ห้องแสดงนิทรรศการ

รู้จัก 'สุทธิภา คำแย้ม' ผ่านบทสนทนาระหว่าง เส้น แสง และเสียง


ทำความรู้จักกับ ‘สุทธิภา คำแย้ม’ ผ่านบทสนทนาระหว่างเส้น แสง และเสียง ใน นิทรรศการ Dialogue through the sanctuary of Suthipa


สัมผัสพื้นที่ปลอดภัยของ เตย - สุทธิภา คำแย้ม นักวาดภาพประกอบ เจ้าของรางวัล Designer of the Year 2021 ท่ามกลางภาพวาดลายเส้นของธรรมชาติ ที่ผสานไปด้วยการออกแบบแสงและเสียงดนตรีที่นำพาเราไปยังดินแดนที่สงบนิ่ง จนได้ยินเสียงของตัวเอง


“สวยมากเลยค่ะ เชิญเข้าไปดูนะคะ” เสียงของสตรีชาวต่างชาติที่เดินออกมาจากห้องจัดแสดงบอกกับเราด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น


แม้จะได้เห็นภาพผลงานของ เตย - สุทธิภา คำแย้ม มาบ้างแล้ว แต่พอได้มาเห็นผลงานในห้องนิทรรศการจริงแล้วยิ่งเพิ่มความรู้สึกที่หลากหลาย เพราะมีทั้งการจัดแสงที่ทำให้รู้สึกเหมือนเดินอยู่ในราวป่า เห็นแสงเงาที่ลอดออกมาจากใบไม้ ได้ยินเสียงดนตรีที่ทำให้รู้สึกสงบเย็นใจ


ภาพวาดลายเส้น การจัดแสงในห้องนิทรรศการ และเสียงเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่ได้ทำหน้าที่ผสานกันได้อย่างสมบูรณ์



ศิลปิน เตย - สุทธิภา คำแย้ม และภัณฑารักษ์ ฟ้า - กัณหรัตน์ เลี่ยมทอง


“เราอยากจะบอกว่าศิลปะแต่ละแขนงนั้นสื่อถึงกัน” ฟ้า - กัณหรัตน์ เลี่ยมทอง หัวหน้าฝ่าย Multidisciplinary Art  หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ


Dialogue Through The Sanctuary of Suthipa บอกกับเราพร้อมกับอธิบายถึงที่มาของ นิทรรศการ ครั้งนี้ว่าเป็นหนึ่งในซีรีส์ Dialogue with The Master ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยปีนี้เป็นธีมชื่อว่า Borderless


“อ้างอิงมาจากคอนเซ็ปต์ปีนี้ทั้งปีของ bacc (หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร) คือ borderless


ผลงานของเตยมีภาพสะท้อนตัวตนของเขาอยู่ในนั้น งานกับชีวิตเป็นเรื่องที่ไม่แยกขาดจากกัน ลายเส้นของเตยพาเราเดินทางไปกับเขา ในขณะเดียวกันในภาพวาดของดอกไม้และสัตว์ต่าง ๆ จะมีลายเส้นซึ่งเป็นจินตนาการของเขาเองด้วย


ในนิทรรศการนี้ เราไม่ได้อยากให้ผู้ชมมาฟังไดอาล็อกแค่จากปากของเตย แต่เราอยากนำเสนอผลงานที่สื่อให้เห็นตัวตนของเตยอย่างชัดเจน เราจึงเชิญศิลปิน 3 คน ได้แก่ อภิสิทธิ์ วงศ์โชติ (นักออกแบบเสียงและผู้ประพันธ์ดนตรี) วินัย สัตตะรุจาวงษ์ (ผู้ถ่ายทำสารคดี) และพรพรรณ อารยะวีรสิทธิ์ (Scenography Designer) มาร่วมงานแล้วตีความว่าอะไร คือ sanctuary ของเตย”


ภัณฑารักษ์ กล่าวถึงการออกแบบนิทรรศการที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ที่เริ่มต้นด้วยการจัดแสดงผลงานลายเส้นในมุมมองที่ชวนให้ผู้ชมได้ก้มลงพิจารณารายละเอียดของภาพได้อย่างใกล้ชิด



ห้องจัดแสดงในส่วนแรกที่เปิดให้ชมผลงานในมุมมองที่ใกล้ชิด ท่ามกลางแสงที่ชวนให้นึกถึงการเดินอยู่ในราวป่า


“อยากให้คนมองแบบใกล้ๆ เพื่อจะได้เห็นน้ำหนักของเส้นดินสอกดที่เตยวาด ไล่เรียงกันไปโดยที่ปลายทางจะเป็นผลงานอีกเทคนิคหนึ่งซึ่งจะเป็นลายเส้นที่วาดด้วยปลายไม้ไผ่จุ่มกับหมึกสีดำเพื่อนำไปสู่ผลงานในห้องที่ 2 ซึ่งเป็นผลงานของเตยที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ เรานำภาพมาขยายให้ใหญ่ขึ้นเป็นงาน 18 ชิ้น ความยาว 18 เมตร


ในส่วนนี้เป็นการสื่อถึงพื้นที่ปลอดภัยของศิลปินที่เขารู้สึกสงบและอบอุ่น”



ภาพลายเส้นที่สะท้อนลงบนผืนน้ำในห้องจัดแสดงส่วนที่สอง


ภาพลายเส้นของต้นไม้ที่ขยายเต็มพื้นที่บนผนัง รวมทั้งภาพสะท้อนบนผืนน้ำที่นักออกแบบสร้างสรรค์ผืนน้ำเป็นเส้นโค้งที่นำพาผู้ชมเข้าไปชมผลงานได้อย่างใกล้ชิดอย่างมีจังหวะ เสียงดนตรีที่โอบอุ้มบรรยากาศที่ให้ความรู้สึกเย็นใจ


ในขณะเดียวกันที่อีกมุมหนึ่งมีวิดีโอฉายให้เห็นภาพธรรมชาติที่ศิลปินบันทึกไว้ระหว่างเดินทาง ภาพการทำงาน ตลอดจนความคิดของศิลปินที่ทำให้เราได้รู้จักตัวตนของเธอมากยิ่งขึ้น


“งานของเตยไม่มีอะไรที่ซับซ้อนเลย เป็นงานซื่อ ๆ ไม่หวือหวา แต่ทำให้เราได้เห็นความเพียร ความมีระเบียบ ฟ้าคิดว่าเป็นความตรงไปตรงมาที่น่าทึ่งในวันที่โลกหมุนเร็วไปไหนแล้วก็ไม่รู้” ภัณฑารักษ์กล่าวทิ้งท้ายได้อย่างน่าฟัง



เตย - สุทธิภา คำแย้ม


ได้รู้จักเตยผ่านมุมมองของภัณฑารักษ์แล้ว เรามาทำความรู้จักกับ เตย – สุทธิภา จากเจ้าตัวกันบ้าง เตยเล่าให้ฟังว่าเพิ่งมาหัดวาดเส้นหลังจากเรียนจบคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


“เรียนจบแล้วมาทำงานด้านกราฟฟิกดีไซน์อยู่พักหนึ่ง จากนั้นไปเรียนต่อที่สวีเดน ด้าน Individual Specialization คือ เรียนอะไรก็ได้ที่เราสนใจ ตอนไปถึงที่นั่นรู้สึกประทับใจกับธรรมชาติ ทำให้อยากวาดภาพ หัดดรออิ้ง เพราะตอนทำงานกราฟฟิกไม่เคยวาดภาพเลย เริ่มวาดไลเคนที่เกาะตามต้นไม้ โดยใช้ดินสอกดเพราะเป็นอุปกรณ์แรกที่หยิบมาใช้แล้วตรงใจ


ภาพสิ่งมีชีวิตที่เตยวาดมันเหมือน realistic แต่มันไม่ใช่เพราะในรายละเอียดมีการประดิษฐ์ลายเส้นขึ้นมาตามที่เราอยากให้เป็น” เตยอธิบาย พลางยกตัวอย่างภาพของนก Puffins



ภาพนก Puffins ที่วาดขึ้นจากเรื่องเล่า และจินตนาการ


“ตอนอยู่สวีเดน เพื่อนเล่าให้ฟังว่ามีนกตัวหนึ่งอยู่แถวบ้านแต่ตอนนี้สูญพันธุ์ไปแล้ว เตยจึงวาดรูปนกตัวกลมๆตามคำบอกเล่าบวกกับไปดูนกสตัฟฟ์ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งความจริงแล้วเป็นนกที่มีชื่อว่า Puffins ภาพที่ออกมาจึงเป็นภาพนกที่เกิดจากเรื่องเล่า เรื่องจริง ผสมกับจินตนาการของเรา”



ภาพดอกศรีมาลาที่มีรายละเอียดเพิ่มเติมจากจินตนาการ


จากภาพสัตว์ และดอกไม้ที่มีรายละเอียดน่าชมที่วาดด้วยดินสอกด มาสู่ผลงานวาดเส้นที่เปลี่ยนจากดินสอกดมาเป็นปลายไม้ไผ่จุ่มหมึกดำวาดลงบนกระดาษไม้ไผ่ที่สะท้อนภาพธรรมชาติในรูปแบบที่ต่างออกไปจากเดิม


“เมื่อเทคนิคเปลี่ยนไปสไตล์ของภาพก็เปลี่ยนไป จะเป็นภาพที่มีความนุ่ม ๆ ฟู ๆ ด้วยพื้นผิวของกระดาษไม้ไผ่ด้วย เป็นงานวาดเส้นที่คุมยากกว่าใช้ดินสอกดแต่ให้ความรู้สึกที่เป็นอิสระและเป็นธรรมชาติกว่า แม้ว่าเราจะ


ไม่สามารถเป็นผู้นำได้ทั้งหมด หรือคอนโทรลได้ระดับนึง แต่ระหว่างการทำงานมันก็พาเราไปพบกับเส้นทางใหม่ ๆ


เช่น เราคิดว่าจะวาดภาพป่า พอวาดไปเรื่อย ๆภาพจะเป็นต้นไม้ หรืออาจเป็นแค่เศษเปลือกไม้ หรือลายดอกดวงบนหิน บางทีเป็นแลนด์สเคป ภูเขา ก้อนเมฆ ทำงานด้วยความรู้สึกว่าธรรมชาติทุกอย่างอยู่ด้วยกัน ภาพที่ออกมาจึงไม่เหมือนภาพป่าที่คิดในตอนแรก แต่ก็ปล่อยไปตามใจที่อยากทำ” เตยยกตัวอย่าง



ภาพดอกไม้วาดด้วยปลายไม้ไผ่จุ่มหมึก



เสน่ห์ของลายเส้นที่เกิดจากปลายไม้ไผ่จุ่มหมึก




สำหรับ นิทรรศการ Dialogue through the sanctuary of Suthipa ที่มีศิลปินแขนงต่าง ๆ เข้ามาช่วยเติมเต็มบรรยากาศให้กับ 'พื้นที่ปลอดภัย'  ของเตยได้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นนั้น


“นอกจากความรู้สึกสงบแล้ว สิ่งที่เตยชอบมากที่สุด คือการทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกบางอย่าง อาจจะไม่ใช่ความรู้สึกกับผลงานก็ได้ แต่เป็นโมเม้นต์ที่เขาได้ใช้พื้นที่ตรงนี้อยู่กับตัวเอง มีผู้ชมคนหนึ่งบอกกับเตยว่าเขามองผลงานศิลปะอยู่ก็จริง แต่สิ่งที่เขาเห็นคือตัวเขาเอง”


น่าเสียดายที่นิทรรศการ Dialogue through the sanctuary of Suthipa  จัดแสดงในวันที่ 22 มิถุนายน 2568 ณ ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเป็นวันสุดท้ายแล้ว แต่เราสามารถติดตามผลงานของ เตย - สุทธิภา คำแย้ม ได้ทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/suthipakamyam


และ วิดีโอ Exhibition : Dialogue through the sanctuary of Suthipa (2025)


https://www.youtube.com/watch?v=7JYfgMF4LO4



ภาพโดย : อนุตรา อึ้งสุประเสริฐ


แหล่งที่มาข่าวและภาพต้นฉบับกรุงเทพธุรกิจ
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/art-living/1185892
X