ข่าวการเงิน
Silicon Valley Bank ล้ม จะลามเป็นวิกฤติเศรษฐกิจโลกรอบใหม่ได้หรือไม่
● SVB หรือ Silicon Valley Bank คือธนาคารอะไร ทำไมถึงได้ล้ม
● SVB ล้มจะทำให้ตลาดเงินตลาดทุนผันผวนอย่างไร
● เฟดจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยรอบเดือนมีนาคมหรือไม่ และจะจบรอบเร็วขึ้นได้ไหม
1. SVB คือใคร : Silicon Valley Bank หรือ SVB
เป็นแบงก์ใหญ่เป็นอันดับ 16 ในสหรัฐฯ ด้วยสินทรัพย์ 2.09 แสนล้านดอลลาร์
โดยมาทำธุรกิจกับกลุ่ม Start up หรือกลุ่มเทค
ล่าสุดในวันศุกร์ที่ผ่านมาถูกสั่งปิดโดย FDIC หรือ Federal Deposit
Insurance Corp.
คล้ายๆ หน่วยงานคุ้มครองเงินฝาก (แต่คุ้มครองเพียง 250,000 ดอลลาร์
ซึ่งมีเพียง 3% ของบัญชีในแบงก์นี้ (อีกราว 97%
มีเงินมากกว่าและยังไม่จ่ายส่วนที่เหลือคืนจนกว่าจะขายทรัพย์สินได้
ลองนึกภาพธุรกิจจะจ่ายคู่ค้าหรือพนักงานยังไง)
2. ทำไมล้ม : ปัญหาของแบงก์นี้คือเกิดจากความน่าเชื่อถือ เกิด bank
run หรือคนไม่มั่นใจแห่ถอนเงินจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่มาจาก partners ที่เป็น
Private Equity, Venture Capital, Tech, Health tech
แค่วันพฤหัสบดีวันเดียวมีคนถอนเงินฝากไปราว 1 ใน 4 ของเงินฝากทั้งหมด
แบงก์ขาดกระแสเงินหมุนเวียน เจอปัญหาสภาพคล่องจนลามเป็นปัญหาล้มละลาย FDIC
จึงต้องมาระงับกิจการ โอนเงินฝากให้แบงก์ที่จะจัดตั้งใหม่
ขอย้ำว่าวิกฤตินี้ไม่เหมือนปี 2008 ตอนเลห์แมนล้ม
ตอนนั้นคือปัญหาความเสี่ยงด้านเครดิตจากการลงทุนในอนุพันธ์ด้านอสังหาฯ
ตอนนี้คือความเสี่ยงด้านตลาดหรือสภาพคล่อง
จากดอกเบี้ยขาขึ้นและขาดการบริหารที่ดีด้านระยะเวลาเงินฝากและสินเชื่อ
3. ทำไมคนไม่ไว้ใจ : อยู่ๆ ราคาหุ้นร่วงลง 60%
ในวันเดียวจากความกังวลว่าจะเกิดการเพิ่มทุนจำนวนมาก
เพื่อชดเชยการขาดทุนมหาศาลจากการขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จริงๆ
ถ้าไม่ขายก็ไม่ขาดทุน (แต่ต้องรับรู้ Fair Value ผ่าน Balance sheet)
เรียกว่า unrealized loss คือ ราคาพันธบัตรลดลงต่ำว่าหน้าตั๋ว
เพราะเมื่อดอกเบี้ยขึ้นแรง ราคาพันธบัตรที่สวนทางกับดอกเบี้ยที่ขึ้นจะลดลง
เมื่อ SVB ต้องการเงินก็จำเป็นต้องขายขาดทุน พอขาดทุนก็ต้องการเงิน
ไปขอเพิ่มทุน คนก็กลัวเทขายหุ้น คนฝากก็ panic ตกใจถอนเงิน
จนเป็นภาวะปิดตัวเช่นนี้
และอีกประเด็นที่ทำไมขาดเงินก็เพราะธุรกิจเทคในสหรัฐฯ
โดยเฉพาะเทคตัวเล็กขาดทุนอยู่มาก ยังไม่มีกำไรหรือกระแสเงินสดดี
พอดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่องยิ่งมีปัญหา
กระทบแบงก์นี้ไปด้วยที่เน้นธุรกิจกลุ่มนี้

4. จะลามไหม :
ในช่วงวันพุธถึงวันพฤหัสบดีเราเห็นราคาหุ้นกลุ่มธนาคารปรับย่อลงเพราะความกังวลว่าจะมีแบงก์อื่นล้มด้วยไหม
แต่ปัญหานี้น่าอยู่ในแบงก์ขนาดเล็กที่เน้นกลุ่มเทคหรือ start up เป็นหลัก
ซึ่งต่างกับแบงก์ใหญ่ ในวันศุกร์แล้วหุ้นแบงก์ใหญ่ฟื้น แต่แบงก์เล็กลงต่อ
โดยรวมไม่น่าลาม
โดยธนาคารที่มีการถือตราสารที่ดี ยังสามารถเข้าถึงสภาพคล่องจากเฟดได้
แต่อาจมีแบงก์ที่มีปัญหาเพิ่ม
ในกลุ่มที่ขาดทุนจากอัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นแรงในสหรัฐฯ จนราคาพันธบัตรลดลง
(จริงๆ ถ้าถือจนครบอายุสัญญาจะไม่ขาดทุน) ต้องดูว่าใครร้อนเงินอีก
หรือมีใครโดนแห่ถอนเงินจากวิกฤติศรัทธาบ้าง (หลักๆ
คงจะเป็นธนาคารที่ทำธุรกรรมเกี่ยวกับกลุ่มเทค ที่ลงทุนใน Crypto
ในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ)
5. ตลาดเงินตลาดทุนจะผันผวนอย่างไร :
ตลาดหุ้นน่าจะยังผันผวนจากความกังวลว่าจะมีแบงก์ไหนเป็นรายต่อไปที่ล้ม
หรืออย่างน้อยก็ห่วงการลงทุนในกลุ่มการเงินไว้ก่อน
รวมทั้งกลุ่มเทคขนาดเล็กที่คนอาจกังวลปัญหาขาดเงินทุน
โดยเฉพาะช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นเช่นนี้
6. จะเกิดการว่างงานรุนแรงหรือไม่ : ปัญหาการว่างงานในสหรัฐฯ
หากจะเพิ่มขึ้น ก็น่ากระจุกในกลุ่มเทคที่จะมีการเลิกจ้างเพิ่มเติม
แต่ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำต้นทุนสูงตาม รายได้โตไม่ทัน
ต้องหาทางลดรายจ่าย ลดคน แต่ไม่น่ารุนแรงไปกระทบภาคอื่นมาก สหรัฐฯ
ยังมีอัตราการว่างงานต่ำ แม้ขยับเป็น 3.6% แต่ก็นับว่าต่ำมาก
โดยเฉพาะยังมีการเติบโตของค่าจ้างในกลุ่มภาคบริการมาก หาคนทำงานยาก
ปัญหานี้ยังลากยาว ไม่น่าส่งผลให้คนว่างงานมากขึ้นจากกรณี SVB ล้ม
7. เงินเฟ้อมีโอกาสลดลงหรือไม่หากเศรษฐกิจมีปัญหา :
อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ มีโอกาสลดลงจากปีก่อนที่เฉลี่ย 8%
ปีนี้น่าอยู่ที่ราว 4% แต่หากจะลดลงแบบเดือนต่อเดือน คงยาก
เพราะอัตราค่าจ้างยังสูงขึ้น บริษัทยังต้องขยับราคาสินค้าเพิ่ม
และการคาดการณ์ราคาสินค้ายังสูง แต่หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีปัญหา
ชะลอลงแรงจริง อัตราเงินเฟ้อก็อาจลดลงได้บ้าง
แต่ไม่น่าลงได้เร็วเหมือนในอดีต เพราะมีปัญหาเชิงโครงสร้าง
ห่วงโซ่อุปทานยังมีปัญหา
8. เฟดจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยรอบเดือนมีนาคมหรือไม่และจะจบรอบเร็วขึ้นได้ไหม
: หากเฟดจะลดความร้อนแรงของการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม ไม่ขึ้น 0.50%
แต่ขึ้นเพียง 0.25% และระดับดอกเบี้ยสูงสุดอาจอยู่ที่ระดับ 5.75%
ไม่ใช่ไปแตะระดับ 6.00% และใกล้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมนี้
ซึ่งความไม่แน่นอนจากตัวเลขอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้น
การเพิ่มของค่าจ้างไม่ร้อนแรง การขึ้นดอกเบี้ยอาจเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป
แต่ยังจำเป็นอยู่ เพราะเงินเฟ้อยังสูง กรณี SVB
อาจไม่มีน้ำหนักมากหากไม่ลามและรุนแรง
9. ผลกระทบต่อไทยหลังปัญหาสภาพคล่องในสหรัฐฯ :
โดยมากผลกระทบต่อไทยในระยะสั้นจะผ่านตลาดเงินและตลาดทุน
ที่ยังมีแนวโน้มผันผวนในสัปดาห์หน้า
อาจมีแรงเทขายในสินทรัพย์เสี่ยงบ้างในระยะสั้น
แต่ตลาดน่าให้น้ำหนักการชะลอตัวของค่าจ้างแรงงานและอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ
แต่อาจรอตัวเลขเงินเฟ้อ ยอดค้าปลีก และอื่นๆ
เพื่อดูสัญญาณว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อแรงหรือไม่
กรณี SVB อาจมีน้ำหนักด้านเสถียรภาพตลาดการเงิน
ทำให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เงินน่ากลับมาตลาดเกิดใหม่
เงินบาทน่าขยับแบบ sideway 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ ส่วนหาก SVB
มีปัญหาลามต่อหรือมีความไม่แน่นอนต่อ
ก็อาจกระทบภาคการส่งออกของไทยซึ่งก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว ให้ชะลอต่อได้

ส่วนราคาน้ำมันในตลาดโลกน่าย่อลงตามอุปสงค์ที่อ่อนแอลง
ทำให้การนำเข้าไทยลดลงตาม ไม่น่ามีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเหมือนก่อนหน้า
ส่วนภาคการท่องเที่ยวของไทยไม่น่ากระทบ โดยรวมปัญหานี้น่ากระจุกในสหรัฐฯ
ไม่น่ากระทบเอเชียแปซิฟิกมากนัก โดยเฉพาะจีนที่ยังเติบโตได้ดี
แต่แน่นอนว่าการส่งออกไม่สดใส
สำหรับธนาคารไทย คงไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจากทาง BOT
ไม่ได้อนุญาตให้ธนาคารลงทุนใน Crypto โดยตรง
ขณะที่กลุ่มการเงินก็ยังคงถูกกำกับอย่างเข้มงวดจาก Regulators ของไทย
10. คำแนะนำการลงทุนในช่วงนี้ : เราเชื่อว่าปัญหาภาคธนาคารของสหรัฐฯ
กระจุกในธนาคารขนาดเล็กที่เชื่อมโยงกลุ่มเทคหรือกลุ่ม start up
รวมทั้งมีการขาดทุนทางตัวเลขที่ไม่รับรู้ (unrealized loss)
สำหรับธนาคารที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
แต่ด้วยความน่าเชื่อถือที่ยังดี และหากธนาคารถือพันธบัตรจนครบอายุสัญญา
ก็ไม่เสี่ยงขาดทุน (ผลกระทบน่าจะอยู่ในระดับจำกัด)
ทั้งนี้ เราจึงมองว่าเป็นความผันผวนระยะสั้น ไม่ลามจนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ
ซึ่งการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ พื้นฐานดี กระจายการลงทุนทั่วโลกยังน่าทำได้
นอกจากนี้ ที่ลุ้นคือเงินเฟ้อสหรัฐฯ แม้ยังอยู่ในระดับสูง แต่มีท่าทีชะลอลง
ซึ่งนักลงทุนน่าหาจังหวะเข้าสะสมพันธบัตรหรือตราสารหนี้
ที่ใกล้ถึงจุดสูงสุด
ส่วนภาคเอเชียแปซิฟิกโดยเฉพาะจีนยังน่าสนใจ เราอาจให้น้ำหนัก A-share
หรือหุ้นในจีน มากกว่า H-share ที่มีกลุ่มเทคในฮ่องกง
โดยรวมน่าเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในจีนและจีนน่าหาทางลดความผันผวนในตลาดทุนเทียบสหรัฐฯ
ได้
Lesson learned ข้อคิดที่ได้จากกรณี SVB
1. อย่าใส่ไข่ทุกใบในตะกร้าใบเดียว ควรกระจายการลงทุน
อย่าเป็นเหมือนคนฝากเงินใน SVB ที่พึ่งแบงก์เดียว
รวมทั้งนักลงทุนไม่ลงทุนในสินทรัพย์ใดประเภทเดียว
2. วิกฤติเปลี่ยนรูปแบบเสมอ จากด้านเครดิตปี 08 เป็น mismatch
และสภาพคล่องปี 23 หรืออาจมีรูปแบบใหม่ๆ เข้ามา
แต่ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นในระดับสูงเช่นนี้
อาจเห็นธุรกิจอื่นที่มีปัญหาซ่อนไว้รอประทุขึ้นได้
3. แม้ตลาดจะฟื้น
แต่นักลงทุนยังควรระมัดระวังความผันผวนต่อไปจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
และภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าแบ่งเงินลงทุนเป็นหลายๆ ไม้ ค่อยๆ
ลงทุนทีละน้อยจนครบเป้าหมาย ไม่แนะนำลงทุนทีเดียวครบ
เพราะเราไม่มีทางรู้ทิศทางตลาดและไม่จำเป็นต้องได้ราคาต่ำสุดเสมอไป
แต่น่าได้ความสบายใจไปด้วย
โดยสรุป กรณี SVB
น่าจะเป็นปัญหาเฉพาะกลุ่มจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่กระทบราคาพันธบัตรและมีผลให้กลุ่มเทคและกลุ่ม
Start up มีปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง จนกระทบธนาคารที่เชื่อมโยงกับกลุ่มนี้
รวมทั้งผู้ฝากเงินขาดความเชื่อมั่นจนแห่ถอนเงิน และปัญหาเช่น SVB
นี้ไม่น่าลามจนเกิดวิกฤติการเงินเหมือนในปี 2008
เพราะการเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจจริงอื่นๆ
มีน้อยและขนาดของธนาคารที่มีปัญหาไม่ได้ใหญ่จนมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
แต่หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางเลวร้าย
หรือยังมีอีกหลายธุรกิจที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่สูง
ผลประกอบการจะถูกปรับลดลง บางธุรกิจขาดทุนจนต้องปิดตัว
เกิดการเลิกจ้างงานจำนวนมาก เกิดเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย
แต่เงินเฟ้อกลับไม่ลดลงเพราะมีปัญหาเชิงโครงสร้างและปัญหาห่วงโซ่อุปทาน
ภาพแบบนี้เป็นภาวะ Stagflation ที่น่ากลัว
และยากในการแก้ไขด้วยนโยบายการเงิน จนเหตุการณ์อาจเลวร้ายหนักกว่ารอบก่อนๆ
ก็ได้หากว่า SVB ที่เราเห็นเป็นแค่หนังตัวอย่าง และของจริงกำลังจะตามมา
ซึ่งผมยังไม่ได้มองภาพเลวร้ายเช่นนั้น
และเชื่อว่าเฟดมีความยืดหยุ่นพอที่จะดูแลปัญหาในลักษณะนี้
บทความโดย ดร.อมรเทพ จาวะลา
ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน
ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย
แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับไทยรัฐออนไลน์
https://www.thairath.co.th/business/feature/2652230
X