหน่วยงานผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบจัดเก็บภาษี โดยอัตราภาษีจะคำนวณตามประเภทการใช้ประโยชน์


ใครบ้างที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง


  •  เจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง แต่ถ้าเจ้าของที่ดินและเจ้าของสิ่งปลูกสร้างเป็นคนละคนกัน ก็ให้เจ้าของที่ดินเสียภาษีเฉพาะส่วนมูลค่าที่ดิน ส่วนเจ้าของสิ่งปลูกสร้างเสียภาษีเฉพาะส่วนของมูลค่าสิ่งปลูกสร้าง


  •  ผู้ครอบครอง ทำประโยชน์ในที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินของรัฐ 


  •  เจ้าของหรือครอบครองที่ดิน สิ่งปลูกสร้างในช่วงวันที่ 1 มกราคม ของปีภาษีนั้น จะต้องเป็นผู้เสียภาษีในปีถัดไป


ที่ดินที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง



สูตร : ภาษีที่ต้องจ่าย = มูลค่าที่ดิน x อัตราภาษี

โดยมูลค่าที่ดิน = ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน (ต่อ ตร.ว.) x ขนาดพื้นที่ดิน


ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง


ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง



สูตร : ภาษีที่ต้องจ่าย  = (มูลค่าที่ดิน + มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง) x อัตราภาษี

โดยมูลค่าที่ดิน    = ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน (ต่อ ตร.ว.) x ขนาดพื้นที่ดิน

มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง = (ราคาประเมินทุนทรัพย์โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง (ต่อ ตร.ม.) x ขนาดพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง) - ค่าเสื่อมราคา


ห้องชุด


ห้องชุด


สูตร : ภาษีที่ต้องจ่าย = มูลค่าห้องชุด x อัตราภาษี

โดยมูลค่าห้องชุด = ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด (ต่อ ตร.ม.) x ขนาดพื้นที่ห้องชุด (ตร.ม.)


อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง


โดยหลักแล้ว อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะจำแนกตามประเภทการใช้ประโยชน์และตัวผู้เสียภาษี ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ทั้งนี้ อัตราภาษีจะใช้คำนวณแบบขั้นบันไดตามมูลค่าของฐานภาษีแต่ละขั้น ดังนี้


1. ที่ดินประกอบเกษตรกรรม


การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ต้องเป็นการทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ และกิจการตามกำหนด หากทำเกษตรกรรมไม่เต็มพื้นที่ เสียภาษีตามสัดส่วนการใช้ประโยชน์ โดยบุคคลธรรมดา ได้รับยกเว้นที่ดิน 50 ล้านบาทแรก ไม่ต้องเสียภาษี


อัตราภาษีตามมูลค่าทรัพย์สิน


  •  0 – 75 ล้าน คิดอัตราภาษี 0.01% ซึ่งภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี ไม่เกิน 7,500 บาท


  •  75 – 100 ล้าน คิดอัตราภาษี 0.03% ซึ่งภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี ไม่เกิน 30,000 บาท


  •  100 – 500 ล้าน คิดอัตราภาษี 0.05% ซึ่งภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี ไม่เกิน 250,000 บาท


  •  500 – 1,000 ล้าน คิดอัตราภาษี 0.07% ซึ่งภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี ไม่เกิน 700,000 บาท


  •  1,000 ล้านขึ้นไป คิดอัตราภาษี 0.1% ซึ่งภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี ไม่เกิน 1 ล้านบาทขึ้นไป


2. ที่อยู่อาศัย


ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของใช้อยู่อาศัย โดยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้จะแบ่งออกเป็น


2.1 ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัย และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน


อัตราภาษีตามมูลค่าทรัพย์สิน


  •  0 – 25 ล้าน คิดอัตราภาษี 0.03% ซึ่งมีภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี ไม่เกิน 7,500 บาท


  •  25 – 50 ล้าน คิดอัตราภาษี 0.05% ซึ่งมีภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี ไม่เกิน 25,000 บาท


  •  50 ล้านขึ้นไป คิดอัตราภาษี 0.1% ซึ่งมีภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี ไม่เกิน 50,000 บาทขึ้นไป


2.2 สิ่งปลูกสร้าง ที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัย และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน)


อัตราภาษีตามมูลค่าทรัพย์สิน


  •  0 – 40 ล้าน คิดอัตราภาษี 0.02% ซึ่งมีภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี ไม่เกิน 8,000 บาท


  •  40 – 65 ล้าน คิดอัตราภาษี 0.03% ซึ่งมีภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี ไม่เกิน 19,500 บาท


  •  65 – 90 ล้าน คิดอัตราภาษี 0.05% ซึ่งมีภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี ไม่เกิน 45,000 บาท


  •  90 ล้านขึ้นไป คิดอัตราภาษี 0.1% ซึ่งมีภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี 90,000 บาทขึ้นไป


2.3 ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย (บ้านหลังอื่นๆ) นอกจากการใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยตาม 2.1 และ 2.2


อัตราภาษีตามมูลค่าทรัพย์สิน


  •  0 – 50 ล้าน คิดอัตราภาษี 0.02% ซึ่งมีภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี ไม่เกิน 10,000 บาท


  •  50 – 75 ล้าน คิดอัตราภาษี 0.03% ซึ่งมีภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี ไม่เกิน 22,500 บาท


  •  75 – 100 ล้าน คิดอัตราภาษี 0.05% ซึ่งมีภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี ไม่เกิน 50,000 บาท


  •  100 ล้านขึ้นไป คิดอัตราภาษี 0.1% ซึ่งมีภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี 100,000 บาทขึ้นไป


*สำหรับข้อ 2.1 และ 2.2 บุคคลธรรมดา ได้รับยกเว้นทรัพย์สินมูลค่า 50 ล้านบาทแรก ไม่ต้องเสียภาษีที่ดินและภาษีสิ่งปลูกสร้าง


3. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจาก ข้อ 1 และ 2


สำหรับการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างข้อนี้ จะไม่ใช่เพื่อการเกษตรและที่อยู่อาศัย แต่จะเป็นที่ดินในเชิงพาณิชย์


อัตราภาษีตามมูลค่าทรัพย์สิน


  •  ไม่เกิน 50 ล้าน คิดอัตราภาษี 0.3% ซึ่งมีภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี ไม่เกิน 150,000 บาท


  •  50 – 200 ล้าน คิดอัตราภาษี 0.4% ซึ่งมีภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี ไม่เกิน 800,000 บาท


  •  200 – 1,000 ล้าน คิดอัตราภาษี 0.5% ซึ่งมีภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี ไม่เกิน 5 ล้าน บาท


  •  1,000 – 5,000 ล้าน คิดอัตราภาษี 0.6% ซึ่งมีภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี ไม่เกิน 30 ล้าน บาท


  •  5,000 ล้านขึ้นไป คิดอัตราภาษี 0.7% ซึ่งมีภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี ไม่เกิน 35 ล้าน บาทขึ้นไป


4. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่รกร้างหรือไม่ได้ทำประโยชน์


และกลุ่มสุดท้ายที่จะเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแพงที่สุด คือที่ดินที่ปล่อยทิ้งให้รกร้างโดยไม่ได้ทำประโยชน์


อัตราภาษีตามมูลค่าทรัพย์สิน


  •  ไม่เกิน 50 ล้าน คิดอัตราภาษี 03% ซึ่งมีภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี ไม่เกิน 150,000 บาท


  •  50 – 200 ล้าน คิดอัตราภาษี 0.4% ซึ่งมีภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี ไม่เกิน 800,000 บาท


  •  200 – 1,000 ล้าน คิดอัตราภาษี 0.5% ซึ่งมีภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี ไม่เกิน 5 ล้าน บาท


  •  1,000 – 5,000 ล้าน คิดอัตราภาษี 0.6% ซึ่งมีภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี ไม่เกิน 30 ล้าน บาท


  •  5,000 ล้านขึ้นไป คิดอัตราภาษี 0.7% ซึ่งมีภาษีที่ต้องจ่ายต่อปี ไม่เกิน 35 ล้าน บาทขึ้นไป


*ทุก 3 ปีที่มีการปล่อยที่ดินให้รกร้าง จะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีก 0.03% โดยอัตราภาษีรวมทั้งหมดต้องไม่เกิน 3%


บทลงโทษหากชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเกินกำหนด


เบี้ยปรับ คือ ค่าปรับที่เกิดจากการชำระภาษีไม่ครบถ้วนภายในเวลาที่กำหนด มีรายละเอียดคือ ไม่ได้ชำระภาษีภายในเวลาที่กำหนด จะได้รับหนังสือแจ้งเตือน และเสียเบี้ยปรับตั้งแต่ 10-40% ของจำนวนภาษีค้างชำระ


ชำระภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้างได้ที่ไหน


ในส่วนของช่องทางการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กรุงเทพมหานครได้เพิ่มทางเลือกและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการชำระภาษีได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ดังนี้


1. สำนักงานเขต

2. ธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ

3. เครื่องเอทีเอ็ม (ATM) ของธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ

4. บัตรเครดิตประเภท Visa และ Master ของธนาคารและสถาบันการเงินทุกแห่ง หรือบัตรกรุงไทยวีซ่าเดบิต

5. ทำรายการชำระเงินข้ามธนาคารด้วย Barcode หรือ QR Code


เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เพื่อน ๆ คนไหนที่มีแพลนคิดจะปลูกสร้างบ้านเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ อย่าลืมที่จะศึกษารายละเอียดเกี่ยวภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อที่จะไม่พลาดการคำนวณภาษีกันนะคะ


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับBaanBaan

https://baanbaan.co/story/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99-%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87-%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%93-2565

X