ในช่วงที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทออกมาอยู่บ่อยครั้ง
และมักมีคำถามอยู่เป็นระยะว่า
ความผันผวนที่เกิดขึ้นนี้จะส่งผลอย่างไรกับคนไทย
อัตราแลกเปลี่ยนคืออะไร
เมื่อมีการค้าขายกับต่างประเทศ แต่ใช้สกุลเงินต่างกัน
ประเทศคู่ค้าต้องทำการกำหนด “อัตราแลกเปลี่ยน” ระหว่างเงินสองสกุล
ซึ่งการเทียบเงินสกุลที่ต่างกันนี้ไม่ได้เปรียบเทียบจากขนาดของประเทศหรือขนาดเศรษฐกิจ
แต่จะเปรียบเทียบจาก “อำนาจซื้อที่แท้จริง” ของเงินสกุลนั้น ๆ
ในการซื้อสินค้าหรือบริการ
ค่าเงินแข็ง/อ่อน คืออะไร
อัตราแลกเปลี่ยนไม่จำเป็นต้องเท่าเดิมเสมอไป อาจแพงขึ้นหรือถูกลงก็ได้ หรือที่ได้ยินบ่อย ๆ ว่าค่าเงินแข็งหรืออ่อน
ยกตัวอย่าง “ค่าเงินบาทแข็ง” หมายถึง
เงินบาทมีค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น หากเมื่อวานนี้ใช้เงิน 30
บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่วันนี้อัตราแลกเปลี่ยนถูกปรับเป็น 28 บาท
แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น เงินบาทมีค่ามากขึ้นหรือ “แพงขึ้น”
เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หรือเรียกว่า
“ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ”
ส่วน “ค่าเงินบาทอ่อนลง” ก็มีลักษณะตรงข้าม คือ เงินบาทมีค่าน้อยลงหรือ
“ถูกลง” เช่น เมื่อวานใช้เงิน 30 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
แต่วันนี้อัตราแลกเปลี่ยนถูกปรับเป็น 32 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
สถานการณ์นี้เรียกว่า “ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ”
สาเหตุที่ทำให้ค่าเงินแข็ง/อ่อน
เงินแต่ละสกุลมีลักษณะเหมือนสินค้าที่ราคาขึ้นลงจากกลไกตลาด
หรือกำหนดจากอุปสงค์และอุปทานเงินตราของแต่ละประเทศ เช่น
กรณีเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หากมีความต้องการซื้อเงินบาทมากขึ้น
โดยเอาเงินดอลลาร์สหรัฐมาขาย เงินบาทก็จะแพงขึ้น (แข็งค่าขึ้น)
ในทางกลับกันหากมีความต้องการซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น
โดยเอาเงินบาทมาขาย เงินบาทก็จะถูกลง (อ่อนค่าลง)
ที่มาข้อมูล : ธนาคารแห่งประเทศไทย
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/finance/news-1194038