บทความโดย “สรวงพิเชฏฐ์ หลายชูไทย”
นักวางแผนการเงิน CFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
วันที่ 11 มีนาคม 2567 ปฏิเสธไม่ได้ว่าใคร ๆ ก็ต้องการร่ำรวย
หรือมีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
แต่แน่นอนสิ่งที่ตามติดมาด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือภาษี
และภาษีประเภทหนึ่งที่เจ้าของธุรกิจหวาดกลัว คือ VAT หรือ Value–Added Tax
ที่สำคัญหากไม่เข้าใจและเตรียมการรับมือให้ดี
เงินที่เก็บมาหลายปีอาจหายไปจนหมดสิ้นในเวลาสั้น ๆ ก็เป็นได้
จึงต้องเรียนรู้แนวทางการรับมือ เพื่อไม่ต้องมาเสียใจ ดังคำกล่าวที่ว่า
“รู้อะไรไม่สู้ รู้งี้”
VAT
เป็นภาษีทางอ้อมประเภทหนึ่งที่เรียกเก็บจากบุคคลที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการ
โดยจัดเก็บจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นการผลิต ตลอดการจำหน่าย
หรือการให้บริการ หรือเป็นภาษีที่เก็บกับผู้บริโภครายสุดท้าย
โดยมีข้อควรรู้และความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการจด VAT ดังนี้
• VAT นั้นเก็บจากรายได้ ไม่ใช่กำไร
• รายได้บางประเภทได้รับการยกเว้น VAT เช่น เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) อย่าง เงินเดือน โบนัส เป็นต้น
• ทั้งบุคคล และนิติบุคคล ล้วนต้องจด VAT หากรายได้ถึงเกณฑ์
• เกณฑ์ดังกล่าวคือ หากมีรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการเกิน 1.8
ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
และต้องเข้าสู่กระบวนการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือนนับแต่นั้นเป็นต้นไป
• ในประเทศไทยได้กำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 10% แต่ทั้งนี้
ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีจะออกพระราชกฤษฎีกา
ลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 7% เป็นประจำทุกปี ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า VAT
บ้านเราคือ 7%
โดยขั้นตอนการจด VAT และหน้าที่ต่าง ๆ ที่ต้องทำหลังอยู่ในเกณฑ์ต้องเสีย มีดังนี้
1. จดทะเบียน ภ.พ.01 ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่รายได้เกิน 1.8 ล้านบาท
2. เตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน (สามารถดูได้จากข้อมูลในเว็บของทางสรรพากร)
3. หลังจากจด VAT เรียบร้อย ท่านจะได้เอกสารที่ชื่อ ภ.พ.20
ซึ่งเป็นเอกสารหลักฐานที่แสดงถึงการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบร้อยแล้ว
โดยจะต้องเก็บเจ้า ภ.พ.20 นี้ไว้ที่สำนักงาน
หากมีเจ้าหน้าที่สรรพากรเข้ามาตรวจสอบที่สถานประกอบการเรา
มักจะขอดูเอกสารตัวนี้ . รวมถึงยังใช้ในกรณีต่าง ๆ เช่น การขอกู้กับธนาคาร
อีกด้วย
4. เมื่อจดแล้ว หากมีการขายจะต้องออกใบกำกับภาษีขาย หากมีการซื้อต้องรับใบภาษีซื้อ และทำรายงานสรุปไว้
5. มีการยื่นแบบ ภ.พ.30 ภายในทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
บทลงโทษของการจด VAT ล่าช้า
• ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
• ต้องเสียค่าปรับเป็น 2 เท่า ของภาษีที่จะต้องชำระนับตั้งแต่วันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านต่อปี ในแต่ละเดือนภาษี
• ต้องเสียเงินเพิ่ม 1.5 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ถ้าเศษของเดือนก็จะถูกนับเป็นอีก 1 เดือน
• ไม่สามารถนำภาษีซื้อที่เกิดในเดือน ก่อนที่จะจด VAT นั้นมาหักภาษีขายได้
หลายคนอาจรู้สึกว่าไม่ได้มีบทลงโทษมากมายอะไร แต่หากมีรายได้ 1.8 ล้านบาท
หรือประมาณเดือนละ 150,000 บาท แล้วไม่ไปยื่นจด VAT และเมื่อถึงสิ้นปีที่ 2
รายได้ 1.8 ล้านบาทจะมีภาระภาษี + เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มสูงสุดถึง
400,000 บาท และหากยังคงไม่ได้จด VAT ต่อในสิ้นปีที่ 3 ตัวเลขภาระภาษี +
เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มนี้จะสูงขึ้นไปถึงกว่า 900,000 บาท
สำหรับคนที่กำลังจะเริ่มจด VAT และประเมินว่ากิจการน่าจะมีรายได้เกิน 1.8
ล้านบาทต่อปี ก็สามารถเลือกจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในช่วงเริ่มต้นกิจการ
ซึ่งจะมีประโยชน์ ดังนี้
1. กิจการได้ใช้สิทธิขอคืนภาษีซื้อ สำหรับค่าสินค้า
หรือค่าใช้จ่ายในช่วงเริ่มดำเนินการ การจด VAT
ทำให้ลูกค้าที่ซื้อสินค้าหรือบริการจะได้ประโยชน์จากการนำภาษีซื้อไปใช้เพื่อลดภาระภาษี
2. กิจการมีระบบการทำบัญชีการซื้อขายที่ดีขึ้น และสร้างความน่าเชื่อถือ
3. กิจการได้ยอดขายเพิ่มจากนโยบายของรัฐ กรณีมีแคมเปญภาษี เช่น ช้อปดีมีคืน เป็นต้น
สำหรับคนที่จด VAT ไปแล้ว และกำลังอยากที่จะออกจากระบบ VAT
ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยการขอออกจาก VAT โดยมีเงื่อนไขคือ
ต้องมียอดขายต่ำกว่า 1.8 ล้านบาท เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี ติดต่อกัน
ถึงจะมีสิทธิขอให้อธิบดีสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้
โดยสรุป หากมีการบริหารจัดการรายได้และภาษีที่ดีและทำอย่างถูกต้อง
ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่ระบบ VAT หรือการออกจากระบบ VAT
ก็จะสามารถทำได้อย่างราบรื่นและสบายใจในการทำธุรกิจอย่างโปร่งใส
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/finance/news-1519083